จับจังหวะ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ สู่โหมดการเลือกตั้ง

จับจังหวะ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ สู่โหมดการเลือกตั้ง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แยกตัวไปทำงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ADVERTISMENT

เ ป็นที่แน่ชัดว่า 2 ป. ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แยกกันเดินแล้วในทางการเมือง เพียงแต่สิ่งที่ยังไม่ชัดคือแยกขาดหรือไม่ ผลจากการใช้กติกาการเลือกตั้งแบบหาร 100 ยิ่งทำให้สถานการณ์ของบิ๊กป้อมกับลุงตู่น่าห่วง ถึงขนาดที่ว่ารวมกันก็ยังไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่า หากแยกกันขาดอีกยิ่งตายสนิท เพราะขนาดรวมกันความกังวลที่ว่าจะได้จำนวน ส.ส.รวมกัน 2 พรรคจะได้กี่คน หรือจำนวน ส.ส.จะมากพอเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และจำนวน ส.ส.รวมเสียงกับ ส.ว.จะมากพอที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้แม้ท้ายที่สุดหลังเลือกตั้งถนน 2 สายนี้จะมาบรรจบอีกครั้งของ 2 บิ๊ก ก็ใช่ว่าจะปูด้วยพรมแดง

ยิ่งมองไปถึงผลของการแพ้ยิ่งน่ากลัว เพราะบิ๊กป้อมเองก็ยังมีแผลที่ยังไม่หายสนิท คือเรื่องนาฬิกาเพื่อน และเรื่องอื่นที่อาจถูกรื้อฟื้นหลังน้ำลด

ADVERTISMENT

กอปรกับการมีจำนวน ส.ว. 250 เสียงอยู่ในมือ ที่หาก 2 บิ๊กแยกทางกันก็จะกลายเป็น 2 กลุ่ม และหากเป็นเช่นนั้นก็อาจไม่มากพอที่จะหนุนจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น การแยกเดินแบบจากขาดเป็นเรื่องที่แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่เห็นอยู่เป็นเรื่องของถนน 3 สาย สายหนึ่งคือ 250 ส.ว. สายที่ 2 คือบิ๊กป้อม สายที่ 3 คือบิ๊กตู่ ที่รอวันบรรจบกันอีกครั้ง

ในเรื่องคะแนนนิยมต้องถามว่าจะได้คะแนนนิยมจากที่ไหน ต้องยอมรับว่ากรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ หากมองภาพรวม แม้คะแนนนิยมจะไม่ดีนัก ทำนองว่าลูกเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกๆ คน แต่ก็มีคะแนนนิยมยังดี หรือยังน่ารักหรือเป็นที่ชื่นชอบในบางพื้นที่ การแยกกันก็เพื่อไปทำพื้นที่ ใครได้รับความนิยมตรงไหนก็ไปตรงนั้น จึงค่อยสาดกระสุน ไม่สาดมั่ว พุ่งเป้าแบบแคบแต่ลึก ซึ่งหวังผลได้มากกว่า

แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะไปภาคใต้ เพราะเห็นจากการปรับ ครม.ครั้งนี้มีการปรับนายธนกร วังบุญคงชนะ เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพื่อคุมกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ และสร้างบารมีทางการเมือง รวมถึงพื้นที่ทางภาคตะวันออกที่มีนายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นหัวขบวน ส่วน พล.อ.ประวิตรเชื่อว่าคะแนนนิยมดีอาจทำพื้นที่ทางอีสาน ภาคกลาง หรือภาคเหนือ

นอกจากนั้น คะแนนนิยม พล.อ.ประวิตรอาจเพิ่มขึ้น หากกลุ่มการเมืองที่รอความชัดเจน เช่น กลุ่มสามมิตร น่าเชื่อว่าท้ายสุดจะไม่ย้ายไปฝั่งประชาธิปไตย เพราะสามมิตรก็เชื่อว่าทั้งสองบิ๊กไม่แยกกันขาด ด้วยคณิตศาสตร์ทางการเมืองก็ทำให้น่าเชื่อว่ามีโอกาสกลับมาจัดตั้งรัฐบาล และการเก็บเล็กผสมน้อยจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน หรือแม้แต่ผู้กองธรรมนัสที่แม้จะปกครองยากสักนิด แต่ก็น่าจับตามองว่า พล.อ.ประวิตรจะปล่อยคะแนนเหล่านี้ตกน้ำหรือไม่ หรือหากกลับมาจะต้องใช้วิธีแยกบ้านให้อยู่ เหมือนครั้งที่เคยสร้างพรรคเศรษฐกิจไทยเพื่อลดความขัดแย้งอีกหรือไม่

ส่วนผลการเลือกตั้งก็น่าเชื่อว่าพลังประชารัฐน่าจะได้จำนวน ส.ส.มากกว่า เพราะในทางบารมี พล.อ.ประวิตรน่าศรัทธา มีบารมีทางการเมืองสูงกว่า ทำให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐตัดสินใจร่วมงานต่อ รวมถึง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐก็คงมองแล้วว่าพรรครวมไทยสร้างชาติอาจดึงนักการเมืองจากพรรคอื่นมาร่วมงานกับ พล.อ.ประวิตรได้มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์

อีกทั้งด้วยพื้นที่ทางการเมืองที่ พล.อ.ประวิตรแบ่งมารับผิดชอบก็กว้างกว่า มี ส.ส.ที่เป็นคนสำคัญอยู่ด้วยมากกว่า พล.อ.ประวิตรจึงมีแต้มต่อเหนือกว่า พล.อ.ประยุทธ์ และในวันที่การเมืองแบ่งเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ คือพรรคเพื่อไทยได้เปรียบจากกติกา กับพรรคก้าวไกลที่มีเด็กรุ่นใหม่ช่วงอายุ 18 ถึง 24 ปี มาเป็นกำลังเสริมสนับสนุน ฝั่งนี้ พล.อ.ประวิตรคงบอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “รวมกันเถิดตู่แยกหมู่เราตาย”

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แยกทางกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพื่อลงสมัครเลือกตั้งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า ถือเป็นกลยุทธ์การเมือง ตามแผนลับ ลวง พราง และยุทธศาสตร์แยกกันเดิน รวมกันตี พร้อมรองรับสูตรหาร 100 ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ที่พรรคขนาดใหญ่มีโอกาสได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น เพื่อสกัดชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย (พท.) ตามกระแสความนิยมประชาชน

ขณะเดียวกันอาจส่งผลให้ พปชร.เป็นพรรคขนาดกลาง เพราะ ส.ส.พรรคหนี หรือย้ายสังกัดไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ และ รทสช.มากขึ้น เนื่องจากนายทุนและกลุ่มอนุรักษนิยมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า พล.อ.ประวิตร เพื่อรักษาฐานอำนาจ ผลประโยชน์เครือข่ายดังกล่าวอาจทำให้ พปชร.แตกได้ เนื่องจากขาดพลังแม่เหล็กดึงดูด และท่อน้ำเลี้ยงลดลง แม้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการ พปชร. กลับมาช่วย พล.อ.ประวิตรอีกครั้ง คงทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะอิทธิพลบารมีลดน้อยลง ทำให้บทบาทไม่เหมือนเดิม

อีกมุมหนึ่ง พล.อ.ประวิตรแม้นายทุนและกลุ่มอนุรักษนิยมไม่สนับสนุนเท่า พล.อ.ประยุทธ์ แต่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีท่าทีประนีประนอมนุ่มนวล ไม่แข็งกร้าวเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประชาชนสัมผัสได้ว่า พล.อ.ประวิตรเป็นนักการเมืองที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีเสียงตอบรับประชาชนมากขึ้น

การเลือกตั้งครั้งหน้าแม้ พปชร.ชู นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพื่อสร้างจุดขาย เชื่อว่าไม่ตอบโจทย์ประชาชนมากนักเพราะนายมิ่งขวัญเป็นนักการตลาดไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มองว่า พล.อ.ประวิตรและ พปชร.ตัดสินใจผิด เนื่องจากยังมีบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และเชี่ยวชาญการเมืองมากกว่าหลายคน ซึ่งไม่ต่างกับ รทสช.ที่ยังหาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อชูนโยบายพรรคไม่ได้ ถือเป็นจุดอ่อนทั้งสองพรรค อาจส่งผลพ่ายแพ้เลือกตั้งได้

ขณะเดียวกัน พท.ถือเป็นพรรคที่มีโอกาสชนะเลือกตั้ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้มากที่สุด เพราะนโยบายเศรษฐกิจโดดเด่น โดยเฉพาะการปรับค่าแรงเป็น 600 บาท/วัน ภายในปี’70 หรือ 5 ปีข้างหน้าตามผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ GDP เชื่อว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปได้ เพราะตอบโจทย์ประชาชน แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย นำไปสู่ชนะเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ พท.ต้องไปต่อสู้ในรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อาจแพ้โหวตดังกล่าว เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คน สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า ส่งผลให้ รทสช. พปชร.มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กรณีกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แยกกันเดิน รวมกันตี คิดว่าสมการนี้มีความเป็นไปได้ เพราะสายสัมพันธ์ระหว่าง 3 ป.ความเป็นพี่เป็นน้องกันมาคงตัดกันไม่ขาดแต่ความระหองระแหงที่เกิดขึ้นมาจากคนรอบข้าง จากการสื่อสาร และองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ทำให้ดูเหมือนมีความขัดแย้งกัน อาทิ คำพูดของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ทำให้ พล.อ.ประวิตรไม่พอใจ เพราะต้องเซฟน้องชายเอาไว้ สิ่งสำคัญโครงสร้างทางการเมืองถูกดีไซน์จากรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ส.ว.ยังมีเอกภาพมากในกลุ่มของ 3 ป.ไม่ต้องดูเรื่องอื่นใด

หาก ส.ว.ไม่มีเอกภาพ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นคงจะเห็นความหลากหลายในการลงมติ แต่ ส.ว.ลงคะแนนล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นแบบเอกฉันท์ ทำให้รู้ว่า ส.ว.มีเอกภาพมาก เชื่อว่าองคาพยพในทางการเมืองทั้งหมดยังเป็นคุณต่อ 3 ป. หาก พล.อ.ประยุทธ์จับมือกับ พล.อ.ประวิตร และมีพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ มีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอีก

สำหรับคะแนนความนิยมของ พล.อ.ประวิตรตกต่ำอยู่แล้ว ขายไม่ได้กับประชาชน แต่ขายได้กับกลุ่มนักการเมือง เพราะมองว่าจะได้ผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรที่จะได้รับการจัดสรร หรือโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล หรือตำแหน่งรัฐมนตรี จึงเป็นเหตุปัจจัยทำให้กลุ่มก๊วนต่างๆ ที่มีสัญญาณว่าจะย้ายพรรคเกิดความลังเล เพราะหากไปพรรคอื่นและไปแบบกลุ่มน้อยจะทำให้อำนาจการต่อรองน้อยไปด้วย อาจจะเป็นแถว 2 หรือแถว 3 ไม่ใช่แถวที่ 1

ถ้ายังอยู่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตรไม่จับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะโยกไปพรรคเพื่อไทย ก็จะมีพื้นที่ทางการเมือง หรือหาก พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์จับมือกัน กลุ่ม ส.ส.ที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐก็สามารถอยู่ได้ หาก ส.ส.บางคนตัดสินใจไปอยู่พรรคเพื่อไทย ผลที่ออกมาไม่แพ้ก็ชนะในการร่วมรัฐบาล แต่หากยังอยู่พรรคพลังประชารัฐมีโอกาสชนะกับชนะในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะไปข้างไหนก็ตาม คิดว่า 3 ป.พยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้

ส่วนคะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์มองว่าตกต่ำแน่นอน ไม่เห็นผลงานอะไรที่ชัดเจน แต่จุดยืนในเรื่องการเมืองเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร มีการสร้างภาพให้เป็นตัวร้าย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ขายได้ แต่เป็นเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่ทั้งประเทศ และยังมีความชัดเจนว่ายืนตรงข้ามกับทักษิณ และจากความซื่อตรง รักชาติ รักสถาบัน ทำให้ ส.ส.บางคนในสังกัดบิ๊กตู่อาจจะมีชัยชนะในการเลือกตั้ง ประกอบกับพื้นที่หาเสียงภาคใต้ยังมีความซับซ้อนกับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้นักเลือกตั้งต้องหาพื้นที่ทางการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ

การคาดการณ์ ส.ส.ทั้ง 2 พรรค คิดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติน่าจะได้ 30-50 ที่นั่ง หากเล่นตามเกมกติกา 30 ที่นั่งก็เพียงพอแล้วที่จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี การเมืองระยะหลังส่วนใหญ่ไม่นิยมความสง่างาม ความชอบธรรม เอาแค่รวบรวม ส.ส.ให้ได้เสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่คำนึงว่าพรรคที่มีคะแนนอันดับ 1 จะต้องเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่อยู่ที่ว่าใครรวบรวม ส.ส.ได้มากกว่ากันก็จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว และเสียงที่สำคัญคือเสียง ส.ว. ภายหลังจากการเลือกตั้งจะชี้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคพลังประชารัฐก็เช่นเดียวกัน น่าจะได้ ส.ส. 30-50 ที่นั่ง สาเหตุที่มองเช่นนี้เพราะถือว่ามาจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี ส.ส.ประมาณ 100 คน แล้วนำมาหาร 2 ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติส่วนหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนไซซ์เท่านั้น

ส่วนภาพที่มีข่าวออกมาว่ามีการดึงคนของพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ผมมองว่าเป็นการดึงคนแพ้การเลือกตั้งเข้ามามากกว่า หากมองผู้กองธรรมนัสกลับพรรคพลังประชารัฐ คิดว่าจะมาช่วยงานทางลับมากกว่า เพราะความสามารถและศักยภาพยังมีอยู่

กระแสของพรรครวมไทยสร้างชาติขณะนี้มองว่าไม่มีคะแนนความนิยม หากดูนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ก็จะมีคะแนนเสียงบางส่วนในกรุงเทพฯ และนักเลือกตั้งประจำจังหวัดก็จะมีฐานคะแนนนิยมส่วนตัวอยู่แล้ว หากจะเปิดตัวนักบริหาร นักเศรษฐกิจยังไม่เห็นตัวที่ชัดเจน ประกอบช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์พยายามเว้นระยะห่างทางการเมือง แต่อยากเล่นการเมือง จึงทำให้เกิดอาการย้อนแย้ง นักการเมืองทำงานยากเพราะไม่เอ่ยปากให้ชัดเจน

มองความสัมพันธ์ 3 ป. ผมรู้สึกว่า พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ หากทั้ง 2 พรรคได้ที่นั่ง ส.ส.พรรคละ50 ที่นั่ง เชื่อว่ายังจับมือกันได้ นอกเสียจากพรรครวมไทยสร้างชาติได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 ที่นั่ง จะเกิดสมการทางการเมืองใหม่ทันที เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างจบหมด พรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลอาจจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย รวมทั้ง ส.ว.ก็จะอยู่ในอำนาจ พล.อ.ประวิตรทั้งหมด ภาพของรัฐบาลชุดใหม่ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image