ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข : วิเคราะห์ศึกเลือกตั้ง-การเมืองไทยปี’62 เดิมพันครั้งใหญ่คสช.

หมายเหตุ : สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์มติชน ประเด็นการเมืองไทยในปี 2562

-การเลือกตั้งในปี 2562 จุดเปลี่ยนประเทศ?

การเลือกตั้งในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก หลังการรัฐประหาร ที่ต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆอย่างมาก ภายใต้การรัฐประหารของคสช.ในรอบนี้ มาพร้อมกับการสร้างรัฐธรรมนูญที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน พร้อมกติกาหลายอย่าง ผมอยากทดลองนำเสนอ 10 เรื่อง ถ้าการเลือกตั้งเกิดเราจะเห็นแนวโน้มอะไร

เรื่องแรก หลังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ การต่อสู้ทางการเมืองจะเข้มข้นมาก รอบนี้คือเดิมพันครั้งใหญ่ของฝ่ายคสช. ผมคิดว่าวันนี้ต้องแยกระหว่างรัฐบาลทหารกับกองทัพออกจากกันแล้ว ตอนนี้ถ้าพูดถึงกองทัพมันมีอีกนัยยะหนึ่ง เราเห็นความพยายามในการสืบทอดอำนาจของคสช. วันนี้ถ้าผู้มีอำนาจบอกว่าไม่สืบทอดอำนาจ ผมคิดว่าไม่มีใครเชื่อ ถ้าพูดในสำนวนคนไทยแต่ก่อนคืออมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ ไม่ต้องมาพูดกันแล้วเรื่องสืบทอดอำนาจเพราะมันชัดเจน การเดิมพันด้วยการพยายามสืบทอดอำนาจ มันทำให้การต่อสู้ทางอำนาจเข้มข้นด้วยตัวของมันเอง เพราะฐานรากของการต่อสู้ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดที่ผมพูดมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงหลังรัฐประหารปี 2557 และยังเป็นเรื่องเดิม คือการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง 2 ชุดความคิด ระหว่างค่ายเสรีนิยม และค่ายเสนานิยม สองค่ายนี้ไม่ได้เปลี่ยนเลยในโครงสร้างการเมืองไทยระยะยาว ที่จริงแล้วหลังรัฐประหารปี 2534 ก็พูดได้ว่าเป็นโจทย์ชุดนี้ หลังรัฐประหารปี 2557 การต่อสู้มันก็ชัดเจนยิ่งขึ้น ในความชัดเจนมันยังผนวกกับการเดิมพันครั้งใหญ่ของฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ คือพูดง่ายๆนับจากปีใหม่ จนถึงเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งก็จะยิ่งเข้มข้น เนื่องจากวันนี้ ถ้าเราไม่ทำตัวเป็นหมอดูผมคิดว่าคาดเดายากว่า ใครจะชนะ ด้วยเสียงเท่าไหร่

ข้อที่ 2 แน่นอนหลังเลือกตั้งย่อมมีความขัดแย้ง แต่ผมยังเชื่อแบบโลกสวยนิดนึงว่าความขัดแย้งชุดนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งแบบปี 2553 ผมคิดว่าผีปี53 ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาไว้หลอกชนชั้นกลางในเมือง หรือให้คนบางส่วนกลัวกับปรากฏการณ์ปี 53 แต่ผมคิดว่าโจทย์ความขัดแย้งที่จะเกิดหลังการเลือกตั้ง ถ้าเราย้อนกลับไปดูจะเห็นตัวแบบของคนยุคผม หลัง 14 ตุลาคม 2516 เราจะเห็นปรากฏการณ์ชุดหนึ่งคือการประท้วงเรียกร้องที่มีมากขึ้น เพราะระบบการเมืองเดิมมันปิดไว้นาน ผมคิดว่ารอบนี้มันมีอาการคล้ายกัน แม้ว่ารอบนี้มันจะไม่ปิดนานเหมือนรอบปี2516 แต่ปิดแน่น ยุครัฐบาลจอมพลถนอมมันมีช่องหายใจบางอย่าง แต่ยุคนี้มีความพยายามของคสช.ที่จะปิดทุกอย่าง หลังเลือกตั้งผมคิดว่าเราจะเห็นปรากฏการณ์ 3 ประเด็น 1.จะมีการเรียกร้องมากขึ้นในเรื่องต่างๆ 2.จะมีการประท้วงมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกตั้งหรืออะไรก็แล้วแต่ อาการนี้คืออาการแบบหลังปี16 และ 3.คือจะมีการเปิดโปงมากขึ้น หลายเรื่องที่พูดไม่ได้ตั้งแต่ปี 2557 จะถูกพูดถึง

Advertisement

ประเด็นที่ 3 ผมคิดว่าหลังเลือกตั้งเราจะเห็นเรื่องๆนึง ที่โพลประเมินไม่ได้ ผมคิดว่าในการเมืองที่มีการต่อสู้เข้มข้น ผมเชื่อว่าคนส่วนหนึ่งจะมีลักษณะเสียงเงียบ หรือ silent majority คนพวกนี้ไม่ได้ตอบโพลหรือสื่อออกมาทั้งหมด ถ้าการเลือกตั้งรอบนี้มีคนออกมาจำนวนมากเราจะเห็นเสียงของพลังเงียบ เสียงเหล่านี้คือพลังสำคัญในการตัดสินอนาคตการเมือง ที่ผ่านมาเราพูดเสมือนการเมืองไทยแยกเป็น 2 ส่วน แต่มันยังมีพื้นที่ของคนกลางๆ ที่ถ้าเรามองจากปรากฏการณ์ทั่วโลก จะเห็นคนที่ยังไม่ตัดสินใจแล้วก็นั่งดู ก่อนจะตัดสินใจในวันสุดท้ายคือวันเข้าคูหากาบัตร

ประเด็นที่ 4 ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุด จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินอนาคตของพรรคทหาร ผมคิดว่าวันนี้ไม่ว่าพรรคที่มีบทบาทเป็นนอมินีทหารจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่การตัดสินสุดท้ายคือผลการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าพลังประชารัฐคือพรรคทหาร วันนี้ถ้าพูดในภาพรวมก็คือ พลังประชารัฐคือการหลอมรวมจิตวิญญาณของ3 พรรคทหารในอดีต ที่รัฐบาลซึ่งมาจากการยึดอำนาจต้องการอยู่ในอำนาจต่อ ก็อาศัยกลไกอำนาจในการเป็นเครื่องมือสร้างกติกาสืบทอดอำนาจ สร้างความเหนือกว่าทางการเมืองบางอย่าง ถามว่าพลังประชารัฐมีอะไรต่างจากเดิม ผมว่าไม่มี ต่างจากเดิมมีเรื่องเดียวคือการเลี้ยงโต๊ะจีน ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เสรีมนังคศิลา ในปี 2500 พรรคสหประชาไทยในปี 2511 และเสรีธรรมในปี 2534 ผมว่าอาการเดียวกัน คือความพยายามอยู่ต่อ แต่เราเห็นพรรคเสรีมนังคศิลาโกงจนล้มละลาย โกงเลือกตั้งจนนำไปสู่การประท้วงใหญ่ ส่วนสหประชาไทยก็ชนะจริงแต่เสียงชนะไม่มาก พรรคอันดับ 2 คะแนนทิ้งห่างนิดเดียวไม่ใช่พรรคใหญ่แต่เป็นผู้สมัครพรรคอิสระ ซึ่งออกอาการคล้ายปัจจุบัน ที่มีพรรคเป็นจำนวนมาก เป็นเบี้ยหัวแตกในกระดานการเมือง ส่วนพรรคเสรีธรรมเราเห็นความพยายามคล้ายกันคือการจะอยู่ต่อ สุดท้ายเจอการประท้วงต้องล้มละลายไปอีกเหมือนกัน ถ้ามองจากคนที่สนใจประวัติศาสตร์การเมือง ผมเลยมองว่าพลังประชารัฐไม่มีอะไรใหม่ แต่สมมุติว่าหลังเลือกตั้งพลังประชารัฐแพ้ มันจะมีนัยยะต่ออนาคตว่าพรรคทหารคือสินค้าที่ยังขายได้หรือไม่

ประการที่5 ผมคิดว่าการเลือกตั้งในอนาคตมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ตกลงบทบาทกองทัพจะอยู่อย่างไร ต้องยอมรับว่าวันนี้กองทัพกับรัฐบาลคสช.ไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งหมด ผมคิดว่าต้องแยกสิ่งที่เรียกว่าสถาบันทหาร ออกจากความเป็นรัฐบาลทหาร คนละส่วนกัน เราจะเห็นบทบาททหารน้อยลงในช่วงหลัง ไม่เหมือนช่วงแรกๆที่คสช.ใช้ทหารทำงานการเมืองหลายอย่าง วันนี้ถ้าพูดกันยาวๆนิดนึง บูรพาพยัคฆ์อยู่ในขาลง ไม่ใช่บูรพาพยัคฆ์ยุคขาขึ้น พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์อยู่ในสถานะคนล้มละลายทางการเมือง เพราะผลพวงจากปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่สามารถสร้างให้พี่ใหญ่ จะเป็น ป.ไหนก็แล้วแต่ มีภาพลักษณ์หรือสถานะความน่าเชื่อถือทางการเมือง อันนี้ผมพูดรวมทั้ง 3 ป.

Advertisement

วันนี้บูรพาพยัคฆ์กำลังถดถอย เราเห็นมาระยะหนึ่ง กับปรากฏการณ์ทหารพยายามถอยจากรัฐบาล ผู้บัญชาการทหารบกไม่ได้มาจากบูรพาพยัคฆ์ มาระยะหนึ่งแล้ว เป็นคำตอบที่ชัดเจน นั่นหมายความว่าถ้าเป็นอย่างนี้ในอนาคต บทบาททหารจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องคิดต่อ แต่หลังการเลือกตั้งสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆคือการเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพ วันนี้หลายภาคส่วนในสังคมมีความรู้สึกคล้ายคลึงกัน ว่าถึงเวลาต้องปฏิรูปกองทัพแล้ว โดยเฉพาะผลพวงหลังการรัฐประหารปี 2557 ตั้งแต่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือบทบาททหารที่คสช.ได้ทำไว้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมเห็นพ้องต้องกันว่า กองทัพไทยต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่

ประเด็นที่ 6 ผมคิดว่าวันนี้หลังการเลือกตั้ง และรวมถึงผลกระทบต่อการเลือกตั้ง คือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่า 4 ปีของรัฐบาลคสช. เป็น 4 ปีที่ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ปากท้อง ชีวิตคน ในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือน ตัวเลขช่องว่างของรายได้คือคำตอบ ผมคิดว่า 4 ปีของการรัฐประหารพิสูจน์เรื่องเดียว คือการ “โตยอดหญ้า ตายรากหญ้า” คำถามคือการตายต่อเนื่องของชนชั้นกลาง และชนชั้นรากหญ้า จะมีผลต่อการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด หากดูการประท้วงที่ฝรั่งเศส จะพบว่าเป็นการประท้วงของชนชั้นกลางโดยเฉพาะชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ทนกับภาวะเศรษฐกิจไม่ไหว แต่ของไทย ปัจจัยนี้จะทำให้คนจำนวนมากที่เป็นฐานเสียงไม่ว่าจะอยู่พรรคไหน จะตัดสินใจอย่างไรกับอนาคตทางการเมืองของประเทศ ผมคิดว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเผชิญโจทย์ชุดใหญ่ชุดหนึ่ง คือจะฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างไร โจทย์ชุดนี้ใหญ่มาก เราไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้เอง เพราะโจทย์ของเศรษฐกิจไทยบางส่วนโยงกับเรื่องต่างประเทศ นั่นหมายความว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้ได้ และต้องหาทางพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ประชาชนฟื้นตัวด้านรายได้ โดยไม่ใช่รายได้ที่มาจากการแจกเงินเหมือนที่คสช.กำลังทำ

ปัจจัยที่ 7 ผมคิดว่าวันนี้คงต้องยอมรับแล้ว คือเรื่องสื่อใหม่หรือบรรดา Social Media ทั้งหลาย หากเราถอยไปในปี 2010-2011 เราเห็นการกำเนิดของอาหรับสปริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากแรงขับเคลื่อนของสื่อใหม่ ทั้ง Facebook, YouTube, Twitter พูดง่ายๆว่าแรงขับเคลื่อนของฝ่ายประชาธิปไตยในการล้มรัฐบาลอำนาจนิยม หรือรัฐบาลทหาร ในตัวแบบตูนิเซียและอียิปต์ Social Media คือฐานแรงขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุด วันนี้ประเทศไทยคือประเทศที่ติดอันดับการใช้สื่อใหม่ ในกรณีของ Facebook อาจจะรวมถึง LINE ด้วย ที่น่าสนใจคือโลกการเมืองไทยกำลังเผชิญกับการเข้ามาของสื่ออีกชุดหนึ่ง แล้วสื่อชุดนี้กำลังจะเป็นแรงขับเคลื่อน คำถามสำคัญคือสื่อชุดนี้จะมีผลอย่างไรกับการเลือกตั้ง และอาจต้องโยงไปในอนาคตว่าถ้าการเลือกตั้งสิ้นสุด สิ่งที่จะเห็นอย่างหนึ่งคือการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นในอนาคต จะอยู่ในพื้นที่ที่เป็น Cyber มากขึ้น ซึ่งข้อดีคือมันเปิดพื้นที่กว้างขึ้นในการถกเถียง มันเป็นโอกาสที่จะนำคนจำนวนมากเข้าสู่การถกเถียงสาธารณะ

ประเด็นที่ 8 คือประเด็นที่เราเห็นต่อเนื่องมาตั้งแต่ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 ผมคิดว่าในอนาคตเราจะเห็นการเมืองไทยแข่งขันเชิงนโยบายมากขึ้น ไม่ได้ปฏิเสธว่าสังคมไทยไม่ผูกโยงกับตัวบุคคล แต่ผมคิดว่าวันนี้ถ้ามองการเลือกตั้งในปี 2562 การขายนโยบายจะเป็นประเด็นสำคัญ รวมถึงหากได้เป็นรัฐบาลแล้วจะทำให้นโยบายประสบความสำเร็จอย่างไร ทั้งหมดมันตอบคำถามใหญ่ว่าการเลือกตั้งในไทย นโยบายเป็นเรื่องสำคัญ การคิดว่าไม่ต้องคิดนโยบายเอาคนไปเสนอแล้วจะชนะ ผมคิดว่ามันไม่ใช่คำตอบ

ประเด็นที่ 9 ที่น่าสนใจคือเรื่องบทบาทของคนรุ่นใหม่ หรือที่เราเรียกกันคือรุ่น Gen Z เราเห็นคนที่อายุ 18 และตั้งแต่หลังรัฐประหารก็ไม่มีโอกาสเลือกตั้งเลย ส่วนนี้คือประชากรที่โพลตอบไม่ได้ เพราะโพลไม่เคยวัดคนส่วนนี้มาก่อน กลุ่มนี้คือเสียงส่วนหนึ่งที่อาจมีนัยยะการแพ้หรือชนะทางการเมืองในอนาคต ต้องยอมรับว่าการเปิดตัวของพรรคอนาคตใหม่มันสร้างกระแสพรรคของคนรุ่นใหม่ได้จริงๆ ชอบ ไม่ชอบ ถูกใจ หรือไม่ถูกใจก็คงถกเถียงกันได้ แต่อย่างน้อยต้องยอมรับ ว่าเมื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมก่อตั้งพรรคนี้ขึ้นมา มันก่อให้เกิดกระแสว่าพรรคต่างๆจะต้องคิดถึงคนรุ่นใหม่ในอนาคต นี่คือปัจจัยบวกและต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

ประเด็นที่ 10 ผมคิดว่าตอบได้ชัดว่าหลังเลือกตั้งเราจะมีระบบรัฐสภาที่อ่อนแอ ภายใต้กติกาที่คสช.ร่างไว้ทั้งหมด นั่นหมายความว่ากลไกรัฐสภาหลังการเลือกตั้งอาจจะมีความผิดเพี้ยน ปัจจัยตรงนี้เป็นผลพวงของการร่างรัฐธรรมนูญและความพยายามของคสช.ที่จะทำให้การเมืองแบบเสรีหรือการเมืองที่จะสร้างประชาธิปไตยในอนาคตมันเดินต่อไปไม่ได้ มองในเชิงผลการเลือกตั้งปี 2562 จะคล้ายการเลือกตั้งในปี 2511 จะมีสภาวะการเมืองแบบเบี้ยหัวแตก สิ่งที่จะตามมาคือการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งการเมืองแบบเบี้ยหัวแตกและรัฐบาลผสม สำหรับนักเรียนรัฐศาสตร์ก็ถูกสอนเสมอมาว่านี่คืออุปสรรคของการพัฒนาทางการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 ก็เพื่อจะลดการเมืองเบี้ยหัวแตกและการเป็นรัฐบาลผสมลง แต่ในปี 2562 ถ้าไม่พูดฟันธงแบบหมอดู เรากำลังถอยกลับไปสู่ปี 2511 ไม่ใช่ถอยหลังไปยุคพลเอกเปรม เพราะพลเอกเปรมไม่มีพรรคการเมืองในมือ ไม่มีลักษณะของการเล่นการเมืองผ่านพรรคทหาร เหมือนยุคจอมพล ป. จอมพลถนอม และยุคพลเอกสุจินดา สุดท้ายคำตอบก็คือไม่มีผู้นำทางทหารคนใดควบคุมการเมืองในระบบรัฐสภาได้ แล้วก็จะจบลงด้วยการรัฐประหาร เพราะสภาวะเบี้ยหัวแตกสุดท้ายก็คุมสภาไม่ได้ ดังนั้นการเลือกตั้งในปี 2562 ถ้าผลออกมาเป็นเบี้ยหัวแตก คำตอบก็คือ มันจะพาการเมืองไทยถอยหลังไป 50 ปี

-มีนักวิชาการเสนอว่าเราถอยกลับไปประมาณการเมืองตามรธน.ปี 2521

ผมคิดว่ามันถอยกลับไปมากกว่านั้น เดิมในคำให้สัมภาษณ์ของผมยุคแรกๆก็มองไปในทิศทางนั้น แต่พอเห็นสาระ เห็นวิธีสร้างกระบวนการทางการเมืองแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่ 2521 แต่เป็น 2511 หรือครึ่งศตวรรษ

– ปัจจัยตอนนี้น่าจะบวกกว่ายุคนั้น ตอนนี้มีฝั่งนายทุนเข้าไปเป็นที่ปรึกษา-เข้าไปร่วม

ผมคิดว่าวันนี้รัฐบาลคสช.เล่นเกมที่ใหญ่ที่สุด คือการเอาอำนาจรัฐบาลทหาร + อำนาจทุน ถ้าในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ยังอยู่เราจะพูดได้ทันทีว่า เป็นการรวมกันของทุนขุนศึกและทุนนิยมเต็มรูป แต่วันนี้สงครามคอมมิวนิสต์ไม่มี ก็ทำให้คนไม่ค่อยเห็นนัยยะทางทฤษฎี แต่โดยระยะทางปฏิบัติมันเกิดขึ้นจริง ปีกของผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจอาศัยทุนใหญ่เป็นการขับเคลื่อน ตัวเลขที่ปรากฏชัดหลังการยึดอำนาจ 4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าทุนใหญ่เติบโตมากน้อยเพียงใด นั่นคือสิ่งที่ผมบอกว่า “โตยอดหญ้าตายรากหญ้า” เพราะยอดหญ้ามีแต่โตเติบใหญ่ ส่วนรากหญ้ามีแต่ตายลงทุกวัน ผู้นำคสช.อาจเชื่อว่าทุนเป็นปัจจัยในการค้ำยันอำนาจ เป็นหลักประกันชัยชนะในอนาคต ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้แต่ต้องยอมรับว่าประชาชนเขาก็นั่งดูสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมไปกับเงินในกระเป๋าที่ไม่มี ฉะนั้นรอบนี้เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่อีกชุดหนึ่ง ถ้าพลังประชารัฐแพ้มันเท่ากับแพ้ 2 นัยยะ 1.ส่งสัญญาณว่าพรรคทหารหรือพรรคนอมินีทหารเป็นอะไรที่ขายไม่ได้ 2.คือความรู้สึกของพี่น้องประชาชนต่อทุนใหญ่ ที่พยายามจะเข้ามาเล่นการเมือง

-ผู้มีอำนาจเริ่มเข้าใจปัญหาเรื่องรากหญ้า ก็ออกนโยบายมาช่วยจำนวนมาก เช่นบัตรคนจน

ถามว่ามีเสียงบวกไหมก็ต้องยอมรับว่ามีเสียงบวกบ้าง ต้องยอมรับว่านโยบายที่รัฐบาลทำช่วงก่อนการเลือกตั้งใกล้เข้ามา เป็นนโยบายการหาเสียงทั้งหมด พูดง่ายๆคือใช้ประชานิยมในการหาเสียง ทั้งที่ตัวโจมตีประชานิยม วันนี้พลังประชารัฐต้องกล้ายอมรับจริงๆแล้วว่า นโยบายที่ทำเป็นประชานิยม แล้วในประชานิยมปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการหาเสียง พอแจกทุกอย่างมันก็มีคำถาม เช่นบัตรคนจนสุดท้ายใครได้ ชาวบ้านอาจจะได้นิดหน่อย แต่คนที่ได้จริงๆคือเจ้าของทุนใหญ่ที่ชาวบ้านต้องเอาบัตรไปซื้อสินค้า สิ่งที่เราเห็นมันตอบในมิติทางทฤษฎีว่า ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่กำลังเริ่มมีปัญหา แต่ทุนขุนศึกกับทุนใหญ่หากินด้วยกัน จากการใช้ชีวิตของพี่น้องในสังคมไทย ผมไม่ได้บอกว่ากำลังอธิบายในมิติการต่อสู้ทางชนชั้นแบบเก่า แต่ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขทางชนชั้นที่ยังมีอยู่ วันนี้ในเมืองไทย ปรากฏการณ์อาจจะคล้ายในฝรั่งเศส ม็อบเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส คือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ที่ไม่ได้พูดตรงๆว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นแบบเก่า แต่มันเป็นการสู้บนฐานคิดนโยบายของรัฐ โลกาภิวัตน์ การเติบโตของทุน ที่มันทำให้คนซึ่งอยู่ล่างลงไปลำบาก หรือพูดง่ายๆสังคมยุโรปก็อยู่ในอาการโตยอดหญ้าตายรากหญ้าเหมือนกัน

-การเมืองของชนชั้นกลางไทยในปี2562

ชนชั้นกลางรับรู้การเมืองเร็ว มีความตื่นตัวทางการเมืองมากพอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าการรัฐประหาร และการชุมนุมนกหวีด มีฐานรากของชนชั้นกลางในเมืองเป็นฐานสนับสนุนหลัก อันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลย แต่ผมไม่ได้บอกว่าชนชั้นกลางทั้งหมดเป็นปีกอนุรักษ์นิยม ฝ่ายประชาธิปไตยก็มีชนชั้นกลางอยู่มากพอสมควร เป็นแต่เพียงชนชั้นกลางส่วนหนึ่งที่มีเสียง ผมคิดว่าวันนี้ชนชั้นกลางล่างไทย หรือ lower middle class ลำบาก ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจวันนี้ทำให้ขยับตัวลำบาก ชนชั้นกลางที่อยู่ตรงกลางก็พอขยับได้บ้าง แน่นอนชนชั้นกลางที่อยู่ระดับสูงหรือ Upper middle Class มีช่องพอหายใจได้ นั่นหมายความว่าจากผลพวงจากการรัฐประหารในปี 2557 มันตอบเราว่าสภาพเศรษฐกิจไทยในปี2562 ก็ไม่น่าจะดี ปลายปี 2561 เราเห็นอัตราส่งออกเริ่มลดลง สินค้าเกษตรก็ไม่ดี ถามว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยมีอะไรเป็นปัจจัยเชิงบวกให้เรารู้สึกมีความสุขบ้าง ผมไม่ค่อยแน่ใจนะว่าเราควรจะตอบอย่างไร ชนชั้นกลางยังพอมีตลาดหุ้นให้เล่น ถ้าในปี 2562 พี่ใหญ่สหรัฐและจีนเกิดปะทะกันหนักมากขึ้น เราจะเป็นอย่างไรในฐานะที่เราเป็นประเทศห่วงโซ่การผลิต ยังไม่นับการถดถอยของนักท่องเที่ยวจีน ผมเชื่อว่าปี 2562 จะเป็นปีของสงครามการค้า ถ้ามองการเมืองไทยผ่านมิติเศรษฐกิจแล้วผูกโยงกับชนชั้นกลาง ปีหน้าก็จะเป็นอีกปีที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญ เศรษฐกิจโลกในอนาคตไม่สดใสแน่ๆ

-การเลือกตั้ง 2562 จะนำเมืองไทยไปสู่อะไรได้บ้าง

ผลการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ผมคิดว่ามันออกได้ 2 แนวทาง 1.คือรัฐบาลคสช.ชนะ หรือ 2.ฝ่ายต่อต้านคสช.ชนะ หรือถ้าพูดในภาพรวมก็คือ ฝ่ายเสนานิยมชนะ หรือฝ่ายเสรีนิยมชนะ ผมคิดว่าถ้าฝ่ายเสนานิยมชนะ มันจะเกิดระบอบกึ่งเผด็จการ หรือเผด็จการครึ่งใบ ไม่ใช่กึ่งประชาธิปไตยแบบยุคพลเอกเปรมนะครับ เพราะโครงสร้างที่ออกแบบไว้ไม่ได้รองรับให้ประชาธิปไตยเดินหน้า เช่นตัวรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ 20 ปี การสร้างบทบาทใหม่ของกอ.รมน. บทบาทของฝ่ายทหาร และบทบาทของฝ่ายตุลาการบางส่วน มันจะเกิดการเมืองไทยระบบ Hybrid

แต่ถ้าฝั่งเสรีนิยมชนะ ก็จะเกิดรัฐบาลเป็ดง่อย พิการ เดินไม่ได้ ว่ายน้ำก็ไม่ได้ คำพูดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ตอบชัดเรื่องรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาให้เพื่อเรา รัฐบาลจะมีสภาวะเหมือนนักโทษที่ถูกจองจำด้วยกติกาของคสช. แต่ว่าแม้จะชนะ นัยยะการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยก็จะไม่มีความสำคัญ จนกว่าจะปลดล็อค 1. เป็นไปได้ไหมว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ 2. ตกลงยุทธศาสตร์ 20 ปีจะเลิกหรือไม่เลิก ข้อเรียกร้องผมชัดเจนเสนอให้เลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่ผมไม่ได้บอกว่าประเทศไทยไม่ควรมียุทธศาสตร์ แต่ยุทธศาสตร์ต้องไม่ใช่กฎหมายภาคบังคับ 3.ผมคิดว่าต้องถอยกอ.รมน.กลับสู่สถานะเดิม วันนี้คนไทยไม่ตระหนักว่ากอ.รมน.กลายเป็นกระทรวงใหม่ภายใต้คำสั่งคสช. เพราะในคำสั่งนี้มีการสั่งให้จัดสรรงบและตัวบุคคลให้กอ.รมน.

ประเด็นต่อมา กฎหมายทหารต้องปรับ เราให้อำนาจทหารหลายอย่าง อาจจะต้องพูดในฐานะคนที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เพราะเรื่องใหญ่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมคือจะไม่มีการส่งทหารไปนั่งเป็นประธานบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ เพราะการเอาทหารไปนั่งรัฐวิสาหกิจคือโมเดลยุคจอมพลป. วันนี้ถ้ามองเฉพาะเรื่องรัฐวิสาหกิจ เราถอยมากกว่า 50 ปีนะครับ ก่อนปี 2500 ซะอีก โดยสังคมไทยพูดเรื่องนี้น้อยมาก มันจบไปแล้วตั้งแต่ยุคผม แต่การรัฐประหารปี 2557 ฟื้นมันขึ้นมา วันนี้กองทัพต้องถอยกลับไปสู่การเป็นกองทัพ

ทั้งนี้ ถ้าฝ่ายเสนานิยมชนะ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผมคิดว่าพลังประชารัฐไม่ใช่พรรค3 ป. ของจริงคือ3 ป. +1 ส. ก็จะเข้ามาคุมอำนาจทางการเมืองใหม่ ไม่ว่าใน 4 คนนี้ใครจะขึ้นมาเป็นนายก ผมมียา 3 ขนานฝากไว้ให้ โดยเฉพาะหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ผมขอให้แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฏฯเตรียมยา3 ชุดให้ท่าน 1 คือยาบำรุงหัวใจ 2.ยาบำรุงประสาท 3. ยากล่อมประสาทให้นอนหลับ เพราะผู้นำทหารไม่มีความคุ้นเคยกับระบบรัฐสภา หรือการเมืองในระบบเปิด นั่นคือคำตอบหลังรัฐประหารเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ล้มรัฐบาลจอมพลป.และเข้าไปคุมรัฐสภา ก็มีอาการเดียวกัน วันที่จอมพลถนอมชนะเลือกตั้งในปี 2511 ก็อาการเดียวกัน โดยวันนี้ถ้ายังยืนยันให้ 3 ป. และอีก 1 ส. ที่ยังไม่ยอมเปิดตัวเสียที ถ้าจะเดินหน้าต่อก็ขอให้แพทย์เตรียมยาไว้ให้

– ปี2562 โอกาสที่ประเทศจะมีนายกฯมาจากคนนอก

ถ้าพรรคทหารสามารถรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลโดยใช้ส.ว.มาหนุน คุณก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย คราวนี้ก็ต้องกินยาแบบที่ผมบอกไป ฝ่ายค้านก็จะยื่นกระทู้ตลอด ผู้นำทหารที่ขึ้นมามีอำนาจต่อจะไม่เคยเจอการเมืองแบบนี้แน่ๆ คุณอาจจะปิดการเมืองหลังรัฐประหารได้จนถึงเลือกตั้ง แต่เมื่อการเมืองเข้าสู่ระบบรัฐสภาแล้ว คุณปิดการเมืองในสภาไม่ได้ คุณปิดปากส.ส.ที่จะวิจารณ์คุณไม่ได้ การให้ สว.โหวตเลือกนายกฯจนจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้แต่นั่นแหละคือทุกขลาภที่ใหญ่ที่สุด ถ้าตัดสินใจใช้เสียงสว.โหวตนายกตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย คุณอายุสั้นแน่ๆ ดีไม่ดีไม่ถึงครึ่งปี รัฐบาลเสียงข้างน้อยยังไงก็อยู่ไม่ได้ เว้นเสียแต่คุณจะต้องซื้อเสียง ส.ส.กันมโหฬาร และส.ส.ก็จะเรียกเงินคุณอีกมโหฬาร อันนี้ตอบแบบตามประสบการณ์ที่เราเคยเห็น

-ปัจจัยการเมืองสำคัญ ที่อาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง 2562

การเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนตัวมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่คาดเดายากที่สุด 1. เพราะมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากยังไม่เคยเลือกตั้ง 2.อาการเก็บกดทางการเมืองในหลายปีก็มีผลต่อการเลือกตั้ง 3.ปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่างจังหวัดเห็นชัดเจน มันมีแรงขับเคลื่อนหลายปัจจัยพอสมควรที่ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยแคร์กับคนที่ประกาศความสำเร็จที่ทำให้ส.ว.เลือกนายกได้ เพราะไม่มีนักรัฐศาสตร์คนไหน สอนลูกศิษย์ว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นอนาคตของประเทศ รัฐบาลเสียงข้างน้อยคือความไร้เสถียรภาพแบบหนึ่ง ยกเว้นแต่ต้องจ่ายเงิน ก็จะมีงูเห่า งูดินเต็มไปหมด

-กระแสปฏิรูปกองทัพปี 2562 จะเป็นอย่างไร

หลังเลือกตั้งเสียงเรียกร้องปฏิรูปกองทัพมาแน่ วันนี้พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมเริ่มมีเสียงเรียกร้องเรื่องนี้ ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าการเปิดประเด็นของพรรคอนาคตใหม่ เรื่องหลักเรื่องหนึ่งคือการปฏิรูปกองทัพ ปีหน้าเราจะไม่มีงบประมาณมาก การจัดซื้อยุทโธปกรณ์แบบที่คสช.ทำ จะทำไม่ได้ ผมคิดว่าภาคการเมืองและภาคสังคม ต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าเราอยากเห็นกองทัพไทยเป็นอย่างไร ผมคิดว่าเราตอบกันมานานแล้วว่า ไม่มีใครอยากเห็นกองทัพเป็นทหารการเมือง แต่บังเอิญผู้นำทางทหารกลุ่มหนึ่งลากเอากองทัพไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัว เสียงเรียกร้องส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ในสภา

– เป็นห่วงอะไรในการเมืองไทยปี 2562

1. เรื่องใหญ่ยังคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ใครมาเป็นรัฐบาลปีหน้าต้องแบกเศรษฐกิจ สินค้าเกษตรตัวหลักๆมีปัญหาหมด ข้าว ยางพารา ปาล์ม ข้าวโพด มันสําปะหลัง มีปัญหาหมด รวมถึงปัจจัยที่ไม่กล้าคาดเดาคือเศรษฐกิจโลกปีหน้า ผมยังยืนยันในฐานะนักวิชาการการเมืองระหว่างประเทศ ว่าสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนเป็นเรื่องใหญ่แน่ เราตอบไม่ได้ว่าผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยแค่ไหน

2.ก็คงเป็นเรื่องการเมือง ว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะเป็นยังไงต่อ ทุกคนก็อยากได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่ภายใต้การออกแบบรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ วันนี้ต้องพูดว่านายมีชัยทำบาปใหญ่มากกับประเทศไทย ด้วยการออกแบบกติกาการเมืองแบบนี้ ตอบได้อย่างเดียวนายมีชัยกำลังวางยาให้สังคมไทยเดินไปสู่ความขัดแย้ง ติดกับดักจนถอยไม่ได้ รัฐธรรมนูญของนายมีชัยกำลังล่ามประเทศไทยไว้ในห้องไอซียู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image