สติธร ธนานิธิโชติ : วิเคราะห์ศึกเลือกตั้ง บัตรใบเดียว ชี้ขาดการเมือง 2 ขั้ว

หมายเหตุ – นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์มติชน เนื่องในโอกาส 42 ปี มติชน ถึงทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2562

• ระบบการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ มีความแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งเดิมอย่างไร

การเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากสองใบมาเหลือหนึ่งใบ ซึ่งเป็นการกากบาทเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่วนคะแนนจะถูกนำไปนับรวมเป็นคะแนนของพรรคเพื่อคำนวณเป็น ส.ส.ที่พึงได้ของแต่ละพรรค แล้วจะไปหักลบกับ ส.ส.แบบแบ่งเขต เพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยให้สัดส่วนของคะแนนนิยมกับจำนวนที่นั่งในสภาที่แต่ละพรรคได้สอดคล้องกัน ระบบออกแบบมาเพื่อให้คะแนนนิยมกับที่นั่งในสภาใกล้เคียงกัน บัตรเลือกตั้งใบเดียวแตกต่างจากเดิมมาก เพราะประชาชนเริ่มคุ้นชินกับการเลือกคนที่รักพรรคที่ชอบ ในอดีตแม้เราจะมีระบบเขตเพียงอย่างเดียวแต่เราใช้แบบเขตพวงใหญ่ หมายความว่า ในจังหวัดใหญ่ๆ ประชาชนมีมากกว่าหนึ่งเสียง บางเขตเลือกได้ 3 คน บางเขตเลือกได้ 2 คน มีน้อยจังหวัดมากที่เลือกได้แค่คนเดียว ดังนั้น พฤติกรรมการเลือกของคนไทยที่ผ่านมา เราสามารถแบ่งคะแนนของเราให้พรรคการเมือง
และผู้สมัครหลายคนมาโดยตลอด แต่รอบนี้ทำให้ความคุ้นเคยตรงนั้นหายไปแล้ว เพราะแบ่งให้ใครไม่ได้แล้ว มีอยู่หนึ่งคะแนน ต้องการเลือกใครก็ต้องเลือกคนนั้น ชอบพรรคก็ต้องเลือกที่พรรค ชอบผู้สมัครก็ต้องเลือกผู้สมัคร ชอบนายกรัฐมนตรีคนใดก็ต้องเลือกให้ดี ระบบเลือกตั้งแบบนี้จึงถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะ 40 กว่าปี ประชาชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คุ้นเคยกับระบบการแบ่งคะแนนเสียงของตัวเอง

• ประชาชนยังมีความสับสนเรื่องบัตรเลือกตั้งเข้าใจว่ายังมีสองใบเหมือนเดิม

Advertisement

ด้วยกติกาที่เปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่แค่บัตรเลือกตั้งเท่านั้น จำนวน ส.ส. บางคนก็ยังไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใดด้วยซ้ำ มันก็น่าตกใจเหมือนกัน เข้าใจว่าการรับรู้มันน้อย ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ให้มากยิ่งขึ้น แต่เชื่อว่าพอถึงช่วงการเลือกตั้งที่ทุกอย่างมันมีความชัดเจน หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง กกต.จะสามารถจัดการได้

• ระบบเลือกตั้งใหม่ มองว่าพรรคการเมืองแบบใดได้เปรียบ-เสียเปรียบ

โดยตัวระบบมันไม่ได้สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบสักเท่าไร เพียงแต่ว่าความได้เปรียบเสียเปรียบจะขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละพรรคมากกว่าว่ามองยุทธศาสตร์อย่างไรกับเกมและกติกาแบบนี้ พรรคขนาดใหญ่เอาคะแนนเดิมปี 2554 มาเทียบกับระบบใหม่ แน่นอนว่าตัวเลขลดลง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเพราะว่าคะแนนเดิมมันเป็นการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ยกตัวอย่างพรรคเพื่อไทย แบบแบ่งเขตได้ 14 ล้านเสียง แบบบัญชีรายชื่อ 15 ล้านเสียง ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงมาก การเลือกตั้งรอบนี้ กติกาเปลี่ยนพรรคก็ต้องปรับตัว ซึ่งเลือกปรับตัวด้วยวิธีการแตกพรรค ซึ่งถ้าแตกพรรคแล้วฐานคะแนนเสียงยังเป็นเท่าเดิมมันก็ทำให้ลดข้อกังวลได้ว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้พรรคเสียเปรียบ

Advertisement

ถ้าระบบมันจงใจให้เขาเสียเปรียบต่อให้เขาแตกพรรคอย่างไรมันก็เสียเปรียบ หรือถ้าเขาไม่ใช้วิธีการแตกพรรคมีแค่พรรคเดียวแล้วลุยการเมืองหนักๆ ก็ไม่แน่ การทำความนิยมของพรรคให้พุ่งขึ้นอาจจะเป็นไปได้ ด้วยปัจจัย เช่น จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่มีมากขึ้น 3-4 ล้านเสียง หาก 2 ก้อนนี้รวมกัน มันก็มีโอกาสพลิกเกมได้ และยิ่งเป็นบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว ประชาชนเลือกแบบแบ่งใจหรือรักพี่เสียดายน้องไม่ได้แล้ว

• พรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก เช่น พรรคอนาคตใหม่ พลังรวมพลังประชาชาติไทย จะเป็นตัวแปรดึงคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองเดิมได้หรือไม่

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) หรือพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความคิดเชิงอุดมการณ์ที่อยากตั้งพรรคเชิงอุดมการณ์เป็นพรรคที่แตกต่างจากอดีต อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเห็นช่องจากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่เชื่อว่าไม่จำเป็นต้องชนะที่เขตเลือกตั้ง แต่เก็บคะแนนนิยมจาก 350 เขตแบบกระจายๆ ก็มีโอกาสแปรคะแนนมาบัญชีรายชื่อได้เช่นกัน ทำให้มีที่นั่งได้เช่นกัน คำถามว่า สมมุติฐานตั้งต้นของการตั้งพรรคจะประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่ เอาเข้าจริงไม่แน่ เพราะแรกๆ อาจดูดีเพราะด้วยเงื่อนไขทางการเมืองเปิดช่องให้พรรคการเมืองกลุ่มนี้เปิดตัวได้ก่อน ช่วงที่เปิดตัวก็จะมีพื้นที่ข่าว ได้ประชาสัมพันธ์พรรคมาก ขายความแปลกใหม่ เป็นที่จับต้อง พอพรรคการเมืองเดิมเปิดตัวออกมา ปรากฏว่ากระแสของพรรคเหล่านี้ก็เริ่มซาลง เพราะฉะนั้น เอาเข้าจริงด้วยการแข่งขันทางการเมือง การแบ่งขั้ว แยกข้าง มันยังไม่ได้สลายไปไหน และพฤติกรรมของประชาชนในการเลือกตั้งสนามใหญ่ ต้องการเลือกรัฐบาล ต้องการเลือกพรรคที่เสนอบุคคลใดมาแล้วเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคทางเลือก พรรคอุดมการณ์ พรรคที่เก็บคะแนนเล็กๆ น้อยๆ จากทั้งประเทศ โอกาสจะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น พรรคใหม่ๆ เอาให้อยู่ในระดับพอมีที่นั่งในสภา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนจะเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ถือว่ายาก ถ้าจะเป็นตัวแปรได้ต้องเป็นพรรคระดับได้ 30 ที่นั่ง

• พรรคพลังประชารัฐ มีจุดขายที่จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงชิงนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่

ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะสายตาประชาชน สายตาของนักวิเคราะห์ คือคู่ชิงระหว่างขั้วเพื่อไทยกับรัฐบาลว่าใครจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เรียกว่าเป็นมวยคู่เอก เมื่อเป็นมวยคู่เอก แน่นอนว่าการเสนอชื่อบุคคลใดเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มันคือไฮไลต์ของทั้งสองฝั่ง ซึ่งจุดขายของพรรคพลังประชารัฐ ชื่อพรรคบ่งบอกว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐ แม้ไม่ได้บอกตรงๆ แต่ก็รู้ได้ เพราะเมื่อ 4 รัฐมนตรีมาตั้งพรรค เจตนาคือ ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทางตรงก็คืออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค ทางอ้อมก็คือนายกฯคนนอก ซึ่งดูจากเส้นทางแล้ว หากมาแบบที่หนึ่งจะง่ายกว่า น่าจะสะดวกด้วยข้อกฎหมาย และน่าจะเป็นผลดีกับพรรคด้วย เพราะแนวโน้มพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน เขาอยากเลือกว่าถ้าเลือกพรรคนี้แล้วจะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น ถ้าหากไม่นำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์มาลงกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กับผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของบางสำนักโพล ที่เวลาถามว่าอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีกับชอบพรรคใด จะเห็นปรากฏการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนเยอะ แต่คะแนนพรรคไม่เยอะ เพราะคนเขาคิดแยกส่วนกัน

• หากว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถมาในบัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯได้ จะมีผลอย่างไร

พรรคพลังประชารัฐจะเหนื่อยมาก เพราะจะไม่มีแต้มต่อในแง่ของการที่จะเอาความเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ไปสื่อสารตรงๆ กับประชาชนได้ว่าเลือกพรรคนี้แล้วจะได้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี มันจะกลายเป็นแค่ว่าแบบนี้ประชาชนก็เลือกใครก็ได้ เพราะหากรอบแรกพรรคการเมืองตกลงกันไม่ได้ เดี๋ยวก็มีคนไปเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มาเอง จะเกิดเงื่อนไขแบบนี้ ดังนั้น โจทย์ที่พรรคพลังประชารัฐต้องทำให้ได้คือ ต้องได้ 125 เสียง เมื่อนำไปรวมกับเสียงของ ส.ว. ก็สามารถโหวต พล.อ.ประยุทธ์ได้เลย แบบไม่ต้องพึ่งใคร รวมทั้งต้องได้ที่นั่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเป็นที่สองในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อให้มีความชอบธรรมในการเป็นพรรคอันดับสอง หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถรวมเสียงได้ ก็มีสิทธิตั้งรัฐบาลแข่งได้ แต่หากเป็นที่ลำดับสามมันไม่ได้เพราะต้องให้สิทธิพรรคประชาธิปัตย์ชิงก่อน

• ประเทศไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งมาเป็นระยะเวลานาน การเลือกตั้งครั้งนี้การแข่งขันจะสูงหรือไม่

การเลือกตั้งรอบนี้การแข่งขันสูงแน่นอน เอาเฉพาะแค่ขั้วประชาธิปไตยกับขั้วสืบทอดอำนาจก็วุ่นแล้ว ที่ผ่านมามันเป็นการเมืองแบบสองขั้วมาตลอด แต่รอบนี้มันจะเป็นสามขั้วหลวมๆ แถมยังมีขั้วตัวแปรอีก แบบร่วมได้ทุกฝ่ายก็มีอำนาจต่อรองสูง หากมีที่นั่งในสภาสัก 30 ที่นั่ง และถ้าได้ 40 ที่นั่ง ก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เชื่อว่าแข่งขันเต็มที่ รอบนี้ทุกคะแนนมีความหมาย แปลว่า 5 คะแนน 10 คะแนน ก็เอาหมด การส่งผู้สมัครก็คงไม่ใช่ตามมีตามเกิดแล้ว ถ้าคนใดพอทำคะแนนได้หลักพัน หลักห้าพัน เผลอๆ อัดฉีดเต็มที่

เมื่อทุกคะแนนมีความหมาย ทุกพรรคก็เลยมีความหวัง แต่พอเอาเข้าจริง พอมันเหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว เงื่อนไขมันเปลี่ยน อย่างที่บอกของเก่า คุณเห็นคะแนนเขตของคุณ มันมีที่หนึ่งที่สองที่สามที่สี่ ที่คะแนนหลักหมื่นขึ้น แต่พอไปดูคะแนนบัญชีรายชื่อ มันจะเหลือแค่สองพรรคใหญ่ หมายความว่าถ้าคนเขาให้ความสำคัญกับพรรคมากกว่าตัวบุคคลเมื่อใด คะแนนที่หวังจากของเดิมที่เคยได้หลักหมื่น มันอาจจะไม่ใช่แล้ว มันอาจจะได้คะแนนหลักพันที่คุณได้ในบัญชีรายชื่อก็ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าเดาใจประชาชนผิดว่าประชาชนโหวตเพราะคนหรือเพราะพรรค เกมเปลี่ยนแน่นอน หลังๆ กลุ่มพรรคที่เป็นตัวแปร ขั้วที่สี่ เขาเลยเจาะใหม่ เน้น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะรู้ว่าการหวังเอาที่สองและที่สามอย่างเดียวมันมีโอกาสพลิกได้ บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวคนอาจจะเลือกขั้วใหญ่อย่างเดียว โดยไม่สนใจที่สามที่สี่ก็ได้

• ถ้าการแข่งขันที่สูง โอกาสทุจริตเลือกตั้งมีมากตามขึ้นด้วยหรือไม่

แน่นอนว่ามีโอกาสสูง เราปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองไทย หรือแม้แต่ประชาชนยังเชื่อว่าเงินมันสำคัญ การให้ผลประโยชน์มีผลจูงใจให้คนไปเลือกมันมีความเชื่อเหล่านี้อยู่ ก็เลยเกิดการทุ่มเงินลงไป เชื่อว่าการเลือกตั้งรอบนี้เงินสะพัดแน่นอน ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวทุกคะแนนมีความหมาย คนจึงเชื่อว่าหากเพิ่มได้หนึ่งหัว หนึ่งคะแนนมันก็ทำให้พรรคมีโอกาสได้ที่นั่งมากขึ้น ทุกคะแนนทำให้พรรคมีที่นั่งมากขึ้น บางพรรคอาจบอกว่าฐานเสียงแน่นแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เงินกับประชาชน

แต่เมื่อเห็นคู่แข่งแจกแล้วจะไม่แจกบ้างมันก็ไม่ได้ เมื่อทางโน้นให้มา ทางเราก็ต้องให้กลับไปบ้าง แม้รู้ว่าการให้ไปก็ไม่มีผลอะไรอยู่แล้ว เพราะประชาชนเขาอยู่กับเรา แต่ก็เพื่อความสบายใจ ความอุ่นใจ สิ่งเหล่านี้มันก็ยิ่งเพิ่มปริมาณการให้เงิน ถามว่าเอาเข้าจริงการจ่ายเงินมันเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้หรือไม่ มันไม่ขนาดนั้นหรอก มันเป็นความเชื่อที่ยังฝังอยู่ เขาไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสกปรก แต่มองเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้เงินสะพัดแน่นอน ส่วนวิธีการจ่ายก็ต้องรอดูกันไป

• มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ New Voter จะมีมากน้อยแค่ไหนเพียงไร

ตอนนี้ประเมินอยู่ในระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร New Voter ทั้งหมด สมมุติเราประเมินว่ามี 7 ล้าน ก็ประมาณสัก 3.5 ล้าน หรืออาจไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะประมาณ 4 ล้าน ตัวเลขถือว่าพอๆ กับในอดีต อาจจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อย เพราะบรรยากาศความตื่นตัว แต่ก็น้อยกว่าที่คาดหวัง เพราะก็อยากให้กลุ่มเหล่านี้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่านี้ เชื่อว่าน่าจะเปลี่ยนอะไรได้เยอะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image