วิพากษ์ท่าที ‘บิ๊กตู่’ การันตีไม่คว่ำ 2 กม.ลูก

หมายเหตุ – ความเห็นนักการเมือง นักวิชาการ และกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยืนยันหนักแน่นว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะไม่คว่ำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณา


 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ในกระบวนการออกกฎหมายภายใต้ระบบรัฐสภา หากรัฐบาลไม่สามารถผ่านกฎหมายที่สำคัญได้ ก็แสดงว่าไม่ได้รับความไว้วางใจ จึงทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายได้อย่างราบรื่น แต่กฎหมายสามารถแก้ไขรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการได้ ซึ่งในชั้นกรรมาธิการก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง ดังนั้นทางปฏิบัติในระยะหลัง โดยเฉพาะเมื่อการเมืองมีการแบ่งขั้วเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผู้ที่มาเป็นรัฐบาลบางครั้งก็ไม่ยอมให้เนื้อหาของกฎหมายที่ตัวเองเสนอเข้าไปต้องถูกแก้ไข จึงมีการหาวิธีสกัดกั้น ทำให้บทบาทของสมาชิกในรัฐสภาน้อยลง ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเองก็ไม่มีความถนัดและไม่มีความมั่นใจในวิธีการเขียนกฎหมาย จะสังเกตได้ว่าเมื่ออยู่ในชั้นกรรมาธิการ ผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาจะถูกคานอำนาจ ซึ่งตนเห็นว่ากฤษฎีกามีอำนาจมาก ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายบางเรื่องจึงมีการไปแก้ไขได้ด้วยการปรับกติกา เช่น การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่บางเรื่องต้องกลับมาสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองขึ้นใหม่

วันนี้จะเห็นข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการคว่ำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในชั้นคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแน่นอน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนและสังคมบ้านเมือง และอยากให้นายกฯทำให้ได้ตามที่รับปากไว้ แม้อนาคตอาจจะมีเงื่อนไขที่ต้องนำมาเป็นข้ออ้างในการเลื่อนการเลือกตั้งก็ตาม โดยที่ขอให้นายกฯควบคุมปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดการคว่ำร่างกฎหมายได้ เช่น สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง รวมถึงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ขอชมนายกฯที่พูดออกมาอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการคว่ำร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เพราะจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ

Advertisement

นอกจากนี้ อยากเห็นฝ่ายนิติบัญญัติมีบทบาทมากขึ้นในการออกกฎหมายและเปิดโอกาสให้มีการมีส่วนร่วม สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ควรมีการปรับแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันกฎหมาย ขณะที่การตรวจสอบถ่วงดุลกฎหมาย ควรมีการผลักดันวิธีการที่ไม่ใช่แค่เสียงข้างมาก ขอว่าอย่าให้ลืมบทเรียนกรณีกฎหมายนิรโทษกรรมที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แม้ขณะนั้นฝ่ายรัฐบาลเองก็มองว่าหากกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาจะทำให้เกิดปัญหา แต่ไม่มีใครกล้าออกมาคัดค้านเพราะด้วยระบบเสียงข้างมาก ที่สำคัญการที่ คสช.ทำการรัฐประหารและเข้ามาบริหารประเทศได้ก็เพราะกฎหมายนิรโทษกรรม


 

Advertisement

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย

สิ่งที่บอกให้เราทราบจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันหนักแน่นว่า สนช.จะไม่ล้มกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับที่มีการตั้งกรรมาธิการสามฝ่าย เพื่อหาข้อยุติในประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันอย่างเด็ดขาด ย่อมแสดงยืนยันได้ว่าท่านสามารถกำกับทิศทางความเป็นไปขององค์กรนิติบัญญัติได้ สภาแบบนี้ก็เป็นเช่นนี้ ตอกย้ำให้เห็นคำวิจารณ์ที่ฝ่ายต่างๆ เคยบอกว่าแท้ที่จริงแล้วพวกคุณก็มาจากแม่น้ำสายเดียวกัน เป็นองคาพยพเดียวกัน หลายกรณีจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นการสมคบคิดร่วมมือกัน อย่างไรก็ตามกรณีนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่าบางครั้งคำพูดก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้ เช่น กรณีที่มีการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปอีก 90 วัน ท่านก็บอกว่าเป็นเรื่องของสภา เขาจะคิดอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ไม่อาจไปก้าวก่าย เป็นอิสระของเขา คำพูดจึงดูจะกลับไปกลับมาขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ถ้าติดตามดูก็จะมีการพูดจาแบบลื่นไหลไปในทำนองนี้ ถึงขั้นว่าไม่ได้พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้ ยังอยู่ในโรดแมปขึ้นอยู่กับกฎหมายว่าจะเสร็จเมื่อไร บางท่านจึงวิพากษ์วิจารณ์แบบดุเด็ดเผ็ดมันว่าเชื่อถือไม่ได้

การที่ออกมายืนยันเช่นนั้น เข้าใจว่าต้องการจะดับกระแสการต่อต้าน คสช.ซึ่งมีสูงมากขึ้นโดยลำดับ จากกรณีการเลื่อนการเลือกตั้ง การผิดคำพูด เป็นกระแสที่จุดติดพร้อมๆ กับขาลง ผนวกกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งผู้เป็นคนกลางๆ จุดประเด็นขึ้นมาในเวลานี้ การตัดกระแสบางเรื่องออกเสียน่าจะเป็นข้อเสนอความคิดที่มีได้ของกุนซือหรือเสนาธิการทั้งหลาย ความจริงโดยเหตุโดยผลมันก็ไม่ควรจะมีการล้มกฎหมายอะไรกันอยู่แล้ว แต่ดันไปเขียนรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ ยุคนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นยุคของการรักษาและพยายามสืบทอดอำนาจ เป็นยุคที่เขาอยากอยู่ยาว เสียเงินเบี้ยประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญไปมหาศาล อยู่ดีๆ แม่น้ำสายเดียวกันก็ล้มเสียดื้อๆ ก็เห็นกันมาแล้วมิใช่หรือ


 

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

จากคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่าจะไม่ล้มกฎหมายลูกเด็ดขาดนั้น มองว่าน่าจะเหมือนกับการสั่งให้ สนช.รู้ เพราะฉะนั้นก็น่าเชื่อว่าคงไม่มีการล้มกฎหมายลูกอย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่นายกฯ บอกเองว่าให้แนวทางไปแล้ว ว่าให้แก้ไขตามคณะ กมธ.แต่ละฝ่าย จะไม่ลงไปก้าวล่วง แอ๊กชั่นนี้คิดว่าช้าไปหน่อย แต่ก็โอเค มันมีแนวทางอยู่แล้วว่าเมื่อเขาแก้แล้ว มาอย่างไร สนช.รับไปเถอะ ตรงนี้ก็ยังพูดไม่ได้ชัดเจนว่าจะแก้อย่างไร พวกประเด็นกฎหมาย ส.ว.อะไรต่างๆ อย่างไรก็ตาม เป็นการส่งสัญญาณว่าถ้าผ่าน 3 ฝ่ายออกมาอย่างไร คุณต้องเอา คุณต้องรับนะ คือถ้าพูดอย่างนี้แล้วยังตกอีก แสดงว่าท่านขาดภาวะผู้นำสูง

สำหรับที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ครั้งนี้นายกฯพูดเอง ในขณะที่ก่อนหน้านี้ สนช.พูดมาโดยตลอด เป็นการสื่อถึงนัยอะไรหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่มีนัยอะไร


 

ณัฏฐา มหัทธนา
ตัวแทนกลุ่ม ‘คนอยากเลือกตั้ง’

ได้เห็นข่าวที่ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะไม่ล้มกฎหมายลูกเด็ดขาดเมื่อเช้านี้ ก็ตลกดี เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งพูดเองว่าไม่สามารถก้าวก่ายการทำงานของ สนช.ได้ การที่ สนช.ประกาศให้กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับหลังประกาศ 90 วัน เป็นเรื่องของ สนช.ล้วนๆ ตัวเองไม่เกี่ยวกับการเลื่อนเลือกตั้ง แต่มาวันนี้สามารถยืนยันว่าจะไม่มีการล้มกฎหมายลูก ซึ่งเป็นการทำงานของ สนช.โดยตรง

จึงอยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า ตกลงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์มีความสามารถในการควบคุม สนช.ได้หรือไม่ได้กันแน่ เพราะว่าจากที่สัมภาษณ์ทั้ง 2 ครั้งนั้นขัดกันเอง อยากฝากไปบอกว่า วันหลังพูดอะไร ให้ท่านจำสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ด้วย

ประกอบกับคิดว่าที่ท่านออกมาพูดเพราะอยากจะพูดดักประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง อยากให้ความมั่นใจกับสังคมว่าจะไม่มีการเลื่อนเป็นครั้งที่ 5 แล้ว เพราะที่ผ่านมาเลื่อนมา 4 ครั้ง โดยทั้ง 4 ครั้งนั้นเป็นการเลื่อนด้วยเหตุผลของ คสช.ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นท่านคงมีความพยายามดักคอประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้งเท่านั้นเอง แต่เป็นความพยายามที่ไม่รอบคอบ เพราะสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ได้ขัดกันเอง

ส่วนประเด็นที่ท่านนายกฯเรียกร้องให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งหยุดได้แล้วนั้น รู้สึกว่าท่านมีสิทธิแสดงความคิดเห็นอยากให้เราหยุด และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นว่าที่ไม่หยุดนั้นเพราะอะไร ที่สื่อสารกันมาทุกวันนี้คือความพยายามในการสืบทอดอำนาจชัดเจนเกินกว่าที่ประชาชนจะนั่งดูอยู่เฉยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image