วิพากษ์ ม.44 แนะใช้ให้น้อย ระวังอนาคต-มีสิทธิโดนฟ้อง

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาต่างๆ อีกครั้ง อาทิ ระงับการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลังจากไม่ใช้มาระยะหนึ่ง


 

ยอดพล เทพสิทธา

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผมมองว่าการใช้มาตรา 44 มาแก้ไขกฎหมายที่ตนเองร่างขึ้นมามันสะท้อนอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการร่างกฎหมายขึ้นมาจะผิดพลาดมากหรือน้อย พวกคุณก็มีอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 มาใช้ค้ำหัวไว้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงร่างกฎหมาย แบบขอไปที ทำให้จบๆ ไป มันทำให้กลไกร่างกฎหมายต่างๆ ขาดความรอบคอบ เมื่อมีปัญหาขึ้นมา เอะอะมีอะไรก็ใช้มาตรา44 ตลอด ขอยกตัวอย่างกรณีร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ว. ขึ้นมาพอรู้ว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งการที่ทำแบบนี้มันคือ การเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าตัวเองชัดๆ

ทั้งนี้ บางทีการออกกฎหมายมากก็ไม่ได้แปลว่ากฎหมายจะมีประสิทธิภาพมากนัก ถ้าเทียบกับสมัยมี ส.ส. แม้ว่าจะออกกฎหมายน้อย แต่มันใช้ได้จริง ก็จะมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ

Advertisement

ขณะเดียวกันใช้อำนาจตรงนี้มาแก้ไขปัญหา และมันก็จะกระทบกับหลักความมั่นคงของกฎหมาย ใช้มาตรา 44 มายกเลิกกฎหมายฉบับนั้น กฎหมายฉบับนี้จะทำให้หลักดังกล่าวมันใช้ไม่ได้จริง ผลที่ตามมาก็คือวันนี้เรามีกฎหมายแบบนี้แล้วถ้าพรุ่งนี้ใช้มาตรา 44 ยกเลิก หลักความมั่นคงทางกฎหมายก็จะไม่มี ซ้ำร้ายประชาชนจะใช้อะไรเป็นหลักเป็นฐานไม่ได้เลย

ผมคิดว่ามาตรา 44 ขาดการควบคุม เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งจะมีผลเสียของมันอยู่แล้ว เราไม่สามารถฝากชีวิตฝากความหวังไว้กับคนคนเดียวได้เลย เพราะเราต้องเดาตามอารมณ์ว่าเขาจะดี หรือไม่ดี เราไม่รู้เลย อย่างเมื่อวานนายกฯยิ้มแป้นเลย เพราะได้พบกับศิลปินสาว BNK48 ฉะนั้นเราจะฝากความหวังไว้ที่คนคนเดียวไม่ได้

ดังนั้น ทางที่ดีควรจะกลับไปสู่ระบบปกติ สนช.ต้องทำหน้าที่ร่างกฎหมายด้วยความละเอียดรอบคอบ มากกว่านี้ ถ้าเป็นแบบนี้ได้ การใช้มาตรา 44 จะไม่มีความจำเป็นเลย เพราะมันไม่มีความจำเป็นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว


 

ชาติชาย ณ เชียงใหม่
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

การใช้มาตรา 44 ในเบื้องต้น ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหาใน 2 สาเหตุคือ 1.ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรค หรือ ข้อจำกัดทางกฎหมาย อาทิ กฎหมายฉบับนั้นอาจเขียนให้มีการปฏิบัติได้ยาก หรือกฎหมายฉบับนั้น อาจเขียนไม่สัมพันธ์กับความทันสมัยในเทคโนโลยีปัจจุบัน และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองก็ต้องใช้อำนาจมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขในส่วนนี้ และ 2.ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคเรื่องข้อจำกัดทางพฤติกรรมของคน อาทิ กรณีทุจริตทางราชการ หรือ กรณีแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อไม่ให้ภาครัฐและประเทศเสียหายในภาพรวมมากไปกว่านี้ คสช.ก็จะใช้มาตรา 44 เข้ามาออกคำสั่งเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 44 จะต้องเป็นไปด้วยความจำเป็น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คสช. มีอำนาจก็จะใช้ แต่จะต้องใช้บังคับไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่า ต้องใช้เพื่อความจำเป็น และตรงต่อเงื่อนไขที่จะแก้ไขปัญหา

ส่วนกรณีล่าสุด ที่ คสช.ใช้มาตรา 44 หยุดระงับการสรรหา กสทช. นั้น ส่วนตัวเข้าใจว่า การสรรหานั้นอาจมีข้อจำกัด หรือ เงื่อนไขทางกฎหมาย เช่น คุณสมบัติในทางปฏิบัติที่อาจจะไม่ได้คนที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการจริงๆ คสช.จึงใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากกว่าเดิม

ทั้งนี้ ถ้าถามว่าปัจจุบัน ตัวกฎหมายมีปัญหาหรือไม่นั้น ในทางทฤษฎีไม่มีกฎหมายใดที่เขียนได้สมบูรณ์แบบ หรือ เพอร์เฟกต์ กฎหมายทุกฉบับจะต้องมีอุปสรรค หรือ มีข้อผิดพลาดในตัวกฎหมายเองที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลงกัน ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดใดก็ตาม เพียงแต่ คสช.ในช่วงนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แล้วมาใช้มาตรา 44 ในทางกฎหมายเพื่ออุดรูรั่วของปัญหา ช่วยยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสรรหา กสทช.

ดังนั้น คสช.จึงใช้มาตรา 44 ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ส่วนตัวถ้าถามว่าไม่ใช้มาตรา 44 เลยจะดีกว่าหรือไม่ ผมคิดว่าดีกว่าอยู่แล้ว แต่ปัญหามันก็มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลา สิ่งที่กังวลคือหากหมดยุคแล้วไม่มีมาตรา 44 สังคมไทยจะต้องเรียนรู้การออกกฎหมายที่ถูกต้องตามกระบวนการ

ผมเกรงว่าสังคมไทยจะเสพติดมาตรา 44 โดยเฉพาะกับผู้มีอำนาจ ทั้งที่คนไทยควรได้เรียนรู้กระบวนการออกกฎหมายตามปกติ มิเช่นนั้น เกรงว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาที่จะทำให้ผู้คนไม่ปรับตัวเข้ากับกระบวนการแก้ปัญหาตามลำดับที่ถูกต้อง และหากเป็นไปในลักษณะนี้ก็จะไม่ดีต่อสังคมไทย ผมอยากให้ปล่อยให้เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องของสังคมดำเนินการตามกระบวนการอย่างตรงไปตรงมามากกว่า


 

รศ.ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

มาตรา 44 เป็นหลักยกเว้นของกฎหมาย การใช้หลักยกเว้นต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบฉบับชั่วคราวปี 57 บัญญัติเอาไว้ว่า จะไม่มีความรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง ทางปกครอง และเป็นการใช้อำนาจทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ถือได้ว่าเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และปราศจากการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังจะเห็นว่าหลังจาก ม.44 ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ปี 60 แล้ว ยิ่งมีการใช้ ม.44 มากขึ้น

ส่วนใหญ่การใช้ ม.44 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ในกระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องทางปกครอง แต่ในทางตรงกันข้ามการตรวจสอบคำสั่งทางปกครองเหล่านี้กลับไม่สามารถทำได้ เพราะมี ม.44 ที่ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญค้ำเอาไว้อยู่ ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่คิดว่าในอนาคตจะเกิดผลกระทบมาก

ในกรณี กสทช. และทีวีดิจิทัลจะเห็นว่า กสทช.ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเรื่องของการเลือก กสทช.ชุดใหม่ ดังนั้นการใช้ ม.44 ที่มากเกินไปและมาเกี่ยวข้องกับเรื่องสัมปทาน เกี่ยวข้องกับบรรดาทีวีดิจิทัล จะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา

ตรงนี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องการตั้งสเปกได้ เพราะคล้ายกับเรื่องของ กกต.ที่ไม่ผ่านเพราะกำหนดสเปกเทพ แม้จะมีสเปกเทพแล้ว กรรมการสรรหาก็พยายามที่จะหาคนให้ผ่านบรรดาคุณสมบัติเหล่านี้ขึ้นมา

แต่สุดท้ายก็ถูกคว่ำใน สนช. สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะกำหนดสเปกเทพก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างเดินไปอย่างราบรื่น และหลังจากนี้เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกกับบรรดาองค์กรอิสระต่างๆ

ถามว่าจะทำให้เกิดการเสพติดการใช้ ม.44 ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือไม่ สังคมไทยเรามีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ชอบความรวดเร็ว ความเด็ดขาด เฉียบพลันในการแก้ปัญหาอย่างทันที ซึ่งนั่นไม่ใช่ทางออกอย่างแท้จริง

ทางออกที่แท้จริงคือการที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และไม่ส่งผลกระทบไปสู่อนาคต ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เสพติดการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการแบบอำนาจนิยม คิดว่าถ้าเราต้องการเดินหน้าสู่สังคมประชาธิปไตยต้องปรับวิธีคิดเหล่านี้ใหม่

อย่างไรก็ตาม การใช้ ม.44 มีข้อดีคือ ทำให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา สามารถปลดล็อกปัญหาหลายๆ อย่างที่ติดขัดได้ แต่ข้อเสียคือ ม.44 เป็นข้อยกเว้นของตัวบทกฎหมาย เมื่อเป็นข้อยกเว้นและเป็นการใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งจะผิดหลักนิติธรรมในระยะยาว

การผิดหลักนิติธรรมเหล่านี้จะกระทบต่อความมั่นคงในหลักกฎหมาย และทำให้หลักกฎหมายปั่นป่วน

โดยมีข้อเสนอคือ ควรใช้ ม.44 ให้น้อยที่สุด หรือแทบจะไม่ควรใช้เลย เพราะเรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่แล้ว อำนาจเหล่านี้ต้องถูกใช้ในเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น


 

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

มาตรา 44 ถือเป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือการรัฐประหาร เมื่อยึดอำนาจเข้ามาแล้วและใช้มาตรานี้โดยใช้อำนาจแบบเด็ดขาด อีกทั้งมาตรานี้ไม่ผ่านการพิจารณาของสภา ไม่ผ่านการพิจารณาของประชาชน ไม่มีใครมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบ แม้แต่แสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้ หรือแสดงไปแล้วอาจไม่ฟังก็ได้

เพราะฉะนั้นนี่เป็นกฎหมายที่ออกมาในลักษณะเสี่ยง ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจใช้อำนาจสั่งการตามมาตรานี้ แม้จะมีคณะทำงานที่เป็นนักกฎหมายหรือผู้เชี่ยวชาญก็ตาม แต่การไม่ฟังเสียงใครเลย หรืออาจเลือกฟังเฉพาะบางคน บางกลุ่ม

อย่างในเรื่องนี้ที่ออกมาตรการช่วยอุ้มทีวีดิจิทัล คำถามคือ การช่วยอุ้มทีวีดิจิทัลนั้นอุ้มอย่างไร ใช้เงินด้วยหรือไม่ ถ้าใช้เงินก็เอาภาษีอากรไปอุ้มใช่ไหม กลายเป็นว่าประกอบธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดความล้มเหลว คนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันอุ้มหรือไม่

เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ไม่มีใครมีโอกาสไปแสดงความเห็นหรือคัดค้าน นี่ไม่ได้เป็นประเด็นว่าเขาใช้อำนาจ ม.44 แบบพร่ำเพรื่อหรือไม่ เพราะประเด็นพร่ำเพรื่อคิดว่าไม่ใช่ประเด็นที่แท้จริง แต่ที่แท้จริงคือมาตราที่นำมาใช้นี้ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว

คิดว่าเขามีกฎหมายอยู่แล้ว คือกฎหมายของ กสทช.เอง แต่อาจมีปัญหาตรงที่กฎหมายที่มีอยู่เข้าไปช่วยอุ้มไม่ได้ ถ้าอุ้มก็ผิดหลัก เพราะคุณประมูลเข้ามา เข้ามาทำแล้วธุรกิจไม่เป็นอย่างที่วางแผนไว้ ประสบความล้มเหลว แล้วให้รัฐบาลอุ้ม

เพราะฉะนั้นการใช้ ม.44 เข้าใจได้เลยว่ากฎหมายปกติเท่าที่มีอยู่ช่วยอุ้มไม่ได้ แล้วการเข้าไปอุ้มนั้นถูกต้องหรือไม่ ในเมื่ออุ้มแล้วภาระตกอยู่กับใคร รัฐบาล ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็สามารถเข้าไปอุ้มใครต่อใครก็ได้ ทุกเรื่องที่ทำอ้างว่าใช้อำนาจของตัวเอง แต่ความจริงแล้วใครเป็นคนจ่ายเงิน ส่วนตัวคิดว่าไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก

ไม่ได้มอง ม.44 ในแง่ร้ายทั้งหมด ข้อดีอาจอยู่ที่นำมาใช้ในความจำเป็นเร่งด่วน เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งถ้าไม่รีบจัดการแล้วอาจล่มสลายขึ้นทันทีทันใด อาจใช้มาตรการอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าใช้มาตรการตามวิถีทางปกติอาจช้าไม่ทันการณ์ มันดีตรงนี้เท่านั้น

แต่คำถามคือปัญหาของทีวีดิจิทัลเป็นปัญหาของประเทศชาติแค่ไหนอย่างไร เรื่องที่สรรหามา กสทช.มาแล้ว แต่คุณสมบัติไม่เพียงพอนั้น ถามว่าผู้สรรหาเลือกมาได้อย่างไร ปัญหาน่าจะอยู่ตรงที่ผู้สรรหาเข้ามาไม่ได้สเปกตามที่ผู้มีอำนาจต้องการหรือไม่

กรณีการสรรหาเข้ามาแล้วคนที่ได้รับการสรรหามาไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ คิดว่าเรื่องนี้กรรมการสรรหาถือเป็นผู้กระทำความผิดด้วย คุณไปสรรหาคนที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายเข้ามาได้อย่างไร

ถามว่าหากบ้านเมืองเป็นปกติ ผู้ได้รับผลกระทบจาก ม.44 สามารถฟ้องกลับได้ไหม มองจากสภาพการณ์ที่เป็นในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการนิรโทษเรียบร้อยแล้ว เขาจะใช้อำนาจอย่างไรก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นนั้น

หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังบังคับใช้ต่อไป ใครจะฟ้องเขา เขาก็อ้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ว่าที่กระทำไปนั้นเป็นไปโดยชอบทุกอย่าง ไม่ได้ทำอะไรผิด ฟ้องร้องไม่ได้

แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญขึ้น มีการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารเหมือนที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ ถ้าสิ่งนั้นสามารถทำได้ และมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา มีบทบัญญัติให้ลบล้างผลพวงรัฐประหารด้วย นั่นคงฟ้องร้องได้

แต่ที่สำคัญคือต้องมีการลบล้างผลพวงรัฐประหารให้หมดเสียก่อน แต่รัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image