ตรวจแถว “พรรคการเมือง” จัดทัพชิงพื้นที่ ส.ส.อีสาน

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง ถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดเตรียมยุทธศาสตร์การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้มี ส.ส.เขต 350 คน ลดลงจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้มี ส.ส.เขต 375 คน ทำให้การชิงชัยเก้าอี้ ส.ส.เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจำนวน ส.ส.เขตนั้นลดลงถึง 25 คน

ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ 
ในฐานะประธานภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย (พท.)

จริงๆ แล้วอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ภาคอีสานลงพื้นที่สม่ำเสมอ ยิ่งเมื่อได้ยินเสียงประกาศจากพรรคต่างๆ ว่าจะชิงพื้นที่ ส.ส.ภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย ก็ยิ่งไม่ประมาท และต้องทำงานให้หนักขึ้นกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นในพี่น้องประชาชนชาวอีสาน เพราะอย่างที่บอกว่าอดีต ส.ส.ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนของพวกเขาอยู่เสมอ เพราะการเป็นอดีต ส.ส.ในพื้นที่จะละเลยการพบปะ สอบถามสารทุกข์สุกดิบของพี่น้องประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่ได้

Advertisement

แน่นอนเมื่อกติกาอย่างรัฐธรรมนูญ 2560 มีการกำหนดให้มีอดีต ส.ส.เขต 350 คน ซึ่งลดลงจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้มี ส.ส.เขต 375 คน ทำให้การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพื้นที่ต้องได้คนที่ยึดโยงกับพื้นที่ เป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้องประชาชนได้

นอกจากนี้ ผมได้มีการพูดคุยกับบรรดาอดีต ส.ส. พร้อมกับได้แนะนำการให้ลงพื้นที่บ่อยๆ และต้องทำงานในพื้นที่ให้เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ เท่าที่ประเมิน ผมเชื่อว่าอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยจะไม่มีปัญหา และเชื่อว่าพี่น้องประชาชนชาวอีสานจะยังคงรักอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย

ส่วนที่ถามว่าอดีต ส.ส.ภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย ได้มีการพูดคุยเพื่อวางแผนรับมือการเลือกตั้งในครั้งต่อไปหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าสำหรับพวกเรา จะประเมินปัญหาแต่ละพื้นที่ แล้วอะไรที่แก้ไขได้ก็แก้ไข เมื่อการเมืองปลดล็อก อดีต ส.ส.ของพรรค จะนำปัญหาที่รวบรวมไว้ขึ้นมาแล้วลงพื้นที่ไปแก้ปัญหา พร้อมกับพูดคุย และแลกเปลี่ยนกัน แต่ขณะนี้ การจะตั้งหน้าตั้งตาจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้นคงยังทำไม่ได้ เพราะติดล็อกคำสั่งของ คสช.อยู่

Advertisement

แต่อดีต ส.ส.ของพรรคก็ไม่ได้ละเลยกับปัญหาที่มี อดีต ส.ส.ทุกคนได้เก็บข้อมูลไว้ตลอด

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแลรับผิดชอบภาคอีสาน

ข้อแรก เราได้ผู้สมัครที่อาสาเข้ามาเป็นสมาชิก และแสดงความประสงค์จะเป็นผู้แทนราษฎรในพื้นที่ภาคอีสานมากขึ้น โดยไม่ได้มากขึ้นแค่จำนวน แต่มากขึ้นด้วยวุฒิภาวะทางการศึกษาอีกด้วย หลายท่านจบการศึกษาเป็นถึงดอกเตอร์ ถือว่าครั้งนี้เราจะได้ผู้แทนฯที่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่าสมัยก่อนในอดีตเยอะมาก

ข้อสอง เราได้ตัวแทนจากท้องถิ่นมาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) นายกเทศมนตรี และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีมาเพิ่มเยอะ ถือว่ามีคนดีๆ เข้ามาสนใจ และเป็นคนในท้องถิ่น บางคนเคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เขาก็จะรู้จักกันดีในพื้นที่ และมีวิธีการในการจัดการที่ดีเพราะเขาเป็นคนในพื้นที่นั้นๆ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกที่มาใหม่ในส่วนของภาคอีสานนี้ มีจำนวนที่กระจายกันไป ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่มจังหวัด ยืนยันว่ามีเยอะกว่าทุกครั้งที่เคยมีมาอย่างแน่นอน

จากการลงพื้นที่ 3-4 ปี ในภาคอีสาน เราลงพื้นที่ภาคอีสานโดยการช่วยคน ครั้งนี้ สิ่งที่เราจะสนับสนุนให้คนอีสานได้มีชีวิตที่ยั่งยืนคือ โครงการน้ำป่า มีน้ำใช้ตลอดปีตามแนวทางพระราชดำริ เราจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยจะบริหารน้ำฝนที่เคยส่งผลกระทบต่อภาคอีสาน ไม่ให้เกิดภัยพิบัติ ที่ผ่านมา เราได้มีการลงพื้นที่ทำตัวอย่างให้ประชาชนดูว่าทำอย่างไร ก็มีนายอำเภอในหลายพื้นที่สนใจ และนำแนวทางไปปฏิบัติตามในพื้นที่นั้นๆ ถือว่าน้ำเป็นหัวใจสำคัญของชาวอีสาน ที่ประชาธิปัตย์จะผลักดันให้ยั่งยืน และมีประโยชน์มากกว่าเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อครัวเรือนให้น้อยที่สุด

ส่วนที่พท. ระบุว่า จะให้เก้าอี้พรรค ปชป.ในภาคอีสานเป็นศูนย์นั้น มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองที่ต้องมีการบลั๊ฟกันให้เกิดปม เกิดการข่ม ไม่คิดอะไรมาก จะทำหน้าที่ตรงนี้ของเราให้ดีที่สุดตามความมั่นใจ

อันที่จริงพรรค พท.น่ากังวลมากกว่า เพราะพรรคเขายังเป็นผีหัวขาด ไม่มีหัวหน้า ในพรรคก็ทะเลาะกันเอง ในแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยังมีปัญหากัน ยังหาผู้นำที่ลงตัวไม่ได้ เขาน่าจะห่วงตัวเองมากกว่า

ทรงศักดิ์ ทองศรี
รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน คนมองทิศทางว่าพรรคภูมิใจไทยมีโอกาสเป็นพรรครัฐบาล เพราะน่าจะเป็นพรรคลำดับ 3 ที่สามารถไปทางไหนก็ได้ ดังนั้น นักการเมืองที่หวังได้ทำงานเพื่อประชาชนจึงต้องการเข้าร่วมกับพรรคภูมิใจไทย ส่วนการจัดทัพในขณะนี้กำลังทำอยู่ ที่จัดได้ครบแล้ว เช่น จ.อุดรธานี หนองบัวลำภู แต่พรรคไม่สามารถประกาศได้ เพราะถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคภูมิใจไทยจะมีแต่กำไร ไม่มีคำว่าขาดทุน เพราะผู้สมัครของพรรคล้วนมีประสบการณ์และมีแสงในตัวเอง ดังนั้น ตัวเลขผู้แทนฯจะไม่น้อยกว่าเดิมอย่างแน่นอน

สำหรับ จ.บุรีรัมย์ มั่นใจว่าผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยจะได้รับการเลือกตั้งทุกเขตในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่มีพรรคอื่นมาแทรกบ้าง ด้วยกระแสความนิยมในการพัฒนาของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับพรรค แต่คนยังมองในแง่ความผูกพัน อีกทั้งผู้แทนในพรรค ภท.ก็มีส่วนผลักดันให้การพัฒนาบุรีรัมย์เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ถ้าย้อนหลังกลับไป ภาพการพัฒนายังไม่เห็นเป็นรูปธรรม กระแสของพรรคอื่นจึงสอดแทรกเข้ามาบ้าง

โดยเฉพาะกระแสพรรคเพื่อไทย (พท.) แต่วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า คนในพื้นที่มีศักยภาพสามารถนำการพัฒนาได้ คนบุรีรัมย์จะมองว่าในทางการเมือง การเลือกเป็นทีมเดียวกันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจน อย่างการต้อนรับนายกฯและคณะรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ก็ได้สะท้อนภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับผู้นำในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ทำให้เชื่อได้ว่าประชาชนคนบุรีรัมย์จะคิดตรงกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนพื้นที่อื่น ในทางการเมืองถือเป็นเรื่องธรรมดาที่พื้นที่เจ้าภาพของแต่ละพรรคการเมือง รวมถึงมีพื้นที่ที่แต่ละพรรคต้องไปแสวงหา บางครั้งในพื้นที่เจ้าภาพเราก็ทำได้แค่ส่งผู้สมัครไปขอคะแนน เช่น จ.ชลบุรี เพราะประเมินแล้วว่าโอกาสได้รับการเลือกค่อนข้างน้อย สำหรับภาคอีสาน ในหลายจังหวัดมีพื้นที่เจ้าภาพอยู่ ความเข้มแข็งของพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่นั้นจึงไม่เท่ากับความเข้มแข็งที่บุรีรัมย์ ดังนั้น โอกาสในการต่อสู้ก็พอจะมีอยู่ แต่พรรคต้องแสวงหาคนที่สนใจการเมืองจริงๆ เงื่อนไขสำคัญคือ พรรคต้องมีโอกาสสื่อสารกับประชาชนในเรื่องแนวทางการพัฒนา เพราะทุกวันนี้ประชาชนเห็นเพียงบุรีรัมย์โมเดล อาจเกิดความเชื่อถือและเป็นหลักประกันให้แก่พรรคในระดับหนึ่ง แต่วันนี้พรรคยังไม่สามารถทำอะไรได้เต็มรูปแบบ เพราะติดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไรก็ดี เชื่อว่าทุกพรรคกำลังดำเนินกระบวนการเหล่านี้อยู่

เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปลี่ยนไปโดยให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครทุกเขตเพื่อให้ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ทำให้ตัวแทนฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้สมัครยังไม่ค่อยนิ่ง เพราะมีโอกาสเยอะ กล่าวคือ สามารถไปพรรคโน้นพรรคนี้ได้ รวมถึงประเมินว่าพรรคใดมีโอกาสเป็นรัฐบาล ถ้าเข้าไปอยู่แล้วจะมีปัญหาหรือไม่ ถือเป็นทางเลือกของนักการเมือง เพราะเจตนารมณ์ของคนที่ลงเล่นการเมืองคือการทำงานเพื่อประชาชน

ด้วยเหตุนี้ทิศทางการเมืองของแต่ละพรรคจึงยังไม่ชัดเจน ต้องรอความชัดเจนทางการเมืองตามที่รัฐบาลบอกว่าอาจจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน อย่างน้อยที่สุดคือให้ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้สังกัดพรรคการเมืองเสียก่อน เพราะตราบใดที่ยังไม่สังกัดพรรคก็สามารถไปได้ตลอด

ส่วนพรรคก็ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้เต็มที่ ไม่รู้จะเอาอะไรไปขาย เพราะประกาศนโยบายพรรคไม่ได้ ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจก่อน ในวันนี้จึงกลายเป็นการขายความเชื่อ ขายความเจริญของบุรีรัมย์โมเดล 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image