‘บิ๊กตู่’ ชิ่งตอบกระทู้ กลไกสภาไร้ความหมาย ?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการในประเด็นนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสภา กล่าวตำหนิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มาตอบกระทู้ถามสดเพราะติดภารกิจ แต่มอบหมายนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาตอบกระทู้แทน แต่ทั้ง 2 คนอ้างติดภารกิจไม่มาตอบกระทู้ถามสดในสภา

ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ
อดีตคณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น

ปัญหาเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนในเวลานี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง โรคโควิด-19 กระหน่ำซ้ำเติม แม้ขณะนี้เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ออกมา แต่ผลพวงจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยังคงกระทบรุนแรง รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่กระทบไปทั่วโลก วิกฤตการณ์การขาดแคลนอาหาร ปัญหาเงินเฟ้อต่างๆ ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลทำให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ทั้งหมดตอกย้ำชัดเจนว่าไม่มีเรื่องอะไรสำคัญไปกว่าปัญหาปากท้องของคนในประเทศแล้ว เป็นเรื่องที่ทุกคน โดยเฉพาะผู้นำ ผู้บริหารประเทศ หรือนายกรัฐมนตรี ต้องสนใจและใส่ใจในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยร่วมมือกับกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวในการแก้ไข จะให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไม่ได้ ผู้นำประเทศจะต้องรับรู้ข้อมูลในภาพกว้างมากกว่าคนอื่นๆ
เมื่ออาสาเข้ามาบริหารประเทศแล้วจะอ้างว่าไม่รู้ ไม่ทราบไม่ได้ และปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศต้องทำ เป็นความรับผิดชอบที่ต้องทำอยู่แล้ว ในทุกองค์กรไม่ใช่เฉพาะในรัฐบาลเท่านั้น ผู้นำต้องทำก่อน ผู้นำต้องมีความเข้าใจ เพราะหากผู้นำไม่มีความรู้ความเข้าใจ ผู้ใต้บังคับบัญชาจะเข้าใจได้อย่างไร ดังนั้น การที่นายกฯไม่มาตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านในประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญและมอบหมายให้รัฐมนตรีมาแทน ก็สะท้อนให้เห็นภาพอะไรบางอย่างในตัว

สำหรับข้อบังคับของสภาเปรียบเสมือนกฎหมายฉบับหนึ่งที่ใช้กำกับควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามหลักที่ถูกต้อง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมสภาก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย และเป็นผู้แทนของประชาชนที่ต้องเข้าใจกฎเกณฑ์นั้นมากกว่าคนอื่นๆ อยู่แล้ว การที่คนระดับนี้ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสะท้อนให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายหรือข้อบังคับนั้นมีปัญหา หากมองออกไปนอกสภาจะเห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายเยอะมาก แต่ปัญหาก็ยังเยอะ การมีกฎหมายกฎระเบียบเยอะก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมเรากำลังมีปัญหา เพราะหากคนในสังคมเข้าใจบทบาทการเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคมว่าจะต้องอะไร กฎหมายก็ไม่มีความจำเป็น ดังนั้น การที่สภามีข้อบังคับอยู่แล้ว แต่คนที่ใช้ข้อบังคับไม่ปฏิบัติตาม แล้วจะคาดหวังให้คนในสังคมปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างไร

Advertisement

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง มาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจ จึงหันหลังและไม่มีความรับผิดชอบกับประชาชน โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลที่บริหารประเทศมากว่า 8 ปีแล้ว ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน และคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิมได้ จนสร้างความไม่พอใจให้คนทั้งประเทศ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) บางราย ไม่ยอมตอบกระทู้ฝ่ายค้าน มีเพียง 2 ประเด็น คือ ไม่ให้คำตอบหรือตอบไม่ได้ กับไม่สนใจความรู้สึกและเสียงของประชาชน (ไม่แคร์) เพราะกุมอำนาจบริหารประเทศ เพื่ออยู่จนครบวาระ สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำประเทศและ ครม.ไม่สนใจความเดือดร้อนประชาชน ที่ได้รับกระทบจากเศรษฐกิจ อาทิ ค่าครองชีพสูง น้ำมันแพง เงินเฟ้อ แต่ค่าแรงเท่าเดิม สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมและคุณธรรมการเป็นผู้นำ และการบริหารประเทศที่ถดถอยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาล ควรแสดงความรับผิดชอบที่แก้ปัญหาประชาชนไม่ได้ เพียงแค่ตอบกระทู้หรือคำถามฝ่ายค้านที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องปากท้องประชาชนยังทำไม่ได้ แล้วจะรับผิดชอบต่อประชาชนได้อย่างไร ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ประชาชนควรพิจารณาเลือกพรรคการเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่า อย่าเลือกพรรคที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์หรือสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพราะไม่เห็นความสำคัญประชาชน

อยากให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน บอยคอยการประชุมสภาดังกล่าว เพราะการอภิปรายหรือซักฟอกอะไรไป ถ้ารัฐบาลไม่ตอบก็ไม่เกิดประโยชน์ และสูญเสียทรัพยากรการประชุมไม่น้อย ส่วนมาตรการและระเบียบข้อบังคับเพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่ในสภาอย่างเต็มที่นั้น เป็นเรื่องของสภาที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่สามารถโยนภาระให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เพราะเป็นผู้แทนของประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยมีโลกอยู่ 2 ใบ คือ โลกของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากประชาชนโดยตรงและเป็นความหวังของประเทศ โดยแสดงบทบาทหน้าที่ตามศักยภาพของตนเอง ไม่ทิ้งประชาชนอยู่ข้างหลัง ส่วนอีกโลกเป็นโลกของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ประชาชนอย่างไร ถ้ายังลอยตัวหนีปัญหา ประชาชนไม่ต้องหวังอะไร แค่รอการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าว่าใครให้พรรคไหนเป็นรัฐบาลแทน

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ปรากฏการณ์การไม่มีตัวแทนของทางฝ่ายรัฐบาลมาตอบกระทู้ถามสดของพรรคฝ่ายค้านเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อกุมภาพันธ์ คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ตอบกระทู้ถามสด ครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มาตอบกระทู้สด ทำให้ประธานสภาระบุว่าเป็นการไม่ให้เกียรติสภาผู้แทนราษฎร สามารถตั้งข้อสังเกตทางการเมืองได้ดังนี้

1.การไม่มีคนจากรัฐบาลมาตอบกระทู้ถามสดซึ่งถูกถามโดยฝ่ายค้าน สะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารของฝ่ายรัฐบาลมีปัญหาอย่างมาก ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยที่เคยมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยมาตอบแทน หรือนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายรัฐมนตรีท่านอื่นมาตอบแทน แต่ทุกท่านต่างติดงานทำให้ไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามได้ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าการพูดคุยกันของฝ่ายรัฐบาลที่เป็นผู้บริหารประเทศมีปัญหาอย่างมาก เพราะทั้งคนที่มอบหมายและได้รับมอบหมายต่างไม่ได้คุยกัน ส่งผลให้การทำงานของกระบวนการรัฐสภาที่ต้องมีฝ่ายบริหารมาเกี่ยวข้องเกิดปัญหา ไม่สามารถดำเนินต่อได้

2.สะท้อนปัญหาสำคัญของกลุ่มการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ อย่าลืมว่าประธานสภาที่ทำหน้าที่ คือ นายสุชาติ ตันเจริญ จากพรรคเดียวกัน การสอนมวยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือการตำหนินายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง ถึงการสั่งงานที่อย่าสั่งเหมือนทหารนั้น อาจทำให้เห็นว่ากลุ่มต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐเองไม่พอใจการทำงานของทั้งสองท่าน จนต้องใช้คำพูดค่อนข้างรุนแรงกับผู้บริหารประเทศ อย่าลืมว่าการไม่มาตอบกระทู้ของฝ่ายค้านในเรื่องพลังงานและสินค้าราคาแพงที่เป็นประเด็นสำคัญในตอนนี้ ทำให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐทำงานในพื้นที่ได้ยากมากขึ้น เนื่องจากประชาชนในพื้นที่อาจมองว่านายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญกว่านั้น ประธานสภาเองก็เสียเครดิตทางการเมืองไปด้วยที่ไม่สามารถควบคุมการตั้งกระทู้ถามสดให้ดำเนินต่อไปได้เนื่องจากไม่มีคนมาตอบคำถาม

3.ในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่ สะท้อนความไม่พร้อมของรัฐบาลในการแก้ปัญหาพลังงานและราคาสินค้าแพง เนื่องจากถ้าฝ่ายรัฐบาลมีแนวทางรับมือเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีคนมาตอบคำถามฝ่ายค้านซึ่งทำหน้าที่ถามแทนประชาชนที่กำลังประสบปัญหาในตอนนี้ มากกว่านั้น การมาตอบกระทู้ถามสดของผู้บริหารประเทศจะทำให้ประชาชนเข้าใจทิศทางการบริหารประเทศในช่วงวิกฤตมากขึ้นว่ารัฐบาลจะมีนโยบายหรือมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนต่อไปอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

กรณีมีข้อบังคับการประชุมข้อที่ 151 และ 156 ระบุว่า นายกฯและรัฐมนตรีจะต้องเข้าร่วมประชุมสภา ยกเว้นมีเหตุจำเป็น ถ้ามีเหตุจำเป็นผู้ที่ถูกกระทู้ถามสามารถที่จะชี้แจงและขอมาตอบภายหลังได้ แต่ที่ผ่านมาผู้ถูกกระทู้ถามสดได้มอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและแต่ไม่มีใครมาเนื่องจากติดภารกิจเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องมาคิดต่อกันว่า ภารกิจนั้นมีความสำคัญกว่าความเดือดร้อนและความสงสัยของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของผู้ที่เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน ถ้าอ้างว่าติดงานเพื่อหลีกหนีการตอบกระทู้ ต่อไปรัฐสภาควรมีข้อบังคับมากกว่านี้ เพิ่มเติมว่าผู้ได้รับการมอบหมายต้องมาตอบกระทู้ได้จริงๆ เพราะกระทู้ที่ถามเป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนที่ฝ่ายบริหารต้องแก้ไข หรือกำหนดวันให้ผู้ถูกถามต้องกลับมาตอบกระทู้อีกรอบในช่วงเวลาที่เร็วที่สุด สิ่งเหล่านี้ น่าจะช่วยให้กลไกการประชุมสภามีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่เองควรต้องช่วยให้ฝ่ายสภาทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารมากยิ่งขึ้น ผ่านการร้องเรียนถึง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลให้ช่วยเรียกร้องให้ผู้บริหารฝ่ายรัฐบาลมาทำหน้าที่ในสภาเพื่อให้กลไกของสภาดำเนินต่อไป

สุดท้าย หากฝ่ายบริหารยังหลีกหนีไม่ยอมมาตอบกระทู้ สิ่งที่ทำได้ คือ รอการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาเพื่อให้ฝ่ายค้านใช้เป็นเวทีซักฟอกการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าที่ผ่านมาผู้บริหารฝ่ายรัฐบาลทำงานอย่างไร ให้ความสนใจกับปัญหาของประชาชนมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image