สูตรพิสดารตั้งรัฐบาล

สูตรพิสดารตั้งรัฐบาล

เลือกตั้งยังไกลอีกร่วมปี แต่โดยที่แนวรบภายใต้รหัสการเปลี่ยนผ่าน ครั้งแรกนับแต่รัฐประหาร-ยาวนาน

เป็นการสู้ชิงอำนาจในบริบทที่กว้าง ลึก ซับซ้อนกว่าการเลือกตั้งธรรมดา

การคืนอำนาจในลักษณะพิเศษยิ่งกว่าครั้งใดๆ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

Advertisement

มองทะลุถึงโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ สูตรรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้ง

พรรคประชาธิปัตย์หงายไพ่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม่ทัพใหญ่ ล็อกเสียง ส.ส.-สมาชิกห้ามแตกแถว ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคเท่านั้น

พูดถูกต้องในเชิงหลักการเป็นที่ยิ่ง

Advertisement

หากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชูใครก็ตามเป็นนายกฯ ก็ต้องออกไป ย้ายอยู่พรรคอื่น

พรรคอื่นที่มีอยู่ดาษดื่น

ทั้งพรรคการเมืองในสารบบเดิม กลุ่มการเมือง-พรรคการเมืองใหม่ ที่ประกาศชูบิ๊กตู่คัมแบ๊ก กลับมาสืบทอดเก้าอี้นายกฯอีกครั้ง

พรรคมากด้วยกำลังภายนอก-กำลังภายใน

พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นกำลังสำคัญผลักดันก่อร่าง มีอุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นแกนนำ

มีให้เลือกมากพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนระดับหนึ่ง ถึงมองย้อนหลัง ปมตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร หรือการเคลื่อนไหวชัตดาวน์ จะสวนทาง เสียรังวัด

แต่วันนี้ท่าที-จุดยืนชัด

อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนเผด็จการ

ส่วนเพื่อไทยนั้น ไม่ต้องพูดถึงน้ำกับน้ำมัน คลิกเข้ากันไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง กับพรรคแนวร่วม คสช. ที่มีอุดมการณ์ไม่เสียของ เนื่องจากเป้าหมายมุ่งเอาชนะ รื้อทำลายเพื่อไทยให้พังพาบราบคาบ

อย่างไรก็ตาม ความที่การเลือกตั้งนั้น ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

มองจากตัวเลขสถิติฐานเสียงเดิม เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ยังยิ่งใหญ่ เป็นพรรคมือวางอันดับ 1, 2

มองเทียบจากเนื้อหาการบริหารประเทศ ฝีมือประชาธิปัตย์มิได้เป็นรองรัฐบาล คสช.

เพื่อไทยยิ่งไม่ต้องพูดถึง การชนะเลือกตั้งทุกครั้งเป็นคำตอบได้อย่างดี

ฉะนั้นแม้พรรคใกล้ชิดของกลุ่มขั้วอำนาจได้เปรียบบางประการ

แต่ผู้กำหนด ตัดสินแพ้-ชนะคือประชาชน

อิทธิพล-อำนาจอาจช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นมีนัยสำคัญ ล็อกผลเลือกตั้งได้

ที่น่าสนใจ จับตาก็คือว่า หาก 2 พรรคนี้ กวาด ส.ส.รวมกันเกินครึ่ง ของเก้าอี้เลือกตั้ง 500 ที่นั่ง

ตามธรรมเนียม ความชอบธรรมของการเป็นแกนนำรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ต้องอยู่ที่พรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หากพรรคเพื่อไทยมาที่ 1 (เลือกตั้งล่าสุดปี 2554 ในระดับ 265 เสียง ประชาธิปัตย์อันดับสอง 159 เสียง) แต่รู้ข้อจำกัด อุปสรรคการรวบรวมเสียง ให้เกินกึ่งหนึ่งหรือ 375 เสียงของสมาชิกรัฐสภา (รวม ส.ว.ลากตั้ง 250 คน)

หากเพื่อไทยถอย เปิดทางพรรคอันดับ 2

สนับสนุน “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ

ประชาธิปัตย์จะตัดสินใจทุกขลาภนี้อย่างไร

ในเมื่อประกาศจุดยืนไม่สังฆกรรมเผด็จการ ในเมื่อสมาชิกบางส่วนเห็นว่า หากจะให้จับมือเพื่อไทย ขอหันหลังให้ กลับไปสนับสนุนบิ๊กตู่ดีกว่า

ประชาธิปัตย์ลงตกอยู่ในสภาพอิหลักอิเหลื่อ ตัดสินใจลำบาก

ขยับซ้าย-ขยับขวา มีผลดี-ผลเสียด้วยกันทั้งสิ้น

ถ้าเอียงขวา เสียง ส.ส.ในระดับ 125 อัพ (ตัวเลขปี 2554) บวก 250 ส.ว.มากพอ หนุนส่งบิ๊กตู่คัมแบ๊ก

แต่ปัญหาคือจุดยืนค้ำคอ

แต่หากเอียงซ้าย แม้ในเชิงหลักการ ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ ไม่ขอรับการสนับสนุนจาก ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจ เลือกเป็นตัวแทน แต่อาจต้องมีคำอธิบายสมาชิก แฟนคลับให้เข้าใจ

ทั้งหมดนี้เป็นแค่เรื่องสมมุติ สูตรตั้งรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้ง

แค่สมมุติ ทางที่จะเป็นไปได้ก็ชวนให้ติดตามการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง

การเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของไทย

ที่ไม่เพียงแต่ “เพื่อไทย” เจอโจทย์หิน ฝ่าด่านคัมแบ๊กยาก หากแต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ-พรรคแนวร่วม คสช.ต่างก็เผชิญวิบากกรรม

มีข้อได้เปรียบ แต่ก็มีข้อเสียเปรียบ คนละอย่างสองอย่าง

รวบหัวรวบหาง สืบทอดอำนาจไม่ง่าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image