บัตร 2 ใบ-สูตรหาร 100 แนวรบใหม่เลือกตั้งส.ส.

รายงานหน้า 2 : บัตร 2 ใบ-สูตรหาร 100 แนวรบใหม่เลือกตั้งส.ส.

หมายเหตุกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ…. ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และมาตรา 25, 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

มติเสียงส่วนใหญ่ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เห็นว่าการใช้สูตรหาร 100 ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ขัด รธน.จะทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก เพราะเหลือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพียง 100 ที่นั่งจาก 150 ที่นั่ง หายไป 50% ถ้าลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต้องได้เสียงสนับสนุน 370,000 คะแนนขึ้นไป ถึงมีโอกาสไดัรับเลือกตั้งดังกล่าว จึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคเล็กได้ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เหมือนการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 อีกต่อไป

เมื่อกำหนดสูตรคำนวณหาร 100 เชื่อว่าทุกพรรคมุ่งสู่สนามเลือกตั้ง ส.ส.เขต เพราะมี 400 เขตทั่วประเทศ โอกาสได้รับเลือกตั้งสูงกว่าปาร์ตี้ลิสต์

Advertisement

ดังนั้น พรรคใหญ่อาจใช้วิธีดึงดูด หรือช้อป ส.ส.เกรด A เข้าสังกัดเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตมากที่สุด เชื่อการเลือกตั้งสมัยหน้ามีแนวโน้มแข่งขันแบบดุเดือด รุนแรงกว่าครั้งที่แล้ว

สูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 เชื่อว่าเข้าทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มากที่สุด เนื่องจากมีความพร้อม และเครือข่ายสนับสนุนทุกด้าน ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่อาศัยกระแสมากกว่ากระสุน มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำเลือกตั้งได้ ลำพังอาศัยกระแสอย่างเดียว โอกาสชนะมีน้อย หาก พปชร. ภท. และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จับมือกัน เพื่อสกัดแลนด์สไลด์ พท.และ ก.ก. โดยรวบรวมเสียง ส.ส.ได้ 200 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง บวกกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่สนับสนุนอีก 200 เสียง รวมเป็น 400 เสียง เชื่อว่าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และได้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 ตามยุทธศาตร์ แยกกันเดิน รวมกันตีที่วางกลยุทธ์ไว้แล้ว
ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ได้แบไต๋แล้วว่าหากพรรคใดต้องการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าให้จับมือเป็นพันธมิตร พปชร. จัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน สะท้อนถึงความมั่นใจว่า พปชร.มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้งเพราะมีทั้งกระแส กระสุน และเครือข่ายสนับสนุน

อีกด้านหนึ่ง การที่ พล.อ.ประยุทธ์แยกไปสังกัด รทสช.อาจส่งผลเสียต่อ พปชร. เพราะต้องแข่งขัน ส.ส.เขตพื้นที่เดียวกัน ทำให้คะแนนแตก ส่งผลให้พรรคอื่นหรือฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งได้

Advertisement

ยกเว้นสมยอม หรือซูเอี๋ยกันหลีกทางไม่ส่งผู้สมัครแข่งขันกันเอง เพื่อแบ่งเค้กแต่ละพื้นที่ หาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการ พปชร.กลับมาช่วย พล.อ.ประวิตร อีกครั้ง เชื่อว่า พปชร.แข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะเคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่แล้ว

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เมื่อย้อนมองกลับไปถึงกระบวนการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความคิดหรือข้อสรุปทางการเมืองที่ไม่สะเด็ดน้ำว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมาย มีการ กลับไปกลับมาที่สะท้อนผ่านการกลับไปกลับมาของสูตรหาร 100 กับสูตรหาร 500 เกิดปรากฏการณ์สภาล่ม การเล่มเกมทางการเมืองโดยไม่แยแสสายตาประชาชน

สำหรับสาระของร่างกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้กลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งเหมือนรูปแบบรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 โดยคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แยกจากกันโดยสิ้นเชิง ให้ประชาชนเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ

โดยสูตรนี้จะต้องนำเอาคนที่มาเลือกตั้งหาร 100 เช่น ถ้ามีคนมากเลือกตั้ง 30 ล้านคน เมื่อหาร 100 ออกมาก็จะได้ 3 แสน ซึ่งเป็นตัวเลขของคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งที่จะทำให้ได้ ส.ส. ซึ่งโอกาสของพรรคเล็กริบหรี่
และทางเดียวที่จะอยู่รอดคือการหาพรรคการเมืองใหญ่สังกัด สิ่งที่เราจะได้เห็นคือการย้ายพรรค เพื่อหาทางรอดให้กับตัวเอง

ในแง่ของประชาชนก็น่าเชื่อว่าอาจมุ่งไปเลือกพรรคใหญ่มากขึ้น เพราะแม้จะชื่นชอบพรรคเล็กแต่โอกาสที่จะได้เป็น ส.ส.ก็มีน้อย หรือเลือกไปก็ไร้ประโยชน์ แน่นอนว่าผลจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้สูตรการคำนวณหาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญย่อมส่งผลต่อการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ และบัญชีรายชื่อพรรคใหญ่ก็มีโอกาสจะได้เป็น ส.ส.มากขึ้น ซึ่งบรรดานักการเมืองก็อาจสนใจเข้าร่วมกับพรรคใหญ่ โดยพรรคเพื่อไทยอาจมองเห็นโอกาสการได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุดจากกติกานี้ แต่บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองรวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ก็มองเห็นว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญยังคงมีกลไก 250 ส.ว. เป็นก้างขวางคอไม่ให้พรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

และเชื่อว่าฟากฝั่ง 3 ป. หากมีคะแนน (จาก ส.ส.ที่เลือกตั้ง รวมกับ 250 ส.ว.) มากพอจัดตั้งรัฐบาล ก็คงไม่ยอมรับกติกาการให้พรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน

การใช้สูตรหาร 100 ก็อาจจะไม่ใช่เหตุผลเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้เกิดการตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคที่ได้เปรียบจากกติกา

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

สูตรหาร 100 ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ จะลดโอกาสพรรคเล็ก แต่เพิ่มโอกาสพรรคใหญ่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น อาจทำให้พรรคเล็กไม่มีที่ยืนทางการเมืองหรือสูญพันธุ์ได้ เพราะเสียเปรียบพรรคใหญ่ทุกทาง

ดังนั้น โอกาสพรรคเล็ก ต้องไปรวมกับพรรคใหญ่เพื่อลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับต้น มีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากกว่า

ส่วนพรรคใหญ่ มี ส.ส.เขต เกรด A อยู่ในมือหมดแล้ว เพื่อรักษาพื้นที่เดิมไว้ ดังนั้น โอกาสช้อป ส.ส.เข้าสังกัดใหม่จึงเหลือน้อยเต็มที ถ้าลง ส.ส.เขต ต้องได้คะแนนอย่างน้อย 40,000 คะแนนขึ้นไป ถึงสอบผ่าน

หากลงปาร์ตี้ลิสต์ต้องได้เสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 200,000 คะแนน ถึงมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภาได้

ดังนั้น โอกาสพรรคเล็กแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะเดิมได้ 70,000-80,000 คะแนน ได้เป็น ส.ส.แล้ว
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พรรคเล็กไม่ได้แสดงบทบาทการเมืองมากนัก ทำให้ไม่มีผลงาน หากหาเสียงแบบเดิม โอกาสชนะเลือกตั้งน้อยลง ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรมาก ไม่คุ้มลงทุน ถ้าพรรคเล็กรวมตัวให้เป็นพรรคใหญ่ขึ้น เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งสมัยหน้า เชื่อว่าทำไม่ได้ เพราะวิสัยทัศน์ นโยบาย จุดยืนแต่ละพรรคแตกต่างกัน เป็นผลเสียมากกว่าผลดี

ขณะเดียวกัน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไปสังกัด รทสช.อาจส่งผลให้ พปชร.แพแตกได้ เพราะมี ส.ส.พปชร.ย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่พรรคใหม่ ทำให้ พปชร.ขาดจุดขาย ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. หมดโอกาสก้าวสู่ผู้นำประเทศในอนาคต เนื่องจากอายุมาก มีปัญหาสุขภาพ

ดังนั้น นักการเมืองที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรวางมือทางการเมืองให้คนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ ความรู้ ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศแทนดีกว่า

ภาพรวมสูตรหาร 100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ได้ เพราะเข้าทางและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ นโยบายที่ต้องการให้มี ส.ส.ที่มาจากเสียงประชาชน
ส่วน พปชร.และ รทสช.ก็มีโอกาสเช่นกันขึ้นอยู่กับประชาชนให้โอกาส ไว้วางใจ ให้มาทำหน้าที่บริหารประเทศเท่านั้น

วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กติกาในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคที่มี ส.ส.ถนัดเขตจะได้เปรียบ และพรรคที่มีกระแสก็จะได้เปรียบเช่นเดียวกัน โดยพรรคที่จะมีคุณสมบัติทั้ง 2 อย่างนี้ก็คือพรรคขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลทางการเมืองคือเรื่องแรกที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่คือ การเกิดขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะย้ายไปหรือไม่ เพราะตัวเขาเองก็ยังไม่มั่นใจเหมือนกัน

เนื่องจากขนาดของ รทสช.เป็นพรรคขนาดเล็ก หากดูจากจำนวนคนในปัจจุบัน แม้ว่าจะมี ส.ส.หลายกลุ่มพยายามเสนอว่าจะตามนายกฯไปแต่มันมีความไม่แน่นอนอยู่ ด้วยกติกาการเลือกตั้งแบบหาร 100 อาจจะทำให้ รทสช.เสียเปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดูตัวอย่างได้ง่ายๆ จากการทำโพลหลายๆ ครั้งพบว่า รทสช.ไม่ได้อยู่ในกระแสของโพลเลย

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระแสในการเลือกตั้งที่จะมีผลในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะมีน้อยตามไปด้วย ทำให้ รทสช.ต้องไปพึ่งกับ ส.ส.เขตมากกว่าบัญชีรายชื่อ ก็นำไปสู่ปัญหาต่อไปคือถ้าหาก รทสช.ไปสู้กับ ส.ส.เขตก็ต้องไปสู้ตัดคะแนนกันเองกับ พปชร.ที่เป็นฐานเสียงเดิมของตนเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้เห็นได้ว่าอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจของนายกฯในการไปอยู่ รทสช.

จากกติกาการเลือกตั้งดังกล่าว พรรคขนาดกลางจะได้ ส.ส.น้อยลง ส่วนพรรคขนาดเล็กแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในการได้ ส.ส. เพราะการที่จะได้ ส.ส. 1 คนในบัญชีรายชื่อนั้นหากเป็นกติกาเก่าใช้เสียงประมาณแค่ 75,000 เสียง แต่ในกติกาใหม่ต้องใช้เสียงกว่า 300,000 เสียง

เพราะฉะนั้นพรรคเล็กลืมไปได้เลย แทบจะไม่มีพรรคเล็กในบัญชีรายชื่อ ต้องไปลุ้นกันที่เขต ซึ่งพรรคเล็กก็เป็นพรรคที่ไม่ถนัดเขตเช่นเดียวกัน

แม้แต่พรรคขนาดกลางอย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ถนัดในการต่อสู้ในการเลือกตั้งแบบเขต ส่งผลให้ขนาดของพรรคการเมืองอย่าง ก.ก.จะเล็กลง ส่วนพรรคเล็กที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันไม่ได้ไปต่อแน่นอน

หากพูดถึงพรรคที่จะได้เปรียบมี 2 องค์ประกอบคือพรรคที่มีตัวทำพื้นที่อยู่แล้ว และพรรคที่มีกระแสที่จะสามารถมีเสียงในบัญชีรายชื่อใน 100 ที่เหลือ

ซึ่งเราจะพบได้ในพรรคเพื่อไทยที่มีกระแสแลนด์สไลด์และมี ส.ส.ในพื้นที่ หรืออีกพรรคคือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ถึงแม้จะไม่พึ่งกระแสเท่าไรนักแต่มีตัว ส.ส.ในพื้นที่จำนวนมากที่เข้ามารวมตัวกัน

เพราะฉะนั้นการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตอาจจะไม่ได้ดูในเรื่องของจำนวน ส.ส.ที่ได้จากสภาผู้แทนราษฎร อันเนื่องมาจากการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าก็ยังต้องพึ่งเสียงของ ส.ว. 250 เสียง เพราะฉะนั้นเราจะมองได้ว่าพรรคที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ที่มีความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล หากพรรคที่เป็นพรรคร่วมในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น พปชร.หรือ ภท.ได้เสียงประมาณ 120 เสียง ก็ผนึกกำลังจัดตั้งรัฐบาลได้

การที่พรรค พท.จะแลนด์สไลด์หรือพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันที่พูดเรื่องแลนด์สไลด์นั้น การที่จะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อได้เสียงเกิน 375 เสียงเท่านั้น

แม้ว่าได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่รับประกันว่าจะเสนอชื่อนายกฯได้ เพราะปัจจัยไม่ได้มีเพียงการเลือกตั้ง

แต่ยังมีปัจจัยเรื่อง ส.ว. 250 คน เพราะฉะนั้นเราก็ยังอยู่ในวังวนการเมืองแบบเดิมคือกลุ่มพลังมาจากการยึดอำนาจปี 2557 ยังได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า

จากนี้จะได้เห็นการยุบตัวและรวมตัวของพรรคเล็กมากยิ่งขึ้น และจะได้เห็นปรากฏการณ์ของ พปชร.ที่จะขยับอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเป็นในลักษณะที่คนไม่ได้ออกจากพรรคแบบเท่าที่เราคาดคิดว่าจะออกไปตั้งพรรคใหม่

ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็มาในทิศทางที่สอดคล้องกับการเลือกตั้งภายใต้กติกาหาร 100 อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรค พท.หรือ ภท.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image