แบ่งเค้ก รมต.อย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหาร

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการถึงการจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย และการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่การบริหารประเทศ

ธเนศพล อินทร์จันทร์
รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ม.พิษณุโลก

กระแสข่าวเกี่ยวกับการจับจองเก้าอี้รัฐมนตรีของรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ หากพรรคเพื่อไทยโหวตนายกรัฐมนตรีผ่าน มองไปแล้วก็ต้องจับตาไปที่กระทรวงเกรดเอ ซึ่งจะมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข อาจจะเพิ่มมาอีกกระทรวงคือ กระทรวงคมนาคม ส่วนพรรคการเมืองใดจะเข้าไปจับจอง ก็ต้องมองไปที่พรรคการเมืองที่มีจุดแข็ง การที่ต้องมีการสลายขั้ว เพราะจุดแข็งแต่ละพรรคการเมืองไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งมีเสียงส่วนน้อยในสภา ก็ยังมีจุดแข็งเหมือนกันเพราะมีแนวร่วม

ส่วนผู้ที่จะไปนั่งรัฐมนตรี ก็จะดูว่าใครที่จะเป็นผู้ดึงแนวร่วมมาร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค 2 ลุงคือ พรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐ มองดูแล้วคงจะจองที่นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอาจจะต่อรองกระทรวงมหาดไทย โดยมีการเพิ่มตำแหน่ง มท.มากขึ้นอาจไปถึง มท.3 เพื่อจะได้แบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีให้ลงตัวของแต่ละพรรคการเมือง ครั้งแรกอาจจะมีฉันทามติตกลงกันภายในระหว่างประสานงาน เมื่อบริหารงานไปได้สักพัก อาจจะมีการปรับ ครม.

ADVERTISMENT

แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยเมื่อร่วมรัฐบาล ก็อยากจะได้กระทรวงคมนาคม เนื่องจากมีโครงการที่ผูกพันอยู่ รวมทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐมองดูแล้วก็เหมือนพรรคเดียวกัน คงต้องการนั่งเก้าอี้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย อาจจะต้องแบ่งกันไป ในความเป็นจริงพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็อยากได้กระทรวงมหาดไทย และอาจจะมีพรรคของลุงเข้าไปนั่งด้วยเป็น มท.2 หรือ มท.3 ถึงแม้ว่าพรรค 2 ลุงต้องการ มท.1 พรรคเพื่อไทยอาจจะยอมก็ได้ เพื่อให้การเมืองลงตัว

การที่พรรคการเมืองหลายพรรคที่จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต้องการเก้าอี้รัฐมนตรีเดิม ผมมองว่าในเรื่องนี้อาจจะมีการพูดคุยกัน เพื่อสลายองค์ความคิดที่ว่าไม่เอานั่นเอานี่ และไม่ต้องเอากระทรวงเดิม จะต้องเปลี่ยนกระทรวง อาทิ กระทรวงคมนาคม อาจจะต้องมาอยู่ที่พรรคเพื่อไทย คิดว่าน่าจะลงตัว อาจจะไม่ถูกใจประชาชน แต่เพื่อให้การเมืองเดินได้ ทั้งที่กระทรวงคมนาคมน่าจะตกอยู่กับพรรคภูมิใจไทย แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยสามารถดึงพรรค 2 ลุงได้ ทำให้อำนาจบารมีของพรรคภูมิใจไทยลดลง จึงทำให้ทุกพรรคการเมืองจะต้องซอยตำแหน่งกันให้ลงตัว อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่เกิน 35 รัฐมนตรี

หลายพรรคการเมืองต้องการกระทรวงเกรดเอ เกรดบี ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกพรรคก็ต้องยอมเมื่อมีการดึงพรรค 2 ลุงเข้ามา คะแนนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังต่อรองจะตกทันที เพราะลุงคุม ส.ว.ได้ แต่ ส.ว.จะหมดอายุเดือนพฤษภาคม 2567 เชื่อว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะมีอำนาจในการต่อรองขึ้นมา และจะมีการปรับ ครม. เกลี่ยตำแหน่งกันใหม่ รวมทั้งจะมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีกด้วย โดย ส.ว.อาจจะมีการตั้งคำถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเอาคนต่างแดนเข้าประเทศ ซึ่งเป็นมุมมองหนึ่งของ ส.ว.ที่กำลังคาใจกันอยู่

การที่ให้มองว่าแต่ละพรรคการเมืองควรจะไปคุมกระทรวงที่ทำงานคล้ายๆ กัน อาทิ กระทรวงเกี่ยวกับเศรษฐกิจ กระทรวงเกี่ยวกับสังคม กระทรวงเกี่ยวกับความมั่นคง ในเรื่องนี้มีสิทธิเป็นไปตามนั้นเหมือนกัน อย่างเช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส การเข้ามาร่วมรัฐบาลก็จะวางตัวเป็นรองนายกรัฐมนตรี เพราะว่าเก่งนโยบาย ข้อกฎหมาย บางครั้งก็ต้องดูในเรื่องความถนัดในแต่ละบุคคล โดยไม่จำเป็นจะต้องมองจำนวน ส.ส.

ในการจัดสรรตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี ผมมองว่าพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะเน้นในเรื่องกระทรวงเศรษฐกิจก่อน เช่น พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำก็ต้องดูแลกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคที่หาเสียงเอาไว้ เพื่อควบคุมกลไก การบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน

ส่วนพรรคภูมิใจไทยมองไปแล้วอาจจะได้กระทรวงสำคัญๆ อาทิ คมนาคม แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยได้พรรค 2 ลุงมาช่วยแล้ว ทำให้ลดกระแสเรียกร้องของพรรคภูมิใจไทยไปได้มาก เพราะยังมีปัญหาอีกมากมาย อาทิ เขากระโดง แต่ยังเชื่อว่าหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นคนปรับตัวเก่ง และเป็นนักธุรกิจถือว่าได้น้อยก็ดีกว่าไม่ได้เลย ประกอบกับพ่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ยังมีความผูกพันกับพรรคเพื่อไทย การที่พรรคภูมิใจไทยได้ร่วมรัฐบาลก็ดีกว่าจะไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลถือว่าเป็นพวกเดียวกัน

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

รูปการณ์ตอนนี้ ในฐานะคนที่ศึกษาการเมืองไทย มันคือการเมืองที่ย้อนกลับไปก่อนหน้ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กล่าวคือ ผู้ที่มาเป็นรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ามุ้ง หัวหน้าพรรค พูดง่ายๆ คือ เป็นการเมืองแบบมุ้งซึ่งแต่ละมุ้งแต่ละพรรคมีอาณาเขตของตัวเอง ห้ามมุ้งอื่น พรรคอื่น มาล้ำดินแดน ส่วนตัวจึงรู้สึกหนักใจว่าจะแบ่งเค้กกระทรวงอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

ประเด็นเรื่องการแบ่งให้เกิดประโยชน์ เป็นสิ่งที่พูดกันมา 20 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 จนถึง 50 และ 60

รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ต้องการสลายการเมืองแบบมุ้งไม่ให้มีการต่อรองกันเยอะ แต่พูดด้วยความสัตย์จริงคือต้อง Put the right man on the right job เอาประเด็นปัญหามาเป็นตัวตั้ง ว่าต้องแก้อะไร แล้วนำคนที่สันทัดในเรื่องนั้นๆ ไปดูแล เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ซึ่งกำลังจะกลายเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญมากในทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดังกล่าวจึงไม่ควรจะเป็นใครก็ได้ หรือแม้แต่กระทรวงใดๆ ก็ตาม ควรเป็นคนที่พอพูดชื่อนี้แล้วคนในแวดวงนั้นๆ ร้องอ๋อ และวางใจได้

โจทย์การเมืองตอนนี้ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่ทราบว่าจะสำเร็จหรือไม่ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือรัฐบาลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นอย่างเต็มร้อย แม้กระทั่งมวลชนฝั่งเพื่อไทยเองก็ยังวิพากษ์วิจารณ์รายวัน ยังไม่ทันจะออกสตาร์ตเลย ภาพลักษณ์ก็ติดลบตั้งแต่ต้น ต่อให้เอาคนที่ตรงสเปกกับงานนั้นจริงๆ มาเป็นรัฐมนตรี คนก็ไม่เชื่อแล้ว ถ้าคนมีความไว้วางใจ ต่อให้ผิดหรือถูก คนก็ยังเชื่อมั่น แต่ถ้าไม่มีความไว้วางใจให้คนที่มาทำงาน ต่อให้เอาคนที่ใช่ คนก็ไม่เชื่อมือ

การที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองออกมาบอกว่า ถ้ารัฐมนตรีคนเดิมบางคนยังได้นั่งกระทรวงเดิม จะจัดชุมนุมแน่นอน ก็เป็นปฏิกิริยาที่เข้าใจได้ เพราะ 4 ปีที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ตัวอย่างคือ กรณีกระทรวงสาธารณสุข ปัญหาเยอะมาก ช่วงโควิดคนเสียชีวิต บุคลากรงานหนัก

รอบนี้มีข่าวหนาหูว่ามีการขอกระทรวงเดิม หากพูดในมุมของข้าราชการคือ หัวหน้าคนเดิมจะกลับมาเป็นอีกจึงเกิดการต่อต้านตั้งแต่ยังไม่ได้รับตำแหน่ง แล้วจะทำงานได้อย่างไร

ถ้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมกับรัฐบาลปัจจุบันแล้วไปอยู่ในรัฐบาลหน้า ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเดิม หรือกระทรวงใหม่ ถ้าเป็นกระทรวงเดิม เกิดแรงต้านแน่นอนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าแรงกดดันจากระบบราชการจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่จับจองกระทรวงอยู่เปลี่ยนใจ

นี่คือภาวะอิหลักอิเหลื่อในการเมืองขณะนี้ที่ไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของคนได้

ในโลกออนไลน์ที่มีชาวเน็ต ทำกราฟิก ครม.หน้าเดิมเปลี่ยนแค่นายกฯนั้น จะว่าตลกก็ตลก จะว่าขำก็ขำ แต่พอนั่งนิ่งๆ ก็ขำไม่ออก คุณแค่เปลี่ยนหัวจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมมุติว่ามาเป็นคุณเศรษฐาทวีสิน หรือใครก็ตาม แต่รัฐมนตรีชุดเดิมยังกลับเข้ามาเราก็ต้องพูดไปถึงโจทย์ใหญ่จริงๆ ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบมาให้การเมืองเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของคนที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างมากได้

แม้พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่คนก็ตั้งคำถามแล้วว่า การไปจับมือข้ามขั้วกันแบบนี้ จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร หรือเป็นแค่ข้ออ้าง สุดท้ายแล้วการเมืองจะทุลักทุเลอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ผมคิดว่าหลักการหนึ่งที่สำคัญในการบริหารงานคือ ใช้คนให้ถูกกับงาน หรือ Put the right man on the right job การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีผู้ที่เป็นผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ของประเทศก็เช่นเดียวกัน คือควรได้คนที่มีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญในตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐมนตรีต้องมีเหมือนกันนอกจากความสามารถและความเชี่ยวชาญในสายงานแล้ว คือ การทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของพวกพ้อง หรือฐานเสียงของตนอย่างเดียว

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงทฤษฎี ในความเป็นจริง สังคมไทยการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรียังคงแบ่งตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล มากกว่านั้นนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลต้องการที่จะได้เป็นกระทรวงเกรดเอ หรือเกรดบี เพื่อเร่งทำผลงานและนำงบประมาณลงไปในพื้นที่และธุรกิจที่มีสัมพันธ์อันดีกับพรรคของตน ดังนั้น การแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีจึงแบ่งไปตามโควต้าของพรรคที่จะได้ พรรคที่มี ส.ส.มากมีอำนาจต่อรองมากก็มีโอกาสได้เก้าอี้รัฐมนตรีมาก รวมถึงการได้กระทรวงเกรดเอ หรือบี ไว้ในครอบครองมาก ส่วนพรรคที่ ส.ส.น้อยอำนาจในการต่อรองน้อยก็จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเกรดรองลงไป

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำได้คือ ก่อนที่จะตั้ง ครม.ให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อคนที่จะเป็นรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ให้แถลงนโยบายก่อนเข้าปฏิบัติงานให้ประชาชนได้รับทราบว่า ใน 100 วันแรก รัฐมนตรีจะทำผลงานอะไร เมื่อครบ 2 ปีจะทำอะไรเป็นรูปธรรม และเมื่อครบวาระ 4 ปี มีผลงานอะไรที่ออกมามีผลสำเร็จอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้จะเป็นสัญญาประชาคมที่รัฐมนตรีท่านนั้นได้พูดกับประชาชนก่อนเข้ารับตำแหน่ง มากกว่านั้นประชาชนยังตรวจสอบได้ว่ารัฐมนตรีท่านนั้นได้ทำตามที่พูดไหม มีผลงานอะไรไหม นอกจากรัฐมนตรีเหล่านั้นจะถูกตรวจสอบโดยฝ่ายค้านแล้วยังเป็นการเพิ่มให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีด้วย

นอกจากนี้ สื่อมีความสำคัญมาก ควรทำหน้าที่ถามความเห็นจากประชาชนให้คะแนนการทำงานกับรัฐมนตรีแต่ละท่านว่าได้คะแนนเท่าไร เอาผลงานของรัฐมนตรีแต่ละท่านมาเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่าแต่ละท่านได้ดำเนินงานอะไรไปแล้วบ้าง อะไรที่ยังไม่ได้ทำ อะไรที่ยังทำไม่สำเร็จตามที่หาเสียงไว้ เพราะอะไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สังคมตื่นตัวและจับตามองการทำงานของรัฐมนตรี และอาจจะรวมถึงการทำงานของนายกรัฐมนตรีมากขึ้นด้วย

จากที่กล่าวมา ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่คือ เราต้องช่วยกันสร้างระบบในการตรวจสอบให้รัฐมนตรีที่มาจากต่างพรรคการเมืองทำงานให้กับประชาชนส่วนรวม นอกจากจะมีการอภิปรายในสภาจากฝ่ายค้านแล้ว ควรที่จะสร้างกลไกทางสังคมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมการตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีให้ได้มากที่สุด

สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างกลไกประชาธิปไตยทางตรงให้กับประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศควบคู่ไปกับกลไกในระบบรัฐสภา

ที่สำคัญเราต้องไม่ปล่อยให้อำนาจไปอยู่กับนักการเมืองในสภาทั้งหมดหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว แต่เราต้องสร้างอำนาจและพื้นที่ทางการเมืองเพื่อการต่อรองและควบคุมนักการเมืองเหล่านั้นด้วย