มองหลากมุม กับ 6 ข้อเสนอโละมรดก ‘คสช.’

หมายเหตุ – เป็นข้อคิดเห็นจากฝ่ายนักวิชาการ กรณี ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เสนอ 6 แนวทางทบทวนกฎหมาย คำสั่ง ประกาศต่างๆ ที่ออกมาในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ


6 ข้อเสนอของ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’

1.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ในประเด็นที่เห็นว่าสมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

2.ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 มาตรา 279 ที่รับรองให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำอันเกี่ยวเนื่องได้ทั้งหมด

3.ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิก ประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน

Advertisement

4. เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการรัฐประหารหรือการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน

5.เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชนกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น

6.ทบทวนพระราชบัญญัติทั้งหมดที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ความเป็นไปได้ของทั้ง 6 ข้อเสนอภายใต้เงื่อนไขการเมืองไทยปัจจุบัน คงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขประกอบการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ว่า พรรคการเมืองไหนที่ได้เสียงมากที่สุด หรือสิ่งที่ คสช.ทิ้งไว้จะมีผลแค่ไหน เช่น การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องปฏิบัติตาม 20 ปี ต้องดูว่ามีผลบังคับแค่ไหน เพราะมองว่าจะเป็นอุปสรรคในอนาคตอันใกล้คือ กลไกต่างๆ ที่อยู่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ถูกจัดตั้งไว้แล้วตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หตามคำสั่ง หรือตามยุทธศาสตร์ที่ คสช.วางไว้หรือไม่

ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศ คือเกาหลีใต้ ในอดีตก็เหมือนๆ บ้านเรา คือมีรัฐประหาร มีการนิรโทษกรรม มีการวางตำแหน่งคณะรัฐประหารไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายเกิดการโต้เถียงกันในสภาว่า ควรล้มเลิกผลของการรัฐประหารไป สุดท้ายแล้ว คนที่ทำรัฐประหารครั้งนั้นถูกจับมาดำเนินคดีหมด ถามว่าเราไปถึงตรงนั้นหรือไม่ และต้องดูกระแสสังคมด้วย

ข้อเสนอของ อ.ปิยบุตร ส่วนตัวเห็นด้วยทุกข้อ แต่ถามว่ายังเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้หรือในปัจจุบันหรือไม่ ถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะในอนาคต หากรัฐบาลเปลี่ยนหรืออะไรเปลี่ยน ผ่านไป 5 ปี ประชาชนเกิดนึกออกแล้วว่าผลของการรัฐประหารไม่ดี เลวร้าย คนที่ผิดก็ไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้ ก็อาจมีการเรียกร้อง หรืออาจให้ทำตามข้อเรียกร้องของอ.ปิยบุตรก็เป็นได้ ซึ่งข้อเสนอของ อ.ปิยบุตร นอกจากจะใช้กลไกของสถาบันทางการเมืองแล้ว ยังใช้กลไกภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันด้วย

ส่วนในข้อ 4 ที่กล่าวถึงการเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆ ต่อการรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนนั้น จริงๆ ตรงนี้เหมือนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เดิม ซึ่งเป็นสิทธิในการต่อต้านการได้อำนาจนอกระบบ แต่ของไทยมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกัน ถามว่าควรจะมีหรือไม่ ก็ควรต้องมี แต่ต้องไม่ลืมว่าในปัจจุบันตามความเป็นจริงแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คสช.มีกองเชียร์อยู่ค่อนข้างเยอะ

อย่างที่บอกว่า นอกจากอาศัยกลไกทางสถาบันทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ต้องเป็นองค์กรที่ยืนหยัดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รัฐสภาหรือรัฐบาลเองต้องเข้มแข็งพอที่ไม่ยอมให้อำนาจของกองทัพเข้ามาครอบงำ ในข้อเสนอของ อ.ปิยบุตรมีข้อหนึ่งที่กล่าวว่า ต้องให้รัฐบาลพลเรือนนำกองทัพ เพราะฉะนั้นตัวกองทัพเองต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ไม่ใช่ต้องมาแก้ปัญหาในยามวิกฤต ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะกองทัพมีหน้าที่ทำตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลพลเรือน ตามหลักต้องเป็นเช่นนี้ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะไม่มีปัญหาการรัฐประหาร แต่ตอนนี้บทบาทของกองทัพเลยเถิดไปแล้ว


โอฬาร ถิ่นบางเตียว

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

อ.ปิยบุตรเสนอในหลักการทางนิติศาสตร์ พยายามวางกติกาเชิงสถาบันของรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะให้รัฐธรรมนูญมีความยั่งยืน เป็นสถาบันทางการเมืองและป้องกันกระบวนการรัฐประหาร

แต่สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ คสช.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้อาจไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เพราะ 1.สถานการณ์ทางการเมืองที่ คสช. มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

2.ข้อเสนอนี้มีฐานวิชาการรองรับ แต่ไกลจากชีวิตจริงของชาวบ้าน แรงสนับสนุนสำคัญต้องคำนึงถึงประชาชนจำนวนมากในประเทศที่มีความหลากหลายและแตกต่าง แน่นอนคนในประเทศส่วนหนึ่งมีความรู้และรับรู้สิ่งที่ อ.ปิยบุตรนำเสนอ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากคิดเรื่องปากท้องนโยบายที่ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ แก้ปัญหาหนี้สินความเหลื่อมล้ำ ประเด็นเหล่านี้น่าจะจับต้องเป็นรูปธรรมสำหรับเสียงส่วนใหญ่ในประเทศได้มากกว่า ทำให้ข้อเสนอนี้มีหลักการรองรับก็จริง แต่อาจไกลจากการรับรู้ชาวบ้าน และไม่สอดคล้องสถานการณ์ทางการเมืองที่ คสช.มีอำนาจในรัฐธรรมนูญ

หากทำหลังจากมีรัฐบาลปกติ ต่อเมื่อไม่มี คสช.อยู่แล้ว ผ่านบทเฉพาะกาล ให้กระบวนการเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตยระดับหนึ่งน่าจะเริ่มต้นทำได้ แต่ถ้าทำในสถานการณ์ที่ คสช.ยังมีอำนาจภายใต้บทบัญญัติเฉพาะกาล คิดว่าไม่สามารถทำได้แน่

ส่วนข้อเสนอเช่นนี้มีโอกาสทำให้การตั้งพรรคไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่นั้น มีโอกาสมาก เพราะตอนนี้มีการใช้วิธีการดิสเครดิตทางการเมือง ดูจากกรณีอดีต กกต.สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ว่านำมาสู่การมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ สร้างความแตกแยกวุ่นวาย โดยเฉพาะข้อเสนอที่ทำให้สถาบันหลายอย่างโดนลดทอนอำนาจลง สามารถสร้างเป็นเงื่อนไขได้หมด ในบรรยากาศที่อำนาจทางการเมืองไม่ได้เป็นปกติ แต่อยู่ที่กลุ่มอำนาจบางกลุ่มคือทหารที่ใช้อำนาจนิยม สามารถสร้างเงื่อนไขได้ บวกกับโลกโซเชียลที่พร้อมบิดเบือนโยงประเด็นอื่นได้

ข้อเสนอ อ.ปิยบุตรที่บอกว่า แก้รัฐธรรมนูญให้ชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ต่อต้านการรัฐประหาร หรือการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน เป็นนามธรรมมาก เป็นการเสนอแบบอุดมคติ ห่างไกลความเป็นจริง จะไปถึงจุดนั้นได้ต่อเมื่อมีจิตสำนึกทางการเมือง มีอุดมการณ์ทางการเมือง และเข้าใจเรื่องสถาบันทางการเมืองลึกซึ้งกว่านี้ แต่คนส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญเรื่องปากท้องอยู่ เป็นข้อเสนอที่อุดมคติมากจนเกินไป มีร่องรอยของอุดมการณ์ความใฝ่ฝัน แต่ขาดลอยจากความเป็นจริงของสังคม

ข้อเสนอ อ.ปิยบุตรถือวาไม่แรงในเชิงหลักการ แต่ไม่ลงตัวกับประวัติศาสตร์อำนาจนิยมของไทย ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นระบอบการเมืองใดก็ตามแต่ แต่เนื้อแท้อยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมและอิทธิพลทางการเมืองของสถาบันหลักเหล่านี้ เช่น กองทัพ มีอำนาจไม่เป็นทางการในสังคมไทย ไม่ว่าอยู่ในระบบใด เนื้อแท้ของระบอบการเมืองคือระบอบอำนาจนิยม ประวัติศาสตร์เราเป็นแบบนี้ จึงเป็นข้อเสนอที่ไปกระแทกโครงสร้างอำนาจเดิม เลยรู้สึกแรงในความรู้สึกคนไทยหรือภาพรวมสังคม

ที่ว่าไม่แรงในเชิงหลักการนั้นถูกต้อง สิ่งที่ อ.ปิยบุตรพูดนั้นถูกต้องทั้งหมดในเชิงหลักการ แต่ในบริบททางประวัติศาสตร์อำนาจและการเมืองเราไม่เคยเจอแบบนี้ จึงมีความรู้สึกที่แตกต่างกันได้

เข้าใจจุดยืนของ อ.ปิยบุตรในฐานะนักกฎหมายที่ต้องการสร้างกฎหมายที่มีธรรมาภิบาล มีความเป็นธรรม แต่เราต้องสร้างประชาธิปไตยจากปัญหาปากท้อง ปัญหาเรื่องสวัสดิการ โครงสร้างสังคม แรงงาน หนี้สิน ที่เป็นผลพวงจากความล้มเหลวของการเมืองในอดีต คิดว่าจะทำให้มีคนให้ความสนใจพรรคมากกว่าในสถานการณ์ตอนนี้ และหลังมีการปฏิรูปขับเคลื่อนนโยบายเชิงปากท้อง ในปัญหาที่เป็นรูปธรรมของชาวบ้าน แล้วค่อยชวนชาวบ้านทำในสิ่งที่ไกลจากตัวเขา คือการจัดระเบียบโครงสร้างทางการเมืองน่าจะดีกว่า


ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ข้อเสนอของนายปิยบุตร ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะจะทำให้ คสช.ไม่สามารถสืบทอดอำนาจต่อในอนาคต โดยข้อเสนอดังกล่าวนั้นก็จะไปสอดรับแนวทางการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ของนายปิยบุตรที่ไม่ต้องการให้ คสช.วางอำนาจของตนเองผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 10 ฉบับ กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กฎหมายการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงแนวคิดดังกล่าวทำได้ไม่ครบทุกข้อ เอาแค่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องทำยาก ในทางตรงกันข้ามอาจทำได้บางเรื่อง บางประเด็นที่ยังพอทำได้ เช่น ทบทวน แก้ไข ยกเลิกคำสั่ง คสช.เป็นต้น

ความพยายามแก้ไขมรดกของ คสช.ไม่ให้สืบทอดอำนาจนั้น เป็นแนวคิดที่ดี ถ้าทำได้จริง จะทำให้การเมืองเปลี่ยนไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้จริงๆ มากขึ้น แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องดูบริบทของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วย คงต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image