ส่งสัญญาณคว่ำ #สมรสเท่าเทียม โซเชียลฮึดสู้ ติดแฮชแท็กบี้สภา โหวตสวนมติรัฐบาล

ส่งสัญญาณคว่ำ #สมรสเท่าเทียม โซเชียลฮึดสู้ ติดแฮชแท็กบี้สภา โหวตสวนมติรัฐบาล 

วันพุธที่ 15 มิถุนายน สภาฯจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ… หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อน ส่งกลับให้สภาฯพิจารณาเพื่อรับหลักการหรือไม่

ทั้งนี้ สำหรับวาระดังกล่าว จะมีการเลื่อนกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน อีก 3 ฉบับมาพิจารณาไปพร้อมกัน

ประกอบด้วย 1.ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … กับ 2.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ที่ครม.เป็นผู้เสนอนั้น และ 3.ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ที่ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล กับคณะ เป็นผู้เสนอ

สำหรับความเคลื่อนไหวก่อนถึงวันพิจารณา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวิตข้อความระบุว่า “รัฐบาลส่งสัญญาณคว่ำ” ไม่รับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับที่ พรรคก้าวไกล เสนอ

Advertisement

“ขอรายงานประชาชน แอบเห็นมติวิปรัฐมนตรี ที่ประชุมกัน มีมติให้รวม พ.ร.บ.คู่ชีวิต 2 ฉบับ พิจารณาพร้อมไปกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ #สมรสเท่าเทียม (ทีงี้ไม่อุ้มไปบ้าง) ทั้งที่หลักการไปด้วยกันไม่ได้ และมีมติรับเฉพาะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และให้ปัดตก #สมรสเท่าเทียม งงงงงง”

คอนเฟิร์มข่าวคว่ำจริง โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล รับว่า เบื้องต้นมติของวิปรัฐบาล จะไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

ส่วนอีก 3 ฉบับ นายชินวรณ์ บอกว่า มติวิปรัฐบาลให้รับหลักการ และจะรับความคิดเห็นไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 25 คนขึ้นมาพิจารณาต่อ

Advertisement

ทั้งนี้ สาระสำคัญระหว่างร่างพ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม” กับ “คู่ชีวิต” นั้น ไอลอว์ ได้เทียบเคียงไว้อย่างง่าย

โดยระบุว่า ร่างสมรสเท่าเทียม ที่ ธัญวัจน์ กับคณะเสนอนั้น เป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังกำหนดให้การสมรสทำได้เฉพาะ “ชาย-หญิง” เท่านั้น โดยเสนอแก้ไขให้การสมรสกระทำได้ระหว่างบุคคลสองฝ่าย ปลดล็อกเงื่อนไขเรื่องเพศ เพื่อให้บุคคลสามารถจดทะเบียนสมรส มีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรส โดยอาศัยฐานจากกฎหมายฉบับเดียวกัน

ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ ครม. เสนอนั้น ออกแบบมาเพื่อเป็น “กฎหมายแยก” สำหรับการจดทะเบียนของของผู้ที่มีเพศกำเนิดเพศเดียวกัน โดยสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้มีเพศกำเนิดเพศเดียวกัน อายุ 17 ปีขึ้นไป สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ หากมีอายุต่ำกว่า 17 ปี จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาด้วย ผู้ที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้น จะมีสัญชาติไทยทั้งสองฝ่าย หรือมีสัญชาติไทยแค่เพียงฝ่ายเดียวก็ได้ คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เหมือนกรณีของสามีภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้เสียหายเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ส่วน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดยครม. นั้น เป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบางมาตรา เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยกำหนด “ห้ามจดทะเบียนซ้อน” กล่าวคือ ห้ามชาย-หญิงจดทะเบียนสมรสหากได้จดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่แล้ว และกำหนดแก้ไขเหตุฟ้องหย่า กรณีสามี-ภริยา เลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต เป็นเหตุฟ้องหย่าได้

ด้าน ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ≠ คู่ชีวิต และไม่สามารถประกบพิจารณากันได้

เพราะ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตคือการร่างกฏหมายฉบับใหม่ แม้แต่คำที่บัญญัติก็ไม่เหมือนกัน

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากมีการเปรียบเทียบระหว่างสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิต มีนักข่าวหลายสื่อหลายท่านโทรมาสอบถามว่าสมรสเท่าเทียมมีสิทธิอะไรบ้างและคู่ชีวิตมีสิทธิ์อะไรบ้าง ประชาชนเกิดความความสับสนไม่แน่ใจว่า คู่ชีวิตนั้นให้สิทธิอะไรบ้าง และความสับสนนี้เองหากท่านพิจารณาแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะสมรสก็คือสิทธิ เท่าเทียมกับการสมรส และประชาชนไม่ควรจะมีข้อสงสัยใดใดว่า เท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นไม่มีทางที่จะเท่าเทียมได” ธัญวัจน์ ระบุ

พร้อมเรียกร้องให้ ส.ส.โหวตรับหลักการ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวันพุธที่ 15 มิถุนายนนี้

โดย ธัญวัจน์ ระบุว่า “หน้าที่ผู้แทนราษฎรคือทำตามเสียงประชาชน โหวตสมรสเท่าเทียม อย่าให้ประชาชนเสื่อมศรัทธากลไกรัฐสภา

สมรสเท่าเทียม ถูกยื่นเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 PrideMonth2020 ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่มีผู้มามาให้ความเห็นมากที่สุดกว่า 5 หมื่นคน ประชาชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างเฝ้ารอเข้าสู่การประชุมสภาด้วยความหวัง สิ่งนี้น่าจะเกิดขึ้นในสภาชุดนี้ได้ เนื่องจากเรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกคน และทุกพรรคการเมืองสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ แต่มติครม. เมื่อวานนี้น่าผิดหวังอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ดี ธัญ ขอเรียนผู้แทนราษฎรทุกท่าน ว่าผู้แทนราษฎรทุกท่านล้วนแล้วแต่มีเอกสิทธิ สามารถตัดสินใจในการลงมติด้วยตนเองได้ ถึงแม้ครม.มีมติไม่รับร่างดังกล่าว แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับมติครม. ตัวอย่างร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล มติครม.งั้นก็ไม่รับหลักการเช่นกัน แต่ก็สามารถโหวตผ่านวาระหนึ่งมาได้

หากทางเป็นผู้แทนราษฎรที่ยึดมั่นในหน้าที่ ทุกท่านคงได้ยินเสียงของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า พวกเขาไม่เอาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ท่านต้องตอบคำถามกับตนเองว่า ท่านจะเล่นเกมการเมืองท่ามกลางการรอคอยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือจะลงมติรับร่างให้พวกเขาด้วยความจริงใจ ให้เดือน PrideMonth2022 เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจและฉลองชัยด้วยสมรสเท่าเทียม

อย่าให้ประชาชนสิ้นหวังในกลไกรัฐสภา
เราคือผู้แทนของประชาชน

วันนี้สมรสเท่าเทียมมิใช่เป็นเรื่องของความเสมอภาคทางเพศเพียงอย่างเดียว แต่คือการต่อสู้ที่ปฏิเสธการยัดเยียด สิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการจากผู้มีอำนาจ เป็นบทพิสูจน์ของพรรคการเมืองที่บอกว่า สนับสนุนบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โอกาสที่ท่านจะพิสูจน์มาถึงแล้ว อย่าเกรงกลัวอำนาจ หากท่านทำเพื่อประชาชน ประชาชนจะเห็นเอง” ธัญวัจน์ ทิ้งท้าย

ล่าสุด หลังจากมีกระแสคว่ำจากปากรองประธานวิปรัฐบาล ทำให้ชาวเน็ตเดือดแห่ติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 1 ของเทรนด์ทวิตเตอร์

พร้อมๆกับนัดรวมพลังกันที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย ในระหว่างที่สภาฯพิจารณาเรื่องนี้ จนกว่าจบ

เช็กลิสต์ ประกาศแปะชื่อประจาน ส.ส.โหวตคว่ำ รณรงค์อย่าเลือกกลับเข้าสภาอีกต่อไป   

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image