เสวนา ‘อภิวัฒน์สยาม 2562’ ความหวังและอนาคตเมืองไทย

หมายเหตุ – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนา “อภิวัฒน์สยาม 2562 : ความหวังและอนาคตประเทศไทย” เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2561 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม


 

วราวุธ ศิลปอาชา
ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา

การเลือกตั้งครั้งหน้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หลายคนตั้งความคาดหวังไว้ต่ำบ้าง สูงบ้าง สำหรับตนเองแล้ว ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญปี 60 เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วนเท่านั้น ทุกคนเห็นด้วยไหมว่า รัฐธรรมนูญที่เราใช้ในปัจจุบันมีข้อด้อยหรือข้อจำกัด ไม่ว่าการบริหารของรัฐบาล หรือข้อจำกัดต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายคงไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่เราสามารถนำการเปลี่ยนแปลงกลับมาสู่ประเทศไทยได้อีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

คนไทยกว่าห้าสิบล้านคนมีสิทธิในการลงคะแนน อีกทั้งคนไทยอีกหลายสิบล้านคนมีสิทธิลงคะแนนครั้งแรก นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรออกมาใช้สิทธิเพื่อแสดงให้เห็นว่าอยากให้ก้าวต่อไปของประเทศไทยเป็นอย่างไร โดยเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทั้งปวงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งที่เป็นตัวถ่วงของการทำให้ประเทศชาติขับเคลื่อน แต่ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นขึ้นอยู่กับว่า คนไทยกว่าห้าสิบล้านคนจะออกมาใช้สิทธิใช้เสียงตามความคิดของตนมากน้อยแค่ไหน

หากเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 1 วันจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ใหม่ โดยในปี 2538 สมัยนั้นนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เริ่มความคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของหลายฝ่าย แต่นายบรรหารผลักดันตั้ง ส.ส.ร.จนเชื่อว่าเป็นการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในประเทศไทยซึ่งมาจากคนทุกภาคส่วน เรามีการตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเชื่อได้ว่าเราไม่ขายหน้านานาอารยประเทศ แม้จะเป็นการแต่งตั้งก็ตาม วันนี้การที่ไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง สิ่งสำคัญที่สุดคือกฎกติกาในการบริหารประเทศ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง อาจไม่สมบูรณ์ทีเดียวนัก แต่สิ่งสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญคือต้องมาจากประชาชนทุกภาคส่วน


 

Advertisement

รัชดา ธนาดิเรก
ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์

คนไทยทุกคนต้องมีความหวัง เราอยู่อย่างไม่มีความหวัง หรือย้ำคิดย้ำทำกับข้อผิดพลาดแล้วคิดว่าสิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้นอีก เราคิดอย่างนั้นไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เลือกตั้งเกิดขึ้น สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นตามมา แต่ตามมามากน้อยแค่ไหนอยู่ที่เงื่อนไข 2 ประการเป็นอย่างน้อย เบื้องต้นการเลือกตั้งต้องนำไปสู่การได้มาของผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง

ถ้าได้ ส.ส.ที่กลับกลายเป็นผู้แทนของผู้มีอำนาจ กลุ่มเผด็จการ กลุ่มทุน การเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็ไม่มีความหมายอะไรเลย ฉะนั้น การเลือกตั้งต้องทำให้เกิด ส.ส. ได้นักการเมืองที่พร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน เป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ประชาชน จากนั้นประชาชนต้องรู้เท่าทันพรรคการเมืองและนโยบายพรรคการเมือง มั่นใจว่าถ้าปีหน้ามีการเลือกตั้ง จะมีนโยบายเก๋ไก๋ออกมาแน่นอน เนื่องจากบางนโยบายเป็นนโยบายที่ดี นำไปสู่ความยั่งยืนของประเทศ แต่อาจไม่โดนใจ บางนโยบายอาจใช่เลย เห็นชัดๆ ว่าเราจะได้อะไร แต่ถ้าคิดให้ดีมันอาจเป็นอันตรายต่อประเทศในระยะยาว ฉะนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้า วันนี้เป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชนทุกคนได้เตรียมตัวดูนโยบายของแต่ละพรรค ไปศึกษาว่าบ้านเมืองเราที่ผ่านมาเกิดปัญหาอะไร นโยบายที่ใช้กันมาอันไหนดีควรทำต่อ อันไหนบกพร่อง ใครเสนอมาจะไม่เลือกอีกแล้ว พร้อมกับวิเคราะห์ว่านโยบายที่สมควรจะเลือก ต้องเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง

ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันปรีดี พนมยงค์ เราควรใช้โอกาสนี้คิดตามแนวทางที่ท่านสอนว่า ประชาธิปไตยไม่ได้หยุดที่การเลือกตั้ง ต้องไปต่อ นำไปสู่การได้มาซึ่งเศรษฐกิจประชาธิปไตย เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว ต้องไม่มีการผูกขาดของนายทุนหรือบริษัทใหญ่ๆ ต้องให้โอกาสพี่น้องประชาชนรายเล็กได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก นี่คือความเสมอภาค เท่าเทียมกันทางสังคม ฉะนั้น เราต้องเลือกนักการเมืองที่ดี ต้องรู้เท่าทันนักการเมืองและนโยบายพรรคการเมือง ทำวัฒนธรรมสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตย วันนั้นบ้านเมืองเราจะไปได้งดงามแน่นอน

และสิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้เกิดขึ้นคือ การกระจายอำนาจ แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.การกระจายอำนาจตำรวจ รวมถึงการปฏิรูปตำรวจด้วย 2.กระจายอำนาจการศึกษา หากอยากให้ประเทศไทยก้าวหน้า เป็นยุค 4.0 แต่ถ้าการเรียนยังเป็นแบบยัดเยียด การไปโรงเรียนยังไม่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไปค้นคว้าหาข้อมูลว่าโตไปจะมีอาชีพอะไร ถ้าการศึกษายังเป็นแบบนี้ ประเทศไทยก็ไปไม่รอด ฉะนั้น จุดสำคัญของการแก้ไขการศึกษาคือการกระจายอำนาจให้อยู่ในระดับท้องถิ่น ใกล้ชิดประชาชน

สุดท้ายคือ กระจายอำนาจการปกครองของจังหวัดต่างๆ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์จริงจังเรื่องการกระจายอำนาจมาก ต่อไปถ้าตนมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสได้ปกครองประเทศ เราจะผลักดันเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ให้มีพ่อเมืองที่มาจากประชาชนเลือกเองแน่นอน


 

ขัตติยา สวัสดิผล
ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นครั้งแรกของคนรุ่นใหม่ และเป็นนิวโหวตเตอร์อยู่จำนวนมาก ตรงนี้เองที่คิดว่ามีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เคยใช้สิทธิตั้งแต่อายุ 18 ปี คงอยากเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างน้อยให้มีโอกาสเดินเข้าคูหา กาบัตรเลือกตั้ง ไม่ว่าจะลงเสียงหรืองดออกเสียงก็แล้วแต่ อย่างน้อยนั่นคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่อยู่ในมือแล้ว ขณะเดียวกัน คงถึงเวลาที่ผู้เคยใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วจะออกมาใช้สิทธิอีกครั้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศ แม้ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่คิดว่าสวยงามที่สุด
ควรปล่อยให้ประชาธิปไตยดำเนินต่อไปตามธรรมชาติ ไม่ควรมีอะไรมากล้ำกรายระหว่างนั้น

หากได้เป็นนายกรัฐมตรีเพียง 1 วันจะแก้รัฐธรรมนูญ และอาจต้องทำประชามติเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีรากฐานมาจากประชาชน อีกทั้งในรัฐธรรมนูญต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือการทำมาหากินของประชาชนด้วย รัฐธรรมนูญต้องมองไปข้างหน้า ไม่สามารถหยุดประเทศได้แค่ 20 ปี เราอาจมีอายุยืนยาวกว่า 20 ปี และคนใช้รัฐธรรมนูญที่จำกัดไว้เช่นนี้ต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญจริงๆ แต่คนร่างฉบับปี 2560 เขาอยู่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกกี่ปี ฉะนั้น เขาต้องรับภาระที่รัฐธรรมนูญจำกัดสิทธิเสรีภาพ รวมถึงจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควรให้คนที่ต้องอยู่ใช้รัฐธรรมนูญมีส่วนร่วมร่างด้วย เพื่อให้รัฐธรรมนูญยั่งยืนถาวร


 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่

ถ้ามองผลของการอภิวัฒน์ 2475 แล้วมาดูปัจจุบันว่า สิ่งที่ อ.ปรีดีพยายามทำมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากการอภิวัฒน์บ้าง หลายสิบปีสำเร็จอะไรไปแล้ว หรืออะไรที่ยังไม่สำเร็จ อะไรที่เป็นภารกิจของคนรุ่นเราที่ต้องทำต่อไป โดยการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ และเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดให้ชัดว่า หลักการเป็นพลเมืองในประเทศไทยยังไม่ถูกสถาปนาหลังการเป็นเสาค้ำยันอภิวัฒน์ 2475 อำนาจสูงสุดที่เป็นของราษฎรยังไม่ถูกสถาปนาให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย สถานะพลเมือง สำนึกพลเมืองที่เกิดขึ้นจาก 2475 คือการยึดหลักสิทธิเสรีภาพและเสมอภาคให้กับทุกคน ยกสถานะตัวเองจากผู้ที่ถูกปกครองเป็นเจ้าของประเทศที่มีสิทธิและอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมในการกำหนดอนาคตประเทศเช่นกัน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มี

หากการเลือกตั้งมีจริงในปี 2562 จำเป็นต้องนำภารกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ยังทำไม่เสร็จนำมาทำให้เสร็จ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดด้วยความโอหังหรือทะนงตน แต่พูดด้วยความเข้าใจดีถึงสภาพการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนไร้สิทธิ ไร้เสียง และไร้เสรีภาพ พูดด้วยความเข้าใจดีว่าสังคมไทยไม่มีความหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังนั้น ในการนี้หากการเลือกตั้ง 2562 มีจริง ธงสำคัญที่สุดคือการเอาหลักหมุดหมายของการอภิวัฒน์ 2475 เอาจิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง นั่นคืออำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย

ดีใจมากที่ได้ยินพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ และความจริงแล้วใช้คำว่าแก้คงไม่ถูกต้องนัก ต้องยกเลิกจึงจะเหมาะสมกว่า เห็นด้วยกับทั้ง 2 ท่านที่กล่าวก่อนหน้าผมว่า ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือการมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเราเชื่อว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ก็ต้องเชื่อว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของราษฎรทั้งหลายเช่นกัน และปัญหาของรัฐธรรมนูญ 60 คือ ที่มา เนื้อหา กระบวนการขัดต่อหลักการ ไม่มีความยึดโยงกับหลักการที่ว่าอำนาจเป็นของประชาชน

ยินดีที่ท่านพูดถึงการกระจายอำนาจ การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ดี แต่ป่วยการที่จะพูดถึง อยากได้อะไรเดี๋ยวไปเขียนในรัฐธรรมนูญ หรือตกลงกันเพื่อมี ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนและยึดโยงกับประชาชนได้ แต่ที่ชัดคือต้องเอาสิ่งที่เป็นอประชาธิปไตยออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอภิวัฒน์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนมีวิธีเดียวที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 ได้ นั่นคือต้องเอาจิตวิญญาณของธงเขียวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง สร้างการเห็นด้วยทั้งสังคมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ ต้องยกเลิก และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน นี่คือเงื่อนไขเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะต่อให้มี 300-400 เสียงในสภาก็แก้ไม่ได้ เงื่อนไขเดียวคือสังคมทั้งสังคมต้องเห็นด้วยกัน และเป็นสิ่งที่สำคัญมากและดีใจมากที่อย่างน้อย 3 ใน 4 พรรคที่นั่งอยู่บนเวทีนี้เห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าใครจะกระจายอำนาจ หรือยกเลิกการผูกขาด ไปตกลงกันในรายละเอียด คุยกันใน ส.ส.ร. แต่อย่างแรกคือต้องทำให้สังคมทั้งสังคมเห็นด้วยกันก่อน ฉะนั้น เชิญชวนให้ทุกพรรคการเมืองและพี่น้องประชาชนทุกคน หลังการเลือกตั้งครั้งนี้แล้วกลับมาทำงานร่วมกันเป็นภารกิจของสังคมไทยทั้งสังคม ในการเอาจิตวิญญาณของธงเขียวกลับคืนมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image