รายงานหน้า2 : วิพากษ์รบ.เพิ่มเงิน‘อบต.’ ตกเขียวหาเสียงเลือกตั้ง

วิพากษ์รบ.เพิ่มเงิน‘อบต.’
ตกเขียวหาเสียงเลือกตั้ง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีที่รัฐบาลเร่งอนุมัติจัดสรรงบประมาณโครงการต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ล่าสุด การประกาศเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการให้องค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.)

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

กรณีรัฐบาลเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการ อบต. ก่อนยกฐานะเป็นเทศบาลทั่วประเทศ มีผลทางการเมือง เพราะรัฐบาลใกล้ครบวาระวันที่ 23 มีนาคม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจประกาศยุบสภาวันที่ 15 มีนาคม ก่อนครบวาระเพียง 1 สัปดาห์ เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน ดังนั้นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการจึงเป็นการซื้อใจ อบต.กว่า 5,300 แห่ง เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาล กลับมาเป็นรัฐบาลและผู้นำประเทศในสมัยหน้า ถือเป็นการชิงความได้เปรียบทาง
การเมือง โดยใช้กลไกรัฐระดับท้องถิ่น เพื่อปูทางกลับเข้าสู่อำนาจ และผลประโยชน์อีกครั้ง

Advertisement

เดิม อบต.เรียกร้องค่าตอบแทนและสวัสดิการเพิ่มมากว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากบทบาทอำนาจ หน้าที่ ภารกิจ เพื่อดูแลประชาชนไม่ต่างจากเทศบาลมากนัก แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า ส่วนการยกฐานะเป็นเทศบาล รัฐบาลสามารถทำได้ทันที แต่ไม่ยอมทำ โดยอ้างมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้องและงบประมาณไม่เพียงพอ ถ้ายกฐานะเป็นเทศบาลได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่ม และสามารถกู้เงินจากกองทุนสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นำมาพัฒนาท้องถิ่นได้ เพื่อยกคุณภาพชีวิตประชาชนดีกว่าเดิม

ข้อเรียกร้องดังกล่าวอยู่ในลิ้นชัก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาหลายปี แต่ทำไมเพิ่งมาปัดฝุ่น เพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลสามารถทำได้นานแล้ว จึงมีเพียงเหตุผลเดียวคือ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลให้ได้เท่านั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ลับลวงพรางของ 3 ป. เพื่อรักษาอำนาจ ผลประโยชน์ในอนาคต

อบต.ถือเป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระค่อนข้างมาก มีผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่รวมกว่า 300,000 คน ถือเป็นฐานเสียงเครือข่ายที่ทรงพลังเนื่องจากมีความใกล้ชิดประชาชนระดับหมู่บ้านมากที่สุด ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จึงหวังคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม เพื่อได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า

Advertisement

การเพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ อบต. เชื่อว่าส่งผลต่อการเลือกตั้งพอสมควร เพราะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถ้าไม่ชอบหรือไม่เลือกผู้สมัคร แต่ลงคะแนนให้พรรคได้ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล จึงเข้าทางพรรค รทสช.และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มากกว่าพรรคอื่น เพราะ อบต.หวังยกฐานะเป็นเทศบาล และมั่นใจว่าทำได้ หาก พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นรัฐบาล ผู้นำประเทศได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเป็นการสกัดชนะถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน ภายใต้การเดินเกมของ 3 ป. ที่จับมืออย่างเหนียวแน่น โดยตั้งเป้าให้ รทสช.กับ พปชร. จับมือจัดตั้งรัฐบาลเพียง 2 พรรคเท่านั้น โดยมี ส.ว. 250 คน สนับสนุน โดยเขี่ยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกนอกวงจร เนื่องจากเป็นคู่แข่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ที่ต้องกำจัดให้พ้นทาง ไม่ให้มีอำนาจต่อรองผลประโยชน์อีก ประเด็นที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. ไปจับมือ พท.จัดตั้งรัฐบาลนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะอุดมการณ์และจุดยืนต่างกัน ถ้ารวม 2 พรรคจัดตั้งรัฐบาล อาจทำให้ผู้สนับสนุนไม่พอใจ และต่อต้านเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ส่งผลเสียภายหลังได้

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลมีความได้เปรียบกว่าพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านอยู่แล้วในเรื่องการหาเสียงในช่วงจะมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้สมาชิกพรรคการเมืองที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีสามารถที่จะใช้งบประมาณและกลไกของรัฐที่ตนเองมีอยู่ในการนำนโยบายของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองของตนที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งก่อนมาปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่านโยบายที่เคยหาเสียงไว้ได้ทำสำเร็จแล้ว หรือนำโครงการของรัฐในการลงมาช่วยเหลือประชาชนเมื่อประสบปัญหาทางด้านภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือภัยหนาว เป็นต้น นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 เนื่องจากมีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ให้พรรคการเมืองและผู้สมัครระมัดระวังในการหาเสียง 180 วันก่อนวันที่ต้องยุบสภา 23 มีนาคม 2566 ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องระมัดระวังการใช้เงินหาเสียงมากขึ้น ทั้งนี้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 68 ห้ามผู้สมัครกระทำสิ่งใดชักจูงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตน กล่าวคือห้ามแจกของและช่วยเหลือประชาชน และมาตรา 73 หากมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงต้องเก็บเอกสารทั้งหมดไว้ให้ตรวจสอบ กฎหมายตรงนี้สร้างความได้เปรียบให้กับนักการเมืองและพรรคการเมืองของฝ่ายรัฐบาลที่สามารถนำสิ่งของเครื่องใช้ลงไปแจกให้กับประชาชนที่เดือดร้อนได้มากกว่านักการเมืองฝ่ายค้าน เพราะฝ่ายแรกไปในนามรัฐบาลที่ใช้งบประมาณของรัฐในการแจกจ่ายสิ่งของ ผิดกับนักการเมืองฝ่ายค้านที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากเนื่องจากติดระเบียบหาเสียง เขาเหล่านั้นทำได้เพียงประสานนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่

นอกจากนี้ พรรคและนักการเมืองฝ่ายค้านทำหน้าที่เพียงตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พ.ร.บ.จากฝ่ายค้านที่เสนอไปมักจะถูกตีตก สิ่งเหล่านี้ทำให้นักการเมืองฝ่ายค้านค่อนข้างเสียเปรียบในการหาเสียงช่วงใกล้เลือกตั้ง การที่นายกรัฐมนตรียืดเวลาการยุบสภาออกไปให้นานที่สุดและมาเร่งลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในช่วงนี้ ผิดกับก่อนหน้านั้นที่เราไม่ค่อยเห็น พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่พบประชาชน หรือการให้สัญญาต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือแก้ปัญหาให้ประชาชน สิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกได้ว่าเขาใช้ความได้เปรียบในการเป็นนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่หาเสียงเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งที่จะถึงนี้

พล.อ.ประยุทธ์มีการประกาศสำคัญต่อผู้บริหาร อบต.และสมาชิกสภา อบต.ทั่วประเทศว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนให้ รวมถึงก่อนหน้านั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มีการพูดถึงจะสนับสนุนการยกระดับ อบต.ให้เป็นเทศบาลเพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คำถามที่สำคัญคือ 1.ทำไม 8 ปีกว่าที่อยู่ในอำนาจ คนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี อีกคนเป็น รมว.มหาดไทย ก่อนนั้นทำไมไม่ทำเรื่องเหล่านี้ แต่ทำไมมาทำช่วงนี้ 2.การเพิ่มเงินให้กับฝ่ายบริหารและสมาชิก อบต.จะช่วยส่งเสริมการทำงานให้ อปท.มากน้อยแค่ไหน และตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นไหม

ที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.อนุพงษ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทยมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับ อปท.ทั่วประเทศคือ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารใช้ ม.44 ปลดนายก อปท.ทั่วประเทศ และแต่งตั้งให้ข้าราชการทำงานแทน แต่หลังจากนั้นมามีการออกคำสั่งใหม่ให้นายก อปท.กลับเข้าทำงานเหมือนเดิม และไม่ให้มีการจัดการ อปท. สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนให้นักการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นเหมือนข้าราชการของรัฐเพราะประชาชนไม่สามารถตรวจสอบผ่านระบบการเลือกตั้งได้อีกต่อไป ที่สำคัญเป็นการทำลายประชาธิปไตยในท้องถิ่นอีกด้วย มากกว่านั้น หัวหน้า คสช.เองใช้ ม.44 ในการแขวนนายกท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่นหลายคนที่กลัวจะโดนแขวนก็มีการย้ายมาอยู่กับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่คือพรรคพลังประชารัฐเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 ในขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์เองก็บ่ายเบี่ยงหลายครั้งในเรื่องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าจะเลือกก่อนหรือหลังการเลือกตั้งใหญ่ พ.ศ.2562 จนกระทั่งยอมให้มีการเลือกตั้ง อบจ.ในเดือนธันวาคม 2562 มากกว่านั้นในช่วงที่ คสช.มีอำนาจ งบประมาณท้องถิ่นไม่มีการเพิ่มขึ้น การทำงานของท้องถิ่นขาดประสิทธิภาพเพราะผู้บริหารท้องถิ่นกลัวว่าถ้าทำอะไรผิดพลาดจะถูกแขวนโดย ม.44

การประกาศจะขึ้นเงินเดือนให้ผู้บริหารและสมาชิก อบต.ในตอนใกล้จะเลือกตั้ง ทั้งนี้ตนเองรู้ว่าไม่มีอำนาจเหมือนสมัยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่จะสั่งให้นายก อปท.ทำอะไรก็ได้อีกแล้ว จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับ อปท.มากขึ้น โดยเฉพาะ อบต.ที่เป็นเครือข่ายในท้องถิ่นที่สำคัญก่อนการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า 8 ปีกว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์มีความสนใจ จริงใจที่จะทำเพื่อคนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจมากน้อยเพียงใด

ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เมื่อก่อนนี้ เทศบาลอยู่ในเขตเมือง ซึ่งเขตเมืองมีความหมายในแง่จำนวนคนมากพอตามที่กฎหมายกำหนด แต่ อบต.อยู่ในเขตชนบท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าไม่มีการปรับเปลี่ยน เขตชนบทที่ อบต.เคยบริหารกลายเป็นเขตเมืองไปแล้วก็มี เพราะฉะนั้นข้อที่เหมาะสมผมว่า พล.อ.ประยุทธ์พูดไม่หมด กล่าวคือ อบต.ที่อยู่ในสภาพเป็นเขตเมืองแล้วนั้น ควรจะยกระดับเป็นเทศบาล อันนี้ผมเห็นด้วย เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนเท่านั้นเอง ซึ่งจะส่งผลดีมากขึ้น

เพราะตอนนี้ทับซ้อนกันอยู่ในเรื่องของอำนาจการบริหารว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเทศบาลทำอะไร องค์กรส่วนภูมิภาคทำอะไรบ้าง การที่ทับซ้อนกันอยู่ทำให้มีข้อปัญหาทางกฎหมายตามมาว่า เรื่องนี้เรื่องนั้น อบต.ทำได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น อบต.จะไปทำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งก็มีกฎหมายระบุไว้ทั้งในส่วนขององค์กรส่วนภูมิภาคและของเทศบาลด้วย แต่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญบอกไม่ให้ทำ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ไม่ใช่หน่วยราชการส่วนท้องถิ่น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน

ถ้าหากยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาล ก็จะทำหน้าที่ได้อีกหลายอย่าง นอกจากเรื่องกำจัดขยะมูลฝอย ยังมีเรื่องโรงเรียน ซึ่งบางแห่งมีโรงเรียนเทศบาล แต่ว่า อบต.ไม่มีโรงเรียน ฉะนั้นการที่เปลี่ยน อบต.เป็นเทศบาลจึงเป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วยอย่างมากที่จะให้เงินเดือนของนายก อบต. สมาชิก อบต. ฯลฯ เพิ่มขึ้น ให้เทียบกับเทศบาล

ส่วนการเพิ่มเงินให้ในช่วงนี้จะถูกมองเป็นการหาเสียงหรือไม่นั้น ผมว่าไม่เป็นไร ถ้าเขาจะหาเสียงก็หาไป คิดว่าคนคงไม่ได้เลือกเพราะเหตุนี้ เนื่องจากตอนนี้เท่าที่ทราบ คนเขารู้อยู่แล้วว่าจะเลือกใคร ทิศทางตอนนี้คนจะเลือกจากนโยบายพรรคเป็นส่วนมาก จากเมื่อก่อนเราได้ยินกันว่าคนมักจะเลือกที่ตัวบุคคล แต่ตอนนี้ไม่แล้ว อาจจะมีบ้าง แต่ไปในทางนโยบายพรรคมากกว่า

ดังนั้น จึงไม่เห็นว่าการฉวยโอกาสช่วงสุดท้ายของการเป็นรัฐบาลเพื่อหาเสียงล่วงหน้านั้นจะเป็นอะไร เพราะเมื่อก่อนคำประมาณนี้ถูกใช้กับนายทักษิณ ชินวัตร มาก่อน ถูกหาว่าเอาเงินรัฐมาหาเสียง ซื้อเสียงทางนโยบาย ซึ่งผมว่ามันก็ควรจะต้องเป็นอย่างนั้น พรรคการเมืองก็ควรจะทำอย่างนั้น บริหารงานรัฐก็ควรที่จะต้องเอาเงินงบประมาณของรัฐมาทำให้เกิดประโยชน์ ข้อนี้ถือว่าดีมาก ไม่ตำหนิอะไรเลย ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินดีขึ้นมากกว่าที่จะส่งผลเสีย

แต่ถามว่า อบต.มีความพร้อมยกฐานะหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าแล้วแต่ที่ด้วย ยกตัวอย่าง อบต.หนองป่าครั่ง จ.เชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นเทศบาลตำบาลหนองป่าครั่ง) ซึ่งบริเวณของ อบต.แห่งนี้มีแม็คโคร มีศูนย์การค้าเยอะและใหญ่ เก็บภาษีได้มากกว่าเทศบาลจำนวนมาก แต่ก่อนหน้านี้ยังเป็น อบต.อยู่ เพราะฉะนั้นเขาพร้อมยิ่งกว่าพร้อมที่จะเป็นเทศบาล ส่วนบาง อบต.ที่อยู่ห่างไกลก็ค่อนข้างลำบาก ฉะนั้นเราจึงพูดว่า อบต.พร้อมทั้งหมดก็คงไม่ได้ ต้องพูดว่าพร้อมแต่ละเขต แต่ละที่มากกว่า อบต.บางแห่งก็จน รัฐบาลก็ต้องให้เงินสนับสนุนเขาด้วย

ถ้ายกระดับฐานะเป็นเทศบาลแล้ว ภาพการบริหารงานราชการในท้องถิ่นจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ผมว่ามันคงไม่เปลี่ยนทันที ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่เชื่อว่าแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางที่ดี มันคงไม่เปลี่ยนภายในปีหรือ 2 ปี แต่เป็นทิศทางที่สมควรแน่นอน ซึ่งคนต่างจังหวัดก็น่าจะยินดีด้วย

ดังนั้น ทุกพรรค ไม่ใช่เฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่รวมถึงพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย เขาก็รู้ปัญหานี้ และผมคิดว่าเขาก็จะทำเหมือนกัน ถึงแม้เขาจะไม่พูดตามตรงแต่ก็ควรจะทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image