กับดัก เขี้ยวคม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตลอด 2 รายทาง

ไม่ว่าจะมีการพูดที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีการพูดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างน้อยมี 3 พรรคการเมืองที่เห็นตรงกัน

จำเป็นต้องแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทย นั่นก็คือ พรรคชาติไทยพัฒนา และโดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ เสนอให้นำเอาบทเรียนและความจัดเจนของ “ส.ส.ร.” เมื่อปี 2538 มาใช้

บทสรุปเช่นนี้สะท้อนอะไร

Advertisement

สะท้อนให้เห็นว่า สังคมเริ่มมีความเห็น “ร่วม” ตั้งแต่แรกที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศและบังคับใช้ว่ามีปัญหา

เป็นปัญหาทั้ง “ก่อน” และ “หลัง” การเลือกตั้ง

และยิ่งทอดระยะเวลาของการเลือกตั้งในกระสวนแห่งการยื้อ ถ่วง หน่วง ออกไปเนิ่นนานเพียงใด ปัญหาอันเนื่องจาก “รัฐธรรมนูญ” ก็ยิ่งปรากฏ

กระทั่งมั่นใจว่าเกิดจากการวางกับดัก

ต้องยอมรับความเป็นจริงพื้นฐานประการหนึ่งว่า รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เกิดจากบทสรุปที่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เป็นรัฐประหาร “เสียของ”

ประจักษ์พยานของความเชื่อเช่นนี้มาจาก 1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และในเบื้องต้นก็สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

เพื่อเป็นรากฐานไปสู่ 1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ยุทธศาสตร์ของรัฐธรรมนูญอันสัมผัสได้จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวรยังดำรงความมุ่งหมายเดิม

นั่นก็คือ ทำลายพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

กฎกติกาทุกอย่างอันดำรงอยู่ภายในบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ” ล้วนพุ่งปลายหอกไปยังเป้าหมายนี้ในทางการเมือง

แต่ยิ่งวาง “กับดัก” ก็ยิ่งติด “กับดัก”

ถามว่าทำไมเมื่อมีการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่ก็ยังจำเป็นต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560

สร้างความชอบธรรมให้กับการยืดเวลา “ปลดล็อก” พรรคการเมือง

ไม่เพียงแต่บทบัญญัติของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติได้ในทางเป็นจริง ทั้งๆ ที่ประกาศและบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560

เพราะว่าแม้กระทั่ง “พรรค คสช.” ก็ต้องติดอยู่ใน “กับดัก”

สัมผัสได้จากการร้องเรียนของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประสานเข้ากับการร้องเรียนของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน

ยิ่งใกล้เวลาแห่ง “การเลือกตั้ง” ยิ่งเกิดความหงุดหงิด

เพราะไม่เพียงแต่ไม่สามารถสร้างโอกาสเพื่อเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ หากแม้กระทั่งเมื่อผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว โอกาสของนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ก็ยาก โอกาสของการบริหารก็ยาก

นับวัน “กับดัก” จะยิ่งปรากฏตลอด 2 รายทาง

ความหงุดหงิดที่บังเกิดต่อ “รัฐธรรมนูญ” จึงมิได้มาแต่จากพรรคเพื่อไทย หากแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็หงุดหงิด

เป็นไปได้ว่า ภายใน “คสช.” เองก็เริ่มมองเห็น

สายตาจึงทอดมองไปไม่เพียงแต่ต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เคยมีบทบาทในการยกร่าง หากแม้กระทั่งคนอื่นๆ ก็เริ่มไม่มั่นใจเสียแล้วว่าทำไมต้องทำเช่นนี้

หวังดี หรือว่าประสงค์ร้ายกันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image