วิพากษ์ กมธ.ร่วมถอยครึ่งทาง พ.ร.ป.ที่มา ส.ว.-10 กลุ่มนั่ง 5 ปี

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการต่อกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ…. เห็นชอบให้การคัดเลือก ส.ว.มาจาก 10 กลุ่มอาชีพ มีผลบังคับใช้ในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในช่วง 5 ปี ตามข้อเสนอของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากนั้นให้การคัดเลือก ส.ว.มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ของที่ประชุม สนช.ในวันที่ 8 มีนาคมหรือไม่


 

ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ถ้ามองเชิงการเมืองในสภาก็เป็นไปได้ที่จะเป็นการประนีประนอมเพื่อไม่ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถูกล้มในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะถ้าคิดในแง่การนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ มันก็สร้างความสับสนอยู่พอสมควรว่าจำนวนของ ส.ว.ในแต่ละกลุ่มจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา นอกจากนี้ ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างเยอะในการปรับเปลี่ยนกลุ่มแต่ละครั้ง ซึ่ง ณ เวลานั้นบริบททางสังคมอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว การมี ส.ว. 10 หรือ 20 กลุ่มอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เลย ดังนั้น ณ วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จุดตั้งต้นของการมี ส.ว.ไม่ชัดเจนว่า ส.ว.จะเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพราะถ้ามีวัตถุประสงค์ชัดเจนก็จะสามารถออกแบบเรื่องที่มา อำนาจหน้าที่ ได้ตรงกับเป้าหมายมากกว่านี้

Advertisement

อย่างในอดีต บอกว่า ส.ว.เป็นสภาสรรหา พอถึงยุคปี 2540 ก็บอกว่า ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจตรวจสอบด้วยนอกเหนือจากอำนาจออกกฎหมาย พอมาถึงรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2550 มีการแบ่งอย่างละครึ่ง ครึ่งหนึ่งสรรหา ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง พอมา 2560 บอกว่าไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจในการตรวจสอบแล้ว แต่ให้มีแค่อำนาจในการกลั่นกรอง เมื่อ ส.ว.มีอำนาจในการกลั่นกรอง ที่มาที่แบ่งเป็นกลุ่มๆ จึงยังไม่ได้ตอบโจทย์ของการมี ส.ว.ในรัฐธรรมนูญ 2560 ดีพอ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการเปลี่ยนกลุ่มไปมาอันเนื่องมาจากผลของการเมืองในสภา การจะทำให้ที่มาของ ส.ว.สามารถตอบสนองประชาชนได้จริงๆ ก็ยิ่งลดน้อยลง เพราะสุดท้าย มันกลายเป็นเกมการเมืองในสภา

เมื่อมีการลดกลุ่ม ส.ว.จาก 20 เหลือ 10 กลุ่ม สิ่งที่กังวลว่าจะมีการบล็อกโหวตก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะจำนวนกลุ่มน้อยลง นอกจากนี้ การมีจำนวนกลุ่มน้อยลงจะไม่สามารถครอบคลุมคนได้ทั้งสังคม เพราะขนาด 20 กลุ่มก็ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกสาขาอาชีพเลย ที่สำคัญที่สุดคือ เกณฑ์เรื่องอาชีพไม่ใช่เกณฑ์เดียวที่จะวัดถึงความเป็นตัวแทนของคนในสังคม ในทางกลับกัน การใช้เฉพาะเกณฑ์อาชีพอาจไม่ได้ตอบสนองต่อคนทั้งสังคมได้ดีพอด้วย เพราะคนในสังคมบางส่วนเขาก็ไม่ได้มีอาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเหล่านี้ ฉะนั้นสิทธิที่จะได้เป็น ส.ว.ของเขาก็หายไป ดังนั้น ยิ่งลดจำนวนกลุ่มก็ยิ่งทำให้โอกาสหรือการตอบสนองต่อความเป็นตัวแทนของประชาชนก็ยิ่งลดลงไปอีก

ส่วนอุปสรรคที่จะทำให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่ผ่าน คงจะเกี่ยวข้องกับการเลื่อนของโรดแมปใหญ่ด้วย ถ้าโรดแมปใหญ่ของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถูกกระทบ เช่น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ผ่าน หรือมีการคว่ำคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นรอบที่ 2 หรือมีการส่งให้ศาล รธน.ตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจจะกระทบต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ด้วย แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในช่วง 5 ปีแรกจะยังไม่ได้ใช้ เพราะมีบทเฉพาะกาลใน รธน. กำหนดไว้ แต่ก็เป็นการวางรากฐานทางการเมืองที่ไปสู่อนาคตของรัฐราชการ

Advertisement

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ฐานคิดของ ส.ว.ตั้งแต่ต้นคือความพยายามที่จะให้ได้ตัวแทนที่หลากหลายของกลุ่มฐานสาขาอาชีพ พยายามที่จะหาฐานของคนเพื่อจะมีตัวแทนสาขาอาชีพ ประกอบกับส่วนหนึ่งคือส่วนที่เป็นตัวแทนของ คสช. นี่คือหลักการที่คิดว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานเบื้องต้นในการวางกรอบกฎหมายนี้ แต่การปรับเปลี่ยนให้เหลือ 10 สาขานั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับสิ่งที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามลด ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะต้องเปิดกว้างกว่าเดิมด้วยซ้ำ ถ้าต้องการให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคนทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ ตัวแทนด้านสาขาอาชีพหรือกลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ แต่ทำให้เหลือ 10 กลุ่มก็มีสิทธิที่จะมองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะวางกลไกเครือข่ายที่ใกล้ชิดกับ คสช.กับผู้มีอำนาจ เพื่อที่จะเป็นสภาพี่เลี้ยงคอยควบคุมกำกับการทำงานของ ส.ส.อีกทอดหนึ่ง คือ พยายามทำให้กระบวนการการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหมด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง ส.ว. และองค์กรอิสระ อยู่กลุ่มเดียวกันทั้งหมด ทำให้กลไกการถ่วงดุลโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพปลอดจากการตรวจสอบ ปลอดจากการถ่วงดุลเพื่อที่จะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย

แต่สิ่งนี้ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยได้แน่นอนในการลดจากกลุ่มที่หลากหลายเหลือแค่ 10 กลุ่ม ซึ่งยังไม่ทราบว่าความเป็นตัวแทน 10 กลุ่มนี้จะยึดโยงกับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน เกรงว่าจะใช้ความเป็น 10 กลุ่มเลือกคนที่ คสช.สรรหาแล้วว่าเป็นกลุ่มของตัวเอง เข้าไปนั่งทำหน้าที่ ส.ว. คิดว่าเรื่องนี้จะสร้างความแคลงใจและสับสนให้แก่สังคมพอสมควร

ผมมองว่าคือการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่หลากหลาย ถ้าหลักคิดต้องการให้ ส.ว.มาจากสาขาอาชีพ ก็ต้องมีความหลากหลายของฐานสาขาอาชีพ ให้มีตัวแทนที่หลากหลาย เปิดกว้าง และมีความสัมพันธ์กับประชาชนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image