การบ้านรัฐบาล คสช. 9 เดือนก่อนดีเดย์เลือกตั้ง

หมายเหตุ – นักวิชาการและนักธุรกิจให้ความเห็นสิ่งที่รัฐบาลควรบริหารประเทศต่อไปอย่างไร ในระยะเวลาที่เหลือก่อนถึงโรดแมปกำหนดจัดเลือกตั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562


จุฑาพร เอลิซาเบธ เกตุราทร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องที่รัฐบาลควรทำในช่วง 9 เดือน หากมีเลือกตั้ง ก.พ.ปีหน้า คิดว่ามี 3 ประเด็นหลัก ประเด็นที่ 1 ควรดำเนินการให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ควรหยุดการยื้อเวลาเพราะว่าดูเหมือนมีท่าทีจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ 4 ปีแล้ว ตามระบบสากลของทั่วโลก 4 ปี ถือเป็นวาระปกติของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศ การอยู่นานเกิน 4 ปีนั้นไม่สง่างาม ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ขณะที่ทั่วโลกกำลังเดินไปข้างหน้า แต่ประเทศเรากำลังเดินถอยหลัง ถึงเวลาแล้วที่จะให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเลือกผู้นำมาเป็นผู้แทนในการบริหารและพัฒนาประเทศในทิศทางที่ควรเป็น

ประเด็นที่ 2 ควรแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันข้าวของราคาสูงขึ้นมาก เช่น ข้าวสารขึ้นราคา รวมถึงราคาน้ำมันที่ล่าสุดปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก สร้างผลกระทบวงกว้าง เช่น ผู้ประกอบการรถโดยสารก็ขอขึ้นค่าโดยสารแล้ว การปรับตัวสูงขึ้นของน้ำมันมีผลต่อราคาสินค้าอื่นในตลาดด้วย ทำให้ข้าวของแพง ประชาชนเดือดร้อน แต่ค่าจ้างปรับตัวตามไม่ทัน โดยรวมคิดว่ารัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนอย่างจริงจังในเวลาที่เหลืออยู่

Advertisement

ประเด็นที่ 3 คิดว่าเป็นปัญหาด้านการศึกษา โรงเรียนเพิ่งเปิดภาคเรียนไป ปัญหาที่พบมากคือค่าใช้จ่ายสูง ผู้ปกครองต้องจ่าย 4-5 พันบาทต่อเด็กหนึ่งคน บางครอบครัวมีลูกหลายคน ถ้าฐานะยากลำบากอยู่แล้วต้องมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่าค่าบำรุงการศึกษา บำรุงโรงเรียน ชุดนักเรียน ชุดพละ กระเป๋ารองเท้า หนังสือสมุดอุปกรณ์อื่นๆ การที่เราบอกว่าระบบการศึกษาไทยเรียนฟรีนั้นไม่น่าใช่เรื่องจริง เพราะมีผู้ปกครองจำนวนมากบอกว่าต้องแบกรับค่าใช้จ่ายนี้ โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้วสิ่งนี้ไปเพิ่มภาระให้เขา และคิดว่าไม่จริงที่เราบอกว่าเรียนฟรี มีค่าใช้จ่ายที่ถือว่าสูง

ล่าสุดที่ จ.นครสวรรค์ มีผู้ปกครองต้องเอาเครื่องสูบน้ำไปจำนำที่สถานธนานุบาลจำนวนมาก เพื่อเอาเงินมาให้ลูกหลานเรียนหนังสือเมื่อเปิดภาคเรียน ค่าใช้จ่ายนี้เมื่อพ่อแม่อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดีได้เรียนสูงเขาก็ต้องยอมทำทุกอย่าง มองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา เวลาเราเอาระบบต่างชาติมาว่าเรียนฟรี เราต้องไปศึกษาอย่างละเอียดว่าทำได้อย่างไร เอาเงินมาจากไหนให้ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแบบที่ไทยเป็นอยู่ ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติก็จำเป็นต้องรีบแก้ไขปัญหานี้

ปัญหาค่าใช้จ่ายในการศึกษานี้ รัฐบาลน่าจะเอาเงินมาช่วย อย่างในอเมริกามีการเก็บภาษีอาคารที่สูง เป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน รัฐบาลช่วยเงินสนับสนุนในพื้นที่ซึ่งได้เงินภาษีจากบ้านน้อย เช่น พื้นที่บ้านราคาถูก รัฐบาลกลางก็เอาเงินมาช่วยสนับสนุน ในไทยต้องดูว่าเงินที่มาสนับสนุนการศึกษาเอาไปใช้จ่ายยังไง ปัจจุบันสัดส่วนจีดีพีที่ใช้กับการศึกษาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน แต่ดูเหมือนว่าเราจะเอาเงินไปใช้ไม่ตรงจุด ต้องดูรายละเอียดว่าเงินที่ใช้อยู่เอาไปทำอะไร ตรงนี้ถ้าเรามีการเคลื่อนย้ายเงินที่ดีกว่านี้น่าจะแก้ปัญหาได้ ต้องลดรายจ่ายผู้ปครองลง โดยเฉพาะพื้นที่ยากจน รัฐต้องเอาเงินมาช่วยเพราะที่จริงแล้วกระทรวงศึกษาได้งบประมาณสูงมาก

Advertisement

ส่วนตัวคิดว่าถ้ารัฐบาลมีความจริงใจต่อการแก้ปัญหา ไม่ยื้อเวลาเลือกตั้ง ควรเปิดโอกาสรับฟังเสียงของประชาชนมากกว่านี้ ปัจจุบันไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ดูเหมือนจะทำให้ประชาชนอยู่ในความกลัว ประชาชนไม่ได้รับข่าวสารที่แท้จริง หลายอย่างดูน่าสงสัยไม่ว่าโพลอะไรต่างๆ ถ้าเรารับฟังความเห็นประชาชนที่ต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอื่น รัฐบาลควรรับฟังมากกว่านี้ ควรเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น


ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ในช่วงเวลา 9 เดือนก่อนการเลือกตั้ง สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ควรปล่อยให้มีการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ทางด้านเศรษฐกิจปัจจุบันนั้น ผมคิดว่ามันเป็นไปตามแนวของมันอยู่แล้ว นโยบายการสนับสนุนการเจริญเติบโตเป็นไปตามทิศทาง ที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของการกระจายรายได้ เพราะแนวทางที่จะเติบโตส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้ฝ่ายทุน แรงงานจะลำบาก ทุนเพิ่มแต่การจ้างงานไม่เพิ่ม ถ้าจะให้ตอบตอนนี้เป็นเรื่องยากเพราะเป็นปัญหาระยะยาว เพียงแต่ว่ารัฐบาลต้องพยายาม เพราะเป็นผู้ที่รู้ดีว่ามีงบประมาณเท่าไหร่ กุนซือรัฐบาลคงจะรู้ว่าถ้าจะต้องจ้างงานจะต้องเพิ่มรายได้ให้กับคนรากหญ้าจะต้องทำอย่างไร

รัฐบาลมีแต่นโยบายส่งเสริมการลงทุน แต่นโยบายจ้างงานยังไม่มีอะไรออกมา ต้องตอบคำถามนี้เหมือนกัน ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไปด้านเดียว ด้านสังคม ด้านการเมืองไปไม่ได้ก็ลำบากเหมือนกัน

ส่วนด้านส่งเสริมการเกษตรยังไม่ค่อยห่วง อย่างน้อยเกษตรกรยังมีที่ดินทำกินของตนเอง แต่ว่ากลุ่มแรงงานน่าห่วง เพราะไม่มีที่ดิน เป็นมนุษย์เงินเดือน ถ้าไม่มีคนจ้างงานก็ลำบาก กรณีนี้ไม่ได้พูดถึงแรงงานต่างชาติ เพราะการจ้างงานแรงงานต่างชาตินั้นอยู่ที่นายจ้างเป็นผู้ตัดสิน แต่ที่เป็นห่วงมากคือแรงงานไทย ต้องหาวิธีที่จะจ้างแรงาน จะได้กี่หมื่นกี่แสนคนก็ว่าไป ถ้าเขามีงานทำ จะได้ใช้จ่ายได้ ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่เร่งด่วนในขณะนี้


 

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย
และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง
หอการค้าไทย

สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในช่วงที่เหลืออีก 9 เดือน ก่อนจัดการเลือกตั้ง มีอยู่ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การลดความเหลื่อมล้ำหรือพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากความเป็นอยู่ของประชาชนชั้นล่างยังไม่ดี อาจจะยึดตามแนวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านเศรษฐกิจที่วางไว้ก็ได้ รัฐบาลอาจจะทำไม่ได้ 100% แต่ควรเตรียมการไว้สำหรับรัฐบาลหน้า เรื่องนี้เป็นพื้นฐานของการเมืองที่จะเข้ามาด้วย มองว่าหากคนรู้สึกว่าฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี จะมีปัญหาเรื่องการซื้อเสียง การเมืองจะเละ มองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องใหญ่ เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังมุ่งเป้าในทางด้านนี้ เรื่องอื่นอาจจะพักไว้

เรื่องแรกนี้ถ้าถามรัฐบาล อาจจะบอกว่ากำลังทำอยู่ แต่ทิศทางหลังจากนี้จะต้องตระหนักกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เช่น เรื่องคนจน ไม่ใช่แค่จัดสัมมนาให้เกษตรกรว่าต้องปลูกพืชอย่างไร เขามีความชำนาญอยู่แล้ว หรือการไปบอกว่าพืชชนิดนี้ราคาผลผลิตไม่ดี ควรไปปลูกพืชชนิดอื่น ต้องคำนึงในทางปฏิบัติว่าเป็นไปได้หรือไม่ รัฐบาลควรเข้าไปต่อยอด เช่น ประชาชนในจังหวัดหนึ่งปลูกส้ม 100 หลังคาเรือน ให้ความรู้เรื่องพันธุ์ส้มว่ามีพันธุ์ไหนบ้างที่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือพันธุ์ไหนที่ติดตลาด หากปลูกระเกะระกะ แน่นอนว่าไม่ได้ราคาอยู่แล้ว ต้องให้ความรู้เรื่องนี้

รวมถึงบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ทูตพาณิชย์ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาเรื่องแพคเกจจิ้งและการหาตลาดในต่างประเทศ หรืออาจขยายไปถึงการหาช่องทางการขายบนออนไลน์ผ่านอาลีบาบา เป็นต้น ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลจะรับประกันได้ทันทีว่าถ้าปลูกพืช 5 ชนิดต่อไปนี้ จะรับประกันราคาให้ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะต้องทำประกันราคา แต่เป็นไปตามกลไกทางเศรษฐศาสตร์ หากสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ราคาสินค้าจะดี เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องรวบรวมบิ๊กดาต้าเหล่านี้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและไบโอเทคโนโลยี

เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนาคน ต้องปฏิรูปการศึกษาที่ยังไม่ไปไหน รัฐมนตรีก็เป็นคนเก่ง แต่การจะปรับเรือเอี้ยมจุ๊นให้ตรงกัน เปลี่ยนความคิดของครูอาจารย์เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นคนที่มีคุณภาพไม่ใช่เรื่องที่ทำง่ายๆ ต้องพัฒนาคนให้มีวินัย ซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อตัวเองทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน มีจิตสาธารณะ นอกจากการให้วิชาความรู้

อย่างน้อยที่สุดต้องพัฒนาเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ก่อน พัฒนาคนไทยให้มีวินัย ซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อตัวเองและมีจิตสาธารณะก่อน ยังไม่ต้องไปพูดถึงการพัฒนาคนรองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มองว่าการปฏิรูปไม่มีประเทศไหนที่ทำสำเร็จในรัฐบาลเดียว ต้องทำระยะยาว น่าเห็นใจรัฐบาล ที่ผ่านมามีความตั้งใจที่จะปฏิรูป แต่มีคนมาตีมาวิจารณ์ เพราะฉะนั้นในวันนี้จึงอาจจะไม่เห็นผลสำเร็จ 100% เพียงแต่ตั้งคำถามว่ารัฐบาลได้เริ่มต้นไปได้แค่ไหนแล้ว

ส่วนการปูทางเพื่อให้คนดีมีฝีมือเข้ามาสานงานต่อไม่ใช่การไปสอนว่าคนดีเป็นอย่างไร ต้องเลือกพรรคไหน รัฐบาลต้องเริ่มดำเนินการจากตรงนี้ก่อน เพราะตอนนี้ยังมีคนยากจน และเรายังอยู่ในระบบการศึกษาแบบเดิมๆ เรียนจบไปก็ตกงาน ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อประเทศไทยก็ไปไหนไม่รอด ปฏิรูปไปก็ยังอยู่ในวัฏจักร


สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ในช่วง 9 เดือนที่เหลือของรัฐบาล ควรให้น้ำหนักกับการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อะไรที่เป็นปัญหาควรแก้ไข ควรทุ่มให้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เห็นภาพความคืบหน้าที่ชัดเจน นอกจากนี้ควรเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้กระบวนการต่างๆ รวดเร็ว จะสร้างมั่นใจให้กับนักลงทุน ภาคอุตสาหกรรม

นโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติตัดสินใจลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา แต่รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้า 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา และโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เพราะหากโครงการไม่เกิดเป็นเรื่องเหมือนกันที่จะดึงการลงทุนสำคัญ นักลงทุนจะกังวลว่าเมื่อลงทุนจะไม่ได้รับความสะดวก

อีกกลุ่มที่รัฐบาลควรเอาใจใส่เร่งพัฒนาอย่างมากคือ อุตสาหกรรมเกษตร เพราะเกษตรกรถือเป็นรากฐานของประเทศ รัฐควรใช้นวัตกรรมเข้าพัฒนาภาคเกษตร สนับสนุนธุรกิจแปรรูปเกษตร เพราะจะเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ควรดูแลเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันดำเนินการในระดับที่ดีอยู่แล้ว อยากให้พัฒนาเอสเอ็มอียิ่งขึ้นไปอีก เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญมากกับเอสเอ็มอี ปัจจุบันกำลังซื้อในประเทศมองว่าเริ่มฟื้นตัว ดีต่อเอสเอ็มอีเพราะมีตลาดในประเทศเป็นตลาดหลัก

สถานการณ์การเมืองที่เริ่มมีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวอยากเลือกตั้ง มองว่าหากดูแลสถานการณ์ให้ดีจะไม่กระทบต่อการลงทุน แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้งแต่นโยบายลงทุนของไทยยังเหมือนเดิม กลุ่มที่น่าห่วงไม่อยากให้ได้รับผลกระทบจากการเมืองคือ ท่องเที่ยว เพราะค่อนข้างอ่อนไหว ปัจจุบันท่องเที่ยวถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image