วิพากษ์สถานะ กกต. ‘เสี่ยงสุญญากาศ’

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมือง กรณี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงรับสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นเลขาธิการ กกต. อาจต้องลาออกหากได้รับคัดเลือก รวมทั้งกรณีนายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.จะเกษียณอายุครบ 70 ปี ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ จะทำให้ กกต.เหลือเพียง 3 คน อาจเป็นปัญหาต่อการจัดการเลือกตั้งในห้วงที่ยังสรรหา กกต.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน ไม่ได้ สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสุญญากาศของ กกต.หรือไม่


 

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)

ปัญหาใหญ่ของ กกต.อาจถือว่าเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากทั้งปวงในขณะนี้ คือ การเลือกที่จะเซตซีโร่ กกต.ทั้งหมด อันแตกต่างไปจากองค์กรอิสระอื่นๆ และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ต้องมีการสรรหา กกต.ใหม่หมด เป็นที่มาของข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญและความคิดในการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับว่าเอาหลักอะไรมาเป็นเหตุผลในการเซตซีโร่บางองค์กร ไม่เซตซีโร่บางองค์กร ที่สำคัญบางองค์กรแม้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังให้อยู่ต่อไปได้จนครบวาระ

Advertisement

การกระทำเช่นนี้จึงตอบปัญหาต่อสังคมยากและไม่สามารถตอบคำถามว่ามีการเลือกปฏิบัติ เมื่อต่อมาได้มีการปฏิเสธไม่รับรอง กกต.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน โดยไม่มีเหตุผลอย่างเป็นทางการว่าเพราะเหตุผลใด สนช.จึงปฏิเสธแบบยกชุด นำไปสู่การสรรหาใหม่ ปัญหาตามมาว่าจะได้ กกต.ชุดใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ กกต.ชุดปัจจุบันจะต้องรักษาการยืดยาวต่อไปอีกยาวนานหรือไม่

หากการสรรหา กกต.ชุดใหม่เกิดปัญหาขึ้นมาอีก ยิ่งไปกว่านั้น ก็มีปรากฏการณ์แปลกๆ อยู่เป็นอันมาก เช่น การที่ กกต.ท่านหนึ่งสมัครเป็นเลขาธิการ กกต. โดยมิได้ลาออกจากตำแหน่ง ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นความเหมาะสม จะมีปัญหาตามมาว่าการใช้ดุลพินิจของ กกต. ที่เหลืออยู่ในการคัดสรรเลขาธิการ กกต.ว่าจะใช้ดุลพินิจได้หรือไม่ อย่างไร สุ่มเสี่ยงอาจถูกโจมตีในเชิงการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่

หากจะต้องใช้มาตรา 44 ต่ออายุ กกต. บางคนที่มีอายุครบ 70 ปี ต่อไปอีก เพื่อให้ กกต.ที่เหลืออยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้อีก เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศนับได้ว่าปัญหาของ กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อนจะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และจับตามองจากสังคม ยิ่งเป็นการเลือกตั้งในขณะที่ คสช.ยังอยู่ในอำนาจและอาจสืบทอดอำนาจต่อไปอีก ที่ไปที่มาของ กกต. การทำหน้าที่ของ กกต. จึงน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจเกิดวิกฤตขึ้นได้อีกต่อไป


 รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ลงสมัครเลขาฯกกต. เพราะคงอยากเป็นคนควบคุมการเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าในใจมีอะไรที่เป็นข้อขัดแย้งกับผู้มีอำนาจหรือเปล่า ท่าทางก็เหมือนไม่เป็นที่พอใจของคนร่างกฎหมายสักเท่าไหร่ แล้ว กกต.ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เซตซีโร่ หมายความว่า กกต.ยังมีเวลาเหลืออยู่แต่ถูกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ให้พ้นจากตำแหน่ง ถ้ามีชุดใหม่ก็น่าจะเป็นข้อขัดแย้งตั้งแต่ต้นว่าทำไมกรรมการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงให้ กกต.พ้นจากตำแหน่ง ก็อาจจะมีคำถามว่าฉันทำงานไม่ดี ไม่เป็นที่พอใจหรือเปล่า

ประกอบกับขณะนี้มาเกิดสับสนการพลิกผันทางการเมืองของผู้มีอำนาจ การที่ไม่เอา กกต.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน จะต้องมีเรื่องแต่มันก็มองรายละเอียดไม่ออกว่าจริงๆ แล้วทำไมผู้มีอำนาจไม่พอใจหรือ แล้วการไม่เอาชุดใหม่เลยเป็นเพราะอะไร

เนื่องจากสังคมไทยระบบพรรคพวกเป็นเรื่องใหญ่ จะบอกว่าทั้ง 7 คนไม่มีเส้นก็ไม่ใช่หรอก 7 คน ได้รับการคัดเลือกจากผู้มีอำนาจแล้วว่าเอา อยู่ดีๆ ไม่มีเหตุผลว่าไม่เอาทั้ง 7 คน แสดงว่าใช้ไม่ได้แล้ว

เมื่อเกิดพลิกผันว่าอยู่ดีๆ ไม่เอามันจะต้องมีเหตุ ผมมองว่าจะเป็นการขยายการเลือกตั้งก็ไม่น่าจะไม่ใช่ เพราะชุดเก่าก็มีหน้าที่ทำต่อไปได้เรื่อยๆ แม้จำนวนคนไม่ครบนายกฯก็บอกว่าใช้ ม.44 ต่ออายุได้ เหตุผลก็เลยคลุมเครืออยู่ แล้วการเลือกตั้งตอนนี้ก็มีประเด็นหลายอย่างให้คนทั่วไปได้คิดว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อเขาพอใจ ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องการเลือกตั้งให้ปล่อยเขาไป อยากอยู่นานเท่าไหร่ก็อยู่ไป ไม่ต้องมีการเลือกตั้งก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือจะอยู่อย่างไร ยังเป็นการพิสูจน์ด้วยว่าพลังภาคประชาชนจะคิดอย่างไร

ส่วนเลขาฯกกต.นั้นปัญหาคือมองว่า นายสมชัยจะได้รับเลือกเป็นเลขาฯหรือ ถ้าได้ก็ยกเว้นว่ากรรมการสรรหาเป็นคนละพวกกับรัฐบาล เพราะอย่าลืมว่าเป็นเลขาฯกกต. สามารถสั่งงานได้ทั้งหมด คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้นายสมชัยเป็น


 

แฟ้มภาพ

วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าคณะทีมกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

กรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร จะลาออกจากตำแหน่ง กกต. มาสมัครเป็นเลขาธิการ กกต.นั้น หากนายสมชัยมีคุณสมบัติครบที่จะสมัครเป็นเลขาฯกกต.ได้ ถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ นายสมชัยเป็นผู้หนึ่งที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งมากพอสมควร หากได้เป็นเลขาฯกกต.ถือว่าเป็นโอกาสในการทำงานที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกทางหนึ่ง

เรื่องนี้มองว่า คงไม่ใช่เกมของรัฐบาล คสช.และ สนช. เพราะการที่ สนช.มีมติท่วมท้นโหวตไม่รับว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องสมควรแล้ว เนื่องจากความสุ่มเสี่ยงทางด้านคุณสมบัติของบางท่าน และความรู้ความสามารถในการจัดการเลือกตั้งของบางท่านด้วยที่จะเป็นปัญหา

ทางแก้ไขปัญหาเรื่องการสรรหา กกต.ใหม่ 7 คนนั้น เป็นเรื่องที่บุคคลที่อยู่ในเกณฑ์ตามคุณสมบัติมีอยู่จำนวนมากพอควร แต่ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่คุณสมบัติสูงจนเป็นเทพตามที่กล่าวถึง อยู่ที่การทาบทามและให้ความมั่นใจกับท่านเหล่านั้น ให้มั่นใจได้ว่าสามารถเข้าทำหน้าที่ได้หากผู้สมัครสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ได้อยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดหรือผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น ต้องเร่งสรรหาว่าที่ กกต.ใหม่โดยเร็ว ให้สื่อทั้งหลายรวมทั้งพี่น้องประชาชนช่วยกันตรวจสอบ คุณสมบัติเพื่อให้ได้คนดี มีความรู้ มีความเป็นกลางทางการเมือง โปร่งใสตรวจสอบได้ก็จะได้ให้ท่านเหล่านั้นผ่านก็มาเป็น กกต.ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่มากกว่า กกต.ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 มาก จึงต้องได้คนดีที่มีความเป็นธรรมอยู่ในหัวใจ มาเป็น กกต.

เฉพาะกรณีนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และนายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. กว่าจะเกษียณครบอายุ 70 ปี ก็ในเดือนกันยายนนี้ หรือหลังจากนั้นจึงมีเวลามากพอสมควรที่ผู้มีอำนาจจะรีบแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้สังคมมั่นใจว่ารัฐบาล หรือ คสช. มีความจริงใจต่อโรดแมปที่ประกาศไว้ ก็ขอให้รัฐบาลยืนยันให้ชัดต่อสังคมว่าจะดำเนินการสรรหา กกต.ทั้ง 7 คน ภายในระยะเวลาเท่าใด เพื่อส่งเข้าที่ประชุม สนช.ให้พิจารณา และเพื่อจะได้ตรวจสอบคุณสมบัติให้แล้วเสร็จ เข้าสู่ลงมติรับหรือไม่รับ กกต.ทั้ง 7 คน และรวมถึงกระบวนการสรรหาของศาลฎีกาและกระบวนการให้ได้มาซึ่งว่าที่ กกต.ทั้งหลายให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2560

การที่ สนช.มีมติท่วมท้นไม่รับ กกต.ทั้ง 7 คน ไม่มีผลทำให้การเลือกตั้งเลื่อนไป เพราะ กกต.เดิม 5 คน สามารถทำหน้าที่ได้ตามกฎหมายทุกประการ นอกจากนี้ ควรมีการลงประกาศโฆษณาคุณสมบัติของ กกต.ใหม่ และประกาศเชิญชวนกระจายให้ทุกภาคส่วนผ่านทุกช่องทาง เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เข้ามาเสนอตัวก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการสรรหามีโอกาสได้เลือกผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเป็นกลางทางการเมือง มีคุณสมบัติและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรงก็จะทำให้ระยะเวลาในการสรรหาให้ทันภายในเดือนกันยายนหรือในระยะใกล้เคียงมีโอกาสมากขึ้น


 

รศ.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผมคิดว่าเป็นสิทธิของนายสมชัย ศรีสุทธิยาการ ที่จะลงสมัครเลขาฯกกต. เพราะไม่มีคุณสมบัติ ข้อกำหนด หรือข้อระเบียบใดๆ ที่ห้ามไว้ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่เมื่อลงสมัครแล้ว ในขั้นตอนการสรรหา กกต.จะดำเนินการโดยคณะกรรมการ กกต. ปัจจุบันนายสมชัยดำรงตำแหน่งนี้อยู่ ดังนั้น ณ วันนี้เราเรียกร้องให้นักการเมืองต้องมีสปิริตทางการเมืองต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น ในฐานะคนที่ต้องทำงานในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะเป็นกรรมการด้วย ต้องเป็นต้นแบบให้กับนักการเมืองด้วยเช่นกัน ถ้านายสมชัยจะมาลงสมัครแล้วผู้ตัดสินคือคณะกรรมการ กกต. จึงควรลาออก เพราะถึงจะบอกว่ามันคนละบทบาทหน้าที่หรือจะถอนตัวจากกรณีนี้ แต่ความรู้จักมักคุ้นกับคณะกรรมการ กกต.อีก 4 คนที่เหลือยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะนายสมชัยเองดำรงตำแหน่งนี้ด้วย

หากยังไม่ได้เขียน กกต.ชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้งก็ยากอยู่ดี แม้จะมี กกต.รักษาการครบ 5 คน ก็ไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่น อาจจะเกิดปัญหาทางเทคนิคทางกฎหมายหรือเปล่า ด้วยไม่ได้เป็น กกต.ที่มาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ปี 2560 กติกาเหล่านี้ก็เป็นกติกาใหม่ทั้งหมด ถ้ายังได้ กกต.ไม่ครบ ชุดรักษาการจะทำได้ไหมแม้ว่านายสมชัยไม่ลงสมัครเลขาฯกกต. และ กกต.คนอื่นจะไม่พ้นวาระหรือครบการดำรงตำแหน่ง ก็ไม่มีอะไรที่เป็นข้อบ่งบอกได้ว่าจะทำให้การเลือกตั้งยืดออกไปหรือเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ผมมองว่าจุดสำคัญอยู่ที่ กกต. 7 คน มากกว่า เพราะอย่างไร กกต.คงทำอะไรได้ไม่มากนัก อยู่ในฐานะรักษาการด้วย จึงไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเกิดปัญหาเชิงเทคนิคกฎหมายหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image