รัฐบาล(คสช.)แห่งชาติ

หากดูจากกติกาปกครองประเทศฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญอัดแน่นด้วยเนื้อหา กีดกัน บั่นทอนการเติบใหญ่ของพรรคการเมือง บทเฉพาะกาล ออกแบบ ให้ ส.ว. ที่มีที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คนมีสิทธิมีเสียงเทียบเท่า
ส.ส.ผู้แทนปวงชนชาวไทย สามารถลงคะแนนเสียงโหวตเลือก นายกรัฐมนตรีได้ และอะไรต่อมิอะไรมากหลายประการ

บทบัญญัติที่แม้ไม่ปฏิเสธนักการเมือง-พรรคการเมืองอย่างสิ้นเชิง แต่การที่เขียนไว้วิจิตรพิสดาร อย่างเสียมิได้ ก็ไม่ต่างจากเครื่องฟอก การเลือกตั้ง-การจัดตั้งรัฐบาล ให้มีความชอบธรรม

จริงอยู่ จำนวนทั้งหมดรวมกัน 500 คน มากกว่า สมาชิกรัฐสภาแต่งตั้ง แต่ก็ไม่ใช่การแข่งขันที่เป็นธรรม บนพื้นฐานกติกาเดียวกัน หนำซ้ำเฉพาะตัวเลข สัดส่วนจำนวนที่นั่ง ส.ส.จากการเลือกตั้ง ก็ถูกคุมกำเนิด ไม่มีทางได้เห็นพรรคการเมืองใหญ่ กวาดเก้าอี้เป็นกอบเป็นกำ นอกเสียจากกระจัดกระจาย เป็นเบี้ยหัวแตก
ไม่มากพอ รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้

แนวโน้มความเป็นไปได้ ที่จะใกล้เคียง หรือแตะ 250 คน เท่าจำนวน ส.ว.แต่งตั้งแทบไม่มี
กติกาที่มองข้าม-ไม่ให้ราคานักการเมือง แสดงออกชัดเจน ถึงการยึดจอง เป็นผู้จัดการรัฐบาล อย่างนี้ต่อให้พรรคการเมืองทุกพรรค ยินยอมพร้อมใจให้หยิบจับเลือกใช้ก็ไม่มีทางที่ คนกุมอำนาจ จะยื่นมือ-ผายเชิญ มาทำงานร่วมกัน เป็นรัฐบาลแห่งชาติ

Advertisement

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-พิชัย รัตตกุล เสนอไอเดีย จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อสร้างความปรองดอง แก้ไขปัญหาขัดแย้ง ที่เมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนี ความหวังริบหรี่ยากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอมีเหตุผลในตัว ไม่เลื่อนลอย รับฟังถกเถียงกันได้ แต่นักวิชาการ ฝ่ายการเมือง ก็ได้ชี้ให้เห็นข้อเสีย หักล้างมุมบวกของรัฐบาลแห่งชาติ ไปหมดแล้วและยิ่งมีข้อเสียมากขึ้นหลายเท่า หากจะนำมาใช้ในสถานการณ์บ้านเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

มองจากคนทั่วไป รัฐบาลแห่งชาติเกิดยาก ไม่เคยมีมาก่อน
ส่องกล้องมองทะลุ คสช. รัฐบาลแห่งชาติ ไม่มีเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้แต่น้อย กติกาบ่งชัด ลั่นดาลปิดประตูตาย ไม่ต้องการกินแบ่ง ให้ใครมาแชร์ใช้อำนาจบริหาร แต่ต้องการสืบทอด เทกโอเวอร์อำนาจ กุมหุ้นส่วนใหญ่ เสียงดังที่สุด ในแพคเกจใหม่ เพื่อเสริมภาพลักษณ์ประชาธิปไตย ลบข้อด้อยรัฐบาลวิธีพิเศษ

กล่าวสำหรับพรรคการเมือง แม้บอกปัดไว้เชิง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่า จะยืนยันขันแข็ง ไม่ร่วมสังฆกรรมจริงหรือไม่ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนโดยลำพัง พรรคชนะเลือกตั้งถูกบล็อกโดยกติกา กวาดครองที่นั่งเสียงข้างมาก
ได้ยาก พรรคแพ้เลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจต่อรอง

Advertisement

ทางเดียวเข้าสู่อำนาจได้ คือเป็นอะไหล่ พรรค ส.ว.รอกวักมือเรียก แต่ผู้จัดการรัฐบาลลายพราง ก็คงไม่กวาดหมด แต่คงเลือกหยิบจับ ใช้บางชิ้นที่เข้ากันได้เฉพาะที่เห็นจำเป็นเท่านั้น

มันมีเหตุผลทางการเมือง เรื่องที่พูดได้พูดไม่ได้ ค้ำอยู่ มิพักต้องพูดถึงเรื่องหลักการ จำเป็นต้องมีฝ่ายค้าน เอาไว้คานอำนาจ ถ่วงดุล รักษาระบบตรวจสอบ ที่คงเป็นผลพลอยได้มากกว่า จะเล็งเห็นความสำคัญจริงๆ
การไม่แยแสต่อหลักการในสถานการณ์ปัจจุบันคงเป็นคำตอบได้ดี

ฉะนั้น มองจากเหลี่ยมมุมไหน รัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาดที่จริงแท้แน่นอนไม่ต้องรอชาติไหน แต่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง คือ รัฐบาล (คณะรักษาความสงบ) แห่งชาติ ฉาบทาเคลือบด้วยประชาธิปไตย ภายนอกแลดูสวยงาม

แต่เนื้อในซ่อนวาระ ยอมให้เลือกตั้ง แต่ไม่ยอมคืนอำนาจประชาชน 100%

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image