ประเมิน ‘จริยธรรมสื่อ’ จากกรอบคิดเสรีนิยม

ในที่สุดคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในคดีที่ถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กว่า 138 ล้านบาท ก็ประกาศยุติบทบาทการทำหน้าที่พิธีกร ตามกระแสกดดันทางสังคม

ข้อเรียกร้องของสื่อทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล, ค่ายสื่อ, องค์กรสื่อ, บุคคลที่มีชื่อเสียงและเครือข่ายเคลื่อนไหวต่างๆ รวมทั้งท่าทีของภาครัฐ คือข้อเรียกร้องความรับผิดชอบต่อ “จริยธรรมสื่อ” แต่อะไรคือมาตรฐานจริยธรรมสื่อไทย ทำไมฝ่ายที่เรียกร้องความรับผิดชอบทางจริยธรรมกับคุณสรยุทธ จึงไม่เรียกร้องความรับผิดชอบกับสื่อในฝ่ายตัวเองที่มีปัญหาในทำนองเดียวกัน นี่เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก

อีกอย่างเวลาพูดถึงจริยธรรมสื่อ คนดังบางคนก็อ้างไปถึงว่า “คนเราควรจะมีธรรมะในใจ” ทำให้เกิดคำถามว่าเราเข้าใจจริยธรรมสื่อ ซึ่งเป็น “จริยธรรมสาธารณะ” กันอย่างไร ผมคิดว่าหากใช้กรอบคิดจริยธรรมสาธารณะตามแนวคิดเสรีนิยมมาประเมินจริยธรรมสื่อไทย เราอาจจะเห็นปัญหาพื้นฐานชัดเจนขึ้น

การใช้กรอบคิดเสรีนิยมมาประเมินวางอยู่บนการยืนยันสมมติฐานที่ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” หมายความว่า สื่อคือผู้ใช้เสรีภาพและมีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพ เนื่องจากเสรีภาพเป็น “หลักการสากล”หรือหลักการทั่วไปที่ใช้กับทุกคนเท่าเทียมกัน การใช้เสรีภาพและการปกป้องเสรีภาพของสื่อจึงหมายถึงการรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของประชาชนทุกคนด้วย ดังนั้น การรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพจึงเป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่สุดที่สื่อจำเป็นต้องมี

Advertisement

แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) มีพัฒนาการที่ซับซ้อน แต่โดยพื้นฐานที่มาแล้วมีสองสายหลักๆ คือ เสรีนิยมสายอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) กับเสรีนิยมสายค้านท์ (Immanuel Kant)

เสรีนิยมสายอรรถประโยชน์ถือว่า เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง แม่มีค่าเพราะว่ามันนำไปสู่อรรถประโยชน์ของส่วนรวม นักปรัชญาในกลุ่มอรรถประโยชน์นิยมเช่นมิลล์ (John Stuart Mill) มองว่าการที่รัฐให้หลักประกันการมีเสรีภาพของปัจเจกบุคคลย่อมจะส่งผลให้มนุษยชาติก้าวหน้า เพราะถ้าแต่ละคนมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต การกระทำ การแสดงความคิดเห็นและอื่นๆ ย่อมเท่ากับเป็นโอกาสที่แต่ละคนจะได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ เป็นโอกาสที่จะได้ใช้ความสามารถที่พัฒนาแล้วสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และเป็นโอกาสในการมีส่วนร่วมที่จะใช้พลังทางสติปัญญา ความคิดเห็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจและอื่นๆเพื่อปรับปรุงสังคมโดยรวมให้ดีขึ้น ฉะนั้น เสรีภาพจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นหรือเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการสร้างสรรค์ ปกป้องประโยชน์สุขส่วนรวม และความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

เวลาเราเรียกร้องความรับผิดชอบต่อจริยธรรมสื่อเช่นในกรณีคุณสรยุทธ เราก็อ้างถึง “ประโยชน์ส่วนรวม” เช่นกันว่าถ้าปล่อยให้คุณสรยุทธทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการข่าวต่อไปจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดทางสังคม เป็นต้น ซึ่งก็เป็นข้ออ้างที่มีเหตุผล

แต่ประเด็นคือ การอ้างประโยชน์ส่วนรวมตามกรอบคิดเสรีนิยมสายอรรถประโยชน์ จะต้องอ้างประโยชน์ส่วนรวมพร้อมกับการยืนยันการปกป้องเสรีภาพด้วยเสมอไป (ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวข้างต้น) ทว่าการอ้างประโยชน์ส่วนรวมของสื่อไทยหลายคน หลายค่าย หลายสำนัก นอกจากไม่ยืนยันการปกป้องเสรีภาพแล้ว คุณยังสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยละเมิดเสรีภาพนักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย สนับสนุนการใช้กฎหมายความมั่นคงล่าแม่มดคนคิดต่าง กระทั่งสื่อบางคนยังแสดงความขอบคุณ “มือปืนป๊อปคอร์น” อย่างเป็นสาธารณะอีกด้วย บางคนก็เข้าไปรับตำแหน่งที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนใต้ร่มเงารัฐบาลจากรัฐประหาร และสื่อเหล่านี้เองที่กระตือรือร้นออกมาเรียกร้อง “ความรับผิดชอบทางจริยธรรม” กับคุณสรยุทธ

แต่ถ้าถือตามมาตรฐาน “จริยธรรมสาธารณะ” ที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องประโยชน์สุขส่วนรวม ตามกรอบคิดเสรีนิยมสายอรรถประโยชน์ คุณไม่สามารถจะมีจริยธรรมในฐานะผู้ปกป้องประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมได้จริง ถ้าคุณไม่ยืนยันการปกปกป้องเสรีภาพไปพร้อมๆกันด้วย ฉะนั้น ในกรณีนี้คุณสรยุทธจำเป็นต้องรับผิดชอบทางจริยธรรม แต่คำถามคือ บรรดาสื่อต่างๆที่ออกมากดดันคุณสรยุทธนั้นรับผิดชอบทางจริยธรรมอย่างไรบ้าง ทั้งในกรณีที่ฝ่ายตัวเองก็โดนคดีหลายคดีทำนองเดียวกัน และกรณีที่ตนสนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ละเมิดเสรีภาพของประชาชน

ส่วนเสรีนิยมสายค้านท์ถือว่า “เสรีภาพเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเอง” การปกป้องเสรีภาพก็คือการปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” เนื่องจากค้านท์มองว่าความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนคือ ความมีเสรีภาพ ความมีเหตุผลและศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกัน การละเมิดเสรีภาพจึงเป็นการละเมิดที่เป็นการลดทอนหรือเหยียดหยามความเป็นมนุษย์โดยตรง การปกป้องเสรีภาพจึงเป็น “หน้าที่” ที่ต้องทำ เพราะนี่คือการปกป้องความเป็นมนุษย์ของตัวเองและคนอื่น

ปัญหาก็คือ ขณะที่สื่อหลายคน หลายค่าย หลายสำนักใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออกในเชิงตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี เย้ยหยัน กระทั่งสนับสนุนการล่าแม่มดนักศึกษา ประชาชน และนักการเมืองที่ถูกอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยละเมิดเสรีภาพ พวกคุณกลับอ้าง “จริยธรรม” ในการตรวจสอบและเรียกร้องความรับผิดชอบกับฝ่ายอื่นๆตลอดเวลา แต่มาตรฐานจริยธรรมสาธารณะตามกรอบคิดเสรีนิยมสายค้านท์คือ “การทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพ” แต่สื่อไทยบางคน บางค่าย บางสำนักที่ใช้เสรีภาพซ้ำเติมฝ่ายที่ถูกละเมิดเสรีภาพและสนับสนุน เชียร์อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งละเมิดเสรีภาพ กลับเป็นฝ่ายที่สร้างภาพว่าพวกตนมีจริยธรรมและขยันตรวจสอบจริยธรรมของคนอื่นๆตลอดเวลา

ฉะนั้น ไม่ว่าจะประเมินจากรอบคิดเสรีนิยมสายอรรถประโยชน์และสายค้านท์ สื่อไทยหลายคน หลายค่าย หลายสำนักล้วน “สอบตก” อย่างไม่เป็นท่า แต่น่าเศร้าตรงที่เขาเหล่านั้นต่างแสดงออกว่าพวกตนมีและปกป้องจริยธรรมสื่ออย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งการที่คนเหล่านี้เรียกร้องให้คนอื่นๆมีจริยธรรมก็ไม่ต่างอะไรกับอำนาจเผด็จการเรียกร้องให้คนอื่นๆเคารพกฎหมายนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image