‘บิ๊กป้อม’ ลุคใหม่ โชว์บทบริหาร อ่อนนอก-แข็งใน

‘บิ๊กป้อม’ ลุคใหม่ โชว์บทบริหาร อ่อนนอก-แข็งใน

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อบทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี

ดร.นันทนา นันทวโรภาส
วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

กรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่ในการรักษาการนายกฯดูเหมือนว่า พยายามปรับลุคใหม่อย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การเดิน กิริยาท่าทาง พล.อ.ประวิตรดูท่าทางกระฉับกระเฉงกว่าที่ผ่านมา ไม่ให้ใครมาประคองช่วยจับ ดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตร มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และดูบุคลิกเคร่งขรึมมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากที่ พล.อ.ประวิตร ไม่หยอกล้อกับนักข่าวเหมือนสมัยก่อน ตรงนี้เป็นการพยายามในการที่จะสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นรักษานายกฯ มีบทบาทเป็นผู้นำสูงสุดได้

Advertisement

ในเรื่องของการพูดก็เช่นกัน จะไม่ได้ยินวลีเดิมๆ “ไม่รู้ๆ” ไม่หลุดจากปาก พล.อ.ประวิตรเลย เหมือนกับรู้ว่า “ไม่รู้ๆ” ด้อยค่าของตัวเอง วิธีการที่จะตอบคำถามนักข่าวคือใช้วิธีการไม่ตอบ ปกติเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว พอมาในบทบาทรักษาการนายกฯ ก็ยิ่งพูดน้อยลงไปอีก ใช้วิธีการไม่ตอบเป็นหลัก

ตรงนี้สามารถทำได้ในบริบทหนึ่งๆ ผู้นำไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถาม และคำพูดที่ใช้นั้นมีความหมายทุกคำ อย่างเช่น เวลาที่ พล.อ.ประวิตร พูดออกมา ตอบคำถามไม่กี่คำ เช่น “ราบรื่นๆ” ซึ่งเป็นบวก “ไม่มีอะไรหรอก”คล้ายๆ ไม่มีปัญหา ตรงนี้เป็นวิธีการสื่อสารที่แสดงภาวะผู้นำว่า พล.อ.ประวิตรตอบคำถามได้ แต่ว่าไม่ตอบเยอะและตอบให้เป็นในทิศทางที่เป็นบวก ตรงนี้ผู้นำที่มีอายุถึง 77 ปี ถือว่าเยอะ ใกล้เคียงกับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่อายุ 80 ปี สมองโดยทั่วไปคงประมวลผลได้ช้ากว่าผู้นำที่อายุน้อยกว่า

เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ในการสื่อสารเมื่อเผชิญหน้ากับผู้สื่อข่าว การไม่ตอบหรือพูดให้น้อยที่สุดจะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด แต่กลยุทธ์แบบนี้ใช้ได้ไม่ตลอดเวลา ถ้าเกิดไม่ตอบคำถามเลย จะกลายเป็นผู้นำที่ไม่ตอบสนองกับสถานการณ์ ไม่ได้แตกต่างจากคำว่า “ไม่รู้ๆ” พล.อ.ประวิตรต้องตอบคำถามบ้าง แต่เป็นการตอบที่มีการเตรียมข้อมูลมาแล้วก็เตรียมรับมือกับคำถามล่วงหน้า คนใกล้ตัว พล.อ.ประวิตรและทีมงานจะต้องช่วยในการที่จะเตรียมข้อมูลว่าวันนี้นักข่าวน่าจะถามอะไรและจะตอบคำถามอะไรที่มีลักษณะสร้างสรรค์และเสริมบทบาทความเป็นผู้นำ

Advertisement

สำหรับเหตุผลที่ พล.อ.ประวิตร แสดงบทบาทในฐานะรักษาการนายกฯ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างที่พอจะทราบกัน สัมพันธภาพภายในระหว่าง 3 ป. เริ่มคลอนแคลนไปพอสมควร การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และเป็นโอกาสที่ พล.อ.ประวิตรจะขึ้นมาแสดงบทบาท เหมือนกับการแสดงศักยภาพให้เห็นว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุจริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นตำแหน่ง 8 ปี ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตรก็สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี หรือว่าจะนำการประชุมอาเซียน หรือแม้แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ก็อาจเป็น พล.อ.ประวิตรได้ เหมือนกับเป็นการโชว์ศักยภาพ

ถ้าเผื่อความคลอนแคลนของสัมพันธภาพของ 3 ป.นั้นเป็นจริง ตรงนี้ก็เป็นความตั้งใจของ พล.อ.ประวิตรที่จะแสดงให้สังคมรับรู้ว่าสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็ต้องแสดงให้เต็มที่ ถ้าแสดงให้เห็นว่าไม่มีศักยภาพ สุขภาพไม่ดี สื่อสารไม่ได้ ก็จะจบกันที่ตรงนี้

ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตรแสดงความร่วมมือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ต้องยอมรับว่ากระแสชัชชาติฟีเวอร์ยังมีอยู่และคนส่วนใหญ่ยังสนับสนุน การที่ พล.อ.ประวิตร แสดงไมตรีสื่อสารไปยังนายชัชชาติที่จะยินดีให้ความร่วมมือ หมายความว่าต้องการใช้ความนิยมของนายชัชชาติให้เชื่อมมายังความนิยมของรัฐบาล เพราะรัฐบาลให้ความร่วมมือกับ กทม.ในลักษณะที่ไม่ขัดแย้งและไม่ทำให้เห็นว่ามีความขัดแย้ง หรือไม่ให้ความร่วมมือ

เป็นวิธีการที่ชาญฉลาดในการทำให้คนทั่วไปรับรู้ว่า พล.อ.ประวิตร ให้ความร่วมมือกับ กทม. ช่วยเหลือนายชัชชาติ เป็นผลบวกกับ พล.อ.ประวิตรและภาพลักษณ์รัฐบาล นับเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดเชื่อมเอาคะแนนนิยมของ กทม.ให้ต่อเนื่องมายังรัฐบาลด้วย

ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก พล.อ.ประวิตรนั่งประธานแต่ไม่แตะเก้าอี้นายกฯ เหมือนให้เกียรติ พล.อ.ประยุทธ์ แค่มาทำหน้าที่ชั่วคราว จึงไม่แสดงให้ พล.อ.ประยุทธ์เกิดความรู้สึกไม่สบายใจว่าจะมาแข่งขัน แสดงบารมีข่มกัน แต่การสื่อสารอื่นๆ สามารถแสดงออกให้เห็นว่า พล.อ.ประวิตรมีศักยภาพ สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ แต่อย่างเป็นทางการที่แสดงออกอาจดูไม่เหมาะ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้าร่วมประชุม ครม.ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดูท่าจะยังมีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นยังอยู่ในคณะรัฐมนตรี ยังเป็นนายกฯ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การที่แสดงบทบาทออกมาในลักษณะร่วมประชุมของสภากลาโหมหรือใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการประชุม ครม. ทำให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ถอดใจ พร้อมทำหน้าที่นายกฯถ้าเผื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ด้านหนึ่งเป็นการทำให้บรรดารัฐมนตรีทั้งหลายไม่มีความรู้สึกว่าเปลี่ยนนายกฯแล้ว ทำให้ยังรู้สึกว่ายังอยู่ในสถานะเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ได้นั่งหัวโต๊ะเท่านั้นเอง เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสยบไม่ให้ ป.อื่นๆ จะมาแทนที่ได้ เหมือนขบเหลี่ยมกันเล็กๆ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร

ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าบทบาทของ พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ สามารถไปเป็นนายกฯในการเลือกตั้งได้หรือไม่ เรายังไม่ได้เห็นจริงๆ ว่า ถ้า พล.อ.ประวิตรมาแสดงบทบาทอย่างเต็มที่แล้ว หรือจะสื่อสารจนกระทั่งเพิ่มคะแนนนิยมขึ้นมาได้ แต่ในสายตาของประชาชนมองว่าอย่างไรก็เป็นกลุ่ม 3 ป. คือกลุ่มเดิมที่ยึดอำนาจบริหารประเทศ ไม่ว่าจะ ป.ไหนขึ้นมา ไม่ได้แก้ปัญหาที่ประชาชนกำลังทุกข์ยากอยู่ในขณะนี้ได้

ในบทบาทของรักษาการนายกฯมีอำนาจไม่ 100% ทำได้คือประคับประคองให้ประเทศเดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ไม่ทำให้แย่ลง อะไรที่จะแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องก็ดำเนินการไป แต่อะไรที่เป็นปมประเด็นใหญ่ทางการเมืองไม่ควรใช้โอกาสตรงนี้ตัดสิน เรื่องที่เป็นเชิงโครงสร้าง เช่น การยุบสภา หรือแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่สมเหตุสมผล ไม่ควรทำ ควรแก้ปัญหาปากท้องไม่ให้เกิดสุญญากาศ ประชาชนต้องได้รับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ข้าวของราคาแพง ไฟฟ้าราคาขึ้น จะช่วยในภาวะอย่างนี้ได้อย่างไรและแก้ปัญหาตรงนี้ไป

ทัศนัย เศรษฐเสรี
นักวิชาการคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อมอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี คงไม่มีบทบาทอะไรมากนัก เพราะไม่มีศักยภาพทำงาน ตั้งแต่อยู่ในคณะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลมา 8 ปี ไม่มีผลงานเด่นชัด เป็นเพียงแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน และตอบคำถามสื่อมวลชนไม่ตรงประเด็น บอกว่า “ไม่รู้” มาโดยตลอด ทำให้ประชาชนมองว่าไม่มีมารยาท ทำงานไม่คุ้มภาษี ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่มักแสดงบทบาทเป็นผู้นำประเทศ หรือแอ๊กชั่นทางการเมืองมากกว่า

ก่อนหน้ารับตำแหน่งรักษาการนายกฯ เป็นที่รับรู้กันว่าพล.อ.ประวิตรมีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องมีคนคอยพยุงเดินแต่หลังเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี กลับสดชื่นและกระฉับกระเฉงเดินได้ด้วยตัวเอง เพื่อโชว์ศักยภาพการเป็นผู้นำประเทศให้ประชาชนและต่างชาติยอมรับ เป็นการแสดงละครอีกบทบาทหนึ่ง ทั้งที่ฝืนสังขารอย่างมาก แต่เพราะอำนาจและผลประโยชน์จำเป็นต้องฝืนทน เพื่อประคองรัฐบาลไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินคดี พล.อ.ประยุทธ์ อีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า

พล.อ.ประวิตรควรรักษาบทบาทรักษาการนายกฯนั่งเป็นพระอันดับ ไม่ควรมีนโยบายหรือริเริ่มโครงการใหม่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ช่วยประคองสถานะรัฐบาลให้อยู่จนครบวาระและเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าให้ดีที่สุด หาก พล.อ.ประวิตร ใช้อำนาจปรับคณะรัฐมนตรี จัดโผแต่งตั้งข้าราชการ และผ่านงบประมาณปี 66 แล้ว เพื่อเตรียมเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ถือเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายทางการเมืองประเภทหนึ่ง ใช้ภาษีประชาชนอย่างสิ้นเปลือง และไม่คุ้มค่าอาจส่งผลต่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเลือกตั้งส.ส.สมัยหน้า จนไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่างแสดงบทบาทและเล่นละครการเมืองมาโดยตลอด บางครั้งจูบปากชื่นมื่น หรือทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่การสวมบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่างรู้ดีว่าต้องจับมือ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์เครือข่ายให้นานที่สุด แต่ไม่ว่าอยูในบทบาทไหน ต้องขับเคลื่อนประเทศและสังคมไปข้างหน้า ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีกว่าเดิม

ประเด็น พล.อ.ประวิตร ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับนายชัชชาติสิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น มองว่า เป็นละครบทหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องแสดงบทบาทเป็นผู้นำประเทศ สามารถสั่งการและประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ เพราะกรุงเทพฯเป็นการปกครองพิเศษรูปแบบหนึ่ง เพื่อส่งสัญญาณไปยัง อปท.กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศให้จับตาดูนโยบายและทิศทางรัฐบาลให้ดี โดยเฉพาะงบประมาณปี 66 ที่อาจจัดสรรและอุดหนุน ให้ อปท.เพิ่มขึ้นอีก

ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตร มีโอกาสทำได้ตั้งนาน เพราะเป็นพี่ใหญ่ของ 3 ป. ที่มีสายสัมพันธ์อันดี แต่เพิ่งมาทำตอนนี้ เพื่อหวังผลเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่า มองว่าทำช้าไป ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือส่วนรวมมากนัก เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ข้าคือผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งสั้นหรือยาวก็ตามถือเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัว แต่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์หรือมีความหวังใดๆ

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คิดว่าจุดเด่นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี สามารถคุยได้กับทุกกลุ่ม เป็นการบริหารการเมืองได้ดี ถือเป็นจุดเด่น จะเป็นประโยชน์ในการเดินไปข้างหน้า ต่อมาเป็นเรื่องบารมีทางการเมืองคุยทุกกลุ่มได้ สามารถฟังทุกคนที่เข้ามาพบหรือให้ข้อมูล คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะ ประกอบกับบุคคลแวดล้อมของ พล.อ.ประวิตรส่วนใหญ่จะเป็นผู้มากบารมีในแต่ละองค์กรหรือแต่ละพรรคการเมือง

ทำให้บทบาทของ พล.อ.ประวิตร สามารถบริหารการเมือง บุคคล และสังคม ได้อย่างรอบด้าน ประสานงานในกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่แสดงบทบาทได้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีการโทรศัพท์สายตรงถึงชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เป็นเรื่องที่น่าแปลกดี ปกติอาจจะถูกมองว่า ผู้ว่าฯชัชชาติ ควรต้องโทรหาผู้ใหญ่ การที่พล.อ.ประวิตร โทรสายตรงแสดงให้เห็นว่า พยายามบริหารอำนาจให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง อำนาจ

ส่วนภาพที่เห็นว่า หลังรักษาการนายกรัฐมนตรี ดูแข็งแรง เดินเองได้ เท่าที่ทราบ พล.อ.ประวิตรพยายามดูแลสุขภาพอยู่แล้ว แต่ในบางช่วงอาจจะต้องหาคนมาช่วยดูแล ช่วยคิดในหลายเรื่องแทนบ้างภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประวิตรขณะนี้ เป็นความพยายามในการบริหารราชการแผ่นดินไม่ให้สะดุด

เมื่อมองว่า พล.อ.ประวิตรอยากเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือไม่ คิดว่าคงไม่ได้อยากเป็นนายกฯ ถ้าอยากเป็นคงเป็นไปนานแล้ว เพียงแต่อยากจะบริหารในสิ่งต่างๆ ตามที่ว่าให้ได้ดี อาจจะมีหลายประเด็นในอดีตที่ พล.อ.ประวิตร เสนอให้ทำในบางเรื่อง ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เห็นด้วย พอได้มารักษาการก็อยากจะสร้างสมดุลในการใช้อำนาจทางการเมือง

มองว่าบุคลิกของ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ใหญ่ใจดี ไม่ค่อยฉุนเฉียว หรือใช้คำพูดที่ทำร้ายในทางอ้อมกับผู้ฟัง น่าจะแสดงบทอ่อนนอกแข็งในเพื่อให้เกิดภาพการพูดคุย การเจรจาต่อรองไม่ให้เคร่งเครียด ถือว่าผ่อนคลายอุณหภูมิทางการเมืองพอสมควร แต่สถานการณ์ภายใต้การบริหารงานในการที่จะเดินต่อไปคงจะต้องมีที่ปรึกษาที่ดี และติดตามสถานการณ์กันเป็นรายสัปดาห์ เพราะอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ มาแทรกแซงระหว่างทาง อาจจะทำให้การบริหารงานในตำแหน่งรักษาการพลาดได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image