“เพชรชมพู กิจบูรณะ” ดาวเด่นพรรครปช. วัย25-ดีกรีเดอรัม ฝันทำการเมืองของประชาชน

การเปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มีรุ่นใหญ่หลายคนเป็นแกนนำที่คอการเมืองคุ้นหน้า อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล

แต่อีกหนึ่งมุมที่น่าสนใจ ว่าด้วยเรื่องคนรุ่นใหม่ ในวันแถลงข่าวเราเห็นทีมโฆษกหนุ่มสาวซึ่งช่วยแปลคำแถลงข่าวของนายสุเทพเป็นภาษาอังกฤษอย่างขะมักเขม้น โดยเฉพาะ เพชรชมพู กิจบูรณะ หนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้ง ที่มีอายุเพียง 25 ปี

ดีกรีไม่ธรรมดา เพราะจบด้านปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเดอรัม มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะเรียนเพิ่มในด้านกฎหมายอีก

ส่วนในด้านประสบการณ์การเมืองสังคม ก็เคยขึ้นปราศรัยบนเวทีกปปส.ด้วยวัยเพียง 20 ต้นๆ เพราะไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม และชื่นชมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงยังเคยเป็นตัวแทนประเทศขึ้นเวทีระดับโลกอย่าง One Young World เมื่อปี 2557 ที่ประเทศไอร์แลนด์ โดยเป็นการปาฐกถาพูดถึงปัญหาประเทศ จนได้รับเสียงปรบมือดังสนั่น

Advertisement

เพชรชมพูเล่าถึงประวัติส่วนตัวว่า เกิดที่ กรุงเทพฯ แต่แม่เป็นคนนครสวรรค์ เรียนมาในระบบการศึกษาไทยจนถึงม.2 จากนั้นจึงไปเรียนต่อที่สิงคโปร์ เหตุที่ตัดสินใจไปเรียนที่สิงคโปร์ก็มองว่า ระบบการศึกษาไทยไม่เหมาะกับตัวเองมากนัก เช่นความเข้มข้นของหลักสูตร รวมถึงที่เลือกไปสิงคโปร์ ยังเป็นเรื่องการได้ภาษาอังกฤษด้วย ทั้งยังมีหลักสูตรที่เข้มข้น โดยเรียนตั้งแต่ ม.2- ม.4

“คือสิงคโปร์เป็นประเทศที่เพชรชื่นชมเขานะคะ เขาเป็นเกาะเล็กๆเองแต่สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้นมาจนประเทศเขามีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ คนมีคุณภาพ มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จากที่ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติอะไร”

จากสายวิทย์สู่สายสังคม

เพชรชมพู เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ให้เหตุผลว่า ตอนแรกก็มีความฝันว่าอยากเป็นจิตแพทย์ แต่ละห้องก็จะมีที่ปรึกษาที่จะเข้ามาคุยถึงอาชีพที่อยากทำและอยากเรียนต่อ ครูมองว่าด้วยการเรียนสายวิทย์-คณิตและนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบรับฟังคนอื่น จึงแนะนำให้เรียนเป็นจิตแพทย์

Advertisement

แต่การข้ามไปเรียนด้านปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ ที่ดูจะเหมือนเป็นคนละโลกกันเลยกับสายวิทย์-คณิต เพชรชมพู เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการได้เรียนวิชาสังคมศาสตร์ ในช่วงมัธยมฯที่สิงคโปร์ ได้เรียนเรื่องประวัติศาสตร์สังคมของแต่ละประเทศในโลก ครูผู้สอนก็พูดตลอดว่าแม้จะมาสายวิทย์-คณิต แต่ก็ไม่ควรปิดใจตัวเอง ให้ดูด้วยว่าสายสังคม เหมาะกับเราหรือเปล่า

“เพชรเคยเขียนบทความเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในไทยช่วงปี 2552-2553 ก็พยายามวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเรามีความเห็นที่ต่างกันในทางประชาธิปไตย ซึ่งมันต้องมีอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่ทำไมต้องใช้ความรุนแรงกัน ทำไมไม่มาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ทำการเมืองให้สร้างสรรค์ พอครูรับงานเราไปตรวจก็ถามกลับว่า คุณแน่ใจหรือเปล่าว่าอยากจะเป็นจิตแพทย์”เพชรชมพู ระบุ

เพชรชมพู เล่าต่อว่า นั่นคือจุดสำคัญแต่ก็ยังเลือกเรียนสายวิทย์-คณิตอยู่ หลังจากเรียนจบที่สิงคโปร์ ก็ไปเรียนต่อในระดับ A Level ที่อังกฤษ หรือระดับม.5-ม.6 แต่ก็ยังมีความคิดที่อยากเป็นจิตแพทย์อยู่ ยังคงเลือกเรียนเคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ แต่ก็อยากเลือกเรียนวิชาด้านจิตวิทยาด้วย บังเอิญตอนนั้นวิชาดังกล่าวมีตารางเวลาเรียนชนกัน ครูจึงแนะนำวิชาจิตวิทยาสังคม ซึ่งเป็นการศึกษาว่าด้วยการเมือง ทฤษฎีของสังคม จิตวิทยาของคนหมู่มากให้เรียนแทน หลังจากเรียนก็รู้สึกว่าเริ่มสนใจ เลยเป็นจุดเปลี่ยนให้มาเรียนด้านนี้เพราะเรียนแล้วรู้สึกสนุก แต่แม่ก็พยายามเตือนว่าการเลือกเรียนในมหาลัย ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วสนุกแต่ต้องรู้ว่าเราทำได้ดีด้วยหรือเปล่า แม่บอกว่าหากอยากเรียนด้านการเมืองในระดับมหาวิทยาลัยจึงจะต้องทำให้ได้ระดับ A Star ซึ่งเป็นระดับคะแนนของอังกฤษใน 2 ปี ที่ทำได้ยากมาก ปีแรกต้องได้คะแนนรวมเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ 2 ต้องได้คะแนนรวมเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นลุ้นมากต้องอ่านหนังสือทุกวัน แต่ผลสุดท้ายก็คือ ทำได้

“แต่ก็ไม่ได้เลือกเรียนการเมืองอย่างเดียว ในสมัยนี้มันมีความเชื่อมโยงกันของศาสตร์แต่ละศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ก็มีความสําคัญ เชื่อมโยงกับการเมืองอยู่แล้ว ก็เลยได้เรียน ปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดอรัม” เพชรชมพู ระบุ

ชอบผสมผสานมากกว่าการเลือกข้าง

เพชรชมพูเล่าถึงบรรยากาศการเรียนที่มหาวิทยาลัยเดอรัม ว่ามีจุดเด่นคือการพยายามสอนให้นักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองได้ เน้นการวิจัยไม่ใช่การสอนว่าอะไรถูกหรือผิด อาจารย์จะเป็นคนยื่นคำถามให้แล้วให้เราไปหาคำตอบ แล้วก็ไม่บอกด้วยว่าคำตอบนั้นผิดหรือถูก คุณไปวิเคราะห์ด้วยจุดยืนของคุณมาเอง คือการเข้าไปเรียนไม่ใช่การไปตอบคำถาม แต่คือการให้ได้คำถาม ให้ผู้เรียนรู้สึกหิวโหยในการอยากรู้มากขึ้น

เมื่อถามว่าสนใจวิชาเกี่ยวกับอะไร เพชรชมพูเล่าว่า สนใจวิชาเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมือง ตามหลักวิชา จะบอกว่าแนวคิดอะไรเป็นฝั่งซ้าย แนวคิดอะไรเป็นฝั่งขวา แบ่งแยกกันชัดเจน แต่ในแนวคิดของเพชรในความเป็นจริง ไม่ควรแบ่งแยกว่าฝั่งไหนเป็นซ้ายหรือขวา แต่ควรมีความคิดแบบวิธีการไหนผสมผสานแล้วประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด เพราะจริงๆระบอบประชาธิปไตยก็มีจุดแข็งเยอะ แต่จุดอ่อนก็มีหลายจุดเหมือนกัน อาจจะเป็นเผด็จการรัฐสภาก็ได้ หรือการไม่ได้รับฟังเสียงข้างน้อย แต่ละระบบก็มีข้อแตกต่างกัน แต่คนคิดระบบมา ก็คงอยากให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

เพชรชมพู เล่าว่า ชอบการผสมผสานมากกว่า เน้นการเลือกหยิบยกแต่ละข้อมา อย่างเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตย ก็จะให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษา เพื่อที่จะได้ตัดสินใจในการเลือกผู้แทนของเขาในการเลือกตั้ง แต่ในอนุรักษ์นิยมบางครั้งก็มีข้อดี บางคนมองไปในทางลบ คนคิดว่าอนุรักษ์นิยมเก่าแก่ล้าหลัง จริงๆไม่ใช่อย่างนั้น อนุรักษ์นิยมในบางความคิด คือสังคมเป็นเรื่องของการส่งต่อจากรุ่นที่เสียชีวิตไปแล้ว สู่รุ่นที่ยังอยู่และรุ่นที่ยังไม่เกิด

“อย่างเรื่องสังคมที่เราอยู่ตอนนี้ เราคิดยังไงเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะใช้ทรัพยากรให้หมดเลยหรือเปล่า แล้วจะส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้อย่างไร ”

เพชรชมพู ระบุว่า “นี่จึงสอดคล้องกับนโยบายของพรรคข้อหนึ่งที่ว่าด้วยความเป็นไทย เรารักในความเป็นไทย ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ความเป็นชาติไทยขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีก็ควรสงวนไว้ การบอกว่าจะเป็นฝ่ายก้าวหน้าไม่ได้หมายความว่าต้องโละทิ้งทุกอย่าง แต่หมายความว่าเราต้องทำอะไรอย่างรอบคอบ อะไรที่ดีก็ควรเก็บไว้ อะไรที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเราก็เปลี่ยน อย่างนี้มากกว่า”

อย่าลืมองค์ประกอบประชาธิปไตยอื่นๆ

เมื่อถามว่า มองว่าอะไรคือปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ เพชรชมพู เห็นว่าเรื่องใหญ่ที่สุดคือคนไม่หันหน้าคุยกัน โดยเฉพาะการแบ่งแยกด้วยสีเสื้อ การไปแบ่งแยกว่าเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่จริงๆทุกคนก็เป็นตัวแทนประชาชนกันหมด ส่วนตัวมองว่านโยบายใดหากรัฐบาลเสนอมาแล้วดีจริงฝ่ายค้านก็ไม่ควรค้าน ส่วนการถ่วงดุลในระบบฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ต้องโกรธ เรื่องไหนที่เป็นเรื่องดีของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ควรรับมาพิจารณาเหมือนกัน

“ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ว่าที่หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยได้ให้สัมภาษณ์เลยว่า จริงๆมันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลเพื่อที่จะผลักดันประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ถ้าเราไม่หันหน้าคุยกันเลยแล้วมองว่าอีกฝ่ายสุดขั้ว มันก็จะเดินต่อไปไม่ได้”

เพชรชมพูเห็นว่าหลักการข้อนี้เป็นเรื่องของทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะการเมืองไทย บางทีเราไม่ได้มองว่าความคิดของคนๆนี้ดีหรือเปล่า แต่เราจะรีบๆสแกนเลยว่าคนๆนี้มาจากฝ่ายไหน ใครเป็นคนพูดเรื่องนี้ ถ้าเราเห็นด้วยกับพรรคนี้เราก็เห็นดีเห็นงามไปหมด แต่ถ้าไม่ชอบพรรคนี้ก็จะบอกว่าความคิดแย่ทั้งหมด ซึ่งการคิดแบบนี้ไม่ถูก

“ประชาธิปไตยต้องมีส่วนประกอบมากมายถึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ บางครั้งเราไปเน้นที่ว่าจะต้องมีการเลือกตั้งเท่านั้น ถึงจะเป็นประชาธิปไตย โดยเราลืมองค์ประกอบอื่นๆที่มีความสำคัญเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการเลือกตั้ง ว่าการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือเปล่า มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันไหม การเข้าสู่อำนาจของแต่ละรัฐบาลมีความชอบธรรมหรือเปล่า  พอใช้อำนาจแล้วมีการแทรกแซงองค์กรอิสระหรือเปล่า มีการรับฟังเสียงของคนส่วนน้อยหรือเปล่า เคารพในความคิดเห็นเขาไหม นำความคิดเห็นของเขามาพิจารณาหรือเปล่า ถูกต้องว่าประชาธิปไตยต้องฟังเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องไม่ลดทอนความคิดของเสียงข้างน้อย เพราะเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศเหมือนกัน แต่ก็แน่นอนว่าต้องมีเลือกตั้ง แต่ก็ต้องดูว่าเลือกตั้งนั้นครบถ้วนสมบูรณ์หรือเปล่า” เพชรชมพู ระบุ

เมื่อถามว่าแต่เสียงส่วนใหญ่บอกว่าตอนนี้ไม่มีเลือกตั้งนานแล้ว เพชรชมพูตอบว่า อันนี้ก็ต้องรอดูต่อไปในปีหน้า

ฝันอยากปฎิรูปการศึกษา

มาดูที่มุมมองของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ในสายตาคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเรื่องจุดยืนเชิงอุดมการณ์ในบริบทการเมืองไทยขณะนี้ เพชรชมพูกล่าวว่า พรรครปช.มีอุดมการณ์ชัดเจนที่ประกาศไว้ 7 ข้อ ข้อแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นหลักยึดของคนไทย 2. คือการทำการเมืองโดยยึด ธรรมาธิปไตย ยึดนิติรัฐ นิติธรรมและศีลธรรม ไม่ยกประโยชน์ของตนเองเหนือประโยชน์ส่วนรวม 3.คือการทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่อ้าง แต่ต้องทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคจริงๆ ที่ต้องลงทุนลงแรงเอง มีคณะกรรมการจริยธรรมของพรรคเพื่อควบคุมนักการเมือง ให้ความเท่าเทียมทางเพศโดยการส่งชื่อปาร์ตี้ลิสต์ก็มีการสลับรายชื่อชายหญิงเท่ากัน 4. คือการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เช่นการปฏิรูปการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำไปแล้วบ้าง ต่อมาคือการปฏิรูประบบกำจัดคอร์รัปชั่น การกระจายอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งการศึกษา สาธารณสุข โอกาสในการเข้าถึงอาชีพ และสุดท้ายคือการปฏิรูประบบยุติธรรมและตำรวจ

5.คือเรื่องรักในความเป็นไทย ซึ่งคนไทยมีค่านิยมที่ควรส่งเสริมคือเรื่องความสุจริตและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นี่คือความเป็นไทย ในต่างประเทศที่ตนเองได้ไปอยู่ เวลามีการจัดงานเกี่ยวกับเมืองไทย คนต่างชาติต่างทึ่งในวัฒนธรรมและรู้สึกอยากมีแบบนี้ ฉะนั้นเรามีของดีอยู่แล้วก็ควรจะเก็บไว้ 6.คือการนำศาสตร์พระราชาโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติจริง อันนี้จะเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ข้อสุดท้ายเรื่องสิ่งแวดล้อม ของการทําเกษตรทฤษฎีใหม่จะเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ที่จะให้ประชาชนมีผลผลิตปราศจากสารเคมี ตรงนี้สามารถทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่เสมือนเป็นครัวของโลก อาหารที่ขายได้รับการยืนยันว่ามีคุณภาพทุกที่ การทำตรงนี้ได้ประชาชนน่าจะมีความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดี

เมื่อถามว่าส่วนตัว หากมีตำแหน่งทางการเมืองในอนาคต อยากจะแก้ไขประเด็นไหนมากที่สุด เพชรชมพูระบุว่าส่วนตัวสนใจเรื่องการศึกษา การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นเชื่อมโยงในหลายด้านของสังคม โดยจะต้องปลูกฝังเด็กให้มีค่านิยมถูกต้อง ตั้งแต่อายุยังน้อยจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองดีของสังคม เป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย

เพชรชมพูยกตัวอย่างค่านิยมที่ดี โดยมองว่าปัญหาตอนนี้คือ การที่ทุนนิยมเข้ามาในเมืองไทยเยอะ เป็นสังคมยึดติดวัตถุ เป้าหมายในชีวิตของคนเป็นเรื่องสิ่งของ ต้องมีรถยนต์ กระเป๋าแบรนด์เนม ซึ่งที่ถูก ควรเน้นให้คิดเรื่องเหตุผล และหน้าที่มากกว่าความฟุ้งเฟ้อ ควรทำอะไรพอดีตัว ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต้องคิดให้รอบคอบ ตกผลึก ดูว่าเป็นความต้องการของเราจริงๆ

นอกจากนี้ ยังต้องพยายามทำให้นักเรียน-นักศึกษามีทักษะในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ การศึกษา การผลิตคนให้มีความเป็นมืออาชีพ จะเห็นว่าพรรครปช. ส่งเสริมให้เรียนอาชีวศึกษาด้วย แต่ตอนนี้คนจบปริญญาตรีไม่มีงานทำหลายแสนคน บางคนค้นหาตัวเองไม่เจอ เรียนเพื่อให้ได้ใบปริญญาเท่านั้น โดยไม่รู้ว่าที่เรียนไปนั้นชอบหรือเปล่า จะหางานทำได้ไหม การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ลุงกำนันทำงานหนัก

เพชรชมพูเล่าเรื่องการเข้ามาทำงานในพรรค โดยบอกว่าส่วนตัวเพิ่งกลับมาไทยเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว ในเดือนพฤศจิกายน ก็ได้เข้ามาทำงานในมูลนิธิมวลมหาประชาชน โดยดูเกี่ยวกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยความที่จบกฎหมายมา ก็ดูเกี่ยวกับเรื่องสัญญาข้อกฎหมายต่างๆ ระหว่างที่ทำงานในมูลนิธิ ก็ได้ทำงานร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งปัจจุบันคือคนที่ร่วมจัดตั้งพรรค พบว่ามีจุดยืนและอุดมการณ์ตรงกันที่จะสร้างพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งมันยังไม่เคยเกิดมาก่อนในเมืองไทย ส่วนตัวมองว่า ตนเองอายุยังน้อย ไม่ได้มีภาระหน้าที่อะไรมาก ก็เลยมาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็อยากให้มันเกิดขึ้นจริง

เมื่อถามถึงการทำงานกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคนสำคัญของพรรค เพชรชมพูเล่าว่า นายสุเทพเป็นคนที่ทำงานหนักและจริงจัง

“ลุงกำนันเป็นคนที่ทำงานหนักจริงๆ เพชรนับถือท่านมากในเรื่องนี้ เป็นบุคคลที่เสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวมจริงๆ ท่านเข้ามาทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด บางทีเข้ามาตั้งแต่ 7 โมงเช้า 2 ทุ่มยังไม่ได้กลับเลย โดยเฉพาะหลังจากท่านเข้ามาเป็นผู้ร่วมจัดตั้งแล้วก็ประชุมกันตลอด ร่วมกันร่างข้อบังคับและนโยบายของคนทุกรุ่น นี่คือจุดที่อาจจะไม่เหมือนที่อื่น ที่นี่จะเป็นการผสมผสานประสบการณ์และความรู้ของคนทุกรุ่น”

เพชรชมพูยืนยันว่า คนรุ่นใหม่ก็มีบทบาทอย่างมากในพรรค ทีมงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ขณะนี้มีจำนวนไม่น้อย ทุกคนมีความคิดและความตั้งใจในการพัฒนาและปฏิรูปประเทศ

เมื่อลองให้เพชรชมพู วิเคราะห์ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้คนไทยเบื่อการเมือง เพชรชมพูมองว่า เป็นเพราะการเมืองแบบเก่า ที่เวลาเราเปิดหนังสือพิมพ์มาดู ก็จะเป็นการตอบโต้ต่อว่าของนักการเมืองจากที่พรรคหนึ่งสู่อีกพรรคหนึ่ง เป็นลักษณะการสาดโคลนใส่กันไปมา ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการที่ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันผ่านสื่อ มีแต่การดิสเครดิตกัน สุดท้ายก็ทำให้คนเบื่อ เพราะมองว่า ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอะไรเลย เหมือนการไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเสร็จ สิทธิก็หายไปเลย 4 ปี แต่ตอนนี้เราพยายามจะบอกว่าสิทธิของคุณมีแล้ว ประชาชนมีสิทธิยาวนานมากกว่าแค่การไปหย่อนบัตร หากเข้ามาที่พรรคของเราคุณจะเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง คุณเป็นคนกำกับนักการเมือง ไม่ใช่แบบเดิมที่เลือกแล้วไม่มีสิทธิ์กำกับควบคุมอะไร

“เรามีกรรมการวินัยและจริยธรรม เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำกับนักการเมือง มีอำนาจในการรับรองนโยบายของพรรค นี่คือการสร้างการเมืองมิติใหม่ที่จะปลุกคนให้มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ในการเข้ามาอยู่ร่วมกับเรา” เพชรชมพูระบุ

การเมืองที่ดีต้องใช้พลังของทุกคน

เพชรชมพูยังกล่าวถึงความสำคัญของการเมือง โดยระบุว่า หลายๆคนอาจจะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง แต่เป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่เลือกไป ทั้งที่จริงๆแล้วการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน บางครั้งการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยก็ไปเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ จนลืมหน้าที่ สิ่งที่เราควรจะทำในระบอบนี้ก็คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเชิงนโยบาย เช่นเรามักจะบ่นเรื่องการจราจร รถติด bts เสีย หรือปัญหาข้าวของแพง พืชผลทางการเกษตรราคาตก เรื่องพวกนี้เชื่อมโยงทางการเมืองทั้งหมด ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมในเชิงนโยบาย มันจะเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น การที่เราออกมาวิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่ได้ลงมือทำอะไรที่เป็นรูปธรรม ก็จะไม่เกิดผลแบบที่เราอยากให้เกิด ฉะนั้นมันต้องใช้พลังของทุกคนในประเทศจริงๆ ทั้งนี้ประเทศไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หากต้องการการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่ตัวเรา

เมื่อถามว่าหากออกมาเคลื่อนไหวสนใจการเมืองกันเยอะ คนมักมองว่าจะทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย เพชรชมพูระบุว่า การชุมนุมก็ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่ง เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ทำได้ แต่การเข้ามาในระบบพรรคการเมือง ที่จะเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถแสดงความคิดเห็นและสามารถผลักดันเป็นนโยบายได้จริงๆ

เมื่อให้วิจารณ์จุดเด่นและจุดด้อยระบบในการบริหารบ้านเมืองยุคปัจจุบัน เพชรชมพู มองว่า สิ่งที่ดีที่คสช.ทำมาแล้ว คือรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ข้อที่ 4 ของพรรค เรื่องการปฏิรูปการเมือง โดยการปฏิรูปการเมืองก็ต้องใช้เวลา และหากอยากปฏิรูปการเมืองตามเจตนารมณ์ของประชาชน ก็ต้องเปิดโอกาสรับฟังเสียงของประชาชนด้วย ดังนั้นการปฏิรูปยังไม่เสร็จต้องทำต่อไป นี่จึงเป็นสิ่งที่พรรครปช. คิดว่าจะเข้ามาและทำต่อ

เมื่อถามว่าหากอนาคต ประเทศกลับไปเป็นปกติแล้วคิดว่าระบบการเมืองของเราจะเป็นยังไง จะเดินหน้าต่อไปได้ยังไง เพชรชมพูมองว่า ส่วนตัวความเชื่อมั่นว่าประชาชนที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองระดับหนึ่ง มีเด็กรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมืองและอยากผลักดันระบบให้เดินต่อไปได้ก็จะมาร่วมกับพรรค ทำให้ประเทศ

ต่อกรณีคำถามเรื่องที่ว่าพรรคนี้เป็นร่างทรงของนายสุเทพ เพชรชมพูชี้แจงว่า ข้อครหานี้ได้ยินมาบ่อย ยืนยันว่านายสุเทพเป็นเพียงหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้ง

“คุณสุเทพเป็นเพียงหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้ง หนึ่งใน 607 คน เพชรก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้ง ในพรรคนี้เราบอกแล้วว่าเรารับฟังเสียงของประชาชน หลังจากนี้พอมีการปลดล็อคให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ก็มีสมาชิกระดับหนึ่งเราก็จะจัดประชุมสมัชชา ในตอนนั้นคนที่กำหนดทุกอย่างคือประชาชนที่เป็นสมาชิกของพรรค มันจึงไม่ใช่พรรคของคนใดคนหนึ่งแน่นอน”

เพชรชมพูยังกล่าวถึงอนาคตของผู้หญิงกับการเมือง โดยระบุว่า

“ด้วยความที่เป็นผู้หญิง และเราก็เห็นว่าไทยมีผู้หญิงที่เลือกเดินเข้ามาในเส้นทางการเมืองค่อนข้างน้อย ทั้งๆที่ผู้หญิงเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศ อย่าคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะแสดงศักยภาพ และความห่วงใยในบ้านเมือง ห่วงใยวันพรุ่งนี้ของลูกหลาน จึงอยากชวนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง” เพชรชมพู ระบุ

เพชรชมพู กล่าวทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ว่า “การเข้ามาทำงานการเมืองมันมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่การที่เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ถ้าเราไม่ทำตอนนี้แล้วจะให้ใครทำ ถ้าเราวิพากษ์วิจารณ์แล้วไม่ลงมือทำก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา” เพชรชมพู กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image