5นายกฯบัญชีชื่อ หรือ‘บิ๊กป้อม’-นายกฯสำรอง?

5นายกฯบัญชีชื่อ หรือ‘บิ๊กป้อม’-นายกฯสำรอง? หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีเกิดอุบัติเหตุการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีสำรอง ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หรือนอกบัญชี มีโอกาสลุ้นตำแหน่ง

วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ยากมาก กรณีนายกรัฐมนตรีสำรอง จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกับแค่แคนดิเดต หรือผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในพรรคการเมืองเท่านั้น ซึ่งตามรายชื่อที่เห็น เท่าที่เป็นไปได้มี คุณอนุทิน ชาญวีรกูล, คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, คุณชัยเกษม นิติสิริ ส่วนอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ต้องตัดออก เพราะลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปแล้ว นี่คือรายชื่อที่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ออกแบบไว้อย่างนี้

Advertisement

ความยากอาจจะอยู่ตรงที่ว่า ต้องให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภาหรือ 375 เสียง จาก 750 เสียง ซึ่งแน่นอน เราจะเห็นว่าแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่มีโอกาสได้ เป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญดีไซน์ไว้แบบนี้ ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน มาจากโควต้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หลายคนจึงมองว่า พล.อ.ประวิตรน่าจะมีโอกาส

แน่นอนว่า พล.อ.ประวิตรจะเป็นนายกฯสำรองไม่ได้ แต่มีโอกาสที่จะเป็นนายกฯรักษาการ ได้ ซึ่งจะง่ายกว่าและมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดต้องบอกว่า นายกฯสำรอง กับนายกฯรักษาการ นั้นต่างกัน

นายกฯรักษาการ อาจจะเป็นไปได้ในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัว ด้วยประเด็นทางการเมือง ด้วยแรงกดดันต่างๆ หรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น แล้วลาออก แต่ไม่ได้ยุบสภา ก็มีความเป็นไปได้มากว่า พล.อ.ประวิตรจะมีสิทธิมานั่งเป็นนายกฯรักษาการแทน ทิศทางน่าจะเป็นเช่นนี้ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อไม่ได้จริงๆ เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 และเป็นผู้ที่อาวุโสสูงสุด

Advertisement

อย่างไรก็ดี หากสมมุติว่าจะเล่นเงื่อนไขแบบนี้ก็สามารถทำได้ เรื่องนายกฯรักษาการ สามารถเป็นไปได้โดยไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะอยู่ในห้วง 8-9 เดือนสุดท้าย ก็จะนำไปสู่การครบเทอมปี 4 ของรัฐบาลชุดนี้ แล้วจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้

อย่างไรก็ดี ตามกลไกแล้วต้องยึดรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่อย่างนั้นจะมีการยื่นร้องตีความกันมากมาย สิ่งหนึ่งที่ผมคิดคือ พล.อ.ประวิตรเอง คงไม่น่าเล่นเกมเสี่ยงเข้ามาเป็นนายกฯ สำรองแบบนี้

เกมตรงนี้ นำไปสู่การที่พรรคพลังประชารัฐต้องกลับไปขบคิดใหม่แล้วว่า น่าจะต้องมองไปที่สมรภูมิศึกการเลือกตั้งครั้งหน้า หากสมมุติว่าจะดึง พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตอันดับ 1 แล้ว พล.อ.ประวิตรในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทำไมจึงจะไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐด้วย

ซึ่งตรงนี้ตอบโจทย์ที่นำไปสู่การแตะมือกับพันธมิตรแบบหลวมๆ อย่าง พรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ชงชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯสำรองมาก่อนหน้า แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะนี้

แล้วเหตุใดจึงมีข่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ?

แน่นอนว่า หลายคนไม่สามารถหนีความรู้สึก หรือข้อสงสัยให้เป็นอื่นได้ว่า มาจากคะแนนการเคลื่อนไหว ต่อรอง เกมกดดันในเรื่องศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะสิ่งหนึ่งคือ ส.ส.หลายคนอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ความต้องการของตัวเองในทางการเมือง อย่างเช่น พรรคเศรษฐกิจไทย 18 เสียง ซึ่งพยายามจะปูพรมรายชื่อ หรือเงื่อนไขต่างๆ เพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งของโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็น ร.อ.ธรรมนัสก็ได้ แต่อาจจะเป็น พล.อ.ประวิตร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เลือกที่จะแก้ หรือปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เลย

ด้วยจุดนี้เองจึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบในพรรคเศรษฐกิจไทย ที่สนับสนุน พล.ล.ประวิตรอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัส ที่ไม่ปิดบังความรู้สึกแต่อย่างใดว่าคุณประวิตรมีความเหมาะสม

แน่นอนว่า ภาพนำไปสู่การยุแยงให้เกิดรอยร้าวหรือความหวาดระแวงระหว่าง 2 ป. ด้วยกัน แต่ความจริงแล้ว ผมคิดว่าเป็นไพ่ในมือของ ร.อ.ธรรมนัสที่เหลือไม่มากนัก ที่จะเล่นทิ้งไพ่ใบนี้ เพราะตั้งแต่ ร.อ.ธรรมนัสถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ในแง่สายป่าน หรือคอนเน็กชั่นทางการเมือง หลายคนรู้ว่าพลานุภาพของพลังประชารัฐที่มาไกลได้ขนาดนี้ มาจากการส่งเสริมสนับสนุนของ พล.อ.ประวิตรอยู่ตลอดเวลา และการที่ ร.อ.ธรรมนัสมีระยะห่าง หรือไม่ได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร ร.อ.ธรรมนัสรู้แล้วว่าส่งผลต่อความเสียหายทางการเมืองของตนเองขนาดไหน แนวร่วมหรือโอกาสที่คนจะเข้ามาร่วมงานทางการเมืองกับพรรคเศรษฐกิจไทย ก็จะร่อยหรอลงไปด้วย

ดังนั้น การหันหลังกลับไปสนับสนุน พล.อ.ประวิตร น่าจะเป็นทิศทาง เป็นโอกาสหนึ่งที่ ร.อ.ธรรมนัสจะเพิ่มทุน หรือมูลค่าทางการเมืองของตนเองให้กลับมาใหม่ได้

ถามว่าขยายรอยร้าวได้สำเร็จหรือไม่?

ผมว่ายาก หลายคนพยายามยุ เพียงแต่การยุแยงนี้เกิดขึ้นแบบ ปะฉะดะหรือประสานงา ระหว่างเครือข่ายคนรอบตัวของ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องที่แปลกมาก มีการสนับสนุนเครือข่ายอำนาจ 3 ป. แต่มีการถล่มกันระหว่างองคาพยพให้เห็นมาตลอดเกือบ 3 ปีกว่า

ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์มักจะชี้ข้อหาหรือสาเหตุว่า ทำให้เกิดภาพลักษณ์ความหม่นหมองอยู่รอบๆ ตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง พล.อ.ประวิตร

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตรก็น่าจะรู้สึกว่า ตัวเองทุ่มเทในการปกป้อง สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ตลอดเวลา แต่ไม่ได้รับการชื่นชมหรือสนับสนุนเท่าที่ควร นำไปสู่การที่คนรอบตัวทั้ง 2 ใช้ปมตรงนี้มาขยี้ ขยายแผล พูดง่ายๆว่าพยายามชี้ให้เห็นรอยร้าว แต่ผมคิดว่า 2 ป.นี้ มีความสัมพันธ์ที่ล้ำลึกเกินกว่าที่จะแยกจากกันได้ เพราะเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่เดือนก็จะครบวาระ

คงค่อยไปว่ากันใหม่ในสมรภูมิการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่ออย่างไรมากกว่า

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เรื่องนายกรัฐมนตรีสำรองนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีกรณีเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี แต่กระบวนการรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บอกไว้ชัดว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องมีรายชื่อที่เสนอเป็นนายกรัฐมนตรีไว้แล้ว

ซึ่งมีทั้งหมด 5 คนคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ ต้องมองบุคคลเหล่านี้ก่อน เพราะมีที่มาที่ไปตามกฎหมายอยู่แล้ว

นอกเสียจากมีปัญหาในแคนดิเดตที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีสำรองได้ ด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นต่อเมื่อการเมืองวุ่นวาย จนทำให้ไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีสำรองตามกลไกของสภา หรือเกิดสุญญากาศทางการเมือง จึงจะต้องนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง มาปรับใช้ ซึ่งต้องใช้ ส.ส.ในสภารวมทั้ง ส.ว.จำนวน 500 คนมาแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกคนจะต้องร่วมกันแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น

จึงเป็นช่องทางให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สร้างเครดิตทางการเมืองให้กับตนเอง อย่างไรก็ตาม หากมองเงื่อนไขทางกฎหมายนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด

จึงคิดว่า ร.อ.ธรรมนัสต้องการเร้าการตัดสินใจของ ส.ส.กลุ่มหนึ่งที่ต้องการล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของพรรคเศรษฐกิจไทยและพรรคเล็กๆ ล่าสุดได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างผิดสังเกต จากการที่มีการเรียกกินข้าว ซึ่งในความเป็นจริง ร.อ.ธรรมนัสต้องการสร้างราคาให้กับตนเองว่า หากล้ม พล.อ.ประยุทธ์ได้ จะส่งผลให้มีนายกรัฐมนตรีสำรองแน่นอน

โดยพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มาดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นการส่องจิตวิทยาการเมืองอีกทางหนึ่งกับ พล.อ.ประวิตรว่าจะเอาไหม หากเอาจะจัดการให้หรือหากเปิดไฟเขียว พรรคเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้า โดยร่วมกับพรรคเล็กล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือกรณีไม่ผ่านกรณีการดำรงตำแหน่งทางการเมือง 8 ปี อย่างไรก็ตาม กระบวนการตามกฎหมายไม่ง่ายอย่างที่คิด

ส่วนกรณีพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประวิตร จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีสำรองนั้นหากเกิดอุบัติเหตุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่า พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้้นได้เหมือนกัน

แต่เป็นได้แค่นายกรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อการหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากเดาใจเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรก็คิดหรือมีความหวังอยู่บ้างเหมือนกันนอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าว พล.อ.ประวิตรดีลกับโทนี่ มีโอกาสพลิกได้ทั้งหมด ท่ามกลางบรรยากาศสถานการณ์การเมืองในขณะนี้

การดำรงตำแหน่งทางการเมือง 8 ปีนั้น อย่าลืมว่าองคาพยพทั้งหมด หากติดตามการเมืองอย่างจริงจัง ต้องยอมรับขบวนการถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองนั้นยังคาใจประชาชนอย่างมากมาย ว่ามีการแบ่งแยกอำนาจจริงๆ หรือเปล่า

ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจฝ่ายบริหาร อำนาจตุลาการ ซึ่งในความเป็นจริงคนมีอำนาจจะชี้นำมากกว่าทุกขบวนการได้อยู่แล้ว ต้องยอมรับว่ายังมีมือที่มองไม่เห็น จะทำให้เกิดหรือไม่เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน

โดยอาศัยขบวนการความชอบธรรมในทางการเมือง ดูจากนายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ ก็มองว่ามีการชี้นำอยู่แล้ว หรือส่งสัญญาณว่าการมีนายกรัฐมนตรีสำรองนั้นไม่ง่าย

หากมามองผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสำรองจาก 5 คนนั้นจะต้องดูว่าใครมีเสียงสนับสนุนในสภามากกว่ากัน ทั้งในส่วนของรัฐบาลและส่วนของวุฒิสมาชิก ถึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสำรองตัวจริง หากมองคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ไปสร้างพรรคไทยสร้างไทย แต่ก็ยังมีสิทธิอยู่ แต่คนในพรรคเพื่อไทยไม่ชอบ มีความขัดแย้งสูง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นได้เหมือนกัน แต่จะไปขัดกับการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ มีปัญหาในเรื่องมาตรา 112 เนื่องจากไปลงนามในพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้เกิดภาพลบมากยิ่งขึ้นให้กับพรรคเพื่อไทย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลาออกไปแล้วจากพรรคประชาธิปัตย์ และลาออกไปจาก ส.ส.แล้ว ก็ยังสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงนี้ตกต่ำมาก ดูแล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล ภาพดีที่สุดที่จะนั่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีความสนิทชิดเชื้อกับ พล.อ.ประวิตร ประกอบกับ ส.ว.ก็ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.สนับสนุนค่อนข้างมาก รวมทั้งพรรคอื่นๆ ก็ให้การสนับสนุนอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image