‘อจ.-นักการเมือง’ วิพากษ์ เหตุ ‘สุเทพ’ กลับคำ!

หมายเหตุ – ความเห็นจากนักวิชาการและนักการเมืองต่อกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โดยไม่สนใจที่จะมีคนโจมตีว่าตระบัดสัตย์ จากที่เคยประกาศว่าจะไม่เล่นการเมืองอีก


 

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ผมมองว่าการกลับมาของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้งนี้ ไม่มีอะไรน่าแปลก เพราะทุกคนคิดอยู่แล้วว่าคุณสุเทพต้องตั้งพรรค นักการเมืองยังไงก็ต้องกลับมาเล่นการเมือง เพียงแต่ว่าคุณสุเทพเป็นคนมีศักยภาพสูง คนจึงจับตามองเป็นพิเศษ เพราะครั้งหนึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์ทางการเมือง

Advertisement

แม้ก่อนหน้านี้คุณสุเทพเคยประกาศว่าจะไม่ลงเล่นการเมืองอีกแล้ว ซึ่งการเมืองสามารถพูดกลับไปกลับมาได้ พอสถานการณ์เปลี่ยนเขาก็เปลี่ยนคำพูดได้ เพราะฉะนั้น เรื่องตระบัดสัตย์ว่าไม่ได้หรอก คนเป็นนักการเมือง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็ย่อมเปลี่ยนเป็นเรื่องธรรมดา สำคัญว่าเหตุผลที่เขาเปลี่ยนคนจะรับได้ไหมเท่านั้นเอง

ส่วนการที่คุณสุเทพออกมานำพรรค ผมคิดว่าการนำพรรคก็ต้องหาคนที่จะทำให้พรรคดูมีความน่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งใครก็สู้คุณสุเทพไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ชัดเจนไปเลยว่า คุณสุเทพอยู่กับพรรคนี้ ไม่ใช่ลับๆ ล่อๆ ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องดี ที่ออกตัวมาแบบนี้ ดีกว่าไปอยู่หลบๆ ซ่อนๆ

เรื่องที่พรรคของคุณสุเทพจะหนุน คสช. มันชัดเจนอยู่แล้ว คนเขาเชื่อแบบนั้นมาแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ว่าพอมาตั้งพรรค คุณสุเทพก็ต้องพูดให้มันดูสวยงาม แต่จริงๆ เราก็รู้ว่าคุณสุเทพสนับสนุน คสช.

ส่วนเรื่องความแตกต่างเมื่อเทียบกับการเมืองใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ ผมมองว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) รวมคนที่มีความสำคัญในสังคมไทยมาอยู่รวมกัน มีแต่คนหน้าเก่าทั้งนั้น เพียงแต่ว่าสอดแทรกอยู่ในวงการต่างๆ และส่วนใหญ่เป็นคนที่คนไทยรู้จักดี ที่มารวมกันเพื่อเล่นการเมือง ไม่เหมือนกับพรรคอนาคตใหม่ที่บางคนเป็นคนรุ่นใหม่ หน้าใหม่ เป็นใครมาจากไหนก็ยังไม่มีใครรู้จัก ต่างจากพรรค รปช.ที่มีแต่คนรุ่นเก๋า

การตั้งพรรค รปช.อาจมีผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บ้าง แต่ ปชป.คงไม่ได้วิตกกังวลอะไรมาก เผลอๆ จะพอใจด้วยซ้ำไป ถ้าจะมี กปปส.ออกมาอยู่กับพรรคนี้บ้าง เพราะที่พรรค ปชป.มันแน่นไปแล้ว ภาคใต้ของ ปชป.มันแน่นเกินไป การกลับมาของคุณสุเทพครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์ว่าคุณสุเทพเป็นนักการเมืองคนหนึ่งเท่านั้น


 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

การกลับมาครั้งนี้ผมคิดว่าคุณสุเทพกำลังเห็นโอกาสทางการเมือง เห็นว่าโอกาสของ คสช.ที่จะชนะการเลือกตั้งมีสูง ด้วยกระบวนการ กลไก และเครือข่าย หวังจะทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน คุณสุเทพไม่อยากเสียโอกาสทางการเมือง จึงตั้งพรรคกับแนวร่วม กปปส.เพื่อเข้าสู่การเมือง เป็นโอกาสและจังหวะที่คุณสุเทพคิดว่าถ้าไม่เข้าเที่ยวนี้จะพลาดโอกาสทางการเมือง

ประการที่สองคุณสุเทพยังมีคดีความจำนวนมากเป็นชนักติดหลังอยู่ ถ้าไม่มีอำนาจทางการเมืองไว้คอยป้องกันตัวหรือคุ้มครองก็มีโอกาสที่จะโดนกระบวนการทางกฎหมายจัดการ อย่างน้อยเข้าไปใช้โอกาสทางการเมืองยื้อคดีความต่างๆ

นอกจากนี้ คุณสุเทพประเมินว่ายังมีกลุ่มชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งไม่พอใจพรรคเพื่อไทย ไม่พอใจพรรคอนาคตใหม่ และแอบมีใจให้ คสช. คือแนวร่วม กปปส. โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเขตเมือง คุณสุเทพยังคิดว่ามีกลุ่มนี้อยู่และพยายามชูธงปฏิรูปอย่างที่เห็นกัน ผมคิดว่าเหตุผลเหล่านี้ทำให้คุณสุเทพหวนกลับสู่การเมือง โดยกลืนน้ำลายตัวเอง

ส่วนหนึ่งที่แกนนำ กปปส.เข้ามาร่วมพรรคนี้น้อยเพราะเห็นพฤติกรรมทางการเมืองของคุณสุเทพว่า 4 ปีที่ผ่านมาจุดยืนของคุณสุเทพว่าไม่มีความคงเส้นคงวา ไม่มีอุดมการณ์ชัดเจนพอที่จะเป็นแนวร่วมอย่างในอดีต แกนนำ กปปส.ส่วนหนึ่งหมดความไว้เนื้อเชื่อใจคุณสุเทพ คำพูดที่ผ่านมาของคุณสุเทพที่บอกจะไม่ยุ่งการเมือง จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เหล่านี้ที่ทำให้แกนนำ กปปส.ส่วนหนึ่งกลัวบทบาทคุณสุเทพจะใช้พรรคนี้เป็นสะพานให้คุณสุเทพไปหาอำนาจเท่านั้น

ผมคิดว่าพรรค รปช.ที่ตั้งมาครั้งนี้ทุกคนต่างฉวยโอกาสเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง แล้วใช้วาทกรรมข้ออ้างการปฏิรูปมาสานต่อ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งเลื่อนลอยมาก เพราะถ้าจะชูธงปฏิรูปประเทศจริงๆ น่าจะชูมาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่มาเปิดพรรคเอาไม่กี่วันนี้แบบฉุกละหุกมาก คงเล็งเห็นว่ายังไง คสช.ต้องชนะพรรคเพื่อไทยให้ได้ ด้วยโอกาสและกลไกที่มีทั้งหมด ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะล้มทั้งกระดาน

ส่วนที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เปิดตัวมานั้นไม่เหนือความคาดหมาย เพราะทุกคนเห็นโอกาสตรงกัน แม้นายเอนก พยายามอธิบายว่าต้องการปฏิรูป แต่คิดว่านายเอนกเองก็มีความฝันทางการเมืองในตำแหน่งแห่งที่บางอย่างเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่าหลังเลือกตั้ง ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดนแรงกดดันทางสังคมไม่ให้เป็นนายกฯต่อ ถามว่าใครจะเหมาะสม ดูรูปการณ์ผมคิดว่านายเอนกก็มีความเหมาะสมอยู่ระดับหนึ่ง นายเอนกคงเห็นโอกาสที่ตัวเองอาจได้เป็นนายกฯในสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้

ส่วนที่พรรค รปช.ชูเรื่องปฏิรูปประเทศ ผมยังไม่เห็นนโยบาย แต่กลัวว่าจะเป็นเพียงกระดาษไว้หาเสียง ถ้าจะปฏิรูปกันอย่างจริงจัง ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งหมด หมายความว่ากลุ่มชนชั้นนำที่อยู่ใน กปปส.บางส่วน อาจต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมือง ถามกลับไปว่าเขายอมไหม คนที่อาสาจะปฏิรูปเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่ถือครองทรัพยากรมากที่สุดในประเทศกันทั้งสิ้น คนเหล่านี้จะยอมเสียประโยชน์บางอย่างของตัวเองไหมเพื่อกระจายคืนสู่สังคม ซึ่งผมไม่มั่นใจ การปฏิรูปเป็นเพียงวาทกรรมไว้หาเสียง ปลอบประโลมชาวบ้านว่าชีวิตจะดีขึ้น ผมคิดว่ายาก เป็นสิ่งที่เลื่อนลอยและนามธรรม

การตั้งพรรค รปช.กระทบฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อยู่แล้ว เพราะฐานคะแนนมีความทับซ้อนกันอยู่ คิดว่า ปชป.เองก็มีความตกต่ำมาตลอดในการเลือกตั้ง คือแพ้ตลอด ยุทธศาสตร์การตั้งพรรคแบบนี้อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง เรียกว่า ซื้อเหล้าแถมเบียร์ ถ้าไม่ชอบ ปชป.อาจมาเลือก กปปส. เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นแบบแบ่งสันปันส่วน แม้ไม่ได้อันดับ 1 แต่อันดับ 2 ก็ยังมีโอกาสได้คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ ผมคิดว่าอาจเป็นยุทธศาสตร์คู่ขนานระหว่าง ปชป.กับพรรค รปช.ของสุเทพ เช่นเขตนี้ ปชป.ชนะอันดับ 1 พรรคคุณสุเทพได้อันดับ 2 เพื่อช่วยคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ เหมือนที่พรรคเพื่อไทยกำลังจะวางกับพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตาม มองได้ว่าคุณสุเทพกลับมาพิสูจน์ตัวเองตามกติกา แต่คิดว่าสัจจะทางการเมืองเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐาน เมื่อให้สัจจะไปแล้วความคงเส้นคงวาก็ต้องมีอยู่ สัจจะที่ให้กับประชาชนโดนทำลายสัตยาบันโดยคุณสุเทพเอง คุณสุเทพอาจกลับมาสู่การเมืองแบบรัฐสภาแต่ถ้าคุณสุเทพแพ้ล่ะ มีหลักประกันแค่ไหนที่คุณสุเทพจะไม่กลับไปสู่การเมืองบนท้องถนน เพราะคุณสุเทพมีประสบการณ์ในการบิดพลิ้วเจตนารมณ์ทางการเมืองแบบนี้มาตลอด เราไม่สามารถหาความคงเส้นคงวาของคุณสุเทพได้ ถ้าคุณสุเทพแพ้แล้วไม่ยอมรับ ก็มีสิทธิตั้งการเมืองภาคประชาชนบนท้องถนนได้อีกเช่นกัน


 

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.)

ที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าร่วมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และประกาศจะไม่รับตำแหน่งใดนั้น ต้องขอบอกว่าไม่ใช่เพียงกรณีของคุณสุเทพคนเดียว เรื่องแบบนี้ผมถือว่าเป็นสำนึกของคนที่ทำงานการเมือง วันนี้ประชาชนเราเห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเราเดือดร้อนขนาดไหนเพราะการบริหารงานของรัฐบาลทหารชุดนี้ พวกเขาไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศได้ ต้องถือเป็นความผิดพลาดที่ประชาชนไปไว้วางใจคุณสุเทพ

หากดูลงไปจริงๆ แล้วพวกเขาก็ทำงานคู่กัน ทุกคนเห็นภาพนี้กันหมด และไม่มีประชาชนคนไหนอยากให้อยู่ต่อเลย ถึงแม้เขาจะระบุว่าจะเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ในความรู้สึกของเราในฐานะนักการเมืองเห็นว่าของแบบนี้อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนที่จะคิดได้ว่าควรจะทำอะไรให้ประชาชน เชื่อว่าประชาชนไม่อยากให้ใครไปผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อยู่ต่อ หรือบริหารประเทศอีก

ส่วนที่คุณสุเทพระบุว่าไม่อาจตอบได้แล้วว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ต่อ เพราะวันนี้ก้าวสู่พรรคการเมืองแล้ว ตรงนี้ก็อยู่ที่ประชาชนแล้วว่า ประชาชนเลือกจะเชื่อคนเหล่านี้หรือไม่ จะเชื่อนักการเมืองที่มีพฤติกรรมแบบนี้หรือเปล่า เพราะยิ่งทำออกมาแบบนี้ประชาชนก็ยิ่งได้เห็น และเชื่อว่าครั้งนี้ประชาชนจะสอนบทเรียนให้คนกลุ่มนี้ คนจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเพื่อสอนบทเรียนให้กับคนเหล่านี้ว่าคนไทยไม่ใช่คนที่ยอมถูกหลอกตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image