นักการเมือง-นักวิชาการ มองนัยยะ ‘บิ๊กตู่-เนวิน’ สัญญาณพิเศษที่บุรีรัมย์

หมายเหตุนักการเมือง นักวิชาการ มองปรากฏการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางลงพื้นที่และประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคมที่ผ่านมา


อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด

รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.)

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ ครม.สัญจรจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ เป็นอีกครั้งที่ภาพการทำกิจกรรมในลักษณะนี้ของรัฐบาล คสช.ถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ไป ครม.สัญจรกันถี่ขนาดนี้ มีอีเวนต์รองรับ ทำประชาสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการ ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่าการประชุมในทำเนียบหรือไม่ ประชาชนอาจจะอยากตั้งคำถามว่า เปิดทำเนียบดูดมันไม่ทันใจ ถึงต้องไปเดินสายลงพื้นที่เพื่อดูดกลุ่มการเมืองเข้าร่วมก๊วนเพิ่มหรือไม่ ถ้าตะโกน ลุงตู่สู้ๆ แล้วได้งบประมาณลงพื้นที่เพิ่มมากขึ้น แล้วจังหวัดที่ไม่มีโอกาสได้ตะโกน จะรู้สึกว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้าหรือไม่ เลยได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่ใกล้ชิดและเครือข่ายของตนก่อนหรือไม่

Advertisement

นี่คือวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ตามเสียงตะโกน ที่ปฏิรูปตามแนวทางของ กปปส.ที่เป่านกหวีดชัตดาวน์ประเทศหรือไม่ ระยะหลังๆ แข่งฟุตบอลคนยังไม่ค่อยเต็มสนาม แต่มารับ พล.อ.ประยุทธ์รถติดหลายกิโล เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นมาหรือไม่ แล้วต่อจากนี้พื้นที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไป มิต้องทำการอย่างหนัก หาวิธีต้อนรับให้แปลกใหม่ใหญ่ดังกว่า ถึงจะได้งบประมาณเพิ่มหรือไม่

รัฐบาลและเครือข่ายเอาอีเวนต์ทางการเมืองนำการแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนหรือไม่ รัฐบาลเปิดทำเนียบรับทีมละครบุพเพสันนิวาส มาช่วยโปรโมตงานรัฐบาลก็เอา แต่ที่บุรีรัมย์ การปรากฏตัวออกสื่อพร้อมกันของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าเป็นกลุ่มฟินจิกหมอน จะเห็นว่าอะไรก็สุดแท้ แต่คนที่ไม่อิน ไม่ติดยึดกับกระพี้หรืออีเวนต์การเมือง เห็นเป็นการเมืองโบราณย้อนยุค อาจบอกว่า ผีเน่ากับโลงผุหรือไม่ ประชาชนเห็นชัดเจนว่าในขณะที่รัฐบาล คสช.ทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่ไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง ไม่ให้ทำกิจกรรมใดๆ แล้วแบบนี้จะถือว่า การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการเลือกตั้งที่ free and fair เสรีและยุติธรรมหรือไม่


แฟ้มภาพ

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสิทธิที่จะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเดินทางไปได้ทุกที่ทุกภาคและทุกกลุ่มจังหวัด เพียงแต่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ไปหาเสียงด้วยหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่คนจะมอง ส่วนเรื่องภาพที่ออกมาว่าอาจมีการต่อรองทางการเมืองในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แล้วแต่ชาวบ้านหรือประชาชนเขาจะมองกัน ผมบอกได้แค่ว่า ที่นายกฯกำลังเดินหน้ากระทำอยู่นั้น จะทำให้ประเทศไทยได้การเมืองแบบเก่าๆ เดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพราะภาพที่เราเห็นเป็นภาพการเมืองแบบเก่าๆ เดิมๆ ไม่ใช่ของใหม่ที่ควรจะเป็น ไม่ใช่การปฏิรูปอย่างที่ คสช.อยากจะทำ แต่เป็นสิ่งที่ทุกอย่างนั้น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กระทำมาหมดแล้ว

เพียงแต่ช่วงนี้รัฐบาล คสช.จะทำได้ง่ายกว่า สมัยยุคนายทักษิณ ชินวัตร เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มีกำหนดห้ามทำหลายๆ ข้อในช่วงที่บ้านเมืองกำลังจะมีการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ รัฐบาล คสช.สามารถทำได้หมด แม้กระทั่งตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เปิดเผยชัดเจนว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนในหรือคนนอก เป็นสิ่งที่เขาทำได้ ถือเป็นการวางแผนของรัฐบาลที่วางมาเป็นอย่างดี ส่วนที่พรรคภูมิใจไทยต้อนรับนายกฯนั้น จะถูกมองว่า เป็นพรรคการเมืองที่ถูก คสช.ดูดหรือไม่นั้น คงแล้วแต่คนจะมอง ผมไม่อยากไปวิจารณ์ใคร ใครจะไปจับมือกับทหารหรือไม่ ยังไง ผมว่าอย่าไปวิจารณ์เขาเลย เอาเป็นว่า ผมรู้แค่ว่า ที่รัฐบาลทำอยู่นี่ เราจะได้การเมืองแบบเดิมๆ ไม่ได้สิ่งที่เรียกว่าปฏิรูปก็แล้วกัน


ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สุรินทร์-บุรีรัมย์ มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการเตรียมเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง เพียงแต่เราอาจจะยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนทางรัฐบาลและคนที่มีบทบาทในการวางแผนการเลือกตั้ง แต่การเดินสายแสดงตัว หรือเรียกได้ว่าไปพบปะประชาชน แสดงวิสัยทัศน์หรือข้อผูกพัน ก็เป็นในทำนองเดียวกันกับฝ่ายการเมืองที่เขาทำนั่นแหละ

ปกติรัฐบาลก็มีการเดินสายประชุม ครม.หลายครั้งหลายจังหวัด แต่เหตุที่ครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ผมมองว่าเพราะ จ.บุรีรัมย์ เป็นมุ้งใหญ่ ถ้าพูดกันตามจริงหลายครั้งบทบาทของการเป็นผู้จัดการรัฐบาลอยู่เบื้องหลังการจัดการรัฐบาลก็มีอยู่แค่ไม่กี่มุ้ง เพราะฉะนั้นการเดินสายในลักษณะนี้ด้านหนึ่งเป็นการแสดงแสนยานุภาพของรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามที่จะส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ว่าเขาอยู่ตรงไหนของการเมือง อันนี้เป็นธรรมชาติเพียงแต่จะพูดออกมาชัดเจนหรือเปล่า เหมือนอย่างที่พูดตลอดเวลาว่าในยุคสมัยที่การเมืองปกติก็พูดง่ายๆ ว่าคือการเดินสายหาเสียง แต่ในยุคนี้เราก็ไม่รู้ว่าตกลงจะหาเสียงหรือเพียงแค่ ครม.สัญจร

แล้วถ้ามองการเลือกตั้งในหลายครั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่าฐานของกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และแกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นฐานที่ค่อนข้างใหญ่ มีอำนาจการต่อรองสูง มีความเป็นปึกแผ่น การที่เดินทางเข้าไปเยี่ยมเยียนก็เป็นสัญญาณหนึ่งว่าจะเดินไปด้วยกันหรือเปล่า ผลจากที่ปรากฏต่อสื่อก็คงจะรู้คำตอบว่าทางนั้นเขายืนยังไง เขาจะอยู่กับใคร อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าค่อนข้างชัดเจนโดยที่ไม่ต้องเปล่งวาจา แต่สุดท้ายมันชวนให้เราอดคิดไม่ได้ว่าที่เจ้าบ้านบอกว่า เสียงดังๆ หน่อยไม่งั้นงบหาย งั้นนี้เป็นเรื่องที่จะขำแต่ก็ขำไม่ค่อยออกเท่าไหร่

ท่าทีของนายเนวิน ชิดชอบ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ผมไม่ค่อยผิดคาด เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าการรัฐประหารครั้งก่อน นายเนวินก็โดนอุ้มอยู่ เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างชัด


นันทนา นันทวโรภาส

นันทนา นันทวโรภาส

คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

เห็นได้ชัดเจนว่าสถานที่ที่นายกฯไปพบปะประชาชน คือสถานที่ของนักการเมือง ที่ช้างอารีน่าเป็นพื้นที่ของนายเนวิน ชิดชอบ อยู่แล้ว นักการเมืองเจ้าของพื้นที่ต้องการแสดงแสนยานุภาพให้เห็นว่ามีมวลชนให้การสนับสนุนมากมาย น่าจะเป็นการเร่งระดมกันมาให้เต็มสนามกีฬา เลยมีคนมามากมาย ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เพราะไม่ใช่การแข่งบอลนัดพิเศษ ถึงจะได้มีคนมากมายอยากจะไปตรงจุดนั้น

ก่อนหน้านี้ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า นายกฯมีใจที่จะไปชักชวนนายเนวินให้เข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่อไปในอนาคต เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน การที่นายกฯเจาะจงไปพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ไปที่ช้างอารีนา ไปพบแกนนำของพรรคภูมิใจไทย ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการแสดงถึงความเป็นพันธมิตร ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ด้านหนึ่งนายกฯได้พวกที่จะเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทย ทั้งนายเนวิน และนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เหมือนจะได้เป็นพันธมิตรกับรัฐบาล โอกาสที่จะได้ประโยชน์จากการนำงบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ก็ง่ายขึ้น มีโอกาสมากที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับรัฐบาล ณ ขณะนี้

ที่นายเนวินออกตัวว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองก็คงจะพูดไปได้ เพราะเวลานักการเมืองทำอะไรเป็นการกระทำผ่านสื่อ เราถือว่าเป็นการสื่อสารทางการเมืองอยู่แล้ว การเคลื่อนขยับคือการสื่อสารทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดพื้นที่ให้นายกฯได้ปราศรัยกับมวลชนในจังหวัดพื้นที่ของตัวเอง ถือเป็นนัยยะทางการเมืองที่จะสื่อแสดงให้เห็นว่ามีความผูกพันและเป็นพันธมิตรกันอย่างชัดเจน

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดกับคนจังหวัดบุรีรัมย์เป็นการสื่อสารของนักการเมืองอย่างชัดเจน การที่พูดว่า วันนี้ท่านผูกเสี่ยวผมถึงคอแล้ว ผมต้องเป็นครอบครัวเดียวกับท่าน แปลว่าเป็นพวกเดียวกัน ลักษณะของการสื่อสารแบบนี้ เกิดขึ้นมาให้เห็นระยะหลังๆ ที่นายกฯเริ่มพูดเพื่อสร้างคะแนนนิยม เรียกร้องความศรัทธา ทำให้คนอยากจะเข้ามาร่วมกิจกรรมกับรัฐบาล แตกต่างจากตอนที่เริ่มเข้ามารับตำแหน่งนายกฯในปี 2557 โดยสิ้นเชิง อันนี้ก็เป็นนัยยะในเชิงการสื่อสารเพื่อสร้างคะแนนนิยมหรือเรียกว่าการหาเสียงนั่นเอง

ครม.สัญจรเป็นกิจกรรมที่รัฐบาลสามารถทำได้ ลงไปรับฟังปัญหาของประชาชนและหาแนวทางในการแก้ไข ขณะที่ยังไม่มีกฤษฎีกาการเลือกตั้ง หมายถึงว่าเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลลงพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ แต่ถามว่าถ้ารัฐบาลคิดว่าตัวเองจะเป็นกลุ่มการเมืองหนึ่งในอนาคตที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ควรจะเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองอื่นๆ ได้ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับที่รัฐบาลกำลังจะทำด้วย

การที่รัฐบาลผูกสัมพันธ์กับนักการเมืองแต่ละพื้นที่ คือสิ่งที่นายกฯได้พูดไปก่อนหน้านี้ว่า การดูด ส.ส. เป็นครรลองประชาธิปไตย ท่านก็คงคิดว่าอย่างนั้นว่าการที่ไปลงพื้นที่ผูกสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติที่อยู่ในท้องที่ต่างๆ การผูกสัมพันธไมตรีนี้เหมือนกับเป็นการผูกข้อมือสัญญาใจเอาไว้ว่าจะเป็นพันธมิตรกัน อาจจะได้ร่วมงานทางการเมืองในพรรคเดียวกัน หรืออาจจะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในอนาคต หรืออาจจะมาเป็นพันธมิตรกันในลักษณะใดๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อกัน อันนี้เป็นการสื่อสารที่มีนัยยะชัดเจนว่าต้องการที่จะไปเป็นพันธมิตรกับนักการเมืองในพื้นที่ต่างๆ แม้จะอยู่คนละขั้วหรือคนละพรรค ณ เวลานี้ แต่ในอนาคตก็อาจได้เข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image