นักวิชาการสะท้อน งัด ม.44 ขยายเวลา กม.พรรค

หมายเหตุความคิดเห็นของนักวิชาการต่อกรณีการใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหากรณีการปรับสมาชิกพรรคการเมือง หลังจากพรรคการเมืองยังติดปัญหาจากคำสั่ง คสช. ไม่สามารถปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้ ซึ่งจะสะท้อนถึงการใช้กฎหมายปกติแก้ปัญหาไม่ได้หรือไม่


รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก

นักวิชาการนิติศาสตร์
และที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

Advertisement

มาตรา 44 ได้ถูกใช้แบบไม่จำเป็นมาหลายวาระหลายโอกาส ใช้แบบที่มันไม่ควรจะต้องใช้ เข้าใจว่า คสช. และอาจจะรวมถึงคณะรัฐมนตรีได้อาศัยช่องทางของ ม.44 เป็นเครื่องมือในการดำเนินมาตรการต่างๆ จนคงจะชินแล้ว จึงไม่รู้จะพูดอย่างไรว่าการใช้ ม.44 นั้นเหมาะสมหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ เพราะใช้จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จนไม่รู้จะต้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรแล้ว แต่ถ้าในกรณีที่ใช้เพื่อผ่อนปรนทำให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการภายในได้ในระดับหนึ่ง คือผมคิดว่าถ้ามองว่ามีแง่ดี ก็มีแง่ดีอยู่ 3 ลักษณะ หนึ่งคือ ในสิ่งที่พรรคการเมืองขอให้ปลดล็อก อันนี้อาจจะไม่ถือว่าปลดล็อกในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเสียทีเดียว แต่ว่าก็เป็นการผ่อนปรน ค่อยๆ ให้เขาดูแลกิจการภายในของเขาก่อน แล้วต่อไปก็ค่อยๆ ขยับออกมา ประการที่สอง น่าจะเป็นสัญญาณบอกว่าพรรคการเมืองจะยังคงมีอยู่ ถ้าหากเราลองพิจารณาข้อเสนอจำนวนหนึ่งที่มีหลายคนออกมาพูดว่าไม่ต้องมีพรรคการเมืองแล้ว เป็นอิสระหมดเลยดีกว่า แต่การออกมาตรการแบบนี้ของ คสช.ก็น่าจะตอบได้ในระดับหนึ่งว่าพรรคการเมืองจะยังมีอยู่ ประการที่สามคือ เมื่อได้มีการผ่อนปรนในระดับนี้ ถ้าหากว่ามีการทำความเข้าใจกันได้ แล้วกลไกของการทำงานมันเดินไป ที่บอกกันว่าในโรดแมปจะมีการเลือกตั้งเมื่อนั้นเมื่อนี้ เช่น ในเดือน พ.ย.2561 ก็น่าจะเป็นไปตามนั้น ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นสัญญาณในทางบวก แต่ถ้าจะคิดถึง ม.44 มันเคยใช้แบบไม่เหมาะสมไม่ควรมาเยอะแยะแล้ว เราดูผลของมันดีกว่า

การงัด ม.44 ออกมาใช้แบบนี้ ผมเข้าใจว่าเนื่องจากท่านที่ดำรงตำแหน่งใน คสช. ก็ดำรงตำแหน่งอยู่ใน ครม. ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบอร์หนึ่งเบอร์สอง ทำให้การทำหน้าที่ในฐานะ คสช. กับการทำหน้าที่ในฐานะ ครม.มีความสับสนปนเปกัน จริงแล้วๆ ม.44 ไม่ควรจะเป็นเครื่องมือของ ครม. แต่ควรเป็นเครื่องมือของ คสช. และควรใช้ในคราวจำเป็นเท่านั้น โดยมีข้อจำกัดที่ค่อนข้างจะต้องตีความอย่างแคบภายใต้ ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ไม่ใช่จะตีความกว้างขวางไปใช้เสียทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ใช้ทุกกรณีหมด มันไม่ควร ในส่วนของ ครม. ควรจะใช้มาตรการการบริหารราชการแผ่นดินทั่วไปที่ ครม.ชุดใดๆ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการปฏิวัติรัฐประหารเขาใช้กัน เพื่อไม่ให้เสียระเบียบวิธีการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า เมื่อใช้ ม.44 ทุกเรื่องทุกราว พอเอากลไกนี้ไปเทียบกับกลไกของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็แน่นอนครับ คนก็ต้องบอกว่า รัฐบาลที่มาจากปฏิวัติรัฐประหารทำอะไรมีประสิทธิภาพมากกว่า ทำอะไรได้รวดเร็วกว่า ก็ท่านใช้ ม.44 ไง ดังนั้น มันเปรียบกันไม่ได้หรอก อีกอย่างคือ จะได้เป็นตัวอย่างด้วยว่า ที่เคยบอกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว ถ้าท่านต้องดำเนินการโดยใช้มาตรการปกติของการบริหารราชการแผ่นดิน จะได้เรื่องได้ราวหรือเปล่า คนจะได้เห็นและเปรียบเทียบได้ว่า คสช.ทำได้ดีกว่าจริงๆ หรือที่แท้นักการเมืองต่างหากที่ทำได้ดีกว่า ประชาชนจะได้มีทางเลือกและเห็นภาพว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร

สุดท้าย ผมไม่ได้เชื่อมั่นว่า คสช.จะทำตามกำหนดการที่บอกว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 แต่ผมยังหวังว่ามันจะเป็นไปตามนั้น


รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คสช.ใช้ มาตรา 44 ฟุ่มเฟือยมานานแล้ว รัฐบาลไม่อยากยกเลิกคำสั่งเดิม ถ้ายกเลิกคำสั่งจะครอบคลุมทุกอย่าง เช่น ห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามทุกอย่าง ครอบคลุมเยอะ ทีนี้เลยใช้ ม.44 ออกรายละเอียดที่สามารถจำกัดขอบเขตได้ว่า จะให้พรรคการเมืองจัดประชุมพรรค หรือจำกัดไม่ให้มหาวิทยาลัยจัดสัมมนา หรือชุมนุมวิจารณ์รัฐบาล สังคม เศรษฐกิจได้ และก็สามารถใช้ควบคุมเฉพาะจุดที่พรรคการเมืองจำเป็นจะต้องทำ เช่น ระบุรายละเอียดเลยว่า ให้ประชุมพรรคการเมืองอย่างนู้นอย่างนี้ หาสมาชิกได้ตามกฎหมาย กกต. ตามมาตรานั้น มาตรานี้ พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการอะไรมากไปกว่านี้ได้ คำสั่งที่ยังอยู่ก็นำมาใช้เป็นอาวุธเล่นงานปั่นหัวใครก็ได้ เห็นได้ว่า คสช.สามารถเขียนอะไรก็ได้เพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองสามารถมีลูกเล่นเคลื่อนไหวได้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ของเผด็จการอย่างหนึ่ง

ที่ผ่านมาผมไม่เคยเชื่อที่ คสช.ออกมาพูดเลย เพราะส่วนมาก คสช. จะพูดเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แล้วก็ไม่ต้องการให้คนอื่นมีสิทธิเสรีภาพในการพูดเหมือนพวกเขา ถ้าอ่านมาตรา 267 ในรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะมีเหตุที่ยื้อการเลือกตั้งไปถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 เพราะมาตรานี้ มีการกำหนดไว้ทุกอย่างแล้ว ที่จริง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. พูดมาครั้งแรกว่า จะมีการเลือกตั้งช้าสุดในเดือนสิงหาคม 2561

ฝ่ายรัฐบาลวางแผนไว้แล้วตามโรดแมป เดือนพฤศจิกายน 2561 ว่าจะทำอะไรบ้าง จะสามารถตกลงกันเป็นมั่นเป็นเหมาะกับพรรคการเมืองว่าจะไปร่วมกับเขาไหม จะเอาคนนอกต้องทำอย่างไร ให้มีพรรคการเมืองที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไหม เขาต้องมียุทธศาสตร์ของเขาว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ทำไมถึงกล้าประกาศไปถึงเดือนพฤศจิกายน จริงๆ แล้วหากมองตามโรดแมปมันไม่น่าจะถึง ถ้าตามเวลาจริงๆ แล้ว ถ้าควบคุมเวลาได้ดี ผมว่าแค่เดือนกรกฎาคม 2561 ก็เลือกตั้งได้แล้ว

คสช.ทำลายหลักนิติธรรมนิติรัฐมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ในกลุ่มพวกเขาไม่ได้คำนึงถึงหลักพวกนี้อยู่แล้ว เพราะไม่แก้ความไม่เป็นธรรมในสังคม มีการปราบคอร์รัปชั่นอะไรเยอะแยะ แต่ว่ารัฐมนตรียุติธรรมไม่เข้าใจคำว่ายุติธรรม เลยแก้ปัญหาไม่ได้ จริงๆ แล้วการทำงานบริหารราชการแผ่นดินมันใหญ่โตมาก จะให้คนคนเดียวมาดูแลทั้งหมดไม่ได้ เมื่อมอบหมายงานไปแล้ว ต้องมีนโยบายว่าต้องทำเรื่องไหนอย่างไร แล้วมารายงานให้รับรู้การดำเนินงานทุกอาทิตย์ อะไรทำนองนี้ ผมมองว่า คสช. ไม่มีแผนงานในรูปแบบนั้น การแก้ปัญหาถึงติดขัด ตะกุกตะกัก เหมือนรถไม่เต็มสูบ วิ่งไม่ได้ ทั้งที่น่าจะขับเคลื่อนได้คล่องตัว เพราะโดยทั่วไป รัฐบาลชุดนี้ไม่มีอุปสรรค เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจมากที่สุดตั้งแต่เคยมีรัฐบาลมา ซ้ำร้ายมีอาวุธพร้อม ทั้งอาวุธจริงและอาวุธทางกฎหมาย ความมั่นคงเพียบ ไม่ต้องกลัวที่จะมีศัตรูมาหือ จึงไม่ควรมีอะไรให้สะดุด นอกจากเหยียบเปลือกกล้วยหอมล้มกันเอง ซึ่งขณะนี้ก็ล้มหัวเข่าแตกกันไปหลายทีแล้ว

จริงๆ แล้วการบริหารจัดการแผ่นดิน ต้องหันกลับมามองตัวเองให้ชัดเจน ทบทวนบ่อยๆ ไม่ใช่ว่าผลโพลออกมาดีแล้วก็แล้วกัน โพลจริงโพลปลอมก็ไม่รู้ ทำถูกต้องหรือไม่ไม่สนใจ แต่กลับเชื่อไปก่อน ฉะนั้น ผมมองว่ามันมีจุดอ่อนเยอะมาก จนขณะนี้ผมมองไม่เห็นทางเลยว่าจะกู้ชื่อคืนมาได้อย่างไร มีแต่ทำลายตัวเองทุกวัน


ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กรณีการใช้มาตรา 44 แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น เข้าใจว่าการใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายพรรคการเมือง เพราะกลัวว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการไม่ทันตามกฎหมาย เลยใช้วิธีการนี้แทน ผมอยากกลับไปจุดเริ่มต้นก่อนว่าผู้ร่างกฎหมายต้องควรเข้าใจว่า คสช.ต้องลากยาวอยู่นาน จึงไม่ควรไปกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อร่างไปร่างมาก็ไปติดกับดักของตนเอง ทำงานแบบไม่คุยกัน และเมื่อหาทางออกไม่เจอก็กลับไปพึ่งมาตรา 44 แทน ถ้ามองในมุมกฎหมายขายหน้ามากๆ แทนที่จะใช้กลไกกฎหมายปกติก็สามารถทำได้ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำงานอย่างรวดเร็ว โดยให้สมาชิก สนช. ท่านใดท่านหนึ่งยื่นญัตติให้ผ่าน 3 วาระ เพื่อแก้ไขกฎหมายก็ว่ากันไป ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้เลย

การใช้มาตรา 44 ก็เหมือนยาพาราเซตามอล หากปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ปวดฟัน แล้วนึกอะไรไม่ออกก็ใช้มาตรา 44 โดยที่ไม่รู้ว่ายังมีกระบวนการอื่นที่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นกรณีนี้กลายเป็นว่าทำงานให้ชุ่ยๆ ไปก่อน แล้วพอจะแก้ก็ใช้มาตรา 44 แทน

ผมคิดว่าในอนาคตถ้าไม่มี มาตรา 44 แล้วจะเอากันอย่างไร แทนที่ตอนนี้ควรใช้กระบวนการปกติทางกฎหมายในการแก้ไขกฎหมายให้เป็นเรื่องปกติ แต่กลับไปใช้กระบวนไม่ปกติอย่างมาตรา 44 แก้ไขกฎหมายให้เป็นเรื่องปกติ


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image