ส่อง ‘บิ๊กตู่’ ตั้งบอร์ด 2 ชุด ผ่าวิกฤตพลังงาน-อาหาร

ส่อง ‘บิ๊กตู่’ ตั้งบอร์ด 2 ชุด ผ่าวิกฤตพลังงาน-อาหาร

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการและเอกชน กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2565 ที่ประชุมเห็นชอบตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อรับมือวิกฤตพลังงานและอาหารที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน ได้แก่ 1.คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โครงสร้างคล้ายกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ 2.คณะกรรมการเฉพาะกิจ (คณะทำงาน) เพื่อติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอการแก้ปัญหาทุกมิติเพื่อจัดทำแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคต

ผศ.ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากกรณีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ครั้งที่ 2/2565 ที่จะจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ชื่อ คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน

Advertisement

เรื่องนี้มี 2 ประเด็น คือ ที่คงต้องยอมรับความจริงว่าคงทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยที่มาจากนอกประเทศ และความจริงเป็นทั้งโลก เรียกว่าต้องยอมรับปัญหาที่เกิดทั้งโลก เพราะราคาน้ำมันดิบทั้งโลกขึ้นมา โครงสร้างราคาในประเทศมี 2 เรื่อง ต้องยอมรับว่าอะไรเป็นปัญหาที่ไม่มีศักยภาพไปแก้อะไรได้กับอีกส่วนหนึ่ง คือ ต้องหาช่องทางที่แก้ไขในประเทศ

ส่วนเรื่องการตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานคณะกรรมการเป็นเรื่องที่ดีเพราะ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจสูงสุดในเรื่องการบริหารอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ คนที่อยู่ร่วมในคณะกรรมการว่าสามารถเตรียมคนในหลากหลายภาคส่วน ในทั้งเศรษฐกิจสังคมเข้าไปร่วมให้ความเห็นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ครบหรือไม่ควรรับความเห็นจากหลายภาคส่วนมาก ทั้งส่วนที่เป็นผู้ประกอบการ ส่วนภาคพลังงาน ส่วนภาคผลิตและรวมถึงส่วนที่จะเป็นภาคประชาสังคมที่เป็นตัวแทนเข้าไปร่วมให้ความเห็น

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้า ผมคิดว่าช่วยได้พอสมควร ดีกว่าไม่ได้ใส่เงินลงไป ไม่ถึงกับทำอะไรพลาดไป ความจริงต้องยอมรับว่าเป็นจังหวะดีที่มีเทคโนโลยีที่โอนเงินเข้าประชาชน มีฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า ที่กระทรวงการคลังตั้งใจทำไว้ตลอด และช่วยคัดกรองได้เยอะ ถึงแม้จะมีพลาดบ้าง ในเรื่องการจ่ายเงินผิดพลาดคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คิดว่าเงินก็ลงไปเพียงแต่ว่าจะมีประสิทธิภาพได้มากขนาดไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตามรับ เรียกว่าสอบผ่านอย่างน้อยครึ่งทางที่สามารถหาคนที่เดือดร้อนและสามารถโอนได้เกินครึ่ง ซึ่งน่าจะทุจริตได้น้อยลงเพราะเงินออกจากกระทรวงการคลังไปที่ประชาชน โอกาสที่เงินหายไประหว่างทางคงน้อยลง ขึ้นอยู่กับว่าใส่เงินเข้าไปแล้วกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน หรือเพียงพอให้ประชาชนมีการใช้จ่ายที่ดีขึ้นหรือมีศักยภาพมากขึ้นช่วงที่ลำบากยังต้องวัดกันต่อ

Advertisement

ผมคิดว่ากระทรวงการคลังทำตัวเลขออกมาบอกว่าใส่เงินไปกี่หมื่นล้านแล้ว หรือระดับแสนล้าน เรื่องนี้ต้องยอมรับเรื่องความโปร่งใส มีแหล่งข้อมูลให้ติดตามทั้งของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของกระทรวงการคลัง สามารถไล่ดูได้และเห็นก้อนเงินใหญ่ ว่าพอใส่เงินไปที่ประชาชนแล้วเป็นอย่างไรต่อ ติดตามดูต่อ หรือศึกษาต่อ

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน จากงานวิจัยที่ผมทำเมื่อหลายปีก่อน ต้องยอมรับความจริงว่าแกนหลักเศรษฐกิจไทย คือเรื่องการขนส่งกับพลังงาน สมัยที่ผมเคยทำวิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจ เรียกว่าใช้ Network Analysis (การวิเคราะห์โครงข่าย) ว่าทั้งระบบผูกโยงกันไว้อย่างไร และคำตอบของ Network Analysis ระบุว่าแกนหลักของเศรษฐกิจไทยคือขนส่งและพลังงาน เพราะฉะนั้น เมื่อมีเรื่องน้ำมันแพง ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นเยอะยิ่งโยงทั้งระบบเศรษฐกิจและไปทั้งระบบแน่นอน โดยส่วนตัวที่งานผมมองว่ายิ่งในระบบเศรษฐกิจเร็วกว่าดอกเบี้ย ไปถึงภาคเศรษฐกิจทุกส่วน

ส่วนเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเงินเฟ้อ ผมว่าเป็นสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือ Stagflation คือไม่ใช่เงินเฟ้อจากตำราทั่วไป ที่พิมพ์เงินเข้ามาเยอะแล้วเป็นเงินเฟ้อ แต่นี่เป็นเงินเฟ้อแบบกรณีพิเศษ ความจริงแล้ว Stagflation เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1970 ตอนนั้นมีเหตุการณ์คล้ายเกือบทุกอย่าง ตอนนั้นเกิดสงคราม 2 ครั้ง ประเทศแถบตะวันออกกลางนั้นชะงักเรื่องการผลิตน้ำมัน จึงทำให้น้ำมันแพงทั้งโลก และทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกเจอเรื่องน้ำมันแพง และทำให้เกิดเงินเฟ้อทั้งโลก และผลที่เกิดขึ้นรุนแรงมากในอเมริกา คือนำเรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ 37 แห่งสหรัฐอเมริกา กำลังแย่อยู่ และได้รับการเลือกตั้งถล่มทลายด้วยการทำนโยบายหาเสียงว่าจะกำจัดสภาวะเงินเฟ้อออกจากประเทศเขาให้ได้ ทำให้เขาชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ในความจริงไม่ง่ายทางเศรษฐศาสตร์ถือว่า Stagflation เป็นจุดเปลี่ยนของความคิดทางเศรษฐศาสตร์ เพราะว่าก่อนหน้านี้จะมีสำนักเคนส์ คือ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึงปี 1970 เรียกได้ว่าใช้เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์มาโดยตลอด คือรัฐบาลมีหน้าที่ใช้จ่ายไปเรื่อยๆ ถ้ามีปัญหาอะไรก็เป็นรัฐบาล แต่พอถึงปี 1970 เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ใช้ไม่ได้ นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนให้สำนักชิคาโกเข้ามา ที่เป็นสำนักที่เชื่อมั่นในการทำงานของกลไกราคาและตลาดเสรี และความเชื่อมั่นว่าการแทรกแซงของรัฐรังแต่จะบั่นทอนสวัสดิการของเศรษฐกิจ

ตอนนั้นอเมริกาเรียกทีมปรึกษาจากมหาลัยชิคาโกมาเลย และเปลี่ยนความคิดไปเลยว่าจากการที่ให้รัฐบาลเชื่อเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์กลับมาเชื่อสำนักชิคาโก แต่แน่นอนว่าไม่ง่าย เพราะว่าท้ายที่สุดต้องยอมเจ็บตัวเพื่อที่จะทำให้เงินเฟ้อลง คือต้องยอมแลกให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนาน คนถกเถียงกันว่าจำเป็นต้องถกเถียงให้เศรษฐกิจทรุดตัวไปขนาดนั้นหรือไม่ เพื่อให้สภาวะเงินเฟ้อลง แต่น่าเสียดายว่าหลังจากนั้นเงินเฟ้อไม่เกิดขึ้นอีกเลยในระบบเศรษฐกิจอเมริกาและประเทศส่วนใหญ่ในโลก และนักศึกษาเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังเรียกว่าโดนไม่ให้เรียนเรื่องนี้อีกเลย จะไม่ค่อยพูดถึงในหนังสือหลักสูตรการเรียน พอกลับมาครั้งนี้ผมคิดว่าหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยเกิด หรือเข้าใจบทเรียนจากคราวที่แล้ว ซึ่งมีเรื่องที่เราเรียนจากเหตุการณ์นั้นได้เยอะ อย่างเช่น ในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่นก็มีทางแก้ไขปัญหาของเขาไป อย่างเกาหลีใต้ตอนนั้นคือฉลาดมาก ส่งคนงานบริษัทก่อสร้างไปประเทศตะวันออกกลางหมดเลย เพราะตะวันออกกลางตอนนั้นรายได้เยอะมากเพราะฉะนั้นก็นำรายได้จากวิกฤตให้เป็นโอกาส หรือญี่ปุ่นใช้ช่วงนี้ให้เป็นโอกาส คือทำรถยนต์เล็กขาย ซึ่งคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ญี่ปุ่นตีตลาดในโลก เพราะรถญี่ปุ่นกินน้ำมันน้อยกว่า

แต่มีบทเรียนให้เราเรียนรู้ได้ ซึ่งบางครั้งเป็นโอกาสให้หลายประเทศในเอเชียใช้โอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ เราต้องนั่งไล่คิดดูดีๆ อาจเป็นโอกาสเหมือนกัน คือขายสินค้าบางอย่างได้ เพราะมีเรื่องวิกฤตอาหารควบคู่มาด้วย และเราก็มีอาหารอยู่ แต่ว่าพลังงานทดแทน ถ้าโครงสร้างควบคุมนั้นเอื้อให้แข่งได้ก็เป็นโอกาส

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

รัฐบาลได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ มองว่าอยากให้มีภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมใน 2 ทีมนี้ด้วย หากมีเอกชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และวางแผนการทำงานต่างๆ ได้ อันนี้เห็นด้วย และมองว่าควรทำมานานแล้ว

วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้มีความซ้ำซ้อนมาก เริ่มจากการระบาดโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบมากกว่า 2 ปี ต่อมาต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานปรับสูงขึ้น เงินเฟ้อสูง รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่า ยังไม่รวมปัญหาที่อาจเกิดเป็นวิกฤตในอนาคตต่อจากนี้อีก ทำให้การใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาบริหารดูแลเรื่องเงินเฟ้อ บาทอ่อน และราคาพลังงาน มองว่ายังไม่ได้เข้าที่เข้าทาง รวมถึงทีมเศรษฐกิจในขณะนี้หากถามว่า ใครคือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถตอบได้ ถือว่าแปลกมาก การนำภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้วย ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว สามารถให้ข้อเสนอแนะได้แบบผู้รู้จริง เพราะทำงานเอง

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การนำภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วม หากเป็นเอกชนขนาดเล็ก ไม่ได้เป็นมหภาคที่มองภาพใหญ่เป็นหลัก ทำให้อาจสนใจแต่ภาพของตัวเอง จึงต้องนำนักการธนาคารเข้ามาด้วย ประเทศไทยมีคนเก่งในด้านเหล่านี้จำนวนมาก แต่ต้องระวังเรื่องการขอส่วนลดหย่อนต่างๆ อาทิ การขอลดหย่อนภาษีเฉพาะกลุ่มของแต่ละด้านที่มีความต้องการแตกต่างกันไป

ด้านขั้นตอนการทำงาน อยากให้รับฟังปัญหาของภาคเอกชนและประชาชนว่าปัญหาเหล่านั้นคืออะไร เอกชนไทยมีหลายด้าน อาทิ อุตสาหกรรม ก็มีทั้งส่งออก และในประเทศ ที่ความต้องการและปัญหาก็มีแตกต่างกัน รัฐบาลต้องดึงคนเก่งในแต่ละอุตสาหกรรมออกมาและทำงานด้วยกัน สะท้อนปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างตรงจุดที่สุด ไม่ใช่ว่าใช้ยาขนานเดียวแก้ไขทุกโรค

ปัญหาที่ควรต้องเร่งแก้ไขมากที่สุด คือเศรษฐกิจไทยดูผิวเผินเหมือนจะฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ประเมินได้จากตลาดแรงงาน ภาคบริการ และธุรกิจต่างๆ ทำให้สิ่งสำคัญคือ สภาพคล่องของธุรกิจ อาทิ การกลับมาของภาคการท่องเที่ยว ก็ต้องใช้เงินปรับปรุงสถานประกอบการ เพื่อรองรับและให้บริการใหม่ต่อไป รวมถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคระยะสั้นต้องหาทางแก้ไขเบื้องต้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าควรจะกระตุ้นในแนวทางใด หากให้ไปแบบไม่มีมูลค่าเพิ่ม หรือสร้างกิจกรรมต่อยอดในเศรษฐกิจ ก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากที่ผ่านมาเราให้ไปแบบง่ายๆ เป็นการแจกให้อย่างเดียว

กลุ่มที่มีความแข็งแรงอยู่ก็ไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือ อาทิ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพราะมีความแข็งแรงอยู่แล้ว รวมถึงบริษัทในกลุ่มส่งออกเป็นหลัก ควรช่วยบริษัทในประเทศที่เจอผลกระทบจากวิกฤตซ้ำไปซ้ำมามากกว่า การช่วยเหลือก็ไม่อยากให้โปรย หรือหว่านทั้งหมด แต่เป็นการช่วยคนที่เสนอความต้องการให้ช่วยเหลือเข้ามามากกว่า โดยอยากให้ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษี เพราะการเสียภาษีแสดงว่าธุรกิจมีกำไร ซึ่งการมีกำไรก็ควรต้องเสียภาษีก็ถูกแล้ว

จุลนิตย์ วังวิวัฒน์
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

สําหรับเรื่องนี้ต้องลองให้โอกาสคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นได้ทำงาน เพราะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ต้องให้โอกาสภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่ได้เข้าไปให้แนวทางและสะท้อนปัญหาในแต่ละพื้นที่ เพราะปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่อยากเห็นการออกนโยบายหรือมาตรการออกมาในแบบภาพรวมทั้งประเทศ หรือควรจะมี 50-60% เนื่องจากพื้นที่ก็มีความแตกต่างในปัญหาของแต่ละภาค

อย่างกรณีภาคเหนือ ก็จะเป็นเรื่องพืชผลทางการเกษตร ตอนนี้ราคาค่อนข้างผันผวนมาก เพราะมีผลกระทบมาจากการท่องเที่ยว ยกตัวอย่าง จ.เชียงใหม่ การท่องเที่ยวหลัก คือ ประเทศจีน แต่นักท่องเที่ยวจีนยังไม่สามารถเดินทางมาได้เลย ก็ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบตามไปด้วยหมด เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ลูกค้าที่เป็นคนจีนเข้ามาก็น้อย วัตถุดิบที่สั่งก็ไม่สามารถสั่งได้ในอัตราที่เต็มที่ ในระหว่างนี้ก็ควรจะต้องออกมาตรการมากระตุ้นในส่วนนี้เพื่อรอให้คนจีนกลับเข้ามาปกติได้

ที่เกี่ยวข้องอีก ก็น่าจะเป็นต้นพลังงานเพราะเกี่ยวข้องกับค่าครองชีพ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ค่อนข้างทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ผู้บริโภคลดลง มูลค่าเงินในกระเป๋าลดลง พูดง่ายๆคือ หาเงินได้ยากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างลำบากมากขึ้น ควรออกมาตรการกระตุ้นการซื้อ อาจจะดึงมาตรการคนละครึ่งกลับมาก็ได้ หากทำได้ก็ดี แต่ต้องให้เม็ดเงินลงไปที่ระดับกลางและระดับล่างโดยตรงมากขึ้น ไม่ใช่เข้าไปซื้อในโมเดิร์นเทรดไม่ได้เข้ากระเป๋าระดับล่างอย่างที่ผ่านมา

อยากเห็นการบริโภคในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการผ่อนคลายเรื่องโควิด-19 ที่ผ่านมาเราทำได้ดี แต่ต้องยอมรับว่าตัวเลขจะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ขอให้พยายามถ่วงดุล และเรื่องข่าวที่อยากให้เป็นในเชิงบวกมากขึ้น ไม่ใช่แง่ลบ เพราะไม่เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image