สัมภาษณ์ : ‘อุตตม’ลุย‘ไซเบอร์พอร์ต’ แพลตฟอร์มปั้นสตาร์ตอัพ : โดย ปิยะวรรณ ผลเจริญ

หมายเหตุ – นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการเดินหน้านโยบายสนับสนุนสตาร์ตอัพที่ครบวงจรครั้งแรกของประเทศ

⦁ความคืบหน้าการจัดตั้งไซเบอร์พอร์ตในประเทศไทย
วันนี้ไซเบอร์พอร์ตเป็นแนวคิดการสร้างฐาน หรือแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์รวมการบูรณาการเรื่องการสนับสนุนพัฒนาวิสาหกิจหรือผู้ประกอบการรายใหม่ เรียกว่าสตาร์ตอัพ อย่างกว้างขวางในประเทศไทย มีการต่อยอดไปถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้ สิ่งที่ทำคือการศึกษารูปแบบจากหลายพื้นที่ เบื้องต้นรัฐบาลกำลังหารือกับไซเบอร์พอร์ตของฮ่องกง หลังจากคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปชักจูงการลงทุนที่ฮ่องกง ส่วนนี้เป็นแนวความคิดที่ดีตรงกับความคิดในการสนับสนุนสตาร์ตอัพของไทย

ขณะที่จีนก็มีเรื่องนี้เช่นกัน อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยซินหัว โดดเด่นด้านเทคโนโลยีมาก เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมหาวิทยาลัยมีการตั้งบริษัท ชื่อทัส โฮลดิ้ง หน่วยงานทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มบ่มเพาะสตาร์ตอัพในจีน แต่จะเน้นสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยี แนวคิดของจีนสอดรับกับไทยเช่นกัน

วันนี้รัฐบาลกำลังวางโครงการนี้ มีการเชื่อมต่อหารือกับไซเบอร์พอร์ตฮ่องกงแล้ว โดยส่งคุณสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปหารือ ล่าสุดคืบหน้าดี ผู้บริหารของไซเบอร์พอร์ตเขาแสดงความสนใจร่วมในโครงการของไทย อย่างไรก็ตาม ไทยหารือกับฮ่องกงมาก่อน ทำให้มีความคืบหน้ามากกว่าพอสมควร ขณะนี้จึงอยู่ในช่วงของการจัดทำข้อเสนอ แนวคิดจะทำในเมืองไทย เช่น รูปแบบขององค์กรแฟลตฟอร์มจะเป็นเช่นไร จะเป็นรูปขององค์กรเอกชน หรือรูปแบบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) คือรัฐมีส่วนร่วมด้วย ส่วนที่ตั้งจะเป็นที่ใด ตอนนี้เราคิดถึงเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ก่อน เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีสถาบันวิทยสิริเมธี (วิสเทค) ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อตั้ง

Advertisement

เบื้องต้นถ้าจะขอใช้พื้นที่อาจใช้ที่บางส่วนของวิสเทคก่อน ขณะเดียวกันก็คุยกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วย เพราะมีโครงการงบประมาณในการสร้างอีอีซีไอในปี 2562 สวทช.ยินดี ถ้าเป็นไปได้ต่อไปไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์ หรือจะเรียกอะไรดี เพราะชื่อยังไม่ตั้งอย่างเป็นทางการ เข้าไปอยู่กับ สวทช.เลย ก็เหมาะ เพราะเป็นเรื่องเทคโนโลยี รัฐบาลต้องการสร้างสตาร์ตอัพ และสตาร์ตอัพเองสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในพื้นที่ได้มากสุด

ตอนนี้ไทยมีจุดเด่น มีโครงสร้างเศรษฐกิจโดดเด่นในอุตสาหกรรมหลากหลาย เราจึงสามารถสร้างสตาร์ตอัพในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น นโยบายครั้งนี้จึงเปิดกว้าง ไม่ได้พูดถึงแค่กลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) นอกจากนี้เรามีชุมชนต่างๆ ที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของนวัตกร หรือสตาร์ตอัพที่เป็นนักคิด และมีอุตสาหกรรมที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ของประเทศ แต่สำคัญคือต้องมีแฟลตฟอร์มกลางในการบูรณาการ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาในการตั้งหน่วยนี้ขึ้นมา เพื่อยึดโยงกับความหลากหลายที่ไทย ทั้งมุมเทคโนโลยี มุมบริหารจัดการสตาร์ตอัพที่ทิ้งไม่ได้ เพราะสุดท้ายต้องก้าวสู่เชิงพาณิชย์ ต้องบริหารจัดการเป็น

ที่สำคัญต้องมีมุมของเงินทุน ขณะนี้จึงกำลังออกแบบที่มาของแหล่งเงินทุนที่จะมาสนับสนุน อีกส่วนคือ เวนเจอร์แคปปิตอล (กองทุนร่วมทุน) ปัจจุบันเมืองไทยมีเวนเจอร์แคปฯ กำลังเจริญเติบโต และรัฐควรมีส่วนสนับสนุนหรือไม่ กลไกจะเป็นอย่างไร

Advertisement

ทั้งหมดนี้กำลังดีไซน์ ทั้งรูปแบบองค์กร การตัดสินใจเรื่องที่ตั้ง สมมุติไปที่อีอีซีจริง จะมีที่อื่นอีกหรือไม่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกที่ที่มีจุดเด่นเรื่องสตาร์ตอัพ ดังนั้นจึงใช้คำว่าแพลตฟอร์มเครือข่าย ตรงนี้กำลังดีไซน์ ส่วนเรื่องเงินทุนเอาไง จะเป็นตัวกำหนดว่าควรจะชวนใครเข้ามาเกี่ยวข้องในโครงการนี้บ้าง

มองภาคเอกชนไทย อย่าง ปตท. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ต่างก็ทำ จะชวนมาทำงานร่วมกัน เป็นการเสริมสร้างซึ่งกันละกัน ขณะที่ไซเบอร์พอร์ตฮ่องกงก็สนใจมาส่วนของจีนพบว่าทัสโฮลดิ้ง หนึ่งในผู้ก่อตั้งไซเบอร์พอร์ต ฮ่องกง อยู่แล้ว ผู้บริหารก็ยินดีจะจับมือเรา นอกจากนี้ภาคการศึกษาไทยที่ทำเรื่องนี้จำนวนมากก็จะเชิญมาร่วมทำงานด้วยแน่นอน

ล่าสุด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่าทางไซเบอร์พอร์ต ฮ่องกง เสนอว่า ถ้าจะลงนามขั้นต้นกับผู้เกี่ยวข้องก็ยินดี จึงให้ฝ่ายไทยและฮ่องกงไปหารือ แต่ข้อมูลที่ผมพูด จะต้องชัดระดับหนึ่งเพื่อบรรจุในข้อตกลงการลงนาม ภายในเดือนกันยายนนี้น่าจะลงนามได้ หน่วยงานที่เอ็มโอยู ประกอบด้วย ไซเบอร์พอร์ตฮ่องกง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) วิสเทค สนใจหรือไม่ กำลังรวบรวมกันอยู่ เพื่อเป็นกลุ่มแรกร่วมจัดตั้ง ส่วนทัสโฮลดิ้งน่าจะลงนามครั้งต่อไป อยู่ที่ความพร้อมของเขา

สำหรับรายละเอียดของการลงทุน (เอ็มโอยู) เบื้องต้นจะเป็นความร่วมมือในการจัดตั้งโครงการสนับสนุนการ
สร้างสตาร์ตอัพในประเทศไทย ส่วนจะใช้ชื่อไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์ คล้ายกับไซเบอร์พอร์ตฮ่องกงหรือไม่ก็ต้องดู ไม่อยากให้ซ้ำ ล่าสุดมีการเสนอชื่ออินโนสเปซ แต่ต้องดูว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจหรือไม่ ต้องดูชื่อเหมาะสมต่อไป

การทำงานครั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ทำหน่วยงานเดียว แต่ทำร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งดีอีมีโครงการพัฒนาคือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และปัจจุบันกำลังหารือกับทัสโฮลดิ้ง ดังนั้น หากตั้งไซเบอร์พอร์ตที่อีอีซีไอ ก็สามารถเชื่อมกับอีอีซีดี เน้นเรื่องดิจิทัล และเชื่อมกับ สวทช. เชื่อมกับวิสเทค เป็นการยึดโยงการทำงานระหว่างกันได้ นี่คือคอนเซ็ปต์ของนโยบายนี้ ขอเวลาไม่เกิน 2 เดือน คอนเซ็ปต์นี้น่าจะชัดเจน ปลายปีเห็นภาพ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบในหลักการปีนี้ และเริ่มดำเนินการต้นปีหน้า (2562) ได้

แนวทางของแฟลตฟอร์มกลางต้องมาให้ชัด ใครเกี่ยวข้อง บุคลากรมาจากไหน เงินทุนของตัวแพลตฟอร์ม และเงินทุนของตัวกองทุนที่ใช้สนับสนุนสตาร์ตอัพจะมาจากไหน

⦁นโยบายจะเห็นความชัดเจน และเดินหน้าทำงานได้ในช่วง 2 เดือนจากนี้
ต้องรู้คอนเซ็ปต์ใน 2 เดือน ซึ่งเราหารือมาตลอด

⦁นี่คือหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนสตาร์ตอัพโดยตรง และช่วยทุกอุตสาหกรรม
ใช่ครับ แฟลตฟอร์มกลางจะช่วยสตาร์ตอัพทุกอุตสาหกรรม

⦁ในมุมของรัฐมนตรี หน่วยงานนี้ควรมีสถานะเป็นอย่างไร เอกชน หรือรัฐควรเข้าลงทุนร่วมกับเอกชน
ก็กำลังศึกษาข้อดีข้อด้อยของ 2 แนวทาง อาจจัดตั้งเป็นมูลนิธิที่มีเอกชนเข้ามาร่วมบริหาร เช่นเดียวกับสถาบันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมดีหรือไม่ อาทิ สถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องยั่งยืน ช่วงแรกรัฐต้องเป็นหน่วยชี้แนว ให้การสนับสนุนบางอย่าง ไซเบอร์พอร์ตฮ่องกง เกิดขึ้นก็มีรัฐบาลให้การสนับสนุนมาก่อน แต่ปัจจุบันเอกชนก็สามารถดูแลตัวเองได้ มีสตาร์ตอัพในมือจำนวนมาก เน้นไปที่ฟินเทค แต่ถ้าของไทยเป็นสตาร์ตอัพที่หลากหลายจากทุกอุตสาหกรรม ก็สามารถเดินไปได้ไกล
แน่นอน

⦁กังวลว่าการจัดตั้งจะมีเงื่อนไขทำให้ล่าช้าหรือไม่
ก็ต้องดูแนวทางที่คล่องตัว ถ้ารัฐจะสนับสนุนก็ต้องกฎเกณฑ์ว่าจะเป็นองค์กรรูปแบบไหน ล่าสุด ครม.อนุมัติตั้งมูลนิธิสถาบันอินฟินิท เป็นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคในอนาคต ตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง แนวทางนี้ก็น่าสนใจ คล่องตัว สั่งให้ทีมทำไซเบอร์พอร์ตดูแนวทางนี้ด้วย แต่ของเราจะใหญ่กว่า เพราะหากตั้งหน่วยงานปกติอาจใช้เวลานาน แต่อีกหลักก็ต้องสามารถเลี้ยงตัวเองได้ รายได้จะมาจากทางไหน อย่างไซเบอร์พอร์ตฮ่องกง มีการทำภาคอสังหาคอยให้บริการด้วยทั้งแบบที่ทำงานและที่พักอาศัย ก็สามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

⦁จำเป็นต้องใช้ ม.44 หรือไม่
คงไม่ ถ้าใช้คงไม่ใช่เรื่องนวัตกรรมแล้ว (หัวเราะ)

⦁พื้นที่ตั้งหน่วยงานนี้
ถ้าเจรจาได้อาจใช้พื้นที่ของวิสเทค เพราะมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เทคโนโลยี ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ขณะที่ สวทช.ก็มีการออกแบบเครื่องมือที่สามารถร่วมใช้ได้ เป็นข้อดีของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ที่มีความพร้อมทำงานกับเรามาก ส่วนการจัดตั้งในพื้นที่ศักยภาพอื่น อาทิ เชียงใหม่มีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ขอนแก่น นครราชสีมา เดี๋ยวจะเข้าไปคุย ขณะที่ภาคใต้อาจต้องดูเรื่องเกษตร ประมง เพราะพื้นที่มีศักยภาพ

⦁วงเงินลงทุนกับนโยบายนี้
ยังตอบไม่ได้ ต้องดูก่อน วงเงินอาจไม่มาก เพราะมีเครื่องมือของหน่วยงานต่างๆ รองรับ มีเอกชนมาร่วมด้วยอยู่แล้ว คอนเซ็ปต์คล้ายกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไออีซี) ที่มีเอกชนร่วมช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในการวิจัยพัฒนาสินค้าไปสู่ตลาดสากล ศูนย์ไอทีซีนี้แทบไม่ต้องใช้งบประมาณเลย เพราะเครื่องมือรองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการจัดตั้งอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้เชี่ยวชาญมาบ่มเพาะสตาร์ตอัพ จะมีทั้งคนไทยและต่างชาติที่มีความสามารถ เพราะเรื่องเทคโนโยลีต้องมีความสากลใช้บุคลากรทั้งไทยและต่างชาติ กลุ่มนี้ต้องมีค่าใช้จ่าย

⦁เงินสนับสนุนสตาร์ตอัพจะเป็นรูปแบบใด
สตาร์ตอัพที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มที่มีไอเดีย มีโครงการ ก็คงต้องคุยเบื้องต้นว่าโครงการที่เสนอมีความเป็นไปได้แค่ไหน ถ้าเป็นไปได้ถึงจะเริ่มมาบ่มเพาะด้านไหน สนับสนุนเงินเท่าไร แต่หากเข้ามาแต่ไม่มีไอเดียคงไม่สามารถสนับสนุนได้ ส่วนเงินที่สนับสนุนจะมีทั้งแบบให้เปล่า และเงินกู้ แต่คำว่าให้เปล่าจะเป็นลักษณะ

ของกองทุนหรือเวนเจอร์แคปฯ และจะมีการสกรีนว่าบริษัทไหนเข้าข่ายลงทุนได้ บริษัทไหนต้องบ่มเพาะไปก่อน บางรายเข้ามาอาจเป็นสตาร์ตอัพที่มีผลิตภัณฑ์แล้ว แต่ต้องการผลิตเบื้องต้น 500 ชิ้น ส่วนนี้ก็จะมีเงินทุนช่วยได้ แต่ต่อไปเมื่อเติบโตธุรกิจจะแบ่งสันปันส่วนกันยังไง ก็ต้องคุยกัน ตกลงกัน เรื่องกรรมสิทธิ์เป็นของใคร แน่นอนเป็นของสตาร์ตอัพขอให้มีตัวเลือกสตาร์ตอัพดีๆ พวกกองทุนต่างๆ ก็พร้อมลงทุนแล้ว แต่ปัจจุบันพบว่าตัวเลือกดังกล่าวมาเยอะเท่าที่ควร พอมีแพลตฟอร์มกลางจะช่วยดูแลเรื่องนี้ได้ คนที่จะเป็นสตาร์ตอัพเบาได้ว่าจะไม่โดนเอาเปรียบแน่นอน เรามีวิธีดูแล และแพลตฟอร์มเองจะเป็นซัพพลายป้อนสตาร์ตอัพให้เอกชนในการเข้าร่วมลงทุน เป็นการกระจายความเจริญในพื้นที่ต่างๆ ที่มีสตาร์ตอัพอยู่

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางจะเป็นศูนย์กลางให้สตาร์ตอัพ จะยึดโยง เป็นทุนระดับชุมชน เป็นการสร้างทุน สร้างความมั่งคั่งให้ชุมชน ขณะเดียวกันจะมีหน้าที่เชิญทุนเข้ามาร่วมสนับสุนนด้วย และจะเป็นการเปิดมิติในต่างประเทศให้กับสตาร์ตอัพไทย เพราะถ้าให้ไปลิงก์กับต่างประเทศเองก็จะเหนื่อย รัฐบาลมีการประสานกับฮ่องกง จีน และมีญี่ปุ่นด้วย จะเพิ่มมิติความเป็นสากลให้สตาร์ตอัพไทย เพราะตลาดปัจจุบันไม่ใช่แค่ไทยได้แล้ว และถ้าสตาร์ตอัพไทยร่วมกับทุนต่างชาติ ก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต่อยอดในตลาดต่างประเทศได้

⦁เมื่อตั้งหน่วยงานแล้วจะมีทีมบริหาร
ใช่ จะมีผู้ปฏิบัติงาน เป็นองค์กรถาวร เหมือนสถาบันภายใต้กระทรวง มีมูลนิธิดูแล เพราะต้องการให้มีความคล่องตัวมากที่สุด แต่เนื่องจากเป็นการผลักดันร่วมของ 2 กระทรวง จึงต้องดูรูปแบบให้รอบคอบ

⦁ตัวอย่างสตาร์ตอัพในอุตสาหกรรมที่หลากหลายของไทย
เรามีจุดเด่นหลายอย่าง อาทิ เรื่องเกษตรจะหลากหลายมาก เกษตรแปรรูป เกษตรที่เป็นชีวภาพ มีนวัตกรรมเรื่องอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร เครื่องสำอาง หรือหากเป็นอาหารก็ไม่ใช่อาหารทั่วไป แต่จะเป็นอาหารเพื่ออนาคต กลุ่มนี้ใช้นวัตกรรมสูง หรืออย่างอุตสาหกรรมดิจิทัลในตัวเอง เรื่องฟินเทค ประเทศไทยตลาดทุนที่เข้มแข็งพอสมควร หรือระบบอัตโนมัติสามารถมีนวัตกรรมได้ หรือล่าสุดรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน นี่ก็มีสตาร์ตอัพที่อาจคิดระบบบำบัดน้ำเสีย หรือสตาร์ตอัพด้านพลังงาน เข้าไปผลิตระบบรองรับไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

⦁ความแตกต่างระหว่างไซเบอร์พอร์ตกับอีอีซี
ต่างกัน อีอีซีมีหลายมิติ แต่ไซเบอร์พอร์ตจะสร้างคน สร้างได้จะเป็นหน่วยงานตรงเพื่อสร้างสตาร์ตอัพไทยในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานรัฐทำ แต่จะแยกการสนับสนุนเช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะสนับสนุนสตาร์ตอัพด้านนวัตกรรม ในขณะที่แฟลตฟอร์มกลางนี้จะช่วยสตาร์ตอัพเช่นกัน แต่จะเข้าไปถึงชุมชน สร้างความเจริญ ไม่ได้มุ่งแค่ไฮเทค ฟินเทค แต่เราจะเป็นมุมกว้าง

⦁แก้โจทย์ปัญหาเศรษฐกิจไทยโตกระจุกตัว
ใช่ หากสตาร์ตอัพไปได้จะเป็นการสร้างความมั่งคั่ง สร้างทุนในพื้นที่ของเขา เพราะเศรษฐกิจไทยมีปัญหากระจุกตัว รัฐบาลพยายามแก้แต่ต้องใช้เวลา รัฐบาลมีนโยบายหลากหลาย การสนับสนุนสตาร์ตอัพเป็นอีกแนวทางในการยกระดับเศรษฐกิจไทย

ปิยะวรรณ ผลเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image