ทางออก ‘สุญญากาศ’ อายุรัฐบาลกับการแก้ กม.ลูก

ทางออก ‘สุญญากาศ’ อายุรัฐบาลกับการแก้ กม.ลูก

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ หากการประชุมของรัฐสภาร่วมในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม เกิดสภาล่ม ทำให้พิจารณาไม่ทันกรอบ 180 วัน ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมที่คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 โดยรัฐบาลเหลือเวลาอีก 7 เดือน จะครบวาระ 4 ปี ระหว่างนี้หากเกิดเหตุขัดข้องจะกลายเป็นสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ถ้าพรุ่งนี้เกิดสภาล่มแล้วทำให้กฎหมายลูก หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ตกไป ก็จะมี 2 ตัวเลือกคือ 1.เสนอข้อกฎหมายใหม่ 2.ไม่ทำอะไรเลย เพราะถ้าเกิดกฎหมายไม่ผ่าน ก็ไม่มีข้อห้ามว่าเสนอซ้ำไม่ได้อาจต้องมีการเสนอใหม่และมีการปรับเนื้อหาให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ เรื่องของสูตรการคำนวณความจริงก็ยังไม่นิ่ง ไม่ว่าจะสูตรหาร 100 หรือสูตรหาร 500แต่ละพรรคการเมืองก็มีสูตรในใจของตัวเอง ทำให้แต่ละพรรคการเมืองไม่ค่อยจะลงรอยในการเข้าประชุมเพื่อลงมติในร่างกฎหมายนี้

Advertisement

ส่วนการพยายามล็อบบี้เพื่อให้สภาล่มจริงอย่างที่ลือหรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังยืนยันข้อเท็จจริงไม่ได้แต่ก็ต้องดูผลของวันที่ 10 สิงหาคมนี้ว่า สมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่เข้า ส่วนมากมาจากพรรคอะไร ซึ่งก็จะวิเคราะห์ต่อได้ เช่น ถ้าพรรคใหญ่ไม่เข้า อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอะไรก็ตามที่ได้ที่นั่งเยอะๆ ไม่เข้าประชุม สามารถพิสูจน์สมมุติฐานบางอย่างได้ว่า พรรคใหญ่ไม่เห็นด้วยกับสูตรนี้ แต่จะล็อบบี้กันหรือไม่ ตรงนี้ตอบไม่ได้เนื่องจากแต่ละพรรคก็ต้องเลือกสูตรที่ตัวเองได้เปรียบอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี หากเกิดสภาล่มจริง จะหยิบยกร่างฉบับ ครม.มาใช้ได้ทันทีหรือไม่ ผมคิดว่าอย่างนั้นทำได้ แต่จะขัดกับขั้นตอนของการพิจารณาร่างกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะมีวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 ถ้าเราร่างแล้วนำมายัดไส้ได้เลย ผมคิดว่าจะมีปัญหามากกว่าเดิม พรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก น่าจะเห็นชอบกับสูตรที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เพราะว่าทำให้ตัวเองคะแนนตกหล่นน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นก็อาจมีการท้วงติงได้

ตอนนี้เท่ากับว่าสภาเหลืออายุประมาณ 7 เดือน ถามว่าถ้าตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาอีกจะทันหรือไม่ ผมคิดว่าทัน ถ้าจะทำจริงๆ ถ้าประชุมรวดเดียวสมัยประชุมเดียวครบทั้ง 3 วาระ ซึ่งสามารถทำได้ แต่อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Advertisement

ทั้งนี้ ผมคิดว่าเรื่องสุญญากาศ หรือเดดล็อกทางการเมือง ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะสามารถกลับไปใช้สูตรเดิมตั้งแต่ปี 2562 เพราะถือว่า กฎหมายก็ไม่มีการแก้ไขอะไร

ผมคิดว่าเกมการเมืองต่อจากนี้จะเป็นการต่อรองกัน เพราะว่าอายุสภาใกล้ช่วงเลือกตั้งเต็มที่ ฉะนั้น 2 อย่างที่มีตอนนี้ คือ 1.งัดเอาว่าที่นโยบายของตัวเองมานำเสนอ หรือ 2.หาสูตรคำนวณที่ตัวเองได้เปรียบมากที่สุด ดังนั้นก็เกิดการต่อรองขึ้นแล้วว่า พรรคใหญ่ว่าอย่างไร พรรคขนาดกลางว่าอย่างไร พรรคขนาดเล็กว่าอย่างไร แน่นอนว่าเราอาจได้เห็นการรวมพรรค การควบรวมอะไรหลายอย่าง รวมถึงการย้ายพรรค ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นภาพนี้กันพอสมควร โดยเฉพาะการย้ายพรรคฝ่ายค้านไปร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล

วันที่ 10 สิงหาคม จะเห็นว่าแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรถ้าพรรคใหญ่ร่วมกันไม่เข้าประชุม ผมมองเห็นแล้วว่าพรรคใหญ่ไม่โอเคกับสูตรนี้ กลับกันถ้าพรรคเล็กเข้ากันอย่างพร้อมเพรียง แสดงว่าพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก น่าจะได้เปรียบกับการเลือกตั้งสูตรนี้ ทำให้เราเห็นทิศทางในอนาคตแล้วว่า ใครจะจับคู่กับอะไร ประมาณการที่นั่งเท่าไหร่ อย่างไร ถ้าใช้สูตรเดิม

ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือ ส.ส.ควรเข้าประชุมให้องค์ประชุมสภาไม่ล่ม ส่วนจะอภิปรายกันอย่างไรก็สุดแล้วแต่ ครั้งนี้เป็นร่างกฎหมายที่ร่วมทำกันมาจนมาถึงวาระสุดท้าย คือวาระที่ 3 เพื่อลงมติแล้ว เหมือนทำลูกขึ้นมา แล้วอยู่ๆ ก็มาทิ้งๆ ขว้างๆ

ผมอยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ให้ครบ ให้จบมากกว่า ต่อให้โหวตไม่เห็นด้วย ประชาชนก็จะได้เห็น ไม่ใช่ทำสภาล่ม

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หากในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ที่จะมีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ล่ม ผมคิดว่าจะเป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็ยังต้องการให้มีการเลือกตั้ง ถ้ายังไม่สามารถหาข้อสรุปตรงนี้ได้ก็อาจจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ล่าช้า ผมคิดว่าถ้าไม่ครบองค์ประชุมจริงๆ สุดท้ายก็จะนำไปสู่การเจรจาต่อรอง เรื่องสูตรคำนวณเราต้องมาดูว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ เพราะจริงๆ ทั้ง 2 สูตรก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน การหาร 500 ที่ทำให้พรรคเล็กมีโอกาสมากขึ้น

ถ้ามองในมุมของการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม ทำให้ทุกคะแนนเสียงถูกนับในกระบวนการการเลือกตั้ง แต่หากมองในมุมนั้น การหาร500 ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีมากนัก แต่ประเด็นเรื่องของการตัดสินใจของพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา คือพยายามที่จะหาสูตรเพื่อที่จะลดจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย (พท.) คิดว่าเป็นสมมุติฐานที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะการร่างรัฐธรรมนูญและการหาวิธีการเลือกตั้ง ไม่ได้เน้นว่าเพื่อจะช่วยให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ทำอย่างไรในการที่จะมีรัฐธรรมนูญที่ควบคุมพรรค พท.ไม่ให้มีบทบาทหรือมีอำนาจทางการเมือง ผมว่าเป็นหลักคิดที่ไม่ได้อยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนและของประเทศ

เราควรมาพูดถึงระบบที่ทำอย่างไรให้ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ถ้าการที่หาร 100 แล้วพรรคการเมืองใหญ่มีเสียงมากขึ้น ก็ควรจะมีกลไกที่ควบคุมการทำงานของพรรคให้มีการตรวจสอบให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ไม่ใช่มาใช้กลไกการเลือกตั้งในการควบคุมไม่ให้พรรคการเมืองมีเสียงข้างมาก

ตอนนี้ทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กลับมาสนับสนุนสูตรการหาร 100 ก็อาจจะเป็นการมองว่าโอกาสที่พรรค พปชร.จะได้คะแนนเสียงมาก และเพื่อให้พรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น อาจจะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในการประเมินสถานการณ์ เพราะถ้าหากเราดูตอนนี้เอง ในแง่ของความคิดเห็นของประชาชนในหลายๆ พื้นที่ ก็มองว่านโยบายของพรรค พปชร. เช่น นโยบายเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ ก็อาจจะมีผลกับการตัดสินใจในการเลือกตั้งก็ได้ ตอนนี้เราจึงไม่แน่ใจว่าจะมีการย้ายพรรคมากน้อยแค่ไหน อย่างของพรรค พปชร.เอง ก็ได้ข่าวของการออกจากพรรค เพราะฉะนั้นส่วนตัวผมคิดว่าตอนนี้เรายังไม่แน่ใจว่าจะมีพรรคไหนบ้างที่มาสนับสนุนรัฐบาลจริงๆ แต่ในส่วนหนึ่งเขาอาจจะมองว่า สมมุติพรรคที่ร่วมรัฐบาลมีโอกาสได้จำนวน ส.ส.มากขึ้นจากสูตรนี้จะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าการกำหนดกฎกติกาในการเลือกตั้ง ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารมา มันมีการใช้กติกาการเลือกตั้งเป็นกลไกในการรักษาอำนาจของคณะรัฐประหาร เพราะฉะนั้น ตอนนี้เองการพิจารณาสูตรหรือการผลักดันสูตรโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นการพยายามสร้างกลไกในการรักษาอำนาจมากกว่า

ผมคิดว่าการเมืองในช่วงนี้น่าจะยังไม่มีอะไรมาก แต่เราก็คงเห็นการใช้งบประมาณของรัฐบาลในการหาเสียง ซึ่งก็เป็นปกติของระบบการเลือกตั้งที่เราเห็นในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าความไม่เป็นธรรมของระบบตอนนี้ คือกลไกของรัฐเอง ที่เป็นเครื่องมือให้กับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก

ชัยธวัช เสาวพันธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

กรณีการประชุมรัฐสภาร่วมเพื่อพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มองว่าพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องการใช้สูตรหาร 100 คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ใช่สูตรหาร 500 เนื่องจากพรรคใหญ่ได้เปรียบ มีโอกาสได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม ส่วนพรรคเล็กมีโอกาสได้ ส.ส.น้อยลง หรือบางพรรคอาจสูญพันธุ์ในเวทีการเมืองได้ หากสภานำร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เคยเสนอสูตรหาร 100 เข้าสู่สภาพิจารณาอีกครั้ง เชื่อว่าเสร็จตามกำหนดเวลาภายใน 6 เดือน ก่อนปิดสภาและรัฐบาลครบวาระมีนาคม ปีหน้า

ประเด็นกฎหมายลูกที่คำนวณสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ได้ถึง 180 คนนั้น เป็นเรื่องการตีความ ต้องดูว่าใช้สูตรอะไรคำนวณ เป็นแบบสากลหรือแบบไทยๆ ที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคใด ใช้อะไรเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ให้ความเป็นธรรมกับทุกพรรคหรือไม่ ส่วนตัวยังเชื่อว่าร่าง กกต.ที่คำนวณสูตรหาร 100 เป็นไปได้มากที่สุดเนื่องจากผ่านการพิจารณา และวิเคราะห์มาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ดังนั้นต้องกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ ต้องได้เสียงสนับสนุน 150,000-200,000 คะแนน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

ทั้งนี้ กกต.ในฐานะองค์กรอิสระ ต้องผลักดันร่างดังกล่าวให้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ใช่ปล่อยให้มีการถกเถียง หรือถ่วงเวลาอีก เพราะใช้เวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวและงบประมาณจำนวนมากแล้ว ดังนั้น กกต.ต้องเดินหน้า ทำให้สำเร็จ เพื่อยุติปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว และให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้

กรณีพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการอยู่ในวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นเรื่องที่สมควรทำ เพื่อเป็นบรรทัดฐานการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ หากศาลวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดการปฏิบัติหน้าที่ เชื่อว่าไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะสภาผู้แทนราษฎรยังคงทำหน้าที่ตามปกติจนครบวาระ แต่สภาต้องสรรหาหรือเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สามารถดำรงตำแหน่งตามวาระที่เหลือของรัฐบาล อาจอยู่ได้เพียง 4-5 เดือน ก่อนรัฐบาลครบวาระ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

สรุปภาพรวมพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องจับมือกันเพื่อสนับสนุนร่าง กกต.ที่ใช้สูตรคำนวณหาร 100 นำเข้าสู่สภาพิจารณาใหม่อีกครั้งเพื่อให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองผ่านไปก่อน ซึ่งทิศทางการเมืองในอนาคต ยังไม่แน่ว่าอาจมีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคจับมือฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ ตามแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนประชาธิปไตย เพื่อตอบสนองหรือตอบโจทย์ประชาชน หลังมีสัญญาณจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ที่ได้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่

ถ้ายังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และอำนาจเผด็จการสืบทอดอำนาจ เชื่อว่าประชาชนต่อต้าน โดยลงโทษพรรคการเมือง และผู้สมัครผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ไม่นานเกินรอจะได้รู้คำตอบดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image