ตรวจการบ้าน 1 เดือน ปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติ

ตรวจการบ้าน 1 เดือน ปรากฏการณ์‘ชัชชาติ’

นับแต่ผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17 นามชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผูกเนกไทสีเขียว เดินเท้าจากร้านข้าวต้มเป็ดประตูผี แถลงนโยบาย ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เมื่อ 1 มิถุนายน จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม

“ผมไม่ใช่นาย ขอให้เรียกว่าอาจารย์ อยากจะให้เราเดินไปด้วยกัน”

คือหนึ่งในวาทะเด็ดในวันนั้น นอกเหนือจากการประกาศทำกรุงเทพฯให้น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่โอนอ่อนให้การทุจริต เดินหน้า 3 ภารกิจเร่งด่วนที่ต้อง “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”ในทันที ได้แก่ 1.หารือนโยบาย 214 ข้อให้ข้าราชการ กทม. “เข้าใจตรงกัน” 2.แก้ปัญหาน้ำท่วม และความปลอดภันบนท้องถนน 3.จัดการเรื่องปากท้อง พื้นที่ทำมาหากิน สางปมส่วย

จากวินาทีนั้น ผู้ว่าฯลุยงานไม่หยุด เกิดกระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” ชาวกรุงรุมเซลฟี่ชนหมัดระหว่างลงพื้นที่แบบรายวัน ไลฟ์แบบรายชั่วโมง สั่งการฉับไว พร้อมจี้ตรวจการบ้าน สร้างผลงานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นที่พอใจของคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่กิจกรรมเบาๆ อย่าง “ดนตรีในสวน” ที่ผู้ว่าฯแวะส่ายสะโพกโยกย้ายไปตามพื้นที่สาธารณะจนถึงป่าช้าวัดดอน ก่อนพ่วงหลากสันทนาการ อาทิ หนังกลางแปลงดังการแถลงล่าสุด

Advertisement

ว่าแล้ว มาย้อนดูห้วงเวลา “ฮันนีมูน” กับผู้ว่าฯกทม. ในเดือนแรกว่าสร้างความหวานซึ้งผ่านผลงานอีกทั้งไลฟ์สไตล์อะไรบ้าง?

•ตามติดชีวิตผ่าน ‘ไลฟ์’

กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพจำที่คนกรุงเทพฯ และชาวโซเชียลทั่วไทยจดจำไปแล้วถึงช่องทางการติดตามชีวิตและการทำงานของผู้ว่าฯกทม. ตั้งแต่เช้ามืด วิ่งออกกำลังกาย นำชมเสาชิงช้าและเกาะรัตนโกสินทร์ พูดคุยกับคนกวาดขยะ สอบถามปัญหาพร้อมปิ๊งไอเดียพัฒนาอุปกรณ์ทุ่นแรง สำรวจคนไร้บ้าน กระทั่งทดลอง “ลงเรือ” คลองแสนแสบมาทำงานสุดท้ายเข้าประชุมเช้าอย่างฉิวเฉียด หวังสัมผัสการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเช็กลิสต์ปัญหาที่ต้องแก้ไข โดยมี “แอดมินหมู” คู่ใจ

Advertisement

ระหว่างวัน ยังไลฟ์ขณะลงพื้นที่ในจุดต่างๆ ครั้น “ลางาน” ไปงานรับปริญญา “แสนดี” แสนปิติ สิทธิพันธุ์ บุตรชาย ก็ยังไม่วายไลฟ์จากญี่ปุ่นขณะต่อเครื่อง เล่าเรื่อง
ร้านขนมที่น่านำมาปรับใช้ “เมดอินกรุงเทพฯ”เมื่อเท้าแตะแผ่นดินสหรัฐ พาเยี่ยมชมสถานที่แบบชวน “คิดต่อ” ในไอเดียเผื่อนำมาปรับใช้ ชวนพูดคุยกับนักศึกษาไทยในต่างแดน และอื่นๆ อีกมากมาย

•ลุยน้ำ (ไม่) ท่วม ให้เครดิต ‘ผู้ต้องขัง’ ลงดาบบริษัทก่อสร้าง

ครั้นมาดูผลงานที่ประจักษ์ชัดในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันหลังนั่งเก้าอี้ ชาวบ้านประสานเสียงว่า แทบไม่มีน้ำรอระบายมากมายอย่างที่เคย ดังเช่นกรณีตลาดห้วยขวางซึ่งฝนตกหนักมากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้ว่าฯควงรอง วิศณุ ทรัพย์สมพล พร้อม สมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผอ.สำนักการระบายน้ำ ลงพื้นที่ สุดท้ายสวมใส่รองเท้าบู๊ตไปเก้อ! เพราะไร้น้ำท่วมขัง

งานนี้ ชัชชาติเอื้อนเอ่ยมอบเครดิตให้ผู้ต้องขังที่มาช่วยลอกท่อหลังประสานกรมราชทัณฑ์ สอดคล้องปากคำแม่ค้าประชาชนในพื้นที่ว่าเห็นผลดีจริง ไม่จ้อจี้

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ผู้ว่าฯลงพื้นที่ตรวจการก่อสร้างหลายจุดที่มีเสียงเข้าหูว่าก่อสร้างล่าช้าหรือเกิดปัญหาบางประการ อาทิ แยกท่าพระ, ทางยกระดับรามคำแหง, ทางเท้าแยก ณ ระนอง รวมถึงลงดาบสั่งบริษัทเอกชนหยุดทำงานชั่วคราว เพราะมีปัญหาเรื่องฝาท่อ ย้ำชัดต้องแก้ไขไม่ให้เกิดความเดือดร้อน

•สัญจรชุมชน ประเดิม ‘คลองเตย’ ปลูกต้นไม้ตั้งเป้าล้านต้น

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญ คือ “ผู้ว่าฯสัญจร” ตัดริบบิ้นแห่งแรก ณ คลองเตย พูดคุยปัญหาปากท้อง ก่อนหน้านั้น ยังลงพื้นที่ชุมชนแออัดย่านทองหล่อร่วมกับ ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ พูดคุยกับชาวบ้าน วินจักรยานยนต์ เยี่ยมหน่วยบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

นอกจากนี้ อีกโปรเจ็กต์สำคัญที่ผลักดันต่อเนื่องคือการปลูกต้นไม้ล้านต้น หวังสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่น โดยเชิญชวนเอกชนร่วมแรง แน่นอนว่าได้รับการชนหมัดอย่างล้นหลาม ที่สำคัญคือมี “แอพพลิเคชั่น” ติดตามว่าใครปลูก ต้นไม้เติบใหญ่ขนาดไหน โดยมีแนวร่วมประชาชนช่วยกันดูแลต้นไม้ให้อยู่คู่กับเมือง รวมถึงส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง

•ชาวกรุงแห่ฟ้อง ‘ทราฟฟี่ ฟองดูว์’ ปลื้มแก้ไวทันใจเว่อร์

ไม่กล่าวถึงไม่ได้ สำหรับผลสัมฤทธิ์ จากทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy fondue) ช่องทางร้องเรียนปัญหาต่างๆ ที่พบเจอในเขตกรุงเทพมหานคร อันตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ปรากฏว่าเมื่อชาวประชาแห่ฟ้อง กทม.ก็แห่แก้ โดยชัชชาติระบุว่า จัดการแล้ว 1.4 หมื่นปัญหา ถ้าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ กทม.โดยตรง เช่น ท่อประปาแตก
ผู้ว่าฯสั่งห้ามปัดตก แต่ กทม.ต้องรับเรื่องและประสานการประปา

ด้านชาวเน็ตรีวิวรัวๆ ว่าแจ้งเช้า แก้บ่าย อะไรมันจะไวขนาดนี้!

•โรงเรียนของเราน่าอยู่ ครูชัชชาติห้ามยุ่งกัญชา จัดหาหมวกกันน็อก

มาถึงประเด็นรอบรั้วโรงเรียน ผู้ว่าฯกทม. ประกาศห้ามกัญชา กัญชง ใบกระท่อมในสถานศึกษา 437 แห่ง ชัชชาติกำชับทุกฝ่ายร่วมปกป้องเยาวชน หลังไทยแลนด์เปิดกัญชาเสรี ในขณะที่ความปลอดภัยก็เป็นอีกข้อที่ชัชชาติขีดเส้นใต้ ไม่ว่าจะเป็นทางม้าลาย จนถึงการเดินทางมาด้วยมอเตอร์ไซค์ของนักเรียนส่วนใหญ่ถึง 70% แต่ไม่มีหมวกกันน็อกสวมใส่ พลันที่ผู้ว่าฯแอ๊กชั่น สมาคมประกันวินาศภัยไทยสนับสนุนครบถ้วนกว่า 1 แสน 2 หมื่นใบ พร้อมดำเนินการผลิตและจัดสรรแล้วเสร็จไม่เกิน 1-2 เดือน

•บุกโรงขยะ จี้ใช้อุปกรณ์คุ้มภาษี เบรกขึ้นค่าเก็บขยะอัตราใหม่

ขยับมาในช่วงตลอดสัปดาห์นี้ ผู้ว่าฯบุกโรงขยะหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น อ่อนนุช หนองแขม สายไหม คาใจเครื่องอัดขยะที่ซื้อมากว่า 10 ปีไม่ได้ใช้อย่างคุ้มค่า จัดเลคเชอร์ย้ำชัดจากนี้ไปภาษีประชาชนทุกบาทอย่าทิ้งขว้าง ในขณะที่งบประมาณจัดการขยะสูงกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี ภายใต้สัญญาระยะยาว 20 ปี

ผู้ว่าฯประกาศต้องลดต้นทุนการจัดการ ตั้งเป้าเพิ่มแรงจูงใจแยกขยะ ด้วยแนวคิด “ขยะเป็นทองคำ”

ส่วนค่าเก็บขยะอัตราใหม่ที่สูงกว่าเก่า ชัชชาติสั่งเบรกเอี๊ยดไปเป็นที่เรียบร้อย ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการเพิ่มภาระชาวกรุงในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้

•ค่าโดยสารรถไฟฟ้า อีนุงตุงนัง แต่มีหวัง

ปิดท้ายที่ปมปัญหาว้าวุ่น และถูกฉุดเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอย่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เกิดวิวาทะต่อเนื่อง ชัชชาติชี้แจงประเด็นแผนเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอส ที่รวมกับช่วงส่วนต่อขยาย ซึ่งระบุเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ราคาควรอยู่ที่ 59 บาท ว่ามีหลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน

ปัญหารถไฟฟ้าคือ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ให้บริการขณะนี้ยังเปิดวิ่งฟรี จากข้อมูลของทีมผู้บริหาร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อเสนอมาว่าควรจัดเก็บค่าบริการตลอดสายขั้นสูงสุดไม่เกิน 59 บาท ดังนั้น ราคานี้ไม่ใช่แผนแก้ปัญหาระยะยาว แต่เป็นแผนระยะสั้น

เรื่องส่วนต่อขยายเป็นคนละเรื่องกับค่าบริการที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สำหรับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่าค่าบริการรถไฟฟ้าควรจะอยู่ที่ 25-30 บาท ไม่ได้หมายความว่า นั่งจากสถานีต้นทางถึงปลายทางเป็นราคานี้ แต่คิดจากราคาค่าโดยสารเฉลี่ยที่คนใช้บริการ เดิมคิดค่าเฉลี่ย 8 สถานี แต่ล่าสุด สจส.คำนวณไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 11 สถานี

เป็น 1 เดือนสุดเข้มข้นบนเก้าอี้ผู้ว่าฯ ที่ชาวกรุงเทพฯจับตา ประชาชนติดตามด้วยความหวังอย่างไม่กะพริบตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image