มีเลือกตั้งแน่นะ

มีเลือกตั้งแน่นะ

จับสัญญาณ แกนนำระดับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล เคลื่อนไหวก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง
ด้วยการดูดกลุ่มการเมือง-อดีตส.ส.เข้าร่วมงานโดยตรง และเดินสายแตะมือ สร้างพันธมิตร เครือข่าย
เสริมฐานนั่งร้านให้แข็งแกร่ง เพื่อบรรลุเป้าหมาย

รวบรวมที่นั่งส.ส.ให้ได้มากที่สุด นำไปรวมกับเสียงส.ว.ลากตั้ง ผนึกเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา
ตามแผนยึดอำนาจบริหารต่อ ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย(ครึ่งใบ)
การที่บุคคลระดับแกนนำรัฐบาล เดินเกมทั้งในทางเปิดเผยต่อสาธารณะ และที่ไม่เป็นทางการ
ดูเหมือนว่า ช่วยสร้างความเชื่อมันให้เกิดขึ้นได้ระดับหนึ่งว่า การเลือกตั้งทั่วไป ตามโรดแมปฉบับใหม่ กุมภาพันธ์ 2562 เกิดขึ้นแน่นอน

เนื่องจากคนวงในใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ย่อมรู้ทิศทางแนวโน้มเป็นอย่างดี
จึงได้ตระเตรียมการ

Advertisement

หากจะไม่มีเลือกตั้ง คงไม่เคลื่อนไหว ทำกิจกรรมบนดิน-ใต้ดินให้เหนื่อยเปล่า สูญเสียทรัพยากรต่างๆ
แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่มีใครการันตีได้ 100%
ระบบนี้มันสามารถหักกลาง พลิกผันได้ทุกอย่างตลอดเวลา
ตัวอย่างมีให้เห็น

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ล้มคว่ำกลางสภา ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ กฎหมายลูกบางฉบับที่ออกมา
ตามหลัง รัฐธรรมนูญฉบับ 2 ปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการ ติดตัวหน่วง
ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป บางฉบับมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ก็ออกคำสั่งม.44 ล็อกไว้อีกชั้น มีการ
ล้มกระดานการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ด้วยเหตุผลการเมือง ฯลฯ
ร่างด้วยมือ ลบด้วยมือตลอด

โรดแมปเลือกตั้ง แม้ปักธงกำหนดเวลาไว้ชัดเจน เดือนกุมภาพันธ์ 2562
แต่ก็เป็นการปักธง ย้ายธงอย่างน้อย 4 ครั้ง ขยับเขยื้อนเลื่อนเรื่อยมา
สัญญาณที่ส่งตรงจากความเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมือง เดินสายสร้างเครือข่าย พันธมิตร
จับมือหนุน บิ๊กตู่ž คัมแบ๊ก

Advertisement

มองแบบโลกสวย มันคือมุมบวก ยืนยัน มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยอัตโนมัติ
แต่หากมองย้อนอดีตผ่านเรื่องที่ผ่านมามองด่านของจริง ที่รออยู่ข้างหน้า ก็จะพบว่าความแน่นอน คือความไม่แน่นอน

วันที่ 23 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย ลงมติร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่

คำตัดสินอาจออกได้ 2 ทาง นั่นคือ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกแนวก็คือขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งแบ่งได้เป็น
2 กรณี ขัดเล็กมิใช่สาระสำคัญก็นำกลับมาแก้ไขใหม่ คงใช้เวลาไม่นานนัก แต่ถ้าเป็นสาระสำคัญละก็
จะส่งผลให้ตกไปทั้งฉบับตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรค 3

หากออกทางนี้ ก็ต้องกลับไปนับหนึ่งร่างใหม่ ซึ่งนักวิชาการและอดีตกกต.ชี้ว่า ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
ไม่นับรวมข้อถกเถียงว่า ใครจะเป็นคนร่าง เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ กรณีกฎหมายตกไป
ทั้งนี้หากต้องร่างใหม่ ที่คำนวณไว้ว่าการยืดบังคับใช้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 90 วัน
เวลาที่ทดไว้ 3 เดือน จะครอบคลุมการตีความ การแก้ไข
วันเวลาก็ต้องล่วงเลยออกไป

อีกทั้งฉบับว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ก็อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ในคิววินิจฉัย ตัดสินต่อไป
ดังนั้นตราบใด ไม่จบครบ 4 ฉบับ ตามไฟต์บังคับต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน จึงไม่มีอะไรแน่ไม่นอนทั้งสิ้น
ปมการยื่นศาลนั้น ก็เป็นที่ถกเถียง ในมุมนักกฎหมายมีความเห็นต่าง เรื่องกำหนดจำนวนกลุ่ม
ผู้สมัครส.ว. วิธีการสมัคร และกระบวนการคัดเลือก บ้างเห็นว่าไม่ใช่สาระสำคัญ แต่มีผู้แย้งเห็นว่า
วิธีการได้มานั้นต้องเป็นสาระสำคัญแน่ๆ

หากฉบับส.ว.สะดุดข้อใหญ่ เวลาที่ทดไว้ไม่พอ
แนวโน้มจัดเลือกตั้งก็ต้องทอดยาวออกไปจากโรดแมปกุมภาฯ 62
และหากฉบับว่าด้วยเลือกตั้งส.ส.ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีขัดเล็กก็นำกลับมาแก้ไข แต่ขัดใหญ่ก็ยุ่งใหญ่อีก ต้องเริ่มนับหนึ่งกระบวนการร่างใหม่เหมือนกัน

กว่าจะเสร็จกระบวนการร่าง ขั้นตอนต่างๆ เพื่อนำมาสู่การบังคับใช้ รวม 90 วันเวลาขยาย
ทุกอย่างก็จะทอดยาว ไกลออกไปจากที่ปักธงไว้
150 วันก็อย่าได้หวังว่า ช้ากว่านั้นไม่ได้ แต่เร็วได้ เพราะพูดอย่างนี้มาไม่รู้กี่ครั้ง-กี่ฉบับแต่ไม่เคยเป็นจริง
ที่ฝ่ายฝักใฝ่ประชาธิปไตยวิตกเป็นที่ยิ่งก็คือ ถ้าอะไรต่อมิอะไรติดขัด เต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา-การวางยา
เลื่อนเลือกตั้งคงไม่เท่าไหร่

เผลอๆ จะไม่มีเลือกตั้งเอาด้วยซ้ำ
ระบบนี้อำนาจสามารถหักกลางได้ทุกอย่าง มิใช่หรือ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image