“อุตตม สาวนายน” นำพลังประชารัฐ พลิกฟื้นประเทศ (ชมคลิป)

หมายเหตุ – นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ในการเตรียมความพร้อมนำพรรคพลังประชารัฐสู้ศึกเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562

เหตุผลที่ตัดสินใจทำพรรคการเมือง

ส่วนตัวทำงานในวงการวิชาการ เอกชน ภาคธุรกิจเป็นเวลาพอสมควร มีประสบการณ์มาระดับหนึ่งแล้ว กระทั่งมีโอกาสมาทำงานในรัฐบาลนี้ ก็พบว่าประเทศไทยถึงจุดหักเหจริงๆ และวันนี้บ้านเมืองมาถึงจุดหักเหสำคัญเกินกว่าที่จะกลับไปทำงานวิชาการ หรือทำงานร่วมกับภาคเอกชน อย่างที่ผมเคยทำมา จึงตัดสินใจจะมาทำงานการเมือง ซึ่งไม่ง่าย เพราะไม่ได้คิดจะมาเป็นนักการเมือง แต่คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าสนใจด้วย เพราะถ้าสามารถทำเพื่อชาติบ้านเมืองได้อย่างที่คิดไว้ น่าจะเป็นเรื่องดี

อาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีส่วนอย่างมากในการตัดสินใจครั้งนี้ ผมรู้จักกับท่านมาอย่างน้อยกว่า 30 ปี เราเจอกันโดยบังเอิญเพราะเรียนหนังสือที่เดียวกัน และท่านก็เป็นคนชวนให้ผมมาช่วยงานรัฐบาลนี้ ในหลายเรื่องท่านสมคิด จะแสดงทัศนคติ แต่จะไม่ชี้นำว่าควรตัดสินใจอย่างไร ท่านจะให้เราเป็นผู้ตัดสินใจเอง ดังนั้น ท่านจึงเป็นที่ปรึกษาทางใจให้แก่พวกเรามาโดยตลอด

Advertisement

มีมุมมองการทำพรรคการเมืองอย่างไร

การจะแก้ไขปัญหาสำคัญต้องเริ่มที่การเมือง การปกครอง เพราะถือเป็นการจัดสรรทรัพยากรประเทศชาติ ดังนั้น ผมจึงมองว่า 1.การเมืองต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ ต้องไม่ใช่การเมืองที่จำกัดอยู่ในวงแคบๆ ของคนไม่กี่คน 2.การเมืองจะต้องส่งเสริมให้คนไทยตื่นรู้มากขึ้น 3.การเมืองต้องยึดโยงกับกติกาที่เป็นธรรม มีหลักนิติธรรม ทั้งนี้ ไม่มีอยู่ในหัวผมเลย ที่คิดจะไปทำงานการเมืองร่วมกับพรรคการเมืองอื่นที่มีอยู่เดิม เมื่อผมจะทำงานทางการเมือง ผมก็คิดแค่ว่าต้องตั้งใหม่ แม้เหนื่อยกว่าเยอะ เพราะพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมก็แข็งๆ กันทั้งนั้น แต่การทำใหม่ก็มีข้อดี ที่ไม่ติดกับสิ่งเดิมๆ

วางแนวทางพรรคพลังประชารัฐอย่างไร

Advertisement

พรรคพลังประชารัฐ เกิดขึ้นมาเพราะผู้ร่วมอุดมการณ์เห็นว่า เมืองไทยควรจะต้องมีทางเลือกมากขึ้น จะเห็นว่าแนวร่วมของพรรคมีหลากหลาย ซึ่งนอกจากนักการเมืองหน้าเดิมแล้ว ยังมีนักการเมืองหน้าใหม่อย่างพวกผม โดยพวกผมเห็นว่า หากจะให้เมืองไทยก้าวพ้นปัญหาเดิมๆ ควรจะต้องมาทำงานทางการเมือง เรารัฐมนตรีทั้ง 4 คนร่วมรัฐบาลมา เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง 1.เราต้องการให้พรรคพลังประชารัฐเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนมาร่วมได้ โดยมีแนวคิดไปในทิศทางและกรอบเดียวกัน แม้จะมาจากหลายประเภท 2.เราต้องการเป็นพรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองที่ยั่งยืนถาวร 3.ต้องการเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำให้คนไทยตื่นตัวตื่นรู้ถึงความเป็นไปในประเทศ รู้ว่าเราเผชิญปัญหาใดบ้าง ต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง และแก้ไขแล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง

ได้เชื้อเชิญทุกฝ่ายเข้ามา โดยไม่แบ่งว่าจะเป็นกลุ่มไหนอย่างไร คนที่จะเข้ามาพรรคนี้ แม้เคยทำงานการเมืองมาก่อน ก็จะต้องรู้ว่าอุดมการณ์ตรงกันหรือไม่ เราไม่ปฏิเสธคนกลุ่มเดิม เปิดกว้าง และด้วยความที่เป็นแบบพรรคใหม่ ที่ไม่มีวัฒนธรรมเดิมๆ จึงสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆของเราได้

แสดงว่าตั้งเป้าที่ชนะการเลือกตั้ง

พวกผมมาทำพรรคพลังประชารัฐ ต้องหวังชนะเลือกตั้ง ไม่ว่าจะชนะอย่างไรก็ตาม หวังว่าจะได้เข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อจะได้ทำงานต่อ จะต้องชนะ แต่รูปแบบใดนั้นเป็นเรื่องของอนาคต เพราะอาจเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะคุยกัน เราตั้งเป้าคือชัยชนะ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่อยู่บนพื้นฐานอุดมการณ์ที่มี

เราคาดหวังจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ไม่ได้จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลมีความสำคัญ หากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล เราจะต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีเสียงมากพอที่จะทำงานได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง แต่เราจะส่งลงสมัครทั้ง 350 เขต และจะทำอย่างเต็มที่ พรรคพลังประชารัฐทำโพลอย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่และหลายรูปแบบ ผลโพลน่าเชื่อมั่น แต่เอามาพูดไม่ได้

ชัยชนะของพรรคจะมาจากนโยบายหรือคนที่จะเสนอเป็นนายกฯ

มีหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ บุคลากรของพรรค และนโยบาย ซึ่งนโยบายมีความสำคัญมาก ขณะที่ตัวแทนของพรรคที่จะส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องดูว่า ประชาชนชอบหรือไม่ จะทำงานตามนโยบายที่พรรคประกาศได้หรือไม่ มีประสบการณ์และผลงานหรือไม่ เราไม่ทำนโยบายสวยหรู แต่ทำจริงไม่ได้ และบุคลากรเองก็จะต้องมีประสบการณ์ ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่เรานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือบุคลากร จะเป็นที่ถูกใจประชาชน

อะไรคือจุดขายของพรรคพลังประชารัฐ

ความสงบเรียบร้อย วันนี้ประเทศมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจขยับได้ ความเชื่อมั่นทั้งในและนอกประเทศเริ่มดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องต่อยอดให้เกิดความสงบอย่างแท้จริง จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนประเทศให้เกิดความมั่นคง เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างเพียงพอ โดยต้องเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา นโยบายของเราจะไม่ขายฝัน ต้องทำได้จริง

พรรคพลังประชารัฐจะสร้างสังคมสวัสดิการ ดูแลคนไทยตามสิทธิที่ควรพึงมี ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ เพราะถ้าเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและไม่ก่อให้เกิดภาระ ก็ถือว่าดี เราจะดูแลทุกกลุ่ม ไม่ได้ช่วยคนกลุ่ม

ใดหลุ่มหนึ่ง ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล จะต่อยอดนโยบายของรัฐบาลนี้ที่เป็นประโยชน์

แต่นโยบายประชานิยม เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ตั้งท่ารังเกียจ

สำหรับผมคำว่าประชานิยมไม่ใช่ประเด็นหลัก ไม่ว่านโยบายใดก็ตาม ต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ มิเช่นนั้นจะทำไปทำไม มันอยู่ที่ว่าทำในลักษณะใดมากกว่า ถ้าคนไทยไม่นิยมในนโยบาย แล้วมันจะเป็นนโยบายที่ดีได้อย่างไร ทั้งนี้ การทำนโยบายต้องมีเหตุผลที่ถูกต้อง เช่น คิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง โดยไม่ใช้ทรัพยากรประเทศอย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่ดำเนินการอย่างรัดกุม ผมว่าไม่ใช่ประเด็นที่ว่ารังเกียจนโยบายประชานิยมหรือไม่ มันอยู่ที่นโยบายนั้น ออกมาเพื่อใคร จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน

ถ้าอย่างนั้นน่ารังเกียจ ถามว่าแล้วนโยบายใดน่าชื่นชม ผมว่าการจัดทำนโยบายของพรรคการเมือง 1.ต้องตอบโจทย์ได้ โดนใจประชาชน 2.ทำแล้วเกิดความยั่งยืน อยู่ในกรอบกฎหมาย 3.ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ถ้าไม่เข้าหลัก 3 ประการนี้ ถือเป็นนโยบายที่ไม่น่าชื่นชม แต่ถ้าทำแล้วมีผลข้างเคียงและขาดการดูแล นั่นถือว่าไม่ดี

พรรคพลังประชารัฐ มีอะไรมาขายบ้าง

ขอเวลาอีกสักครู่ แต่ไม่นานเกินรอ นโยบายต่างๆ ของพรรคพลังประชารัฐจะทยอยเปิดตัว ผมคิดว่านโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น มีความจำเป็น ที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นสวัสดิการที่คนไทยควรมี ในอนาคตพรรคพลังประชารัฐ อาจขยายไปสู่กลุ่มอื่นๆ ภายใต้กรอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะวันนี้รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนหลายกลุ่ม เช่น ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร คำถามคือ แล้วมนุษย์เงินเดือน เอสเอ็มอี ที่มีรายได้กว่า 8,000-10,000 บาทต่อเดือน เงินแค่นี้อยู่ไม่ได้ ดังนั้น จะเข้าไปดูแล จะปลดภาระเดิม แล้วส่งเสริมให้มีโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ พรรคพลังประชารัฐจะเข้าไปทำให้คนที่ล้มแล้วลุกขึ้นเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง

มีคนหลายกลุ่มเข้าไปอยู่กับ พปชร.จะบริหารจัดการอย่างไร

เราเป็นพรรคการเมืองใหม่ จะไม่มีวัฒนธรรมเดิมๆ ไม่ยึดติดกับรูปแบบใด เราจะสร้างวัฒนธรรมและกฎเกณฑ์กติกาของพวกเรา แต่เราเปิดกว้างสำหรับทุกฝ่าย โดยไม่แยกกลุ่มสี เช่น กลุ่มสามมิตรที่เข้ามานั้น ตอนนี้ก็ไม่มีกลุ่มสามมิตรอีกแล้ว เพราะถ้าเข้ามาแล้วยังยืนยันว่าต้องมีกลุ่มอยู่ในพรรค คงคุยกันไม่ลงตัว ด้วยเหตุนี้ กลุ่มสามมิตรจึงต้องประกาศว่าจากนี้จะไม่มีกลุ่มสามมิตรอีกแล้ว เป็นต้น ใครที่มาร่วมงานกับพรรคจึงต้องมี 1.อุดมการณ์เดียวกัน 2.ไม่แยกกลุ่ม เราพร้อมรับทุกคนที่ยอมรับจุดยืนอย่างนี้ ไม่มีมุ้งของใครของมัน ไม่มุ่งเน้นการสร้างมุ้ง เมื่อท่านเข้ามาก็จะต้องพับมุ้งเก็บไว้

หลายกลุ่มที่เข้ามา ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ถูกมองว่ามีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน

ผมยืนยันได้ว่าไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่ต้องการร่วมอุดมการณ์กัน หากคุณมีใจจะทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ฉาบฉวย ก็ให้เข้ามา โดยไม่มีการต่อรองใดๆ จะไม่มีเข้ามาแล้วได้ผลประโยชน์กลับไปแน่นอน

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านักการเมืองที่มีคดีความติดตัวหลายคน เลือกสมัครเข้า พปชร.

ผมไม่ทราบว่ามีใครมีคดีติดตัวบ้าง แต่เรื่องคดีความก็ว่าไปตามกฎหมาย และเป็นสิทธิทางการเมืองที่เขาจะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค เรายืนยันได้ว่าจะไม่มีการต่อรองเรื่องนู้นเรื่องนั้น เราต้องการให้เข้ามาทำงานร่วมกัน หากมาบอกว่าอยากเข้ามาเพราะเรื่องคดีของญาติพี่น้อง เราไม่รับเด็ดขาด สังคมไทยก็คงไม่รับเด็ดขาด อย่างนายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ บุตรชายนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นั้นเข้ามาด้วยตัวเอง ซึ่งเราดูแล้วว่าตัวเขามีศักยภาพ มีแรงจูงใจที่อยากทำงานเต็มที่ เราก็เปิดรับ

ตอนนี้ พปชร.ถูกมองเทาๆ เพราะคนติดคดีและผู้มีอิทธิพลเข้ามาจำนวนมาก

เมื่อเราต้องการเป็นสถาบันทางการเมืองที่เปิดกว้าง คงปิดรับคนที่มีตำหนิไม่ได้ ที่บอกว่าพรรคสีเทา ต้องถามว่าอะไรคือพรรคสีขาว สามารถชี้ได้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีพรรคสีขาว ทุกพรรคก็มีคนเคยต้องคดีความ อย่างนี้เรียกว่าพรรคสีขาวได้ไหม ขาวแท้ไหม หรือขาวหลายเฉด แต่พรรคพลังประชารัฐ หวังว่าจะมีการพัฒนาต่อไป คือต้องการเป็นทางเลือก นอกเหนือจากขั้วการเมืองเดิมที่มีอยู่ เมื่อประเทศไทยมาถึงจุดหักเหสำคัญ จะเลือกเดินถนนใหม่ หรือถนนเดิม สำหรับเราเห็นว่ามันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มถ้าประเทศไทยจะเลือกเดินถนนเส้นใหม่ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นขั้วใหม่บนถนนใหม่ ผมว่ามันเป็นถนนแห่งโอกาส เพราะถ้าเดินบนถนนเดิม ท่านเห็นโอกาสหรือไม่

จะสู้กระแสของฝ่ายที่ไม่เอาทหารหรือเผด็จการอย่างไร

พรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคของทหารหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครสั่งได้ ผมไม่เห็นด้วยที่มีคนมาแบ่งว่า ฝ่ายนี้คือฝ่ายประชาธิปไตย อีกฝ่ายหนึ่งคือเผด็จการ แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นสีสันทางการเมือง ที่บอกว่าประชาธิปไตยนั้นถามว่าหลายปีที่ผ่านมา เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ การที่ประชาชนต้องทนทุกข์ ประเทศต้องตกหลุมดำ เขาเรียกว่าประชาธิปไตยไหม แต่พรรคพลังประชารัฐตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีเจ้าของ

เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจ ที่มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้มีจุดอ่อนตรงนี้ เข้าใจว่าเป็นการโจมตีทางการเมือง แต่ยืนยันได้ว่าเศรษฐกิจไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ วันนี้ประเทศเรามีเสถียรภาพ จากที่เศรษฐกิจโต 0.9% เมื่อช่วง 4 ปีที่ผ่านมา วันนี้โตถึง 4% ดังนั้น ผมจึงไม่ห่วงในประเด็นนี้ ผมมั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นประชาธิปไตย 100% พรรค พปชร.ไม่มีคนชี้ได้ ผมว่าพรรคการเมืองที่มีคนชี้ได้ แม้จะเป็นทางอ้อม นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย

จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯของพรรคหรือไม่

จะเสนอชื่อใคร ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการหารือกันภายใน ถ้าเห็นสมควรร่วมกัน อาจจะหารือกับคนนอกด้วย ผมในฐานะหัวหน้าพรรค พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในสามรายชื่อที่จะถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนจะมีชื่อใครบ้างขอให้รอดู และในความเห็นส่วนตัว พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมที่จะถูกเสนอชื่อ ขึ้นมาในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงหักเห ส่วนชื่อนี้จะเป็นจุดขายของพรรคได้หรือไม่ ก็แล้วแต่คนจะมอง แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะเรายังไม่ได้เชิญ และท่านยังไม่ได้ตอบรับใดๆ อย่างไรก็ตาม จะเสนอทั้งสามชื่อ

เสียงวิจารณ์เรื่องเอาเปรียบคู่แข่ง

ต้องถามว่าเราได้เปรียบจริงหรือเปล่า เพราะพวกผมเสียเปรียบด้วยซ้ำ พวกผมไม่สามารถไปทำกิจกรรมทางการเมืองได้ในเวลาราชการ ถ้าไปทำช่วงหลังเลิกงาน ก็จะไม่มีพื้นที่ข่าว ขณะเดียวกัน การจับตาดูก็เขี้ยวยิ่งกว่า ที่บอกว่านโยบายรัฐบาลที่ออกมานั้นเอื้อประโยชน์แก่พรรคเรา ผมว่าไม่ใช่ เพราะนโยบายเหล่านี้ทำมาอย่างต่อเนื่อง รัฐมนตรีทั้ง 4 คน ยืนยันว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะลาออกแน่นอน ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้เข้ามาทำงาน สิ่งที่ประชาชนจะได้คือ 1.สังคมสงบสุข 2.มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ทำได้จริง 3.จัดสวัสดิการให้ประชาชน และจะเป็นพรรคที่เปิดมิติใหม่ทางการเมืองอนุชา ทองเติม

 

เส้นทางกว่าจะเป็น’อุตตม สาวนายน’

อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในวัย 58 ปี ศิษย์เอก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ โปรไฟล์ไม่ธรรมดา จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยบราวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาโท บริหารธุรกิจ (การเงินและธุรกิจระหว่างประเทศ) ที่ Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้นี่เอง “อุตตม” ได้เจอรู้จักกับ “สมคิด” รุ่นพี่ซึ่งกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่พอดี

กระทั่งเรียนจบ “สมคิด” ชักชวนให้ใช้วิชาความรู้มาเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในวัย 24 ปี แต่สอนหนังสือได้เพียงปีเดียวจึงไปต่อปริญญาเอก สาขาบริหารการเงิน School of Management, University of Massachusetts-Amherst สหรัฐอเมริกา จนได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่นิด้าอีกครั้ง ก่อนจะลาออกมาเผชิญโลกในฐานะผู้บริการสถาบันทางเงิน ทำได้ไม่นานก็ต้องเจอวิกฤตเศรษฐกิจปีཤ แต่อุตตมมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ทำให้ติดใจมาตลอดว่า ไม่ควรปล่อยให้คนไทยล้ม

จากนั้นได้มีโอกาสเข้ามาทำงานทางการเมืองในรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” สมัยพรรคไทยรักไทย โดยสมคิดได้ขอให้ไปช่วยงานในตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.คลัง และได้ย้ายตามไปช่วยงานสมคิดอยู่ตลอด ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้ช่วย รมว.พาณิชย์ ช่วงเวลานั้นเองที่เขาเห็นว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างที่เป็นอยู่ได้

เมื่อหมดยุครัฐบาลทักษิณ อุตตมกลับไปทำงานกับเอกชน และการศึกษา ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จนกลับมาช่วยงานสมคิดอีกครั้งในตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก่อนจะมาคุมกระทรวงอุตสาหกรรม และเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นอีกผลงานสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image