“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” นำ “รปช.” สู้เลือกตั้ง สานต่อปฏิรูป

หมายเหตุ – นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ให้สัมภาษณ์ มติชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปี มติชน ถึงทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2562

•มองการเมืองปี 2562 เป็นอย่างไร

การเมืองปี 2562 จะเป็นการเลือกตั้งที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ก็คงมีอะไรที่ใหม่และมีความหวัง เพราะว่าเลือกตั้งก่อนพิธีบรมราชาภิเษกจะเกิดขึ้น คิดว่าคงจะเป็นโอกาสที่ทำให้คนไทยจะได้ตระหนักว่า เราจะลงคะแนนเสียงอย่างไร เพื่อให้การเลือกตั้งสมกับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรัชกาลที่ 10
ในฐานะที่เป็นคนไทย คงจะต้องคิดว่าจะช่วยกันทำอย่างไรเพื่อสนองพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ที่ท่านตรัสว่า พระองค์ทรงปรารถนาที่จะเห็นประเทศไทยในรัชกาลนี้ สงบ สันติ แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้คิดว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนอะไรได้ ควรจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเดิมที่มีมาโดยร่วมกันทำงานสนองพระเดชพระคุณ ทั้งพระเดชพระคุณของรัชกาลที่ 9 และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระเดชพระคุณของรัชกาลที่ 10 ด้วย เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าคนไทยไม่ได้เป็นแต่พลเมืองของประเทศและสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นพสกนิกรด้วย ในประเทศไทยความเป็นพลเมืองและพสกนิกรควรจะทำหน้าที่ควบคู่กันไป อะไรที่ช่วยกันคิดและทำให้เกิดสิริมงคลและเป็นความหวังได้ ก็ต้องทำ

•ประเมินการตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งไว้อย่างไรบ้าง

Advertisement

ผมมองเรื่องรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้มีบางพรรคการเมืองออกมาพูดว่า จะฉีกรัฐธรรมนูญ หรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ จะไม่เอาหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญออก เช่น ไม่อยากทำยุทธศาสตร์ชาติ ไม่อยากจะทำเรื่องปฏิรูป ตรงนี้ผมคิดว่า รอให้ถึงเวลาหย่อนบัตรลงคะแนน และคิดเรื่องนโยบายกันว่า จะทำให้ประชาชนเขาได้อะไร แต่ทั้งนี้ต้องคิดร่วมกันด้วยว่า จะทำอะไรให้แก่ชาติบ้านเมืองและสังคม และต้องทำไปด้วยความเป็นประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบร่มเย็น และไม่กลับไปสู่ความโกลาหลวุ่นวายอีก นี่เป็นส่วนที่ผมอยากจะชักชวนคนไทยให้ตระหนักคิดในการเลือกตั้งครั้งนี้

•หมายความว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้พรรคการเมืองนำเรื่องรัฐธรรมนูญมาเป็นประเด็นหรือนโยบายในการหาเสียงครั้งนี้

แล้วแต่พรรคการเมืองนั้นๆ แต่ถ้ามีพรรคไหนที่เสนอว่าจะฉีกรัฐธรรมนูญ หรือไม่เอารัฐธรรมนูญ อยากจะเตือนให้คนไทยได้ตระหนักว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านประชามติจากประชาชนกว่า 16 ล้านเสียงมาแล้ว ต้องเคารพการลงประชามตินั้น เพราะประชามติเป็นเรื่องสำคัญจะต้องช่วยกันรักษา

Advertisement

•กรณียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลายพรรคการเมืองเห็นว่าจะล้าหลัง และมองว่าหากได้เข้าไปเป็นรัฐบาลเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ

ขอพูดในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่พรรคการเมือง อยากบอกว่าเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องที่ประเทศที่เจริญแล้วจะต้องมีกันทั้งนั้น อย่างประเทศมาเลเซีย เมื่อนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ ในปี 2520 ช่วงปลายๆ มหาธีร์ก็ได้เสนอทำยุทธศาสตร์ชาติ 2020 ซึ่งเป็นปีอีก 2 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ.2563 จะครบยุทธศาสตร์ชาติ 2020 ของประเทศมาเลเซีย คือนายมหาธีร์ ก็ทำยุทธศาสตร์ชาติเกือบ 20 ปี และเมื่อนายมหาธีร์ออกไป ก็ยังมีนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียอีกหลายๆ คน จนในที่สุดท่านก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง มาเลเซียก็อยู่ในยุทธศาสตร์ 2020

ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะอยู่กันไปแบบไม่รู้เรื่องราวอะไร ทุกอย่างต้องมียุทธศาสตร์ อย่างกรณีสื่อหนังสือพิมพ์ ตอนนี้ก็ต้องมียุทธศาสตร์ว่าเมื่อยุคสมัยคนอ่านหนังสือเปลี่ยนไป จะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการรับมือกับโลกใหม่คือ โซเชียลมีเดียจะปรับให้เป็นสื่อออนไลน์ จะทำอย่างไร ก็ต้องมียุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยน ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงเร็วเท่าไหร่ ก็ต้องมียุทธศาสตร์ ไม่ใช่จะใช้เหตุผลที่ว่าโลกสมัยนี้เปลี่ยนเร็ว ยุทธศาสตร์ชาติจะไปใช้อะไรมาช่วยได้ แต่จะต้องมียุทธศาสตร์ชาติที่ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนให้เร็วและทันโลกมากขึ้น ส่วนประเด็นที่พรรคการเมืองว่าเรื่องไหนของยุทธศาสตร์ชาติมันล้าหลัง เมื่อคุณได้มาเป็นรัฐบาลคุณอยากจะแก้ไข ก็แก้ไขได้

ประเทศไทยเดิมทีไม่มีแม้แต่นโยบาย สมัยผมเรียน จะมีคำว่า รัฐบาลมีภารกิจ หรือ กระทรวงมีภารกิจ ตอนนั้นยังไม่ใช่นโยบาย ก็อยู่กันมาได้ จนกระทั่งยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เริ่มมีการใช้คำว่า นโยบาย เข้ามามากขึ้น นโยบายก็เป็นรูปธรรมกว่าภารกิจ เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดของภารกิจเราก็คุ้นกับการจัดทำนโยบาย ยิ่งในการทำงานงบประมาณเราก็จะต้องมีนโยบายมาให้กระทรวงการคลัง หรือสำนักงบประมาณดูก่อนที่จะให้นายกรัฐมนตรี ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน ตอนนั้นคนจำนวนมากก็ยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า นโยบาย ก็เกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับคนไทยในขณะนี้คือ อะไรที่ใหม่ๆ ก็จะพูดไปก่อนแล้วว่ามันจะไม่ได้ เพราะเราเคยชินกับของเก่า

ต่อมายุคปลายๆ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีอะไรที่ใหม่กว่าคำว่า นโยบาย ขึ้นมา ก็คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ก็แปลว่าเราจะทำอะไรที่เป็นเรื่องหลักๆ ร่วมกัน 5 ปี เพื่อประเทศว่าจะพัฒนาอย่างไรทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สมัยนั้น คนก็บอกว่า จอมพลสฤษดิ์จะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ คือมีการวางแผนการล่วงหน้าไว้ตั้ง 5 ปี แต่ในที่สุดจนถึงปัจจุบันนี้ก็ชินกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี รัฐบาลแต่ละรัฐบาลเข้ามาทำงาน ก็ไม่เห็นมีใครบ่นว่าเป็นพัฒนาเศรษฐกิจมันจะขวาง แต่ก็มีการแก้ไข

จนกระทั่งสมัยสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ก็มีผู้เสนอว่า เรื่องนี้ควรจะมีแผนพัฒนาการที่ยาวกว่านั้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงเกิดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นการปฏิรูปด้วย เชื่อว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ออกมาแล้ว อย่างน้อยก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดระเบียบระบบราชการได้ดี ถ้ารัฐบาลหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้งเอาความเฉลียวฉลาดมาต่อยอดจากของเดิมได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะไปได้ดี

อย่างไรก็ดี จะสังเกตเห็นได้ว่า ตอนเกิด แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะมาตั้งข้อรังเกียจว่า ยุทธศาสตร์ชาติ กับ การปฏิรูป ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่เรามี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี มาตั้งแต่ต้นที่ก็ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลประชาธิปไตยเช่นกัน ผมพูดตรงนี้เพื่อที่จะให้เห็นอีกมุมหนึ่งเท่านั้น

•บทบาทในพรรคการเมืองอย่าง รปช.ตอนนี้เป็นอย่างไร

กรรมการบริหารของพรรค รปช.มีแค่ 7 คน ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคก็ไม่มี ตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคก็ไม่มี มีหัวหน้า เลขาธิการ เหรัญญิกและนายทะเบียน ซึ่งในส่วนของกรรมการบริการพรรคมีหน้าที่ที่เจาะจง 4 คน และมีหน้าที่ที่ไม่เจาะจงอีก 3 คน ซึ่งผมมีหน้าที่ที่ไม่เจาะจง และเป็นกรรมการบริหารคนใหม่ ซึ่งส่วนที่ผมได้รับมอบหมายคือ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนของพรรค รปช. กับเป็นประธานนโยบายของพรรค รปช.
พรรคนี้เราทำโรงเรียนการเมืองเพื่อที่จะอบรมให้ความรู้ให้วิสัยทัศน์ ให้ปรัชญา และให้อุดมการณ์กับผู้บริหาร ผู้สมัคร ส.ส. สมาชิกพรรค รวมทั้งว่าที่รัฐมนตรีของพรรค และถ้าใครไม่สามารถผ่านโรงเรียนการเมืองของพรรคไปได้ก็ทำงานกันไม่ได้ ในวันที่ 7-9 มกราคม 2562 ก็จะมีการจัดอบรมสมาชิกพรรคและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคกว่า 500 คน ซึ่งกำลังเลือกกำหนดสถานที่กันอยู่ว่าจะจัดงานนี้ขึ้นที่ไหน ทั้ง 500 คนจะต้องมาในวันนั้น และถ้าใครไม่มา เราก็จะไม่ส่งลงสมัคร ส.ส.

ถ้า รปช.ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีคนได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรี พวกที่เป็นรัฐมนตรีก็จะต้องมาเข้าโรงเรียนเพื่อคัดคนสำหรับที่จะไปเป็นรัฐมนตรี เพื่อต้องเรียนรู้ว่าจะเป็นเป็นรัฐมนตรีต้องมีข้อกฎหมายอะไรที่ต้องกระทำ และห้ามกระทำ รวมทั้งอุดมการณ์จากพรรค รปช. ในการทำหน้าที่รัฐมนตรีด้วย นอกจากนั้น รปช.ยังมีคณะกรรมการวินัยและจริยธรรมซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากการเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ที่ผ่านไป ถ้าใครทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ทุจริตต้องมีการสอบสวนและลงโทษ

•จุดยืนของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชัดเจนว่า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่ได้พูดกันอย่างนั้นเสียทั้งหมด แต่ละคนก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ในส่วนที่เป็นทางการนั้น รปช.พร้อมที่จะสนับสนุนใครก็ได้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเข้ามา แต่ต้องไม่เข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญ แต่แก้ไขได้ ไม่ใช่แก้ไม่ได้ ไม่สนับสนุนคนที่จะเข้ามาทำลายล้างการทำยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ

แต่การพูดชัดเจนจะทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกได้ง่าย ว่าทางไหนเป็นทางออกที่เขาเลือกที่จะสนับสนุน
ไม่ได้คิดแบบนั้น แต่คิดว่าการเมืองครั้งนี้สำคัญเป็นเรื่องที่ว่าจะผลักดันประเทศอย่างไร แต่เรื่องปากท้องประชาชนก็ให้น้ำหนักเยอะที่จะแก้ไข ยอมรับว่าการเดินคารวะแผ่นดินของนายสุเทพ พบว่าประชาชนสะท้อนเรื่องเศรษฐกิจเยอะมาก ก็จะนำเรื่องปัญหาต่างๆ มาใส่ไว้ในนโยบายพรรคของเรา

•ทำไมถึงเลือก รปช.

ในความคิดของผม การอยู่กับ รปช.ถ้าทำหน้าที่ได้สำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนขบวนรณรงค์การประท้วง ขบวนการที่ต่อสู้กับความไม่ดี ในกรณีนี้อาศัยการเดินขบวนให้มาเป็นพรรคการเมือง โดยใช้กลไก ใช้สถาบัน และใช้รัฐธรรมนูญในการที่จะเข้าไปอยู่ในรัฐบาล หรืออยู่ในฝ่ายค้านก็ตาม เพื่อจะได้เป็นการเมืองที่มีมาตรฐาน ผมไม่ใช่ชาว กปปส.แต่เดิม แต่ตอนนี้เมื่อเขาทำอะไรที่ผมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและดีต่อการพัฒนาการเมืองได้จึงสนใจที่เข้ามาทำ

ผมอยากบอกว่าการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องที่ซ้ำซาก แต่มันซ้ำซากเรื่องเดียวเท่านั้นคือ เรื่องฉีกรัฐธรรมนูญ และมีการยึดอำนาจกัน สมัยผมเป็นเด็กไม่มีเรื่องชนชั้นเข้ามาเกี่ยวเท่าไหร่ การเมืองไทยเป็นเรื่องของทหารกับพลเรือน ไม่ได้วิเคราะห์ว่าจะมีชนชั้นไหนมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่มีชนชั้นกลาง ชนชั้นกรรมกร ชนชั้นชาวนาเข้ามาเกี่ยวกับการเมือง จนกระทั่งช่วง 14 ตุลา 16 ผมก็เริ่มเห็นได้ชัดเจนเลยว่ามีเรื่องชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีขบวนนักศึกษาเข้ามา แม้จะยังไม่ใช่ชนชั้นทางสังคมเพราะยังไม่มีอาชีพ จนกระทั่งปี 2535 ก็เกิดชนชั้นกลางเข้ามาอยู่ในกระบวนการการเมือง มีม็อบขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่ผมก็ยังเห็นว่าเมืองไทยยังไม่มีชนชั้นรากหญ้าที่เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองในตอนนั้น

จนกระทั่งปี 2551 ก็เห็นขบวนของคนยากจน ชาวนา ที่มาจากต่างจังหวัด เต็มกรุงเทพฯ ตอนนั้นผมคิดว่าชนชั้นต่างๆ เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น มันก้าวหน้านะ แต่กระทั่งปี 2556 ก็มีชนชั้นกลางกลับมาประท้วงอีก เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ชนชั้นกลางก็มีปริมาณอาจจะไม่ได้น้อยไปกว่าชนชั้นรากหญ้า เพราะฉะนั้นการเมืองไทยตอนนี้เป็นเรื่องของกลุ่มมวลและมหาประชาชน 2 กลุ่ม คือระหว่างกลุ่มชนบทเมืองขนาดเล็ก และเมืองขนาดกลางขนาดใหญ่ เราจึงมีหน้าที่ที่จะทำอย่างไรที่จะประสานคน 2 กลุ่มนี้ให้เข้าใจกัน เพราะประเทศไทยไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียวหรือภาคเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image