วิพากษ์ 4 เกณฑ์ คสช. แก้ใช้ ม.44 พร่ำเพรื่อ

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมือง กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาเน้นย้ำและทบทวนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยให้ยึดหลัก 4 ประการ คือ 1.ต้องเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 2.ต้องเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคง 3.ต้องเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้กับสังคม และ 4.ต้องการใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท.

กรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุจะใช้มาตรา 44 เท่าที่จำเป็น แสดงว่าสิ่งที่ใช้มาเป็นอย่างที่เราวิจารณ์ไป ว่าคุณใช้มาตรา 44 มั่วเหลือเกิน ทั้งที่เงื่อนไขของการใช้มาตรานี้รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดเจนว่าเพื่อความสามัคคีปรองดอง เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง หรือต้องการปฏิรูปเป็นต้น จะเห็นว่าการใช้ในอดีตที่ผ่านมา เช่น ใช้แก้ปัญหารถกระบะ ใช้แก้ปัญหาราชการ ใช้แต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เลย ทั้งนี้ การใช้ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีใครจะตรวจสอบได้ ก็ใช้ไป คิดว่าง่ายดี สะดวกดี แต่ท้ายที่สุดคิดว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงการพิกลพิการของกฎหมาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว เมื่อมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้แล้ว เช่น เรื่องที่เป็นปัญหาเขาก็บอกไว้แล้วว่าให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ตรากฎหมาย ถ้าจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงก็ให้ สนช.ทำกฎหมาย แต่คุณก็ใช้มาตรา 44 ก็แปลว่าคุณใช้พร่ำเพรื่อไม่ถูกต้องเลย

Advertisement

ทั้งนี้ ทางที่ถูกที่ควรคือ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว คุณไม่ควรใช้มาตรา 44 เลย เพราะมาตรา 44 นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ใช้มาตรา 17 ซึ่งเป็นอำนาจของกฎหมายเผด็จการ เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อความถูกต้องชอบธรรม ไม่ควรจะใช้เลย แต่ถ้าอยากจะใช้ ต้องใช้ในกรณีที่ไม่ได้เขียนให้อำนาจหน้าที่อะไรไว้กับองค์กรอื่น เช่น เขาเขียนให้อำนาจหน้าที่กับสภาไว้ คุณจะใช้ไม่ได้ เมื่อสภาตรากฎหมายขึ้น มีการประกาศใช้อย่างถูกต้อง วันดีคืนดีคุณใช้อำนาจของคุณคนเดียวไปยกเลิกมาตรานั้น มาตรานี้ ถามว่าท้ายที่สุดสภาจะมีไว้ทำไม ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า ดีที่สุดไม่ควรจะใช้เลย


ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

ไม่ต้องมีหลักการก็ได้ เพราะหลักการที่ว่านั้นกว้างมาก มันไม่ได้ทำให้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 (ม.44) ของนายกรัฐมนตรีนั้นแคบลงไปแต่อย่างใด เพราะเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย ครอบคลุมทุกเรื่องแล้ว แล้วจะเป็นหลักการตรงไหน ไม่เข้าใจ มันครอบคลุมจนเราไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักการหลักเกณฑ์ในการควบคุมจำกัดการใช้อำนาจตาม ม.44 ที่แตกต่างไปจากเดิม

ส่วนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ผลในทางตุลาการของ ม.44 จะใช้ในการตัดสินคดีได้ แต่ยืนยันว่าไม่ไปก้าวก่ายและยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายตุลาการแต่อย่างใด ฟังแล้วก็ดูดี อย่างน้อยนายกฯก็พยายามจะบอกว่า ถ้าจะมีการขัดแย้งกันระหว่างการใช้อำนาจของ คสช.กับประชาชน ก็ยังมีองค์กรตุลาการที่เป็นหน่วยที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจ คสช.

แต่ถ้านายกฯบอกว่าอำนาจของคำสั่งตาม ม.44 นั้นมีอำนาจในทางนิติบัญญัติ มันก็จบแล้ว นายกฯไม่จำเป็นต้องออกตัวเลยว่าไม่ได้ไปแทรกแซงอำนาจตุลาการ เพราะอำนาจตุลาการใช้ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการเขาไม่ได้สร้างกฎหมายของเขาเอง เขาเป็นผู้ใช้กฎหมายตามที่อำนาจนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารได้ตราขึ้น

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องพูดเลย เพราะองค์กรตุลาการต้องทำงานภายใต้กฎหมาย อันนี้เป็นการยอมรับเลยว่าการใช้อำนาจตาม ม.44 เขียนกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมา แล้วอำนาจตุลาการก็จำเป็นต้องใช้บังคับ เพราะเทียบเท่านิติบัญญัติ

ผลสุดท้ายก็คือฟังดูดีเท่านั้นเอง แต่ผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ปลายปากกาท่านอยู่แล้ว เพราะอำนาจตุลาการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อันนี้เป็นการพูดโดยยังไม่วิเคราะห์การทำงานขององค์กรตุลาการมากนัก ละไว้ก่อน

ดูตามข้อเท็จจริง คิดว่าวันนี้เรารู้อยู่แล้วว่าสภาพเศรษฐกิจของบ้านเราเป็นอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ฉะนั้น ที่บอกว่าใช้ ม.44 สำหรับแก้ปัญหาเศรษฐกิจปัญหาปากท้อง ความเข้าใจของคนใช้กฎหมายใช้อำนาจอาจมีความรู้สึกว่าตัวเองใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหา เพื่อไม่ต้องทะเลาะกัน เราดูตามข้อเท็จจริง เราก็รู้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจฐานรากมีปัญหาเยอะมาก ตามเสียงที่ออกมาจากสื่อมวลชน

เพราะฉะนั้นแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอาจจะมีเจตจำนงที่อยากแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ผลสุดท้ายออกมามันก็ไม่ได้แก้ กลับคิดว่าการใช้อำนาจหลายครั้งไปซ้ำเติมประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การใช้อำนาจยกเว้นกฎกระทรวงที่พูดถึงการวางผังเมืองรวม กฎกระทรวงออกมาก่อน เมื่อมีประกาศผังเมืองรวมในพื้นที่ใด การประกอบกิจการในพื้นที่จะต้องเป็นไปตามผังเมือง ส่งผลให้กิจการบางอย่างทำไม่ได้ ก็มีการใช้อำนาจตาม ม.44 มายกเว้นกฎกระทรวง อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการใช้อำนาจตาม ม.44 เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไหม

ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสมในการยกเลิก ม.44 นั้น คิดว่ายังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้ เราทำได้แต่เพียงฟังแล้วก็ดูการกระทำมากกว่า อย่างที่บอกไปว่าผู้ที่มีอำนาจเขามีความตั้งใจอย่างนี้ แต่ผลออกมาจะเป็นอย่างไร ต้องดูเป็นรายกรณีไป


แฟ้มภาพ

วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าคณะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต้องทำเพื่อ 4 วัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1.ต้องเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 2.ต้องเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคง 3.ต้องเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้กับสังคม และ 4.ต้องการใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ จะใช้มาตรา 44 ต้องเพื่อ 4 วัตถุประสงค์นี้เท่านั้น ที่รัฐบาลแถลงมาจึงถูกต้องแล้ว และเนื่องจากเป็นกฎหมายพิเศษจึงต้องใช้เท่าที่จำเป็น และเห็นด้วยที่หากจะใช้ในระยะยาวต้องออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เสียให้ถูกต้อง โดยผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ออกมาแถลงยืนยันว่า มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังเขียนให้มีผลบังคับอยู่ แต่ไม่สามารถใช้มาตรา 44 ดังกล่าวแก้รัฐธรรมนูญ ก็คือ มาตรา 44 เล็กกว่า หรืออยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งแปลว่า คำสั่งตามมาตรา 44 ไม่อาจจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 ได้

ทั้งนี้ มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ออกโดย คสช. แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผ่านประชามติจากประชาชนของประเทศไทยแล้ว จุดสำคัญที่สุดคือ ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานแล้ว

นอกจากนั้นยังมีจุดที่สุ่มเสี่ยงตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 คือ การสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรคทั่วประเทศประมาณ 4,000,000 คน ซึ่งการที่จะไปยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคของแต่ละคนได้นอกจากมีใบยืนยันแล้ว จะต้องไปพบกับหน่วยงานของรัฐประมาณ 20 หน่วยงาน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานยืนยันว่า ตนมีคุณสมบัติไม่ขัดกับระเบียบคุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมือง และคำสั่งนี้ต้องไปยื่นกับหัวหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคเท่านั้น พรรค ปชป.ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 3,000,000 คน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ จะต้องยืนรับใบยืนยันพร้อมหลักฐานว่าสมาชิกแต่ละคนไม่ขาดคุณสมบัติซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างภาระให้กับหัวหน้าพรรคอย่างร้ายแรง

ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงสวนทางกับแนวทางการปฏิรูปพรรคการเมือง ที่ต้องการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและส่วนรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจการทางการเมือง และการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้

คำสั่งที่ 53/2560 จึงหมิ่นเหม่ ที่จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญจึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะฉะนั้นวิธีแก้ปัญหานี้ง่ายนิดเดียว คือ ผู้มีอำนาจยกเลิกคำสั่งที่ 53/2560 แล้วให้ใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะขยายเวลาได้ถึง 3 ปี ได้อยู่แล้ว

รวมทั้งขอให้ คสช.พิจารณายกเลิกคำสั่งที่ 57/2557 ให้พรรคการเมืองสามารถประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค ประชุมเพื่อแก้ไขข้อบังคับ และประชุมเพื่อรับรองอุดมการณ์ของพรรคเท่านี้เอง ทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้แล้ว ซึ่ง คสช.สามารถออกประกาศกำหนดห้ามวิธีการประชุมใดใดที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง หรือการกระทำใดๆ อันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย คสช.ก็สามารถออกคำสั่งห้ามให้ชัดเจนได้อยู่แล้ว

เพราะตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่า การประชุมเลือกหัวหน้าพรรค การประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรค และการประชุมเพื่อกำหนดแนวนโยบายของพรรคจะไปกระทบกับความมั่นคง หรือเป็นการบ่อนทำลายความสงบของประเทศแต่อย่างใด


พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารอยู่แล้ว อำนาจนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นการรัฐประหารเท่ากับการเข้ามายึดอำนาจการปกครองบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มันผิดอยู่แล้ว การที่มี ม.44 ขึ้นมา เป็นการตามรอยวิถีปฏิบัติซึ่งเคยมีมาแต่เดิม สมัยบ้านเมืองอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบรัฐประหาร

ประวัติศาสตร์ของ ม.44 ผมคิดว่าในปี พ.ศ.2500 เมื่อมีการยึดอำนาจ สมัยนั้นเรียกว่าการปฏิวัติ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในธรรมนูญการปกครองสมัยนั้นคือเมื่อยึดอำนาจโดยการปฏิวัติแล้ว ก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนั้น แล้วประกาศสิ่งที่เรียกว่าธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ไม่ใช่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ มีอยู่ไม่กี่มาตรา มีมาตราหนึ่งที่สำคัญเรียกว่า ม.17

ต่อมาภายหลังมีการปฏิวัติ รัฐประหาร การปฏิรูป หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดคือการทำรัฐประหาร ถึงมีการให้อำนาจสิ่งนี้ ซึ่งได้เป็นหัวหน้าคณะในการเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งยุคปัจจุบันคือ คสช.

หลังจากนั้นเขาต้องการมีอำนาจในการจัดการบ้านเมืองอย่างเด็ดขาด เลยประดิษฐ์ ม.17 จนมาเป็น ม.44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 สมัยเขาทำรัฐประหาร 4 ปีที่แล้ว ขณะนี้มันเข้ามาอยู่ใน รธน.ฉบับ 2560

ถามว่าในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มี ม.44 ปรากฏอยู่หรือไม่นั้น ไม่มี ตอนนั้นเคยพยายามเอา ม.7 ที่คล้ายกับว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่มี ก็เลยเขียนไว้ ให้ถือประเพณีการปกครองบ้านเมือง คือให้ใช้อำนาจพิเศษในการเข้าจัดการปัญหาบางอย่าง เสมือนเป็น ม.44 แต่ไม่สำเร็จเพราะมีคนไม่เห็นด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันมีข้อจำกัดหลายอย่างตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งจะใช้อำนาจแบบนี้ไม่ได้ เพราะการใช้ ม.44 เสมือนการให้ผู้มีอำนาจในการใช้มาตรการนี้มีอำนาจรวมกันอยู่ทั้งหมดในตัวเอง คืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยโบราณก็เรียกดาบอาญาสิทธิ์

ในทางหลักนิติศาสตร์ก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่าอำนาจตาม ม.44 มันชอบด้วยหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือไม่

ซึ่งคำตอบก็คือไม่ชอบ เพราะระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแยกอำนาจออกเป็น 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และต้องมีการคานและดุลอำนาจกันด้วย

และผมไม่เห็นด้วยกับ ม.44 อยู่แล้ว เพราะนี่เป็นการให้อำนาจคนคนเดียวมีอำนาจเด็ดขาด เป็นเรื่องอันตราย ถ้าหากผู้ใช้อำนาจใช้ไปโดยปราศจากความระงับยับยั้ง ผมไม่ใช้คำว่ามีคุณธรรมหรอก ในทางความคิดความอ่านของตัวเอง มันอาจใช้ไปโดยอคติต่างๆ มันเกิดปัญหาร้ายแรงได้ ไม่มีอะไรแก้ได้ ไปตรวจสอบอะไรก็ไม่ได้ เนื่องจากเขียนห้ามไว้ทั้งหมด การใช้อำนาจนี้ใช้ไปเถอะ ใช้อย่างไรก็ได้ ถือเป็นการชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด เป็นเรื่องที่ผิดอยู่แล้ว ผิดในแง่ตรรกะด้วย การใช้อำนาจในตัวเขาเองมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเป็นอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร และไม่มีการใช้ ม.44 อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย ถ้าขึ้นต้นมาผิดก็ผิดทั้งขึ้นต้นด้วยการรัฐประหารก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว

ส่วนประเด็น 4 หลักการที่บอกมา แสดงว่าที่ใช้ไปคราวที่แล้วใช้ไม่ได้หรือ ไม่เข้ากับ 4 ข้อนี้ คำถามของผมก็คือใครเป็นคนไปตัดสิน แล้วมันตรวจสอบไม่ได้ เอาไปฟ้องใครไม่ได้ หรือจะบอกว่าที่ออกหลักการเหล่านี้เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าให้นำไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้อย่างนั้นหรือไม่

ในเมื่อให้ใช้ได้ใน 4 หลักการนี้ นั่นต้องทำให้เกิดการตรวจสอบได้ว่ามันถูกต้องทั้ง 4 หลักการนี้หรือไม่ ถ้ายอมรับโดยปริยายผมไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหลักการบอกว่าโอเค การใช้อำนาจ ม.44 มีการตรวจสอบได้ ผมเห็นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image