“เซ็ตซีโร่สมาชิก” กับกลยุทธ์บอนไซพรรค ในสถานการณ์ “ดึง-ดูด-บีบ”

ครบเดดไลน์ไปเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา กับการเปิดให้สมาชิกพรรคเก่ามายืนยันว่าจะ “อยู่ต่อ” หรือ “ย้ายหนี” จากพรรคต้นสังกัด ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 53/2560

ในทางการเมืองถือว่าประสบผลสำเร็จในบันไดขั้นที่ 1 ที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง แม้จะไม่ได้เป็นการเซ็ตซีโร่พรรคโดยตรง ไม่ถึงขั้นให้พรรคเก่าต้องมาจดทะเบียนตั้งพรรคกันใหม่

แต่การรีเซ็ตสมาชิกพรรคในครั้งนี้ก็ได้ผลตามเป้าหมายของผู้มีอำนาจ ที่เป็นผู้คุมกฎและกติกา เพราะยอดสมาชิกทุกพรรค ทั้งพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคเล็ก ลดลงกันถ้วนหน้า จากยอดเดิมแตะหลักล้าน หลักแสนคน เหลือเพียงยอดหลักพัน หลักหมื่นคน

แน่นอนเมื่อตัวเลขสมาชิกพรรคลดลง ย่อมสร้างความยุ่งยากถึงขั้นอาจเป็นปัญหาให้กับพรรคการเมืองที่้คิดจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ให้ครบทั้ง 350 เขต

Advertisement

ตามมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้มี ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว นับทุกคะแนน ในระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เพื่อไม่ให้คะแนนไม่ตกน้ำ
ยิ่งหากพรรคใด ตั้งเป้าจะส่งผู้สมัครส.ส.ให้ครบทั้ง 350 เขต จะต้องมีสมาชิกพรรคในตัวเลขกลมๆ ระดับที่ปลอดภัย เผื่อเหลือ เผื่อขาด ไม่ต่ำกว่า 53,000 คน

เพราะมีไฟท์บังคับว่าจะต้องทำไพรมารีโหวต คัดเลือกผู้สมัครส.ส.ในแต่ละเขต ที่จะต้องใช้เสียงสมาชิกพรรคเขตละ 100 คน โหวตคัดเลือกบุคคลที่พรรคจะส่งลงชิง ส.ส.ในเขตนั้นๆ ตามที่พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดไว้

หลายพรรคที่ยังหาสมาชิกพรรคได้ไม่ครบ ในจำนวนที่ปลอดภัยต่อการทำไพรมารีโหวต คงจะต้องรอลุ้นให้ “คสช.” ปลดล็อกเปิดให้ยืนยันสมาชิกพรรคอีกครั้ง

Advertisement

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

กูรูการเมืองได้แต่ฟันธงตรงกันว่า คงต้องให้ผู้มีอำนาจกุมความได้เปรียบในทุกด้านเสียก่อน สัญญาณ “ปลดล็อก” ทางการเมืองถึงจะดัง

แน่นอนยิ่งกติกาการเลือกตั้ง กำหนดออกมาเช่นนี้ ย่อมบีบให้ ผู้สมัครส.ส.ของแต่ละพรรค ต่างต้องแย่งกันที่จะลงชิงชัยเป็น “ส.ส.เขต”

เพราะเป็นเก้าอี้ ส.ส.ที่จับต้องได้ มากกว่าเก้าอี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่จะต้องไปลุ้นกันในก๊อกสองว่า คะแนนที่แต่ละพรรคได้นั้น จะคำนวณออกมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้สักกี่เก้าอี้ ซึ่งต้องผันแปรกับเก้าอี้ส.ส.เขต ยิ่งได้ส.ส.เขตมาก ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะลดลง

น่าจับตาว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป หากเกิดขึ้นตามโรดแมปคือเดือน “กุมภาพันธ์ 2562”

แต่ละพรรคย่อมต้องทุ่มสุดตัว ในการสู้กับทั้งอานุภาพของกฎหมายพิเศษ ทั้งพลังดูด พลังดึง และพลังทุนมหาศาล เพื่อหวังปักธงเก้าอี้ส.ส.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image