รายงานหน้า2 : ดนุชา พิชยนันท์ ส่องปัจจัย-ฟื้นศก.ไทย

หมายเหตุหนังสือพิมพ์มติชน สัมภาษณ์พิเศษ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หนึ่งในวิทยากรงานสัมมนา “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” ในวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ ซึ่งได้ฉายภาพเศรษฐกิจประเทศไทย ปัจจัยหนุนปัจจัยเสี่ยง และ ความเห็นต่อการผลักดันความแข็งแกร่งประเทศ

⦁แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยภายนอก ด้วยตัวเศรษฐกิจไทยเองขณะนี้ยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่ขยับสูงขึ้น ส่วนเงินเฟ้อเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย แต่ยังดีที่ประเทศไทยยังมีปัจจัยบวกอยู่พอสมควร ในช่วงถัดจากนี้จะเห็นว่าการส่งออกยังดีอยู่ แม้ช่วงปี 2564 การส่งออกดีมาก เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแรง แต่ว่าปี 2565 โมเมนตัมของการส่งออกยังคงดี แม้จะลดลงบ้างก็ตาม แต่ในส่วนของไทยยังไปได้ดี ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ที่ออกมาในขณะนี้ยังคงเป็นเรื่องอุตสาหกรรมอาหารหรือรถยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์มีปัญหาการขาดแคลนตัวชิป เป็นเรื่องของซัพพลายดิสรัปชั่นที่ผู้ผลิตรถยนต์ประสบปัญหากันทุกประเทศ หากประเทศจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิด ปัญหาคงจะปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยบวกนอกจากการส่งออกของไทย คือ เราได้เปิดภาคการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตไม่ได้หวือหวาแบบประเทศอื่นในภูมิภาคเพราะโครงสร้างของไทยประมาณ 17-20% เป็นภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่และคนที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวมีค่อนข้างมาก ในวันนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น เพราะเริ่มเปิดประเทศเต็มที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2564 หากเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ไปโดยไม่มีอะไรมาดิสรัปต์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรื่อยๆ คาดว่านักท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ 7 ล้านคน และอาจถึง 10 ล้านคน ถ้าทำตลาดได้ดีและบางประเทศเปิดให้นักท่องเที่ยวออกนอกประเทศได้ จะทำให้การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้น ตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวโครงสร้างของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากช่วงก่อนโควิด เดิมนักท่องเที่ยวจีนจะมีสัดส่วนค่อนข้างมาก ตอนนี้กลายเป็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา หรือจากทางรัสเซียที่ยังคงมีอยู่ ถ้าไม่มีอุปสรรคในช่วงครึ่งหลังปี 2565 จะเห็นภาพการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น

อีกปัจจัยที่สนับสนุน คือ ความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียที่มีการหารือเรื่องการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับตัวมาตรการของรัฐที่ออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Long-term resident visa (วีซ่าระยะยาว) จะมาช่วยภาคการท่องเที่ยวด้วย ทำให้คนที่มีความมั่งคั่งสูงเข้ามาเมืองไทยและอยู่นาน อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ตอนนี้เริ่มมีอุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามาแอพพลายในมาตรการอีวี 3 อยู่หลายรายทั้งจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่นที่กำลังเข้ามา จะเป็นอีกปัจจัยทำให้เกิดการลงทุนทางตรงในช่วงครึ่งปีหลัง

Advertisement

นอกจากนี้ ทีมปฏิบัติการเชิงรุกกำลังดำเนินการดึงอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ มีแนวโน้มค่อนข้างดีที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค ดังนั้น ดีมานด์จะไม่ใช่แค่ภายในประเทศ แต่เป็นดีมานด์ด้านการส่งออกต่างประเทศด้วย แม้เราอาจไม่มีวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิต เช่น นิกเกิลแบบอินโดนีเซีย แต่เราสามารถทำในลักษณะเซลส์ทูแพคได้ และในขั้นถัดไปจะหาทางผลิตในระดับเซลส์ด้วย

ส่วนเรื่องของชิปพยายามดึงอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามา การจะทำแบบนั้นได้อินเซนทีฟที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาต้องมีการปรับ เริ่มเห็นแล้วจากการที่เราปรับอินเซนทีฟใหม่ในรถยนต์อีวีที่ออกมาตรการอุดหนุนต้นทุนเพื่อให้ถูกลงสำหรับผู้บริโภคให้เข้าถึงรถอีวีได้ง่ายขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมขั้นสูงอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำเป็นการลงทุนค่อนข้างสูง
อินเซนทีฟที่เรามีอย่าง Task อนาคตเริ่มไม่เพียงพอ เพราะ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ออกมาตรการทำให้การจะมาใช้ Task อินเซนทีฟในประเทศต่างๆ เริ่มใช้ไม่ค่อยได้แล้ว ต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวก กฎหมาย กฎระเบียบ เป็นเรื่องที่กำลังดำเนินการ จะทำให้นักลงทุนเข้ามาง่ายขึ้น

รวมถึงต้องมาดูการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการจะดึงนักลงทุนเข้ามาจะเป็นเท่าไหร่ มีการแบ่งการลงทุนอย่างไร เป็นเรื่องที่หลายประเทศทำกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ญี่ปุ่นออกกฎหมายเพื่อซับซิดี้ผู้ประกอบการ เพราะใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก ซึ่ง สิงคโปร์ อเมริกา ยุโรป เยอรมนีก็มี เป็นการแย่งชิงโรงงานผลิตชิปเพราะในอนาคตรถยนต์อีวี อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจะอยู่ได้ด้วยชิปเป็นตัวหลัก ทุกคนคงสร้างความปลอดภัยซัพพลายไว้ให้กับประเทศตัวเองรวมถึงราคาด้วย

⦁ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจครึ่งหลัง2565
ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คงต้องมอนิเตอร์ใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะความเสี่ยงหลัก ไม่ได้อยู่ที่การระบาดโควิด หรือฝีดาษลิงที่เพิ่งเกิด และยังไม่เป็นปัจจัยหลักในแง่ของการระบาด เพราะหลายประเทศมีวัคซีนเก็บไว้แล้ว ส่วนโควิดในแง่ของการกลายพันธุ์เริ่มเบาลงและทุกคนได้รับวัคซีนมากขึ้น น้ำหนักความเสี่ยงจะมีไม่มาก ความเสี่ยงหลักจะอยู่ที่เศรษฐกิจโลกและการเมืองระหว่างประเทศจะมีผลค่อนข้างมากในช่วงครึ่งหลังนี้ เป็นเรื่องที่ไทยต้องวางโพสิชั่นให้ดี

ในแง่ของกรอบความร่วมมือทางการค้าต่างๆ รัฐบาลได้เข้าไปแล้วอินโดแปซิฟิก สร้างความร่วมมือในแง่เศรษฐกิจ ส่วนเรื่อง CPTPP วันนี้ยังมีข้อขัดข้องอยู่ในส่วนของภาคการเกษตร ซึ่งสภาพัฒน์คิดว่าจะต้องเข้าไปเจรจา เพราะจะทำให้ตลาดเรากว้างขึ้น แม้จะมีอาร์เซ็ปแล้ว แต่ CPTPP เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่มีตลาดกว้างขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่นักลงทุนจะพิจารณาในการลงทุนในประเทศใดๆ ก็ตาม อย่างเวียดนามเข้าทุกกรอบในบางเรื่องที่เขายังไม่พร้อม สามารถดึงให้เกิดความดีเลย์ไว้ ซึ่งเราสามารถทำได้แบบเดียวกัน เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดการเจรจา ขณะเดียวกันฝั่งภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือภาคที่ยังไม่พร้อม ตอนนี้หารือเรื่องกองทุนเอฟทีเอจะมาช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากกรอบความร่วมมือทางการค้า เพื่อทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตร

ในมุมของแม็คโครภาพเศรษฐกิจถัดจากนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น ถ้าไม่มีความขัดแย้งหรือการแซงก์ชั่นที่รุนแรง เพราะถ้าออกมาคงมีช็อกระยะหนึ่ง แต่ทุกอย่างจะปรับตัวไป ขณะเดียวกันเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นความเปราะบางอยู่ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพราะภาครัฐเข้าไปช่วยทั้งในแง่ของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารของรัฐ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ปรับโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ถ้าดูตัวเลขการจ้างงาน อัตราว่างงานโดยรวมก็ต่ำที่สุดหลังเกิดโควิด ช่วงเกิดโควิดอยู่ระดับ 1.53% ถือว่าต่ำแล้ว แต่เมื่อเทียบช่วงก่อนโควิดยังไม่ต่ำ เพราะก่อนโควิดอัตราว่างานอยู่ระดับ 0.9% เต็มที่ประมาณ 1%

ส่วนหนึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะเดียวกันเด็กจบใหม่ที่ออกมาปีละกว่า 4 แสนคน มี 2 แสนคนเข้าระบบการจ้างงานแล้ว อีก 2 แสนคนจบมาในอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะสมกับตลาดแรงงานขณะนี้ และบางส่วนต้องการจะเป็นผู้ประกอบการเอง ต้องเข้าไปช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนประกอบธุรกิจได้ ขณะเดียวกันที่จบออกมาแล้วมีสกิลที่ไม่เหมาะกับตลาดแรงงาน ในอนาคตมีโปรแกรมสำหรับอัพสกิล-รีสกิลเข้ามาช่วย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงศึกษาธิการ กำลังทำอยู่อาจจะยังไม่รวดเร็ว ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะเข้ามาอบรมที่ต้องเข้ามาบนแพลตฟอร์มที่เราวางไว้ด้วย

ขณะเดียวกันเรื่องความสัมพันธ์ที่ปรับตัวดีขึ้นกับซาอุดีอาระเบีย ทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานที่ส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย เป็นแรงงานมีฝีมือ เป็นแรงงานที่ซาอุดีอาระเบียต้องการในแง่ภาคการท่องเที่ยว และอาจจะมีในส่วนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งกำลังคุยกันอยู่ประมาณ 6-7 เรื่อง โดยรวมสถานการณ์น่าจะดีขึ้นในแง่ของภาคเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ต้องระมัดระวังให้ดี

⦁เร่งสร้างแรงจูงใจ-ความเชื่อมั่น
ต้องสร้างแรงจูงใจในเรื่องของอินเซนทีฟต่างๆ ที่จะให้ต่างประเทศเข้ามา ถ้ามองภาพต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในประเทศมากกว่า หากพูดกันตามตรงส่วนหนึ่งคือรัฐบาลได้ทำไปหลายเรื่อง แต่ก็ถูกด้อยค่าไปบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงอย่างต่อเนื่อง หากดูในแง่ของความเชื่อมั่นในภาคเอกชนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในประเทศ เท่าที่ได้พูดคุยกับทางท่านทูตนานาชาติ อย่างท่านทูตเกาหลีใต้ ยังมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยที่ยังเป็นฐานเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อยู่และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังดี น่าจะสามารถเดินต่อไปได้

⦁ความแข็งแกร่งไทยระดับ7
ถามว่าหากวัดความแข็งแกร่งของไทยในตั้งแต่ระดับ 1-10 ไทยน่าจะอยู่ในระดับกว่า 7 เพราะยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนและเงินเฟ้อ ส่วนฐานะการคลังยังไม่มีปัญหา แต่เรื่องราคาสินค้าต้องควบคุมให้ดี แต่จะไม่ให้ผู้ประกอบการขึ้นราคาเลยคงไม่ได้ ต้องเป็นไปตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีกลไกดูแลอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงหลักจากเศรษฐกิจโลกและสงครามได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ใหม่จากเดิม 4% เหลือ 3% ถ้าไม่มีอะไรมาช็อกระหว่างทางอย่างแรงน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3% ดูจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ และการส่งออกที่ดีขึ้น

ส่วนสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตที่เกิดการขาดแคลนอยู่ เช่น ปุ๋ยเคมีหรืออาหารสัตว์ มีมาตรการออกมาเพื่อทำให้ผ่อนคลายลง อาหารสัตว์ได้ผ่อนคลายการนำเข้าและใช้สินค้าทดแทนในประเทศ ส่วนปุ๋ยเคมีที่ผู้ผลิตหลักเริ่มไม่ส่งออก เช่น จีน หรือรัสเซียยังมีแซงก์ชั่นอยู่ เราต้องหาแหล่งใหม่อาจจะต้องดูจากซาอุดีอาระเบีย อีกส่วนต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และถือโอกาสนี้ยกระดับภาคเกษตรไปเป็นภาคเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์อาจจะไม่ได้เห็นผลเร็ว แต่มีประสิทธิภาพในการช่วยเพิ่มผลผลิตและมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคและอาจจะเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคต ถ้าสามารถปลดล็อกให้กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตและขายเองได้จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้ถูกคุมอยู่ว่าต้องมีใบอนุญาต

⦁แนะเอกชนพร้อมรับปัจจัยเสี่ยง
ช่วงนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวช้าๆ แต่จะฟื้นตัวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ในส่วนนี้ภาคเอกชนที่มีธุรกิจด้านการส่งออกคงเติบโตได้อยู่ แต่ต้องระมัดระวังการนำเข้าสินค้าที่ต้องดูปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ส่วนภาคเอกชนอื่นๆ ต้องทำธุรกิจด้วยความระมัดระวังเหมือนกันในครึ่งปีหลัง เพราะอาจมีปัจจัยที่ช็อกออกมาโดยที่เราคาดการณ์ไม่ได้ ดังนั้น ต้องเดินต่อด้วยความระมัดระวังและต้องปรับตัว ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเป็นสัญญาณให้เห็นแล้วว่าภาคธุรกิจ ภาคเอกชนต้องปรับตัวให้สอดรับกับแนวโน้มอนาคตทั้งในแง่ของแรงงาน ซึ่งในอนาคตอาจจะเกิดการแย่งชิงกันมากขึ้น เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องปรับระบบการผลิตและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

ขณะเดียวกันการผลิตสินค้า คงต้องเน้นในแง่วิจัยและพัฒนามากขึ้น เพราะต้องพยายามหาความแตกต่างจากประเทศคู่แข่งด้วย เพราะอย่าลืมว่าประเทศคู่แข่งก็มีความสามารถในการผลิตได้เหมือนกับไทย ทำให้มีการแข่งขันกันด้วยเรื่องคุณภาพ ซึ่งคุณภาพที่เกิดขึ้นจะมาจากการวิจัยนวัตกรรม ด้านอุตสาหกรรมอนาคตในเรื่องของยาเป็นแนวโน้มที่ดี เรื่องการท่องเที่ยว ทางผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวก็ต้องเริ่มปรับตัว เช่น เป็นลองสเตย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น เพื่อฉีกตัวเองออกมาจากการท่องเที่ยวแบบเดิม

โลกเราไม่ปกติมา 2-3 ปีแล้ว ยิ่งปีนี้มีวิกฤตสงครามยิ่งไม่ปกติ ทุกคนต้องพยายามทำให้ประเทศไทยยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ต้องมีความยืดหยุ่นที่เพียงพอที่จะรองรับกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคต โดยเฉพาะในแง่ของความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่น่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปอาจจะไม่ใช่แค่ 2 ขั้ว อาจจะมีขั้วที่ 3 โผล่ขึ้นมาก็ได้ เพราะหลายประเทศมองเป็นโอกาสที่สร้างบทบาทตัวเองให้เป็นผู้นำในภูมิภาคที่ตนเองอยู่ ฉะนั้นเราต้องวางโพสิชั่นของตัวเองให้ดีและภาคเอกชนต้องติดตามสถานการณ์ให้ดีและต้องมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image