รายงานหน้า2 : พปชร.-โรดโชว์ เวทีการเมืองฟื้นความนิยม?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ประกาศจัดโรดโชว์ 10 เวที 10 ภูมิภาค หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ภายหลังสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจล่าสุด พปชร.มีคะแนนนิยมอันดับ 5 (6.32%) และ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่อันดับ 4 (11.68%)

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผมว่านี่เป็นการปลุกขวัญและกำลังใจของบรรดา ส.ส.ในเครือข่ายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตลอดจนผู้สนับสนุน พปชร.ว่าพรรคยังยืนกรานและมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสู้ศึกในสนามการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน ทั้งนี้ พปชร.กำลังต่อสู้เรื่องความรู้สึกของประชาชนที่มองว่า พปชร.กำลังถดถอยเรื่องความนิยมต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบจากค่าครองชีพ วิกฤตเศรษฐกิจด้านพลังงานต่างๆ พปชร.ปฏิเสธความรับผิดชอบที่พรรคเชื่อมโยงในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ และแน่นอนว่าความนิยมของ พปชร.ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ไปในตัวด้วย

ในส่วนของการจัดเวทีพบประชาชนของ พปชร.นั้น อย่าลืมว่าการเมืองไทยยังใช้รูปแบบของการหาเสียงแบบดั้งเดิม ผสมผสานกับการหาเสียงในรูปแบบใหม่ สื่อโซเชียลมีเดียอาจจะยังไม่เพียงพอ ก็อาจจะเป็นการอุปโลกน์ หรือเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยา ว่าพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมืองนี้ ยังมีความเข้มแข็งอยู่ ในขณะเดียวกันก็จะมีพวกเฟซบุ๊กเพจ หรือแอดมินอวตาร ออกมาถล่ม ออกมาเชียร์ หรือออกมาขยี้ ไม่สามารถวัดผลได้จริงเท่ากับการลงพื้นที่จริง

Advertisement

การลงพื้นที่จริงนั้น อาจจะเห็นสภาพแวดล้อม และแน่นอนว่าเป็นการไปสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน อาจจะประเมินสภาพแวดล้อมในการต่อสู้ทางการเมืองด้วยว่าจะมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร เช่น การลงพื้นที่แรก ที่ระบุเฉพาะเจาะจงอย่างจังหวัดชลบุรี ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งหมายว่าจะต้องกวาด 10 ที่นั่ง ส.ส.ในจังหวัดชลบุรี เท่ากับว่าเป็นการประกาศศักดา และเป็นการยืนยันว่า พปชร.ยังมีความเข้มแข็งอยู่

ทั้งนี้ การเลือกจังหวัดในการจัดเวทีพบประชาชน แน่นอนว่าเป็นจังหวัดที่มี ส.ส.พปชร.
ทำงานการเมืองในพื้นที่ หรือได้รับการเลือกตั้งอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการรู้สึกว่าตนเองเดินเกมช้า หรือเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นลงพื้นที่หาเสียงไปก่อนหน้านี้นานแล้ว

อย่างไรก็ดี ไม่เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พปชร.จะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 150 ที่นั่ง แน่นอนว่าอาจจะเป็นการปลุกขวัญกำลังใจให้พรรคพวกเชื่อมั่นในคำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่ายังมีพลังและมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น จำนวนเสียงของ พปชร.ที่ได้รับเลือกเข้ามาจะไม่มีวันเท่ากับการเลือกตั้งปี 2562 แค่ตามรักษาจำนวนที่นั่งไว้ให้ได้เท่าเดิมก็ถือว่าเก่งมากพอแล้ว แต่ผมเชื่อว่าเป็นการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น น่าสนใจว่า 8-9 เดือนที่เหลือ โจทย์ที่ท้าทายคือ พปชร.ต้องหาคนที่ได้รับความนิยม หรือคนที่จะมุ่งมั่นทำงานกับ พปชร.ที่มีภาพลักษณ์ มีต้นทุนดี มากกว่าการรวบรวม ส.ส.เขต ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการสร้างความเชื่อมั่น หรือคะแนนนิยมของ พปชร.ให้กลับมา ความสงบจบที่ลุงตู่ ในปี 2562 อาจจะใช้ได้ แต่ปี 2566 ผมไม่เชื่อว่าแนวคิดแบบนี้จะขายได้อีก

Advertisement

เรื่องของโพลหรือผลสำรวจ ต้องดูที่มาที่ไปด้วยว่า วิธีการวัด หรือสำนักโพลแต่ละค่ายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ผมมองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ค่อยมั่นใจว่าการสำรวจความนิยมด้วยระบบแบบไทยๆ จะสามารถชี้วัดได้แบบสมบูรณ์ หรือน่าเชื่อถือได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการ “อุปโลกน์” เพื่อปฏิบัติการทางจิตวิทยา ให้เกิดความรู้สึกว่าฝ่ายการเมืองหนึ่งมีความหวั่นไหว อีกฝ่ายการเมืองหนึ่งมีความคึกคักในทางการเมือง

ผมคิดว่า พปชร.ต้องทำงานควบคู่ไปกับการจัดเวทีพบประชาชน ตลอดเวลาที่ผ่านมา พปชร.ทำอะไรให้ประชาชนบ้าง กฎหมายใดบ้างที่ผลักดันไปสู่การบังคับใช้และเกิดประโยชน์ขึ้นจริง ตรงนี้คือความล้มเหลวที่ผ่านมา ที่ประชาชนไม่เห็นภาพ ว่า พปชร.ทำอะไร แล้วประชาชนเกิดความรู้สึกพอใจบ้าง คนเริ่มมาเกาะติดหรือให้ความสำคัญในปีสุดท้ายของรัฐบาล พปชร. ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ สิ่งที่ พปชร.ทำอะไรไปคนแทบจะจำไม่ได้ ดังนั้น การไปลงพื้นที่มีความจำเป็นที่ พปชร.ต้องประกาศความสำเร็จของตนเองให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับฟัง

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ ผมว่าฝ่ายค้านทำการบ้านง่าย เพราะเห็นข้อบกพร่อง และประเด็นมากมายที่สามารถนำมาหยิบยกอภิปราย หลายประเด็น สิ่งสำคัญคือฝ่ายค้านควรจะโฟกัสประเด็นปัญหาเรื่องปากท้อง มากกว่าไปเกาะติดเรื่องการวางแผนอภิปรายในแง่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองมากจนเกินไป เห็นว่ามีการประกาศศักดาการแข่งขัน ว่าในสนามการเลือกตั้งครั้งหน้าคู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทย (พท.) คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ไม่ใช่พรรค พปชร. ซึ่งในบางพื้นที่อาจจะมีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาแข่งขันบ้าง

ผมอยากให้ พท. และก้าวไกล (ก.ก.) มุ่งเน้นการอภิปรายในการซักฟอกประเด็นปัญหาเรื่องปากท้องที่พูดถึงความทุกข์ยากของประชาชนในภาวะทางเศรษฐกิจ หางานยาก ปัญหาพลังงาน แสดงให้เห็นว่ามีข้อเสนอแนะที่เหนือกว่ารัฐบาลให้ได้ และตรงนี้จะเป็นการสะสมแต้มความนิยม ที่จะส่งผลให้กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน หากอภิปรายได้ตรงประเด็น ตรงใจประชาชน จะได้รับความนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยซ้ำไป

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ถือเป็นเกมปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เพราะจากผลโพล แม้ว่าทางคีย์แมนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐจะออกมายอมรับ แต่ส่วนหนึ่งก็ออกมาวิเคราะห์ว่ามีผลเพียงแค่ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม โพลนี้ทำให้เกิดความหวั่นไหวครั้งใหญ่พอสมควร ซึ่งมีแรงกระเพื่อมมาจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ด้วย ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ สองแรงบวกนี้ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ที่ พปชร.ออกมาจัดโรดโชว์ สรุปคือ โพลมีผลแน่นอน

ส่วนเรื่องวิธีการจัดโรดโชว์ 10 เวที 10 ภูมิภาค จะกอบกู้ความเชื่อมั่นของพรรคได้หรือไม่นั้น ต้องดูที่องค์ประกอบของกลยุทธ์ว่าโรดโชว์จะนำเสนอประชาชนเกี่ยวกับเรื่องอะไร อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เสนอสิ่งที่ทำให้เกิดความพึงพอใจเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะลดทอนกระแสความนิยมตกตรงนี้ได้ ผมมองว่าถึงจะมีกลยุทธ์อะไรในช่วงนี้ก็ตาม ไม่อาจต้านทานกระแสความนิยมที่ลดลงจากประชาชนได้ ดูได้ตามโพล ต่อให้มีกลยุทธ์เพิ่มความพึงพอใจ ซึ่งทางพรรคพลังประชารัฐก็มีจุดแข็งอยู่ในโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา หลายโครงการเรียกได้ว่าโดนใจกันไปพอสมควร แต่ด้วยระยะเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารราชการมายาวนานและมีปัญหาหลายอย่างที่ไม่สามารถจะแก้ไขให้ลุล่วงได้ จุดนั้นจึงเป็นแรงลบในสิ่งเชิงบวก ในเรื่องโครงการต่างๆ ที่ทำให้ประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น ตรงนี้
ก็มีความเสี่ยง ฉะนั้นแล้ว โรดโชว์มีผลทำให้กระเตื้องขึ้นได้ระดับหนึ่ง แต่คิดว่าไม่มีนัยสำคัญที่จะทำให้กระแสโดยภาพรวมดีขึ้นถึงขนาดที่จะทำให้การเลือกตั้งในครั้งต่อไป คะแนนของ พปชร.
จะกระเตื้องขึ้นมา และมีหวังที่จะมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยาก

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดโรดโชว์ ในเรื่องของความเหมาะสมที่จะสู้ในยุคโซเชียล ถ้าผมเป็นที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ผมจะเสนอทั้ง 2 รูปแบบ คือ การใช้โซเชียลมีเดีย และการลงพื้นที่ ไม่ให้ลงน้ำหนักไปที่การจัดเวทีโรดโชว์ออนไซต์ ลงพื้นที่อย่างเดียว หรือออนไลน์อย่างเดียวก็เอาไม่อยู่ ต้องทำทั้งคู่

ส่วนประเด็นที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธผลโพล พร้อมตั้งเป้าหมาย ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 150 คน เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ในอดีตการเมืองที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เมื่อเห็นผลโพลมักจะปฏิเสธก่อนว่า โพลนั้นจัดทำโดยสำนักไหน อะไร อย่างไร เป็นการปฏิเสธกลายๆ ว่าอาจจะไม่มีผลมากนัก แต่ความอ่อนไหวเชื่อว่ามีแน่นอน หมายถึงในอดีตที่ผ่านมา นักการเมืองที่เห็นถึงสัญญะ-สัญญาณของโพลก็จะออกอาการให้เห็น อาการแรกคือการปฏิเสธ แต่เราจะเห็นว่าปฏิเสธอย่างไรก็ตามแต่ ผลโพลมีหลายๆ สำนัก ไม่ใช่โพลเดียว ถ้าหากมีสำนักที่น่าเชื่อถือออกมา โพลมีความสอดคล้องกัน นั่นเป็นการตอกย้ำว่ากระแสความนิยมลดลงอย่างแน่นอน

กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐออกมากล่าวปฏิเสธ ว่าผลโพลไม่มีผล เป็นการปฏิเสธไปอย่างนั้น เพราะเราได้เห็นว่าขณะที่ปฏิเสธก็เริ่มคิดหากลยุทธ์ หากลวิธีที่จะเพิ่มคะแนน ฉะนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับกลายๆ ว่าท่านปฏิเสธ แล้วท่านเคลื่อนไหวทำไม กำหนดกลยุทธ์ทำไม เพราะฉะนั้น คำตอบคือกิจกรรมหรือสิ่งที่เขากำหนดมาตรการออกมา คือคำตอบในตัวอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องการตั้งเป้าหมาย ส.ส. 150 คน ในความคิดผมคงเป็นไปได้ยาก ถ้าดูจากกระแสหลายอย่าง ในเรื่องความนิยมที่ลดลงน่าจะมีผลอย่างมาก ตัวเลข 150 ส.ส. ที่พรรคพลังประชารัฐกำหนดออกมา คงเพื่อเรียกขวัญกำลังใจมากกว่า ในความจริงตอนนั้นผมคิดว่าจะยากอยู่พอสมควร เพราะถึงปัจจุบันนี้แล้ว พ.ศ.นี้แล้ว พปชร.กระแสลดลงอย่างมาก และมีความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคระดับหนึ่ง ส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ถ้าเกิดมีความสมัครสมานสามัคคี มีเอกภาพ อาจเป็นปัจจัยบวกที่จะวิเคราะห์ได้ว่า พปชร.ประกาศตัวเลือกออกมา ก็มีความแข็งแกร่งระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าภาพลักษณ์ภายในพรรคยังดูไม่ค่อยดีนัก ส่วนนั้นไม่มีน้ำหนักพอที่จะวิเคราะห์ได้ว่า ตัวเลขที่ประกาศออกมาจะทำได้จริง

ในส่วนกระแสมาแรงของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และ แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย นั้นถือเป็นศึกรอบนอก จุดชูของพรรคพลังประชารัฐนั้นหมดเวลาแล้ว ไม่เหมือนสมัยที่พีคและยังแข็งแกร่งอยู่ ถ้าชู พล.อ.ประยุทธ์คนเดิม จุดอ่อนมีเยอะไปหมด คือไม่มีจุดแข็งที่จะชูมาสู้กับ แพทองธารและชัชชาติ โดยชัชชาติเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ลงแข่ง แต่แสดงนัยยะหลายอย่าง ทั้งความนิยมและมุมมองของคนในสังคม แม้จะเป็นแค่ผู้ว่าฯกทม. ก็ตามแต่ อย่าประมาท บางคนอาจจะคิดว่า กทม.จังหวัดเดียวไม่มีผลอะไร ถ้าคิดแบบนั้นแสดงว่าประมาทแล้ว

ผมว่าการจัดโรดโชว์ครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐต้องหาทางชูเรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโจทย์ที่หนักหน่วง เช่น เรื่องของพลังงานที่ยังหาทางออกยังไม่เจอ ราคาน้ำมันที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องว่ามีสิ่งที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่ อยู่ที่ว่าจะมีความจริงใจ มีความกล้าที่จะแก้ปัญหาเรื่องราคาพลังงานหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จ ผมว่าคะแนนยิ่งลดลงอีก ต่อให้มีมาตรการอื่นที่จะออกมาเสริมสร้างความพึงพอใจชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม ผมว่าเอาไม่อยู่

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของพลังประชารัฐ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แน่นอนว่า ทุกพรรคร่วมฝ่ายค้านย่อมมียุทธศาสตร์และกำลังกำหนดกลยุทธ์ในช่วงนี้อยู่อย่างเข้มข้น เพราะพร้อมอยู่แล้วกับสัญญาณการเลือกตั้งที่ใกล้เขามา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในวาระปกติ หรือไม่ครบก็ตาม มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 กรณีคือ การยุบสภาด้วย ผมเชื่อว่าฝ่ายค้านเองมีการเตรียมตัวอยู่เต็มที่ แต่ต้องวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการจัดโรดโชว์ของพรรคพลังประชารัฐ หรือฝ่ายรัฐบาลนั้น มีลักษณะการจัดแบบไหน อย่างไร ฝ่ายค้านคงอยู่เฉยไม่ได้ ต้องประชุมและกำหนดกลยุทธ์ออกมาว่าฝ่ายตัวเองจะกำหนดกิจกรรมลักษณะใดเพิ่มเติมหรือไม่ในช่วงนี้

พูดง่ายๆ ว่า เป็นการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา ฝ่ายค้านอาจจะจัดอะไรขึ้นมาบ้างก็ได้ ประชาชนก็มีทางเลือกของเขาอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image