ระเบิดเวลา 4 ลูก-2 รูรั่ว อานุภาพล่มรัฐบาล ?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวในเวทีเสวนาที่จังหวัดนครราชสีมาว่า รัฐบาลเผชิญกับระเบิดเวลา 4 ลูก 2 รอยรั่วที่จะทำให้เรือแป๊ะลำนี้ไปต่อยาก

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ลูกที่ 1 ผมมองว่าหากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไม่ผ่านสภา ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องยุบสภาแน่นอน เพราะต้องแสดงความรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีจะต้องลาออก และคณะรัฐมนตรีจะต้องไปทั้งหมด ก็ต้องมาดูว่าใครจะมาเป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป

Advertisement

เกี่ยวกับพระราชบัญญัติงบประมาณนั้นผมไม่ค่อยกังวลใจ ที่บอกว่าเป็นระเบิดเวลานั้น มองว่าเป็นราคาคุยของฝ่ายค้านมากกว่า จะเห็นได้จากร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะไปทานข้าวกับฝ่ายค้านก็โดนเบรก เมื่อมองพรรคเพื่อไทยจะเห็นว่าภายในพรรคมีปัญหามาก อยากสร้างกระแสมากกว่า จึงไม่ให้ราคาเกี่ยวกับกระแสข่าวว่าจะล้มงบประมาณ ซึ่งเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณ เชื่อว่า ส.ส.ทุกคนจะเห็นปัญหาร่วมกัน อาจจะมีปัญหาความขัดแย้งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา หากงบประมาณไม่ผ่านจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ ส่วนใหญ่ ส.ส.ก็พยายามเข็นงบประมาณให้ผ่านกันมากกว่า ที่สำคัญสำหรับพรรคเล็กก็อยากให้รัฐบาลอยู่ต่อเหมือนกัน เพราะยังมีผลประโยชน์ทางการเมือง

ระเบิดลูกที่ 2 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภา หากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้แล้วเสร็จ จะมีการเรียกร้องให้ยุบสภา ผมมองว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภา และไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง เพราะเมื่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่าน ก็พร้อมแล้วที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ต้องไปดูกระบวนการผ่านกฎหมายอีกด้วยว่า ผ่านแบบไหน ตามหลักการต้องผ่านบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแน่นอน คือ บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และต้องดูอีกว่าจะนับคะแนนแบบไหนอีกด้วย

หากมีการหารคะแนนด้วยฐาน 100 จะเกิดผลกระทบทันทีต่อรัฐบาล เพราะพรรคพลังประชารัฐในอดีตเป็นพรรคขนาดใหญ่ แต่ก็ยังมีความขัดแย้งภายในพรรคกันสูง หากมีการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อสภาพปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ การเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจจะไม่ได้เป็นพรรคใหญ่ เนื่องจากแตกออกเป็นหลายส่วน ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐอาจจะไปสังกัดพรรคอื่นๆ อาทิ พรรคเศรษฐกิจไทย พรรค พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรคอื่นๆ ส่วนพรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหารด้วยฐาน 500 พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กจะได้เปรียบ จะมีพื้นที่ในทางการเมือง หากดูการเมืองในขณะนี้ส่วนตัวมองว่าจะหารด้วยฐาน 500 เพราะทำให้ทุกพรรคการเมืองมีพื้นที่ และมีอำนาจในการต่อรอง

Advertisement

ระเบิดลูกที่ 3 คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เชื่อว่าบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อย จะเอาเงื่อนไขการหารจำนวนปาร์ตี้ลิสต์ หรือบัญชีรายชื่อ มาเป็นเงื่อนไขในการต่อรองด้วย ส่งผลให้พรรคเล็กพรรคน้อยได้กล้วยซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการแล้ว สิ่งที่ตามมาจะต้องได้เกี่ยวกับการหารคะแนน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อด้วยฐาน 500 อีกด้วย เพราะหากหารด้วยฐาน 500 ไม่ได้ ก็เหมือนกับพรรคเล็กพรรคน้อยถูกฆ่าตายทางการเมือง การเลือกตั้งสมัยหน้าก็ไม่มีโอกาสเกิดทางการเมือง

ส่วนเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้น มองว่าหากรัฐบาลคงตัวเลขคณิตศาสตร์ทางการเมืองได้คงไม่มีปัญหา แต่อาจจะเกิดผลกระทบจากเนื้อหาของการอภิปรายว่าคนในสังคมเชื่อมากแค่ไหน แต่ก็แปลกใจที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้าน ไม่สามารถเอาเนื้อหาของการอภิปรายทำให้เกิดประเด็นทางสาธารณะได้เลย อาทิ ในอดีตได้มีการอภิปรายในประเด็น ส.ป.ก.4-01 ทำให้คนรับไม่ได้ สุดท้ายรัฐบาลต้องยุบสภา แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าพลังการสื่อสารของพรรคฝ่ายค้าน ไม่สามารถสื่อสารในเนื้อหาการอภิปราย ซึ่งมองว่ามีพลังมาก แต่ไม่สามารถสื่อสารทำให้สังคมหรือประชาชนคล้อยตามไปได้ หรือมีก็น้อยมาก เหมือนที่กล่าวเสมอๆ ว่า ฝ่ายค้านไม่มีเอกภาพ อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า รัฐบาลอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลเข้มแข็ง แต่เป็นเพราะฝ่ายค้านอ่อนแอมากกว่า

ระเบิดลูกที่ 4 การตีความของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี หลายคนอาจจะมองว่าอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ผมมองว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจสูงกว่าฝ่ายอื่น จึงมองว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น อาทิ พล.อ.ประยุทธ์อาจอยู่ต่อก็ได้ หรืออาจจะไม่อยู่ต่อก็ได้ หากดูโครงสร้างทางการเมืองจะพบว่ารัฐบาลมีอำนาจเต็ม คุมสภาได้คุมอำนาจอื่นได้ทั้งหมด ทำให้มองว่าการอยู่ 8 ปีได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจจะชี้ไปทางไหนแค่นั้นเอง

กรณีที่พรรคเศรษฐกิจไทยที่มี 18 เสียง พรรคเล็กอีกรวม 30 เสียง จะมีอำนาจสั่นคลอนรัฐบาลได้หรือไม่นั้น มองว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังเล่นสองหน้า ถ้าหากต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์หมดอำนาจแล้ว เชื่อว่าโอกาสนี้มีแน่นอน

หากมองพรรคเศรษฐกิจไทย 18 เสียง ประกอบกับ ร.อ.ธรรมนัสยังมีเครือข่าย ทำให้มองสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่มีความชัดเจน เพราะ พล.อ.ประวิตร ด้านหนึ่งเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ อีกด้านหนึ่งให้ท้าย ร.อ.ธรรมนัสมองว่าอำนาจการต่อรองไม่ชัดเจนว่า พล.อ.ประวิตรจะเอาอย่างไร เพราะหากแสดงเจตนาว่าต้องการตำแหน่งรัฐมนตรี 2 ตำแหน่งที่ว่างอยู่ และหากไม่ให้จะมีการเคลื่อนไหวมีผลต่อรัฐบาล แต่ภาพที่ออกมายังเชียร์น้องชายประยุทธ์ แต่ให้ท้าย ร.อ.ธรรมนัส ทำให้มองว่าเป็นการเพิ่มราคาต่อรองในทางการเมืองมากกว่า

ส่วนความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพรรคเล็กในขณะนี้ มองว่ายอมกินกล้วย หรือเตรียมทำสวนเพื่อปลูกกล้วยเอาไว้กินมากกว่า ช่วงนี้จะเห็นว่าพรรคเล็กพยายามเรียกค่าตัว โดยรวมตัวไปกินข้าวกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อเพิ่มราคาค่าตัวกับพรรครัฐบาล แต่ใจจริงๆ ก็อยากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าเหมือนกัน ซึ่งเป็นปัญหาพรรคเล็กพรรคน้อยของการเมืองไทย คือหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังให้โอกาสทุกพรรคการเมือง มีที่ยืนทางการเมือง แต่แนวคิดดังกล่าวใช้ไม่ได้กับการเมืองของไทยในขณะนี้ มองว่าพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาหาผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าจะทำประโยชน์ให้กับประชาชน โดยมีการต่อรองตลอดเวลา ทำให้นักการเมืองเหล่านี้หมดราคาในสายตาประชาชน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากอยากให้มีการหาร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อด้วยฐาน 100 เพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมพรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านี้

วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

สําหรับระเบิดเวลา 4 ลูก และ 2 รอยรั่วจะทำให้รัฐบาลไปต่อยากนั้นส่วนตัวมองว่าเป็นระเบิดเวลาจริง แต่ไม่ได้ถึงขนาดทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ประเด็นแรกเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถ้าหากไม่ผ่าน รัฐบาลจะทำงานไม่ได้ แต่จากประวัติศาสตร์การเมืองเราพบว่า พ.ร.บ.งบประมาณ หากฝ่ายไหนเป็นฝ่ายที่ทำให้กระบวนการเกิดติดขัด ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ หรือพยายามที่จะดึงจังหวะเพื่อต่อรอง ฝ่ายนั้นจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายผิดทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ การจะไปเป็นผู้ร้ายใน พ.ร.บ.งบประมาณ หากฝ่ายค้านคิดจะทำแบบนั้น อาจเป็นจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็ง เพราะรัฐบาลสามารถหยิบจุดนี้ไปกล่าวอ้างได้ว่าฝ่ายค้านไม่อยากให้ประเทศและระบบราชการทำงานได้ หรือถ้า พ.ร.บ.นี้ไม่ผ่านนี่คือจุดแรก ที่จะถูกนำไปเป็นผู้ร้ายในการพิจารณางบประมาณ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ครั้ง เพราะฉะนั้นลูกแรกไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ประเด็น 2 คือกฎหมายลูก ซึ่งเป็นตัวที่มีปัญหาจริงๆ อันเนื่องมาจากตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เวลาพูดถึงรัฐบาลกำลังขาลง ขาดเสถียรภาพ คำถามคือ หากเกิดการเปลี่ยนแปลง จะต้องเข้าสู่การคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกตั้งใช่หรือไม่ ปัญหาที่มีตอนนี้คือไม่มีกฎหมายที่พูดถึงกติกาการเลือกตั้งในทางปฏิบัติ เพราะในกฎหมายที่ใช้อยู่มาจากรัฐธรรมนูญเก่า ก็คือรัฐธรรมนูญปี 60 กฎหมายลูกเก่ายังมีหลายเรื่องที่แตกต่างจากเดิม เช่น จำนวนบัตรที่ใช้ 1 ใบ หรือ 2 ใบ การนับคะแนน กลไกเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว หากไม่มีกฎหมายลูกออกมา กระบวนการเลือกตั้งในภาคปฏิบัติจะทำงานไม่ได้ คิดว่าฝ่ายค้านมองเห็น จึงพยายามไม่ล้มรัฐบาลก่อนที่กฎหมายลูกจะออกมา หมายความว่าฝ่ายค้านจะทำอะไร จะโชว์ไพ่เด็ดก็ต่อเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว หากฝ่ายค้านบีบให้รัฐบาลยุบสภาก่อน อย่างมากที่สุดต้องรับประกันได้ว่ากติกาที่ออกมาจากกฎหมายลูกนั้นเป็นธรรม หากฝ่ายค้านไปบีบรัฐบาลมากเกินไป แล้วรัฐบาลเกิดยุบสภาก่อนมีกฎหมายลูก จะนำไปสู่ปัญหาว่าจะใช้กฎหมายตัวไหนในการจัดเลือกตั้ง อาจจะนำไปสู่ข้อถกเถียงในช่วงหนึ่งที่บอกให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด ให้กำหนดกติกาในการเลือกตั้งขึ้นมา ซึ่งพระราชกำหนดเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ทำให้ฝ่ายของรัฐบาลสามารถคุมเกมได้หมด

ฉะนั้น เรื่องกฎหมายลูก จึงไม่ใช่ปัญหาอีกเช่นเดียวกัน เพราะทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างต้องการกฎหมายลูกฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายค้านพรรคหลักอย่างพรรคเพื่อไทย ต้องการระบบบัตร 2 ใบมาก และมั่นใจว่าบัตร 2 ใบ จะนำให้เกิดการเลือกตั้งที่นำไปสู่แลนด์สไลด์แบบสมัยนายกฯยิ่งลักษณ์ ถ้าเป็นกฎหมายลูก คิดว่าสามารถออกมาได้และจะไม่เจอปัญหา

ประเด็นที่ 3 และ 4 ถือว่าน่าจะมีความกดดันน้อยกว่า 2 เรื่องแรกมากเพราะการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลคุมเสียงข้างมากได้อยู่แล้ว แม้จะมีสถานการณ์ที่กลุ่ม 16 กลุ่มของพรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะมาจับมือกินข้าวกับฝ่ายค้าน

แต่นี่เป็นเพียงจังหวะทางการเมืองในการต่อรองของกลุ่มพรรคเล็ก ในการเพิ่มอำนาจการเจรจาในฝ่ายนิติบัญญัติของตัวเองเท่านั้น

การล้มรัฐบาล กลุ่ม 16 ไม่ได้อะไร มีแต่เสียด้วยซ้ำ ตอนนี้เป็นเหมือนช่วงเวลา 5-6 เดือนสุดท้าย เพราะหลังจากนี้หากใช้กฎหมายใหม่ ใช้กติกาใหม่ในการเลือกตั้ง กลุ่มพรรคเล็กแพ้แน่นอน ไม่สามารถที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว

นี่คือช่วงท้ายในการต่อรอง น้ำขึ้นก็ต้องรีบตัก ก่อนที่ตลาดจะวาย เพราะฉะนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลุ่ม 16 ของ ร.อ.ธรรมนัสเป็นเพียงการเจรจาต่อรอง สุดท้ายแล้วทั้งกลุ่ม 16 ทั้งกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส มีการเชื่อมโยงไปถึงบิ๊กป้อม ความเคารพที่ยังมีอยู่ของบิ๊กป้อม ไม่น่าจะทำให้มีการล้มรัฐบาล อย่างมากก็เพียงแค่เพิ่มอำนาจในการต่อรองฝ่ายนิติบัญญัติเพียงเท่านั้น หรือข้อเรียกร้องต่างๆ ที่กลุ่ม 16 ต้องการ ซึ่งถ้าทางรัฐบาลทำให้ก็คือจบ มันไม่ถึงขนาดย้ายข้างแน่นอน

และส่วนสุดท้ายประเด็นที่ 4 คือเรื่องที่บอกได้ว่าเป็นข้อถกเถียงทางกฎหมายเหมือนกัน ว่าตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีตอนไหน ตอนมีรัฐธรรมนูญ 60 หรือตอนรัฐประหาร แต่ตรงนี้อยากจะทิ้งไว้สักนิดว่า กฎหมายเถียงกันมันไม่จบ แต่สิ่งที่จะกำหนดว่ากฎหมายจบตรงไหน คือการเมือง ว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากกลุ่มอำนาจที่ครองอำนาจในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังถือกลุ่มอำนาจ กลุ่มเครือข่ายกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้มีแค่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นกลุ่มเครือข่ายที่ถูกสร้างขึ้นหลังรัฐประหารปี 57 มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังจำเป็นอยู่ เรื่องวาระ 8 ปีไม่ใช่ปัญหา ในทางกฎหมายเขาสามารถตีความให้วาระ 8 ปีไม่เป็นปัญหาได้ จึงมองว่าประเด็นเรื่องวาระ 8 ปี ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย กฎหมายเป็นเพียงตัวแปรตาม ตัวแปรต้นคือการเมือง ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการยอมรับให้อยู่บนเรือแป๊ะนี้ต่อไปหรือไม่

สรุปง่ายๆ ว่าประเด็นตรงนี้อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล มีอิทธิพลต่อการยุบสภา ทำให้การยุบสภาเกิดเร็วขึ้น แต่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เพราะต่อให้ยุบสภามีการเลือกตั้งใหม่ ยังมี ส.ว.อยู่อีก 250 คน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ปลายปีนี้ หรือปลายปีหน้า ก็จะออกมาในลักษณะที่ไม่ต่างจากที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มากนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image