เสียงสะท้อนนักวิชาการ-กสม. กรณี ‘ม็อบเทพา’

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชน กรณีม็อบเทพา จ.สงขลา ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะมายื่นหนังสือขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา


ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ระหว่างการประกาศให้สิทธิมนุษยนชนเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลยังขาดความละเอียดในการทำความเข้าใจกับม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังเคลื่อนไหว ซึ่งมีพัฒนาการการต่อสู้มานานกว่า 10 ปี หากคิดในเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลอาจใช้เป็นเงื่อนไขในแง่บวก โดยการไปรับข้อเสนอก็ได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นผลสะท้อนในแง่ลบจึงย้อนกลับไปสู่รัฐบาลเอง

การจัดการม็อบที่มีการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในประเด็นการปกป้องสิทธิชุมชน ซึ่งม็อบเทพา จ.สงขลา ถือว่าเป็นประเด็นสิทธิชุมชน เพราะกระทบวิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน และเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มาก ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้าน แม้แต่นักวิชาการจาก ม.อ.ปัตตานี มีการทำวิจัยหลายชิ้นแล้วว่าตรงนั้นมีแหล่งทรัพยากรที่สมบูณ์มาก

Advertisement

เวลารัฐทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิชุมชนด้วย รัฐไม่สามารถพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจสิทธิอื่นๆ ที่ตามมาอีกมาก

เพราะฉะนั้นถ้ายังจัดการด้วยวิธีแบบนี้ แรงสะท้อนกลับสู่รัฐบาลจะเป็นผลลบมาก โดยเฉพาะจากชาวบ้านในท้องถิ่น

สำหรับเส้นแบ่งระหว่างกฎหมายกับสิทธิมนุษยชนนั้น รัฐบาลต้องเข้าใจคำว่าอารยะขัดขืน โดยเฉพาะสิทธิของภาคประชาชนที่จะแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการพัฒนาของรัฐ

Advertisement

ซึ่งแน่นอนว่าการชุมนุมแบบนี้ในขณะนี้ผิดกฎหมายแต่ประชาชนพร้อมที่จะทำผิดกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิบางอย่างของตนไว้ ดังนั้น ถ้าไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป การใช้ความรุนแรงน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย หรือใช้วิธีอื่นที่ค่อยๆ ช่วยผ่อนปรน

จริงๆ แล้วการที่นายกฯเดินทางไปสงขลา ชาวบ้านมองว่าเป็นผลดีสำหรับการพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ส่วนตัวยังเสียดายว่านายกฯไปถึงที่แล้ว ประชาชนไม่ต้องยกกันมาถึงหน้าทำเนียบ ซึ่งรัฐใช้เป็นข้อได้เปรียบได้ เป็นข้อดีด้วยซ้ำ

กรณี พ.ร.บ.การชุมนุมซึ่งเข้าใจว่าก็อปปี้มาจากหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้นั้น รัฐบาลต้องเข้าใจว่าตัวเองขาดความชอบธรรมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว บางเรื่องเป็นปัญหาฉุกเฉิน เป็นเรื่องปากท้อง เรื่องโรงไฟฟ้า เรื่องสวนยาง รัฐบาลควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ไม่ใช่ใช้กฎหมายกำปั้นทุบเหล็ก จะทำให้เรื่องลามออกไปอีก สิ่งที่กังกวลที่สุดกรณีเทพาคือ ตอนนี้เงื่อนไขของกลุ่มกระบวนการมารา-ปัตตานีพยายามจะดึงเป็นเงื่อนไขแล้ว นี่คือสิ่งที่น่ากลัว


เอกชัย ไชยนุวัติ

นักวิชาการด้านกฎหมาย

คำว่า สิทธิมนุษยชน มีความหมายสากลคือ สิทธิของมนุษย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่อาจถูกพราก โอน จำหน่าย หรือมอบให้กับบุคคลอื่นบุคคลใดได้ ดังนั้น ตามนิยามสากล สิทธินี้จึงเป็นของมนุษย์ทุกคน ทุกสี ทุกความคิด ทุกความเชื่อทางศาสนา การประกาศวาระสิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญแห่งชาตินี้ แสดงถึงความสำคัญของโลกาภิวัตน์ และสังคมระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้จะเป็นเรื่องของประเทศอื่นๆ ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น กรณีชาวโรฮีนจาในประเทศเมียนมา และกรณีการใช้สิทธิแสดงความไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา โดยคิดว่า การแสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นสิทธิที่เท่าเทียมกันที่ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไรก็ตาม ต้องรับฟัง เพราะนั่นคือสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ทุกคน

ดังนั้น ภาพที่ปรากฏว่าผู้สนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการตอบสนองที่ดีจากภาครัฐ แต่ผู้คัดค้านกลับต้องพบความยากลำบากในการแสดงสิทธิพื้นฐานนี้ จึงชัดเจนว่าสิทธิในการแสดงออกในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นประเด็นทางการเมือง 100% ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน

ย้ำว่าประเด็นการสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ 100% คือเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกฝ่ายต้องมีสิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงออกทั้งสนันสนุนและคัดค้าน

ถ้าฝ่ายรัฐประเมินว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องความมั่นคง สิทธิที่จะแสดงออกก็จะถูกจำกัด ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าความมั่นคง จึงเรียกร้องให้ภาครัฐอย่านำประเด็นนี้เป็นเรื่องความมั่นคง

แต่ให้มองว่าเป็นเรื่องการเมือง เหมือนกรณีราคาข้าว ราคายาง และประเด็นอื่นๆ ทางออกที่ง่ายที่สุด ก็คือเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีสิทธิในการแสดงออกเท่าเทียม และได้รับการปฏิบัติเท่ากับฝ่ายที่เห็นด้วย

จึงวิงวอนไม่อยากเห็นกรณีการปะทะกันของเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นน้ำผึ้งหยดแรก ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อไป ข้อเสนอคือ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ควรเปิดช่องทางสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย กับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การชุมนุมทุกครั้งผิดกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.การจราจร ฯลฯ แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนในการแสดงออกได้ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ดังนั้น ฝ่ายภาครัฐต้องมองว่าสิทธินี้ได้ถูกรับรองในระดับที่สูงกว่ากฎหมายทั่วไป ถ้าจะเอาผิดกฎหมาย ผิดทุกการชุมนุม คุณไปเดินบนถนนหลวง วิ่งบนถนนหลวงนั่นก็ผิด ผิดกฎหมายจราจร เพราะถนนนี้มีไว้สำหรับให้รถขนส่ง รถโดยสาร เดินทาง เพราะฉะนั้นการไปวิ่ง ไปเดิน ไปขายของ ไปยืน ไปทำอะไรบนทางหลวงถือว่าผิดกฎหมาย ดังที่แจ้งข้อหากับ 16 แกนนำนี้ทั้งหมด

แต่กฎหมายที่สูงกว่านั่นคือรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศยืนยันรับรองสิทธิในการแสดงความเห็นนี้

ในฐานะประชาชนทั่วไป จึงอยากให้ฝ่ายภาครัฐสื่อสารและปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้านต่อประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้


เตือนใจ ดีเทศน์

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

สำหรับกรณีการสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มแกนนำเครือข่ายประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เบื้องต้นทาง กสม.ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและจัดทำรายงานเพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาล ซึ่งหลักสำคัญของแถลงการณ์ของ กสม. ได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหาเพราะเป็นการให้ข้อกล่าวหาที่หนักเกินไป อยากให้นายกฯดำเนินการด้วยความรอบคอบ อีกทั้งการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกติกา ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อประชาชนมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ก็ควรรับฟัง การตั้งข้อกล่าวหาแรงๆต่อแกนนำ ที่ถูกจับกุมและขณะนี้อยู่ระหว่างการขอประกันตัว

ส่วนตัวคิดว่านายกฯ ควรดับไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการให้ประกันตัวออกมาก่อนและยุติการตั้งข้อกล่าวหากับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะแกนนำที่ถูกจับกุมเขาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหประชาชาติมีกติกาเฉพาะกำหนดไว้ กติกาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิโดยรัฐบาลและเจ้าหน้าของรัฐ

อีกทั้งแม้ขณะนี้จะมีพระราชบัญญัติชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็คุ้มครองในเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดำเนินการโดยสงบและไม่รุนแรง

ขณะนี้กำลังติดตามเรื่องการประกันตัวและเร่งดำเนินการออกรายงานการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าเทพาเพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาล


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image