เปิดใจ ‘บิ๊กเดฟ’ ดับไฟใต้ ดูแลดุจครอบครัวเดียวกัน

หมายเหตุ – พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือบิ๊กเดฟ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 20 และนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 31 ชั้นเรียนเรียนเดียวกับ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ “มติชน” หลังเข้ารับตำแหน่ง นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป เกี่ยวกับภารกิจ ผอ.รมน.ภาค 4 และการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้


จะสานต่อภารกิจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันมีความเชื่อมโยงและทับซ้อนกันหลายมิติ มีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและผลประโยชน์ที่ต่างกัน โดยมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดนเป็นปัญหาหลักและปัญหาภัยแทรกซ้อนอื่นๆ มาหล่อเลี้ยงทำให้สถานการณ์ปัญหายังคงอยู่ เช่น กลุ่มอิทธิพลอำนาจมืด, ความขัดแย้งทางการเมือง, ธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตและทรัพย์สิน,เศรษฐกิจ,สังคม,คุณภาพชีวิต และความเชื่อมั่นในระบบอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตามจากการนำนโยบายของรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติด้วยการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างเป็นเอกภาพ ส่งผลให้สถานการณ์ในภาพรวมมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นมาโดยลำดับ

มีแนวคิดในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่อย่างไร

แนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2562 มุ่งเน้นบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อจัดการกับทุกปัญหาของพี่น้องประชาชน ด้วยการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามแนวทางการเมืองนำการทหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชน การแก้ไขปัญหายาเสพติดและทำพื้นที่ให้ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทางยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม โดยยึดมั่นหลักการ สร้างความปลอดภัย สร้างความเข้าใจ ไม่สร้างเงื่อนไข ให้ความเป็นธรรม

สามารถแยกแยะออกไปดังนี้ คือ 1.สร้างความปลอดภัย โดยการบูรณาการกำลังทุกภาคส่วน ทั้งกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ประชาชน และมวลชนจิตอาสา เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว 2.สร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับสร้างพื้นที่ร่วม โดยให้ประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกกลุ่มทุกฝายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมทั้งในและต่างประเทศให้การสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

Advertisement

3. ไม่สร้างเงื่อนไข การขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์คนดี” มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนคัดเลือกบุคคลที่เข้ามาปฏิบัติงานเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความทุ่มเท เสียสละ และมีคุณธรรม เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขในการปฏิบัติงาน “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” และสุดท้าย 4. สำคัญมากต้องขีดเส้นใต้เน้นย้ำ คือให้ความเป็นธรรม อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ประชาชนเห็นถึงความจริงใจในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ

งานเร่งด่วนที่ท่านแม่ทัพต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของพี่น้องประชาชนมีอะไรบ้าง

ผมพร้อมจัดการกับทุกปัญหาที่เป็นทุกข์ของพี่น้องประชาชน เพื่อนำสันติสุขให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ปัญหาหลักที่เป็นทุกข์ของชาวบ้านในขณะนี้คือ ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา ให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรทางศาสนา

ภายหลังมีการรับมอบหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 4 รวมทั้งตำแหน่งในพื้นที่ เมื่อ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ผมได้เข้าพบท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อขอคำปรึกษา ท่านได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะยาเสพติดนอกจากทำลายมนุษย์แล้ว ยังทำลายความเป็นอิสลาม โดยได้กำหนดแนวคิดในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม ภายใต้กลไกศูนย์ปฏิบัติการปูองกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับอำเภอ ทั้งการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา และสร้างอาชีพ ใช้มาตรการทางกฎหมายสำหรับผู้ค้า มาตรการทางสังคม สำหรับผู้เสพจะต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูอย่างจริงจัง โดยกำหนดเป้าหมายไว้อย่างน้อย 10,000 คน

Advertisement

ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มักอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ มีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร

ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาอยู่ในระยะที่ 2 คือ ขั้นการปฏิบัติเชิงรุกควบคู่กับการพัฒนามุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพให้กำลังประจำถิ่นและกำลังประชาชนเข้ามารับผิดชอบในการดูแลพื้นที่แทนกำลังทหารที่ทยอยถอนกำลังกลับที่ตั้งปกติ โดยเฉพาะกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 – 3 ได้ถอนกำลังกลับไปทั้งหมดตั้งแต่ 30 ก.ย.59 ที่ผ่านมา

ส่วนแนวคิดในการให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ภายใต้ แนวคิดยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น มิใช่การมอบหมายให้ประชาชนดูแลพื้นที่โดยลำพัง แต่เป็นการบูรณาการกำลังร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่หลักทั้งทหาร, ตำรวจ, กำลังประจำถิ่น (อส.) ในนามของชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) และกำลังภาคประชาชน

ส่วนยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นแนวคิดในการสร้างจิตสำนึกร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกับภาครัฐอย่างประสานสอดคล้องด้วยการฝึกเพิ่มประสิทธิภาพและมอบภารกิจเชิงรับ เช่น การรักษาความปลอดภัยชุมชน โรงเรียน และเส้นทางในหมู่บ้านแทนกำลังเจ้าหน้าที่หลักที่ต้องดูแลพื้นที่เสี่ยง เช่น เมืองเศรษฐกิจ,ชุมชนหล่อแหลม และการปฏิบัติภารกิจเชิงรุกต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง มีเป้าหมายให้กำลังภาคประชาชนได้ออกมาร่วมปฏิบัติงานเฉลี่ย 35,000 คน/วัน

เตรียมความพร้อมการเจรจาสันติสุขที่จะมีขึ้นในไม่ช้านี้ โดยการใช้การเมืองนำการทหาร อย่างไร

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลไกพูดคุย 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า, ระดับคณะพูดคุยอย่างเป็นทางการปัจจุบันมี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้า และคณะประสานงานในระดับพื้นที่ โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้า สำหรับบทบาทและหน้าที่ของคณะประสานงานในระดับพื้นที่ คือการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธีและหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยได้ขับเคลื่อนผ่าน 12 องค์กรกลางในพื้นที่ เช่น ภาคประชาสังคม, นักวิชาการ, สื่อมวลชน, กลุ่มสตรี, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบทั้งพุทธและมุสลิมเป็นต้น

มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจองค์ความรู้กระบวนพูดคุย, สร้างการมีส่วนร่วม และสนับสนุนแนวทางสันติวิธี และลดระดับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ อย่างไรก็ตามจากปัจจัยทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การกำหนดตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่กระบวนการพูดคุยก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นการแก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นความต้องการของประชาชน

สำหรับบทบาทของ มทภ.4/ผอ.รมน.ภาค 4 ในฐานะคณะประสานงานในระดับพื้นที่ยังคงเหมือนเดิม คือการทำพื้นที่ให้ปลอดภัย การสร้างความเข้าใจเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของพี่น้องประชาชน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลและหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

การส่งกำลังพลเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์การก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ มีวิธีการหรือมาตรการช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับคนในพื้นที่อย่างไร

การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นภารกิจหลักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าโดยใช้การบูรณาการกำลังร่วมกันของทุกฝาย ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร กำลังประจำถิ่น และกำลังภาคประชาชน มีแนวทางดังนี้ 1. การเตรียมกำลัง ให้ทุกหน่วยคัดเลือกกำลังพลที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ยุทธศาสตร์คนดี

กล่าวคือ นอกจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีอุดมการณ์แล้ว จะต้องเป็นคนที่มีวินัย ไม่สร้างเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรงภายใต้กฎเหล็กที่เป็นข้อห้ามเด็ดขาดของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงจะต้องเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ข้อห้าม ข้อบังคับตามหลักศาสนาโดยการฝึกเตรียมกำลัง ปฐมนิเทศเจ้าหน้าที่ทุกระดับก่อนลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่

2. การใช้กำลัง เน้นบูรณาการกำลังร่วมกัน เพื่อควบคุมพื้นที่ให้ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัยสามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา และสามารถแก้ไขปัญหาสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนตามแนวทางยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม และการเพิ่มประสิทธิภาพ ให้กำลังประจำถิ่นและกำลังภาคประชาชนในการเข้ามาแบ่งเบาภาระดูแลภารกิจเชิงรับ เช่น รักษาความปลอดภัยชุมชน, โรงเรียน และเส้นทางในหมู่บ้าน แทนเจ้าหน้าที่หลักที่ต้องดูแลพื้นที่เสี่ยงและชุมชนหล่อแหลมและงานเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

ทั้งนี้ กำลังพลทุกนายจะต้องมีอุดมการณ์ของความเป็นทหารอาชีพด้วยการเกาะติดพื้นที่ เกาะติดคนร้าย เกาะติดประชาชนอย่างใกล้ชิด เช่น การนอนนอกฐาน, การออกลาดตระเวนเยี่ยมเยียนและนอนในหมู่บ้าน, ไม่ละเมิดกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ตามแนวทางยุทธศาสตร์คนดีสามารถเป็นที่พึ่งและสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแท้จริง

ในฐานะเป็นนายทหารคนหนึ่งรู้จักพื้นที่ดี และมีนโยบายให้ทหารดูแลมวลชนดุจดังครอบครัวเดียวกัน จะอธิบายให้พี่น้องชาวใต้เข้าใจอย่างไร และจะใช้ยุทธศาสตร์พระราชทาน ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ มาประยุกต์ใช้อย่างไร

กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชา เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มจาก เข้าใจ คือเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเข้าใจสภาพปัญหา สาเหตุ และนโยบายในการแก้ไขปัญหารวมทั้งเข้าใจประชาชน, เข้าใจวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ด้วยการปฐมนิเทศก่อนลงมาปฏิบัติงานภายใต้ยุทธศาสตร์คนดี ต่อมาคือการ เข้าถึง สร้างความศรัทธาเป็นธงนำ ด้วยการเข้าถึงจิตใจ เข้าถึงปัญหาและความทุกข์ของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ด้วยการเข้าไปพบปะเยี่ยมเยียนทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน รับทราบความต้องการรับรู้ปัญหา เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันในลักษณะ “ปรับทุกข์ ผูกมิตร ร่วมคิด ร่วมทำ” ผ่านเวทีชาวบ้าน และสภาสันติสุขตำบล

และสุดท้ายคือ พัฒนา แก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน แก้ปัญหาที่จิตใจ สร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image