ตัดตอน ยุติธรรม

2คดีร้อน ว่าด้วยการสลายม็อบ มีผู้ชุมนุมล้มตาย บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบ เพรียกหาความยุติธรรม

คดีหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง สมชาย
วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.ในขณะนั้น ในเหตุ
สลายชุมนุมพันธมิตรฯปิดล้อมรัฐสภาปี 2551

คดีแรกนี้ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 471 ราย ศาลชี้ว่าเหตุการณ์ช่วงบ่าย 7 ตุลาคม ซึ่ง พล.อ.ชวลิตลาออกแล้ว หลังเหตุการณ์ในช่วงเช้านั้น สมชาย จำเลยที่ 1 พล.ต.อ.พัชรวาท
จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติจำเลยที่ 4 ในทางนำสืบฟังไม่ได้ว่า ทั้ง 3 มีเจตนาพิเศษ
เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-4
คดีที่ ป.ป.ช.กระตือรือร้น ถึงขั้นจ้างทนายฟ้องเองนี้ กลุ่มพันธมิตรฯติดใจ เรียกร้อง ป.ป.ช.อุทธรณ์ แต่ ป.ป.ช.มีมติยื่นอุทธรณ์ พล.ต.ท.สุชาติแค่คนเดียว

อีกคดี ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ ยกฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อดีตนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ผอ.ศอฉ. ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็ง
เห็นผล ในเหตุการณ์ชุมนุมของม็อบ นปช. เมษายน-พฤษภาคม 2553 เจ้าหน้าที่นำกำลัง
ขอคืนพื้นที่ชุมนุมราชดำเนิน แยกราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คนขับรถตู้ถูกยิงกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ย่านราชปรารภ บาดเจ็บสาหัส
คดีนี้ศาลยกฟ้อง เนื่องจากฟ้องผิดศาล

Advertisement

2 คดีนี้ที่มาต่างกัน คดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทั้ง 4 คน และจ้างทนายยื่นฟ้องเอง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ขณะที่คดีสลายม็อบ นปช. หรือที่เรียกคดี 99 ศพนั้น ป.ป.ช.ยกคำร้อง
แต่ดีเอสไอยื่นอัยการฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพต่อศาลอาญา กระทั่งศาลฎีกาตัดสินยืนตามชั้นต้น และอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีเมื่อ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

คดีนี้ เกี่ยวพันกับการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกฯและรองนายกฯ-ผอ.ศอฉ. ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว หรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ
ซึ่งหากเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.
ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แต่คดีนี้ ถูกคั่นกลาง ตัดตอน ป.ป.ช.ชี้ว่าไม่มีมูล จึงไปต่อไม่ได้ ขณะนี้ญาติเหยื่อ ทนายความ นปช.กำลังหารือถึงวิธีการฟื้นคดี เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้ศาลตัดสินว่า จริงๆ ผิดตามฟ้องหรือไม่ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินถูก-ผิด แค่ชี้ว่า
ไม่อยู่ในขอบเขตศาลอาญาเท่านั้น

อันที่จริง ไม่ว่ารัฐบาลสมชาย รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่มีชุดใดโหดร้าย คิดเข่นฆ่าประชาชน
ยิ่งรัฐบาลที่มีภูมิคุ้มกันต่่ำก็ยิ่งต้องระมัดระวัง มิให้เกิดเงื่อนไขใหม่ สร้างความชอบธรรมให้การชุมนุมมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่รัฐบาลที่ได้รับการโอบอุ้มดูแลเป็นพิเศษก็ตาม ก็ประเมินว่ามีจิตใจต่ำช้า เห็นชีวิตคนไม่มีความหมายไม่ได้เด็ดขาด เรื่องละเอียดอ่อนอย่างนี้ รัฐบาลทุกชุดกลัว และไม่อยากให้เกิดขึ้นทั้งนั้น
แต่เมื่อมีคนตาย คนเจ็บเกิดขึ้น รัฐบาลที่สั่งการก็ต้องรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง
ในทางกฎหมายก็ต้องไปพิสูจน์ ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม-ในชั้นศาล ว่าการสลายชุมนุมทำถูกต้องตามกระบวนการสากลหรือไม่ มีความผิดพลาด รุนแรงเกินกว่าเหตุ มีเจตนาพิเศษหรือไม่
น่าเสียดายที่คดีสลายม็อบ นปช.กลางเมืองหลวง ที่มีขนาดของความรุนแรง 99 ศพ การใช้กระสุนจริง ถูกตัดตอน ด้วยดุลพินิจ ป.ป.ช.

คดีในอดีตมีปัญหาถูกตั้งคำถามถึงการไม่ชี้มูล ฟ้องสังคมถึงบรรทัดฐานการทำงาน
คดีพันธมิตรฯที่กลับมาถึงมืออีกครั้ง ในปัจจุบันก็มีปัญหาไม่ต่างกัน
ทั้งที่ความจริง ไม่ว่าคดีสลาย นปช.ปีž53-คดีสลายม็อบพันธมิตรฯปีž51
ไม่มีความจำเป็นแม้แต่น้อยที่กลุ่มพันธมิตรฯต้องออกโรง-กลุ่ม นปช.ต้องออกมา
เรียกร้อง แต่เป็นอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช.โดยตรงที่ต้องดำเนินการ
ดำเนินการเยี่ยงองค์กรอิสระที่เที่ยงธรรม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image