‘ผาสุก พงษ์ไพจิตร’ ถอดรหัสความเหลื่อมล้ำ สู่สังคมเสมอภาค

  • หมายเหตุ – ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ในองค์ปาฐกในการประชุมวิชาการนานาชาติ บางกอก ฟอรั่ม 2018 ตามแนวคิด “เอเชียที่ยั่งยืนในอนาคต” ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่ส่งผล กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

อ่านต่อ : จุฬาฯ เตรียมจัดใหญ่ เวทีนานาชาติ “เอเชียที่ยั่งยืนในอนาคต” ถกปัญหาความเหลื่อมล้ำ

⦁ ภาพรวมความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นขณะนี้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

ขณะนี้กลุ่มประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำต่ำ อย่างประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เพราะได้ดำเนินนโยบายตามความเชื่อของระบบเสรีนิยมใหม่ จนเกิดการถ่างออกของช่องว่างระหว่างรายได้ของคนที่มีทักษะสูงกับคนระดับล่างมากขึ้น ในอนาคตช่องว่างนี้มีแนวโน้มทำให้คนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีอาจจะมีฐานะไม่ดีไปด้วย เพราะเมื่อพ่อแม่ไม่มีรายได้เพียงพอส่งลูกเรียนหนังสือ ก็จะไม่สามารถยกระดับตัวเองขึ้นไปมีทักษะที่สูงขึ้นได้

ที่ผ่านมาไม่เคยมีการคาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับยุโรป การดำเนินระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ทำให้รัฐบาลไม่มีการสนับสนุนสหภาพแรงงาน มีการปรับเปลี่ยนตลาดแรงงานมาเป็นระบบค่าจ้างขั้นต่ำ อีกทั้งยังมีการลดการใช้จ่ายของภาครัฐในเรื่องการศึกษาและสวัสดิการสังคม ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปภาคธุรกิจเจริญเติบโตจากผลกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อนำผลกำไรนั้นไปเทียบกับสิ่งที่คนงานได้กลับลดลง หรือเพิ่มในอัตราที่ต่ำมาก

Advertisement

นี่จึงเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังมีผลทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงไปกว่าเดิมอีก 25 ปีทีเดียว ขณะที่ประเทศไทย ผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2523-2535 ในอัตราที่เรียกว่า ดับเบิล ดิจิทส์ (Double digits) ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของไทยสูงขึ้นสุดขีดในปี 2535 นับจากปี 2523 ผลของความเหลื่อมล้ำสูงที่มีต่อคนระดับล่างได้ส่งผลไปสู่คนรุ่นลูกพวกเขาในอีก 25 ปีข้างหน้าด้วยเช่นเดียวกัน

⦁ มาตรการการลดช่องว่างของการกระจายรายได้ในยุครัฐบาล คสช.หวังผลได้แค่ไหน?

วันนี้เศรษฐกิจไทยโตช้าลง แต่ก่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตประมาณ 7% แต่เดี๋ยวนี้จะพูดว่าโต 4% ก็ยังต้องลุ้น คนระดับล่างเวลานี้ทำมาหากินให้ได้เงินเพียงพอส่งลูกเรียนหนังสือยากกว่าคนรุ่นก่อน ขณะที่ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศมีขาข้างหนึ่งอยู่ในภาคเกษตรก็กำลังเผชิญกับปัญหาจากราคาผลผลิตถดถอยอีก ขณะเดียวกันรัฐบาลยังลดทอนความช่วยเหลือการอุดหนุนสินค้าเกษตรลง แม้จะมีความพยายามจะอุดหนุนในเรื่องอื่นๆ แต่เมื่อนำไปเทียบเคียงกับสิ่งที่เคยอุดหนุนมาในอดีต เทียบกันไม่ได้เลย

การอุดหนุนเงินเดือนละ 300-600 บาท ไม่ใช่วิธียั่งยืนสำหรับคนรายได้น้อยที่ส่วนใหญ่จะอายุมาก เพราะจะไม่มีผลอะไรทำให้เขาสามารถส่งลูกหลานให้มีทักษะที่สูงขึ้นได้ ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับนโยบายที่ร่วมมือกับนักธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งในและนอกประเทศในการสร้างผลกำไรมหาศาล ยิ่งทำให้เห็นการกระจุกตัวของรายได้อยู่ภายในกลุ่มแคบๆ เท่านั้น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้จะเป็นโครงการที่ดี และควรทำ แต่ต้องนึกถึงต้นทุนที่เกี่ยวโยงด้วยว่า มีมากมายแค่ไหน โดยเฉพาะการที่ต้องให้สิทธิพิเศษ และเสียสละภาษีที่ประเทศควรจะได้รับไป โดยที่รัฐบาลมีโครงการจะช่วยให้การกระจายรายได้ให้ดีขึ้นกว่านี้หรือไม่

แน่นอน อีอีซีจะทำให้ตัวเลขจีดีพีจะดีขึ้นแน่ๆ เพราะมีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อยึดโยงโครงการใหญ่ๆ เหล่านี้กับที่อื่นๆ ในบริเวณที่กว้างไกลเข้าไว้ด้วยกัน แต่สิ่งที่ยังเป็นคำถามใหญ่อยู่ที่การกระจายรายได้ของประเทศจะดีขึ้นไปด้วยหรือเปล่า เพราะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มีการกว้านซื้อที่ดินเริ่มขึ้นแล้ว นั่นหมายความว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งสูญเสียที่ดินใช่หรือไม่ แล้วกระบวนการสูญเสียที่ดินเป็นอย่างไร

ขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอจะกล่าวได้อย่างเต็มปาก แต่มีข่าวรายงานแล้วว่ามีภาพของเกษตรกรเช่าที่ดินใน จ.ฉะเชิงเทรา กำลังนั่งร้องไห้ เพราะผู้พัฒนาที่ดินกำลังจะมากว้านซื้อที่เพื่อนำไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม ทำให้คนเหล่านี้ต้องไปทำงานที่อื่น หากจะไปทำงานในอุตสาหกรรม คนเหล่านี้ก็จะเป็นได้เพียงอย่างมากแค่แรงงานค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น

⦁ มีประเทศไหนที่เป็นตัวอย่างของการลดความเหลื่อมล้ำที่ไทยควรเอาอย่างหรือไม่? 

เอเชีย เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมีประชาธิปไตย เราหลีกเลี่ยงจะพูดเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะเขาเคยเป็นประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการมาก่อน การเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองต้องแข่งขันกันเสนอนโยบายตามที่ประชาชนเรียกร้อง หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล จึงมีนโยบายเรื่องภาษีที่ดิน รัฐบาลต้องผ่านกฎหมายนี้ เพราะพลเมืองเกาหลีใต้เรียกร้อง เนื่องจากช่วยให้การกระจายรายได้ดีขึ้น รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ อีกทั้งยังชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินด้วย

รัฐบาลเกาหลีใต้นำภาษีที่ดินที่จัดเก็บได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำโครงการ Minimum income guarantee โดยทำการศึกษาดูว่าประชาชนที่ยากจนของเกาหลีใต้ในระดับครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนต่างๆ กัน ควรจะมีรายได้เท่าไรเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้ สามารถส่งลูกเรียนหนังสือ เพื่อจะใช้เงินภาษีที่ดินอุดหนุนให้กับครอบครัวเหล่านั้น กระทั่งวันนี้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการ กระจายรายได้ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศ OECD และยังเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีที่ดิน คิดเป็นสัดส่วนของรายได้ภาษีทั้งหมดสูงกว่าในกลุ่มประเทศ OECD เสียอีก

⦁ ในสังคมไทยมีการพูดเรื่องภาษีที่ดินกันมานานมาก แม้แต่รัฐบาลนี้ก็พูดด้วย 

ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารต่างก็ไม่ปลื้มกับภาษีที่ดินทั้งนั้น แต่รัฐบาลนี้ถือเป็นรัฐบาลที่เสนอว่า จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำบ่อยครั้งมากตั้งแต่ยึดอำนาจ สังคมอยากเห็นความตั้งใจนี้ประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย หรือเทคโนแครตของกระทรวงการคลังก็พยายามเสนอมาตลอดว่า ควรจะต้องมีภาษีที่ดินใช้เป็นเครื่องมือจัดเก็บรายได้ของรัฐ ที่ไม่น่าจะเก็บยาก เพราะที่ดินเป็นทรัพย์สินที่หลบเลี่ยงไปไว้ประเทศอื่นไม่ได้

แต่วันนี้เวลาก็เหลือน้อยลงไปทุกที เพราะกระบวนล็อบบี้ของผู้ที่อยู่ใน สนช.กับนายทุนมีอยู่มหาศาล จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แม้วันนี้รัฐจะมีภาษีมรดกใช้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลอะไรมาก เพราะคนที่ต้องจ่ายคือมหาเศรษฐีที่มีมรดกมหาศาลมากเท่านั้น อีกทั้งยังมีช่องโหว่ให้มีการโยกย้ายความเป็นเจ้าของ ท้ายที่สุดอาจจะไม่ต้องเสียเลยก็เป็นได้ ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาการกระจายรายได้ หรือลดความเหลื่อมล้ำ จึงอยู่ที่ความตั้งใจทางการเมืองที่จะต้านแรงล็อบบี้จากผู้ที่มีที่ดินและทรัทย์สินทั้งหลายให้ได้

จึงเสนอว่า อาจจะเก็บไม่ต้องมาก แค่เอาให้มันแฟร์ๆ กับคนที่กินเงินเดือนที่ต้องโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายก็พอแล้ว เพราะเวลานี้คนมีที่ดินในเมืองไทย ถ้าเขาไม่ทำงานอื่นเลย เขาจะเสียภาษีน้อยกว่าคนกินเงินเดือน ทำให้คนที่มีเงิดสดหันมาซื้อที่ดินเก็บไว้ รอให้ราคาขึ้นเพื่อขายต่อหรือปล่อยให้เช่ามากกว่าเก็บเงินไว้ในธนาคาร เพราะอัตราภาษีค่าเช่าที่ดินต่ำมาก ต่ำกว่าภาษีที่มนุษย์เงินเดือนต้องจ่ายเสียอีก แต่ขณะที่เกษตรกรที่ทำมาหากินกับที่ดินกลับพบว่า ยิ่งทำการเพาะปลูกหนักเท่าใดก็ยิ่งเป็นหนี้มากขึ้น และอาจจะต้องสูญเสียที่ดินจากการเป็นหนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นความไม่แฟร์จึงเป็นความขุ่นข้องหมองใจระหว่างคนรวยกับคนจนขึ้นมา

⦁ ทำไมการลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาสังคมด้วย?

เพราะ ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แต่เรื่องตัวเลข แต่ในท้ายที่สุดได้กลายเป็นความรู้สึก สมัยนี้คนรับรู้ข่าวสารข้อมูลทั่วโลกได้ด้วยตนเอง เปิดอินเตอร์เน็ตก็รู้ว่าประเทศอื่นเขาดีกว่าเราอย่างไร มีการเปรียบเทียบ จนรู้สึกแปลกแยกว่า ทำไมสังคมถึงไม่แฟร์ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ได้คุยกับช่างทำผม เขามาเล่าด้วยความตื่นเต้นว่า แฟนซึ่งเป็นคนนอร์เวย์ชวนไปเที่ยวบ้าน จึงได้ถามเขาว่าประทับใจอะไรกับนอร์เวย์ เขาบอกว่าได้ไปเยี่ยมญาติแฟนหลายบ้าน ที่นั่นบ้านหลังเท่ากันหมด ไม่ได้มีบ้านเล็ก บ้านใหญ่เหมือน กทม.กับชานเมืองของไทย

ที่สำคัญพอกลับจากนอร์เวย์ ช่างทำผมคนนี้ถูกเจ้าของร้านต่อว่า หาเรื่องไล่ออก จากการที่ลาไปเยี่ยมญาติแฟนที่ต่างประเทศ จนทำให้เขารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ ทำไมเขาถึงใช้สิทธิลาไม่ได้เหมือนที่ประเทศอื่นมี เวลาผ่านไปจนทราบทีหลังว่า เขาถูกไล่ออกจริงๆ สิ่งเหล่านี้ได้สะสมจนเลยเถิดไปถึงความรู้สึกไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ลูกคนรวยทำไมทำคนตายแล้วหลุดรอดจากคดี แต่ทำไมคนอื่นต้องเข้าคุก เพราะมันเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งรู้สึกกันว่าทำไมสังคมถึงไม่แฟร์ได้ขนาดนี้

⦁ ความขัดแย้งทางการเมืองมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอย่างไรบ้าง?

เมื่อเราหมกมุ่นอยู่กับปัญหาภายใน จึงไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้การตัดสินใจที่จะลงทุนสาธารณูปโภคต้องเลื่อนออกไป ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 แทบจะไม่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเลย ทั้งที่การลงทุนภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญมากของระบบเศรษฐกิจ พอมาคิดทำทุกฝ่ายก็สะดุ้งกันหมด มีนโยบายแต่งานเดินช้า เพราะกลัวเรื่องทุจริต เมื่อโครงสร้างพื้นฐานมีปัญหา การทำมาหากินไม่คล่องตัวไปด้วย และยังเป็นปัญหาสังคมตามมาอีก เมื่อการลงทุนด้านโลจิสติกส์ทางไกลระยะยาวไม่มี จึงต้องไปพึ่งรถตู้ มาวันนี้รถตู้หมดอายุทางกฎหมายแล้ว หากบังคับใช้กฎหมายกันจริงๆ แม้ประชาชนจะมีเงินจ่าย แต่ก็ไม่มีรถสัญจรไปมา สิ่งเหล่านี้คือการไม่วางแผน จึงเกิดอาการติดชะงัก กฎหมายก็ไม่เป็นกฎหมาย เพราะจะต้องมีการผ่อนปรนให้อยู่เรื่อย

⦁ ประชาชนสามารถคาดหวังกับนโยบายพรรคการเมืองในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ได้หรือไม่?

ก็รู้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนี้เป็นการแข่งขันกันจริงๆ หรือเปล่า เพราะกติกามีข้อจำกัดค่อนข้างมาก จนทำให้คนรู้สึกว่าการเลือกพรรคไหนหรือเลือกใครในเวลานี้ อาจจะเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่าเรื่องนโยบาย และถ้าจะว่าไป จริงๆ นโยบายก็ได้เขียนลงไปแล้วในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า ทุกพรรคจะต้องเดินไปตามที่ถูกขีดเส้นไว้ และก่อนเลือกตั้งนโยบายของพรรคการเมืองยังจะต้องถูกตรวจสอบก่อนด้วยว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

⦁ คิดว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำภายหลังจากการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร?

ขณะนี้ยังไม่เห็นมาตรการอะไรที่จะช่วยส่งเสริมอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน โครงการขนาดใหญ่ๆ ก็ยังไม่เห็นอะไรที่จะสามารถแก้ปัญหาการกระจายรายได้ อย่างเป็นรูปธรรม แนวนโยบายที่มีขณะนี้ออกมาในแนวทางเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากกว่า แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะมีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ แต่ก็ขึ้นๆ ลงๆ เพราะยังไม่สามารถทำให้ยั่งยืนได้ จากคุณภาพการบริการ หรือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ดังนั้น 4 ปีที่ผ่านมา ความพยายามที่มองเห็นเป็นชิ้นเป็นอันที่สุด คือ ภาษีมรดกกับบัตรคนจน แต่ผลของมันจะยังไม่เห็นอีกนาน เรื่องบัตรคนจนช่วยลดปัญหาคนจนลง แต่จะลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ ยังเห็นไม่ค่อยชัด เพราะคนที่ได้สิทธิรับเงินดังกล่าวถือว่าหยุดอยู่กับที่แล้ว เช่น ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดยังต้องเลี้ยงหลานของลูกๆ ที่มาทำงานใน กทม.อีก แค่กินใช้ประจำวันก็หมดแล้ว คงไปลงทุนอะไรไม่ได้ จึงคิดว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศก็คงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกยาว

สิ่งที่ทำได้และยั่งยืนจริงๆ คือการให้โอกาสทางการศึกษาของเยาวชน คนที่ไม่มีทรัพย์สิน หากได้เรียนปริญญาตรีก็จะใช้การศึกษาเป็นต้นทุนให้กับตัวเอง โดยที่รัฐให้สิ่งเหล่านี้ได้ แทนที่จะให้ประชาชนกู้ ถ้ารัฐจัดให้ทุกคนเรียนฟรีทั้งหมด แม้จะต้องใช้เวลาแต่ในระยะยาวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของ ประชาชนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image