รายงานหน้า2 : พลิกร่างพ.ร.บ.งบฯ66 ฉบับ3.1ล้านล.ส่งสภาชี้ขาด

หมายเหตุร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะส่งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระรับหลักการระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายนนี้

สรุปสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566

วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่กำหนดไว้จำนวน 3,100,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ประกอบด้วยโครงสร้างงบประมาณ ดังนี้

1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 23,932.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.26 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 76.55 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2565

Advertisement

2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตั้งไว้จำนวน 596.7 ล้านบาท)

3.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตั้งไว้จำนวน 24,978.6 ล้านบาท)

4.รายจ่ายลงทุนจำนวน 695,077.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 83,144.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.59 (รวมรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่กำหนดเป็นรายจ่ายลงทุน จำนวน 7,019.6 ล้านบาท) และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.82 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 19.74 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2565

Advertisement

5.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.14 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 3.22 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,019.6 ล้านบาท)

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำแนกตามกระทรวง ดังนี้

1.งบกลาง 590,470 ล้านบาท 2.สำนักนายกรัฐมนตรี 32,477.8 ล้านบาท 3.กระทรวงกลาโหม 197,292.7 ล้านบาท 4.กระทรวงการคลัง 285,230.4 ล้านบาท 5.กระทรวงการต่างประเทศ 7,556.5 ล้านบาท 6.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,330.8 ล้านบาท 7.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 24,626.9 ล้านบาท 8.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม 124,748.2 ล้านบาท 9.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 126,067.1 ล้านบาท 10.กระทรวงคมนาคม 180,502.0 ล้านบาท 11.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,822.1 ล้านบาท 12.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 30,638.6 ล้านบาท 13.กระทรวงพลังงาน 2,707.4 ล้านบาท 14.กระทรวงพาณิชย์ 6,489.5 ล้านบาท 15.กระทรวงมหาดไทย 325,578.9 ล้านบาท 16.กระทรวงยุติธรรม 24,693.9 ล้านบาท 17.กระทรวงแรงงาน 54,338.5 ล้านบาท 18.กระทรวงวัฒนธรรม 6,748 ล้านบาท 19.กระทรวงศึกษาธิการ 325,900.2 ล้านบาท 20.กระทรวงสาธารณสุข 156,408.7 ล้านบาท 21.กระทรวงอุตสาหกรรม 4,490.8 ล้านบาท 22.ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี 125,257.9 ล้านบาท 23.จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 21,727.7 ล้านบาท 24.รัฐวิสาหกิจ 162,989.7 ล้านบาท 25.หน่วยงานของรัฐสภา 7,752.2 ล้านบาท 26.หน่วยงานของศาล 22,959.5 ล้านบาท 27.หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 19,085.0 ล้านบาท 28.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 81,180.3 ล้านบาท 29.หน่วยงานอื่นของรัฐ 477.4 ล้านบาท 30.สภากาชาดไทย 8,854.0 ล้านบาท 31.ส่วนราชการในพระองค์ 8,611.7 ล้านบาท 32.ทุนหมุนเวียน 206,985.6 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 296,003.6 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประเทศมีความมั่นคงในทุกมิติ ทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง การบริหารจัดการความมั่นคงมีประสิทธิภาพ โดยให้ค วามสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางสถาบันหลักของชาติ สนับสนุนการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ พัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ

2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 396,125.5 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกด้านให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน

3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 549,514.0 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้และทักษะ มีความรักและภูมิใจในความเป็นไทย ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย

4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 759,861.3 ล้านบาท เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง เพื่อสร้างสังคมคุณภาพ

5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 122,964.9 ล้านบาท เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ โดยใช้ประโยชน์และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจ ภาคทะเล สังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การจัดการมลพิษที่มีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

และ 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 658,012.7 ล้านบาท เพื่อให้ภาครัฐมีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐ รวมทั้งการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการพัฒนากฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รวม 11 แผนงาน จำนวน 218,477.7 ล้านบาท ดังนี้ แผนงานบูรณาการ 1.ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6,251.2 ล้านบาท 2.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 11,086.9 ล้านบาท 3.ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 498 ล้านบาท 4.เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 448.7 ล้านบาท 5.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 54,121.9 ล้านบาท 6.ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 4,188.2 ล้านบาท 7.พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 131,372.8 ล้านบาท 8.พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 1,474.3 ล้านบาท 9.พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 1,554.6 ล้านบาท 10.รัฐบาลดิจิทัล 2,356 ล้านบาท และ 11.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 5,125.1 ล้านบาท

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องการให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณานำเงินนอกงบประมาณ หรือเงินสะสม มาใช้สมทบงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น จึงเห็นสมควรจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสัดส่วนร้อยละ 29.60 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้) เป็นจำนวน 737,083.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 29,023.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.10 โดยจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 307,111.6 ล้านบาท

////////////////////

ศิริกัญญา ตันสกุล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

สําหรับภาพรวมร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ตั้งงบประมาณเพิ่มไม่มาก ทั้งที่เศรษฐกิจกำลังต้องการฟื้นฟูขนานใหญ่ และยังเจอกับวิกฤตซ้อนวิกฤตจากสถานการณ์โลกด้วย ยิ่งตอกย้ำว่าจะเป็นปัญหาไปอีก 1 ปี ขณะที่น้ำที่เคยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจจากเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท กำลังจะหมดลงในปี 2565 แต่งบปี 2566 กลับตั้งงบประมาณต่ำกว่างบปี 2563 ด้วยซ้ำ แม้ว่าเราจะตั้งขาดดุลหรือกู้เพื่อชดเชยขาดดุลจนใกล้ชนเพดานอยู่แล้ว ซึ่งเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมารัดเข็มขัด อีกทั้งรัฐบาลยังไม่มีแผนที่จะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มหรือขยายงบประมาณไปได้มากกว่านี้ และงบประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท ยังใช้ไม่ได้มาก เพราะ 40% จะเป็นเรื่องของงบประมาณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือสวัสดิการ รวมทั้งยังต้องใช้คืนเงินกู้ที่ผ่านมาด้วย จึงเหลือที่จะนำมาใช้พัฒนาประเทศได้ไม่มาก

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้แบบมียุทธศาสตร์ แต่เมื่อมาดูยุทธศาสตร์และแผนงานต่างๆ พบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ยังใช้แผนงานยุทธศาสตร์เดิมๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี มากำกับไว้ ทำให้งบประมาณแข็งตายตัว ไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้เลย แผนงานบูรณาการก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน และถ้าลงรายละเอียดไปตามรายกระทรวง พบว่า มีงบอะไรที่แปลกและน่าสงสัย เช่น งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการให้เงินแต่ละหมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 2 แสนบาท ใช้เป็นชื่อโครงการเพื่อเป็นการลดต้นทุนสำหรับเกษตรกร ซึ่งเป็นงบที่แจกจ่ายตามหมู่บ้านโดยไม่แน่ใจว่าให้นำไปทำอะไรกันแน่ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นงบที่ใช้สำหรับการหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่

ส่วนงบประมาณที่น่าเสียดาย คืองบของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการตัดลดลงไปถึงประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข้าราชการครูเกษียณ แต่พบว่า งบรายหัวเด็กที่จะไปช่วยค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน รวมถึงค่าเครื่องแบบชุดนักเรียน ไม่ได้เพิ่มมาเป็น 10 ปีแล้ว ปีนี้ยังคงไม่เพิ่มอีก งบอาหารกลางวันยังคง 21 บาทเหมือนเดิม ทั้งที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น แต่ว่ากระทรวงไม่ได้เตรียมงบประมาณเรื่องนี้ไว้เลย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น 2 ปีที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอย เพราะการเรียนออนไลน์ไม่สามารถเทียบเท่าการเรียนที่โรงเรียนได้อยู่แล้ว จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูหรือเติมเต็ม แต่กระทรวงไม่มีการเตรียมโครงการอะไรไว้เลย ส่วนงบกระทรวงกลาโหม ปีนี้ลดลงเล็กน้อยอาจจะทำให้เราคิดว่านี่คือการปรับตัวของกระทรวงกลาโหมหลังถูกเป็นเป้าโจมตีมาโดยตลอด แต่ว่าก็ลดลงไม่มาก ยังเห็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ อยู่ และแม้ว่างบโดยรวมจะลดลง แต่ว่างบบุคลากรกลับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดเลยว่านโยบายของรัฐบาลที่เคยหาเสียงไว้ถูกนำมาทำจริงน้อยมาก โดยเฉพาะนโยบายด้านสวัสดิการ เมื่อปี 2562 เกือบทุกพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้หาเสียงไว้ แต่ว่า 4 ปีผ่านไป ซึ่งเราทักท้วงทุกปีจนปีสุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทั้งงบสำหรับช่วยเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หาเสียงไว้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ถ้วนหน้า ส่วนเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุก็ไม่เพิ่มขึ้นเลย อยู่ที่ 600 บาท เท่ากับปี 2562 ดังนั้น อยากให้ประชาชนจดจำเอาไว้ว่าพรรคการเมืองใดเคยหาเสียงเรื่องใดไว้ และไม่สามารถทำได้จริงตามที่ประกาศไว้ และถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่าไปเลือกแบบเดิมเพราะจะเจอนักการเมืองที่ไม่รักษาสัญญาอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image