นักวิชาการถอดรหัส คะแนนโหวตซักฟอก พรรค รบ.วุ่น-ปชป.ร้าว-ภท.ปึ้ก

นักวิชาการถอดรหัส คะแนนโหวตซักฟอก พรรค รบ.วุ่น-ปชป.ร้าว-ภท.ปึ้ก

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นถึงผลคะแนนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คน สะท้อนถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลและภาพรวมการเมืองในอนาคต

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมกับรัฐมนตรีอีก 10 คน เป็นที่รับรู้กันว่าเสียงข้างมากของรัฐบาลมีมากกว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเสียงข้างมากของรัฐบาลยังมีเอกภาพพอสมควร หมายความว่าถ้าหากมีการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าสถานการณ์การเมืองในลักษณะแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้อาจร่วมมือเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งสมัยหน้า และกลับมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้ง

ประการต่อมาผู้ได้รับคะแนนไว้วางใจสูงสุดคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้สะท้อนถึงอำนาจทางการเมืองของผู้มีอำนาจตัวจริง ทั้งที่การตอบข้อซักถามเป็นที่ตลกขบขัน และตอบไม่ได้หลายประเด็น แต่ผลของคะแนนกลับมีความไว้วางใจมากที่สุด

ส่วน 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สะท้อนถึงผลงานที่ตกต่ำ ถึงแม้ว่ารวมทั้งหมด 3 ป. ประชาชนไม่โอเค แต่บารมีทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตรยังมีค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ควรมองบารมีของพรรคภูมิใจไทย มีการจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาโควิด รวมทั้งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลายคนคิดว่าน่าจะมีคะแนนน้อย แต่ผลคะแนนที่ออกมาผิดคาด แสดงถึงผู้มีอิทธิพลทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยเริ่มมีบทบาทและใกล้เคียงกับ 3 ป.มากยิ่งขึ้น และมีมากกว่า พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ในสถานการณ์ตอนนี้ ทำให้มองเห็นภาพอนาคตทางการเมือง จะมีบทบาทมากขึ้นของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รับคะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด มองว่ามาจากการตอบไม่ชัด ไม่เคลียร์ ของรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงบารมีพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มากเหมือนกับพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งบารมีกับพรรคเล็กพรรคน้อยด้วย และความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์เองด้วย มีหลายก๊ก หลายกลุ่ม ที่ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรี จึงทำให้ผลคะแนนออกมาไม่น่าพอใจ

แต่หากจะต้องร่วมรัฐบาลต่อไป คิดว่าสถานการณ์ขณะนี้ ทุกพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้ ประกอบกับภายใต้โครงสร้างรัฐบาลแบบนี้ มีความจำเป็นจะต้องร่วมไม้ร่วมมือดี ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หากเอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล เพราะจะมีอำนาจการต่อรองน้อยลง ผลจากภาพลักษณ์ทางการเมืองตกต่ำ เกิดความขัดแย้งภายใน และพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่อยากเป็นฝ่ายค้าน ทำให้อำนาจการต่อรองน้อยลง

คิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า หากพรรคพลังประชารัฐมีอำนาจจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ก็มีความยินดีที่จะเอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล เพราะอำนาจการต่อรองจะน้อยลง

ส่วนสัญญาใจพรรคประชาธิปัตย์ หากการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ 50 เสียงจะร่วมรัฐบาลอีกครั้งกับพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ คิดว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะอำนาจต่อรองจะได้น้อยลง เชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.น้อยกว่า 50 ที่นั่ง

สำหรับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วงการอภิปรายพบว่าฝ่ายค้านประเด็นอ่อน และราคาคุยเกินไป ทำให้การอภิปรายไม่สมราคาคุยของฝ่ายค้าน ส่งผลให้อำนาจของนายสุชาติยังมีพอสมควรในสภา มีข่าวมาว่ามีการจองกฐิน และหมายมั่นปั้นมือจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และพรรคเล็กพรรคน้อยจะต้องสอยให้ได้ สุดท้ายไม่ได้เป็นไปตามที่ประกาศไว้ แสดงว่านายสุชาติไม่ธรรมดาในเวทีการเมืองและรัฐสภา

ส่วนเรื่องการงดออกเสียงมีคะแนนมาก มองว่าอาจจะมีการส่งสัญญาณบางอย่าง ที่ดูแลไม่ทั่วถึงหรือเปล่า สมัยหน้าหากเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หรือมีบทบาทสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ 20 เสียง หากจะไปต่อขอให้มีการดูแลกันสักหน่อย

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า หากรัฐบาลชุดนี้ต้องการไปต่อ ต้องดูเรื่องศาลรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านจะไปยื่นการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ 8 ปี เมื่อไหร่ เชื่อว่าฝ่ายค้านจะไปยื่นในช่วงรอยต่อสำคัญของการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐมีปัญหาในเรื่องการเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ

แม้ฝ่ายรัฐบาลชนะการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ฝ่ายค้านจะนำผลการอภิปรายไปเตรียมการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยนำประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่รัฐมนตรีตอบไม่ได้นำไปหาเสียง หากพรรคร่วมรัฐบาลต้องการไปต่อ จะต้องเตรียมแก้จุดอ่อนต่างๆ และพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องจัดสรรความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ยอมรับว่าใครมีอำนาจในเวลานี้ คนที่สังคมไม่เอาแล้ว มีข้อครหา ก็ต้องลดบทบาททางการเมืองลงไป

การปรับ ครม. เห็นว่าควรปรับที่พรรคประชาธิปัตย์มากกว่า นายจุรินทร์ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนตกต่ำมาก แม้กระทั่งตัวเองและคนอื่นๆ หากมีการปรับ ครม. จะทำให้ภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้นมาด้วย รัฐมนตรีที่หลายคนคลางแคลงใจ มีผลคะแนนออกมาแบบนี้ ควรจะออกมารับผิดชอบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนภายในพรรค อาจจะปรับ 2 ใน 3 เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ฟื้นขึ้นมา ถือว่าเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และลดความขัดแย้งภายใน เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มอื่นๆ เข้ามามีบทบาทบ้าง

ส่วนที่มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตรจะไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มองว่าในทางการเมืองถือว่าสำคัญมาก เพราะต้องวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรในทางการเมืองและเป็นกลไกในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องอาศัยคนมีบารมีมาควบคุม แต่ไม่ได้มองในเรื่องความเหมาะสมกับการบริหารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนะ แต่มองในเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองมากกว่า

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

ผลโหวตสะท้อนประเทศมีสถานะพิเศษ 2 ประการ คือ ประชาธิปไตย และกระจายอำนาจล่าช้า ขณะที่ผลโหวตประชาชน ได้ลงคะแนนไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรี รวม 500,000 กว่าคะแนน หรือ 97% ของผลโหวตทั้งหมด ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในโลกปัจจุบัน เพราะประเทศถูกเหนี่ยวรั้งจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจ ตั้งแต่ปี 2549 หรือ 16 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์มากกว่า

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน เป็นผลงานยอดเยี่ยม ใช้ข้อมูลและนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างไปตรงตรงมา ชี้ถึงความล้มเหลวและบกพร่องการทำหน้าที่พรรคร่วมรัฐบาล แม้การลงมติจะพ่ายแพ้ก็ตาม แต่ชนะใจประชาชน อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้า ให้ฝ่ายค้านเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้ อีกมุมหนึ่งมองว่ารัฐบาลที่มาจากอำนาจเผด็จการพร้อมชนประชาชน เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลสมัยหน้าอีกครั้ง

ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า อาจทำให้การเมืองเกิดวิกฤตรุนแรง เป็นการเผชิญหน้า 2 ขั้ว ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ นำไปสู่ความแตกแยกทางสังคม

ส่วนผลโหวตให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด สะท้อนถึงอำนาจบารมีของ พล.อ.ประวิตร สูงกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบกับมี ส.ส.ฝ่ายค้าน หรืองูเห่า ลงมติสนับสนุน เนื่องจากอาจมีการแจกกล้วย ทำให้ประชาชนเห็นพฤติกรรมของ ส.ส.แต่ละคน เพื่อตัดสินใจในการเลือก ส.ส.สมัยหน้า

ส่วนผลโหวตให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด 241 เสียงนั้น สะท้อนว่าเกิดความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องการเขี่ยพรรคประชาธิปัตย์ออกจากรัฐบาล ประกอบกับการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงล้มเหลว ทำให้ภาพลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลเสียหาย เป็นจุดอ่อนทางการเมือง จึงโหวตให้นายจุรินทร์ได้รับความไว้วางใจน้อยที่สุด เนื่องจากไม่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจต่อรองทางการเมืองอีก

หลังการซักฟอกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจปรับ ครม.เพียงบางตำแหน่ง ไม่ใช่ปรับใหญ่ เพราะรัฐบาลเหลือเวลาเพียง 8 เดือน ก่อนครบวาระ อาจปรับ พล.อ.ประวิตร ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แทน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อจัดทัพฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เตรียมพร้อมเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำทุกวิถีทางให้พรรคร่วมรัฐบาลชนะเลือกตั้ง และกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง

ภาพรวมการลงมติไว้วางใจ สะท้อนว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความขัดแย้งอยู่ เพราะเสียงที่ลงมติไม่เท่ากัน ประกอบกับฝ่ายค้านยื่นเรื่องต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีรัฐมนตรีทุจริต อาจส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลาออกหรือยุบสภา หลังจัดทัพ ครม.ใหม่เพื่อชิงความได้เปรียบเลือกตั้งครั้งหน้า

ปิยณัฐ สร้อยคำ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ด้วยสมการทางการเมืองปัจจุบัน การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คน มิใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เนื่องจากรัฐบาลยังกุมเสียงข้างมากในสภา เป็นผลจากกติกาเดิมที่ได้กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นายกฯและรัฐมนตรียังคงได้รับความไว้วางใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากคะแนนเสียงที่ได้รับความไว้วางใจ พบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้รับมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงบารมีทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ที่ยังคงได้รับการยอมรับนับถือจากพรรคต่างๆ อย่างมากแม้จะถูกอภิปรายอย่างหนัก

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับคะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด สะท้อนให้เห็นสัญญาณทางการเมือง 2 ประการ คือ การไม่ลงรอยกันเองภายในพรรคร่วมรัฐบาล และปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่ส่อแววถึงคลื่นใต้น้ำ

หลังผลโหวตดังกล่าว ยังเชื่อว่าฝั่งรัฐบาลยังคงมีเสถียรภาพ หากมองในมุมของการเมืองในสภาที่ยังคงถือเสียงข้างมากไว้ได้ แต่ในมุมการเมืองนอกสภานั้น รัฐบาลมีแผลบอบช้ำมากพอควร โดยเฉพาะการโหวตลงมติไม่ไว้วางใจนอกสภาของภาคประชาชน

ส่วนกระแสการปรับ ครม. คงมิใช่เป็นผลหลักมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เป็นผลมาจากการจัดสรรตำแหน่งแห่งที่และตอบแทนผลประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองก่อนจะหมดวาระ การที่จะให้ พล.อ.ประวิตรไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ส่วนตัวมองว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดี และรัฐบาลเหลือเวลาไม่นานนัก จึงไม่น่าจะการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image