กฎเหล็ก-ข้อต้องห้าม คู่มือทำใจ รัฐบาลรักษาการ

สกู๊ปหน้า 1 : กฎเหล็ก-ข้อต้องห้าม คู่มือทำใจรบ.รักษาการ

เสียงปี่กลองการเลือกตั้ง 2566 เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตัดสินใจกดปุ่มยุบสภา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นับถอยหลัง เดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ

ตามไทม์ไลน์ กกต.จะจัดให้มีการหย่อนบัตรขึ้นวันอาทิตย์ 14 พฤษภาคม

กระบวนการหลังจากนี้ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ภายใน 5 วัน ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งตามกรอบระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน รวมทั้งประกาศวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

Advertisement

ขณะที่คณะรัฐมนตรี ชุดปัจจุบัน จะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการทันที ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ คาดว่าช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2566

แน่นอนว่า เมื่อยุบสภาแล้ว บทบาทของ ครม.รักษาการย่อมแตกต่างจาก ครม.ที่มีอำนาจเต็ม ฉะนั้น ข้อห่วงกังวลเรื่องการวางตัวของ ครม.รักษาการ รวมถึงข้าราชการในช่วงการหาเสียง ย่อมถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและบรรดารัฐมนตรีที่ลงสนามแข่งขันการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายของรัฐบาล จึงต้องเรียก กกต. นำโดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เข้าหารือเพื่อสอบถามความชัดเจนถึงแนวทางการปฏิบัติและการวางตัวของคณะรัฐมนตรี รวมถึงข้าราชการ ภายหลังนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายหรือถูกมองว่าวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง

Advertisement

เมื่อเปิดตำรากฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนระบุไว้ชัดเจนว่า ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ซึ่ง ครม.รักษาการสามารถประชุมและบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 กำหนดไว้ ดังนี้ 1.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2.ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

3.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ก่อน และ 4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ขณะที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ.2563 เป็นระเบียบที่วางข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. ขณะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคำนึงถึงความสุจริต เที่ยงธรรม ความเสมอภาค และโอกาสทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

โดยเงื่อนไขกำหนดห้าม ครม.รักษาการทำอะไรบ้าง มีดังนี้ 1.ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

2.จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ 3.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐ หรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน

4.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ทั้งการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน

5.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน

6.ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงานเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง และ 7.ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่ง วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย มองว่า การจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้รัฐบาลรักษาการถูกมองว่าวางตัวไม่เป็นกลางนั้นพูดยาก แต่ความได้เปรียบอาจจะกลายเป็นความเสียเปรียบ ส่วนความเสียเปรียบอาจจะได้เปรียบด้วยตัวมันเอง ยกตัวอย่าง ความได้เปรียบที่หลายคนคิดว่าในฐานะที่เป็นรัฐบาลหรือการที่เป็นรัฐบาลอยู่เดิม สามารถใช้งบประมาณของรัฐได้ สามารถใช้งบประมาณลงพื้นที่ได้ อ้างเอาว่าตอนนี้กำลังไปทำหน้าที่ แต่ว่าความได้เปรียบเมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการอาจจะกลายเป็นความเสียเปรียบ เพราะว่าจะถูกจับจ้อง พรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลขณะนี้ จะสะดวกง่ายดาย สามารถทำอะไรก็ได้เต็มที่ แม้กระทั่งการทำหน้าที่ของ ส.ส. ไปลงพื้นที่แล้วไม่มาประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็มีข้อที่ว่ากล่าวได้ แต่พอยุบสภาแล้วเขาปลดล็อกเลย

เรื่องหลายเรื่องที่ปกติเป็นเรื่องที่อาจทำได้สะดวก แต่พอมาในภาวะนี้ มองเหมือนกับว่าเป็นความเสียเปรียบ แต่จริงๆ มันคือความได้เปรียบ ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งโยกย้าย การใช้งบประมาณ แทนที่รัฐบาลจะเป็นคนตัดสินใจไป ซึ่งตอนเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม เวลาที่คุณทำเรื่องเหล่านี้เขาว่าคุณได้ว่าเอางบประมาณเหล่านี้มาจ่ายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพิ่มขึ้น หรือจ่ายให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ถ้ามีเรื่องแบบนี้ ตามกฎหมายจะต้องไปถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียก่อน กลายเป็นว่า กกต.จะเป็นคนที่รับหน้าเสื่อไป กกต.จะให้ก็ให้ ไม่ให้ก็แล้วแต่ กกต. ความเสียเปรียบจึงกลายเป็นความได้เปรียบ เพราะว่าเดิมทีรัฐบาลเสียเปรียบไม่ว่าจะทำอะไรก็โดนว่าหมดว่าตั้งใจจะหาเสียง แต่พอภาวะนี้ความเสียเปรียบกลายเป็นความได้เปรียบ

เพราะฉะนั้น โดยรวมถามว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนต้องคิดเอา และท้ายที่สุดประชาชนจะมองเห็นว่าคุณเอาประโยชน์สุดท้ายไปให้เขามากน้อยแค่ไหนหรือเอาประโยชน์เข้าตัวมากกว่า เจษฎ์ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image