‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ ‘ชาติพัฒนา’แก้เดดล็อกการเมือง

หมายเหตุนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำกิจกรรมของพรรค ชพน. พร้อมประเมินสถานการณ์การเมืองก่อนและหลังวันที่ 24 มีนาคม 2562

จากการลงพื้นที่ได้ประเมินกระแสตอบรับของพรรคว่าเป็นอย่างไร
จากการลงพื้นที่ หลังเปิดนโยบาย และผู้สมัคร เราคิดว่ากระแสตอบรับอยู่ในเกณฑ์ดี เราดูจากการไปเยี่ยมเยียนหรือการพูดคุย หรือในเวทีปราศรัย จากจำนวนที่นั่งก็จะแน่นตลอด และประชาชนจะพูดถึงเราว่า ดีแล้วๆ ชาติพัฒนาไม่ขัดแย้งกับใคร หรือพรรคน้าชาติ เอาเศรษฐกิจของน้าชาติกลับมานะ ฉะนั้นเราจึงมีความรู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ผลลัพธ์และการตอบรับดีกว่าเดิม แม้การแข่งขันจะสูง แต่ผมคิดว่าพรรค ชพน.มีบุคลิก มีจุดขาย ถ้าเบื่อการเมืองขัดแย้งขอให้คิดถึงชาติพัฒนาก็แล้วกัน เพราะว่าสิ่งที่พูดกับประชาชน และสิ่งที่ทำมาตลอดค่อนข้างชัดเจนว่าเล่นการเมืองแบบมีน้ำใจนักกีฬา มีไมตรี มีมิตรภาพ เป็นการเมืองแบบตามกฎ ทุกอย่างคือเสียงข้างมาก ฟังเสียงประชาชน จบในห้อง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จะพูดเสมอว่า ชนะกันเสียงเดียว ประชาธิปไตย การเมืองจบเป็นยกๆ ท่านจะพูดอยู่ตลอดเวลาว่าจะเดินแบบนั้น ทำให้มองได้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งที่อยากเห็นการเมืองเรียบร้อยก็น่าที่จะเข้าใจบทบาทของ
พรรคชาติพัฒนา

⦁ประเมินจำนวนที่นั่งในช่วงนี้แล้วหรือยัง
ไม่อยากจะพูดถึงตัวเลขที่ชัดเจน แต่คิดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีกว่าทุกครั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ประเมินยาก เพราะมีปัจจัยที่เราไม่ทราบเลยว่าจะเป็นยังไง เช่น ปัจจัยเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องออนไลน์ ข่าวสารที่ส่งไปถึงมือประชาชน การใช้เทคโนโลยีมาทำตลาดของพรรคการเมือง หรือเรื่องความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ หรือ กฎกติกาที่เปลี่ยนไปที่ทำให้เกิดการตัดสินใจการเลือกอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น เดิมทีมี 2 บัตร บัตรหนึ่งเลือกผู้สมัคร บัตรหนึ่งเลือกพรรค ฉะนั้นพี่น้องประชาชนตัดสินใจง่าย ไม่จำเป็นต้องดูพรรค หากชอบก็เลือก พอดูบัตรเลือกพรรค ชอบนโยบายพรรคก็เลือก เหมือนกับถูกออกแบบให้เลือกผู้สมัครหรือเลือกพรรคตามบัตร แต่เที่ยวนี้ ทั้งผู้สมัครทั้งพรรคอยู่ในบัตรเดียวกัน หมายความว่า ผมอยากจะเลือกนาย ก. แต่ผมไม่ชอบพรรค ผมก็เลยไม่เลือกเลย นาย ก. ควรจะได้คะแนนจากผม แต่นาย ก. ไปสังกัดพรรคการเมืองที่ผมไม่ชอบ แต่คุณอยู่ในบัตรใบเดียวกันผมเลยไม่เลือก นาย ก.เลยสอบตก หรือผมชอบพรรคแต่ผมไม่ชอบนาย ก. ผมเลยต้องเลือกนาย ก. ไม่มีอะไรลงตัวว่าชอบทั้งพรรคชอบทั้งคน แต่เที่ยวนี้เป็นการตัดสินใจว่าต้องชอบทั้งพรรคชอบทั้งคน ถ้าชอบทั้งพรรคทั้งคนเอาไปเลย แต่หากเกิดมีความรู้สึกขัดแย้งขึ้นมา ประชาชนจะเลือกอะไร จะเอาอะไรมาตัดสินใจ จะเอาคนก่อนหรือพรรคก่อน ฉะนั้นเป็นการเบี่ยงเบนการตัดสินใจที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งพฤติกรรมอย่างนี้เราไม่รู้ และยังมีเรื่องนายกฯเข้ามาแทรกอีก กลายเป็น 3 ปัจจัย ในการตัดสินใจ ผมว่าวิเคราะห์ยาก เพราะเดิมทีการนับคะแนนแยกกันทำให้สามารถกะคะแนนได้ง่าย แต่หากเขาชอบพรรคเราแต่ผู้สมัครไม่ดี คนเกิดไม่เลือกเราเลย คือทุกอย่างถูกนำมา
ตัดสินใจ

⦁ด้วยนโยบายของพรรคจะนับว่าตอบโจทย์กับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ไม่อยากเห็นความขัดแย้งหรือไม่
เท่าที่ถามผู้สมัคร ถึงแม้ในบางเขตจะไม่ใช่ฐานคะแนนของพรรค แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ พรรค ชพน.หรือ พรรคนี้ดีไม่มีปัญหากับใคร จะติดปากมากๆ อ่อ คุณสุวัจน์เหรอ ดีๆ พรรคนี้ เหมือนกับพี่น้องประชาชนที่เดินสายกลางจะชอบพรรคที่ไม่มีปัญหา ก็เลยคิดว่า รอบนี้ีเสียงตอบรับดี แต่ได้กี่คนไม่รู้นะ

Advertisement

⦁ฐานเสียงที่แข็งแรงอย่างพื้นที่นครราชสีมาเป็นอย่างไร
เราก็ประเมินว่าน่าจะรักษาฐานเสียงเดิมได้ เราไม่น่าจะน้อยกว่าเดิม แต่เราก็ไม่กล้าไปบอกว่าเราจะเอา 14 ที่นั่ง เหมือนพรรคอื่นเขา ซึ่งหลายพรรคที่เคลมว่าจะได้คะแนนยกจังหวัดนั้นก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องสร้างจิตวิทยา สร้างความมั่นใจ ไม่ได้รู้สึกอะไร

⦁ได้ตั้งเป้าในพื้นที่อื่นไว้หรือไม่
ผมคิดว่าการเลือกตั้งแบบนี้ เราจะมองเป้าหมายของคะแนนรวมเป็นหลัก เพราะว่าจำนวน ส.ส. จะถูกกำหนดด้วยคะแนนรวมแล้วหารด้วยประมาณ 70,000 ฉะนั้นการวิเคราะห์ว่าได้เท่าไหร่เราจะวิเคราะห์จากเขตเลือกตั้งที่เราส่ง อย่างพรรคชาติพัฒนาส่ง 260 กว่าเขต เราก็จะพิจารณาเป็นรายเขต เป็นเรื่องของการรวบรวมคะแนนทั้งประเทศ ไม่ใช่วิเคราะห์ว่าจะชนะเขตเลือกตั้งกี่เขต เราวิเคราะห์คะแนนรวมทั้งหมด และเราก็คิดว่าเราจะได้คะแนนทุกภาค โดยเฉพาะ กทม. เราพยายามที่จะเสนอแทรกตัวเข้าไปให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ให้กรุงเทพฯมีตัวเลือกมากขึ้น เพราะว่าคะแนนของ กทม.มาจากความรู้สึกนึกคิดของคน ไม่เหมือนคะแนนที่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคะแนนที่มาจากความคุ้นเคยความผูกพัน ความลึกซึ้ง ความแนบแน่น มิตรภาพที่ต่อเนื่องกันมา แต่ กทม.เป็นคะแนนในเชิงวิชั่น นโยบาย เชิงกระแส ดังนั้น การหาเสียงในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจึงเป็นคนละแบบ

⦁พรรคประเมินการร่วมดีเบตของสมาชิกพรรคอย่างไร
เรื่องดีเบต ถ้าเขาเชิญมาเราก็พยายามไปทุกงาน เพราะถือว่าการดีเบตเป็นการแสดงออกถึงความรู้ความเข้าใจ วิสัยทัศน์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจ แต่เราก็ต้องพยายามคัดเลือกคนที่มีความรู้ความเข้าใจให้หัวข้อนั้น ไม่ใช่หมายความว่าไปดีเบตเยอะๆ แล้วจะได้แต้มนะ ถ้าเกิดไปดีเบตเยอะๆ แล้วการปฏิบัติไม่ดีอาจจะเสียแต้ม ก็ต้องดูว่าคนที่ไปพูดสะท้อนได้และมีความน่าเชื่อถือ

Advertisement

⦁พรรคชาติพัฒนามีจุดยืนอย่างไรในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
จุดยืนเราอยู่ที่ No problem เราไม่ต้องการที่จะสร้างเดดล็อกทางการเมือง หรือจะไปแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราไม่มีจุดยืนนั้น เราไม่เอา เรามีความรู้สึกว่าบ้านเมืองวันนี้เราเผชิญหน้ากันเยอะแล้ว อดีตเหตุความขัดแย้งก็เยอะแล้ว เราอยากจะคลี่คลายสถานการณ์ต่างๆ ประนีประนอมกับทุกฝ่าย เราไม่อยากไปสร้างเงื่อนไข ถ้าอย่างนี้เอาอย่างนั้น เราอยากให้การเมืองมีพื้นที่เปิดกว้างๆ เพื่อให้เหมือนกับมีช่องทางที่จะเดินเยอะๆ ขยับกันได้เยอะๆ ให้เกิดได้ แต่ถ้าเกิดเดดล็อกกันไปมา มีเงื่อนไขนั้นเงื่อนไขนี้ แล้วถ้าเกิดไม่มีใครหาเสียงได้ 375 เสียง แล้วทำอย่างไร เราต้องคิดว่าการเป็นนายกฯ
ต้องได้ 375 เสียง เดี๋ยวก็มีสุญญากาศอีก การหา 375 เสียงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราก็ต้องคิดว่านายกฯก็ไม่ใช่ 251 เสียง ฉะนั้นการเมืองที่มีขั้ว มีค่าย หรือมีความขัดแย้งเยอะๆ เดี๋ยวรวบรวมเสียงไม่ครบ การหานายกฯก็จะยาก เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล เป็นอุปสรรคต่อประเทศ ซึ่งก็แล้วแต่พรรคจะคิดเราก็ไม่ไปก้าวล่วง แต่พรรคของเราจะมองโจทย์ทางการเมือง มองปัญหาประเทศจากอดีตที่ผ่านมา มองความรู้สึกนึกคิดของประชาชน อยากเห็นการเมืองเรียบร้อย เราถึงพูดว่าอยากเห็นการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจชาติพัฒนา เราเชื่อในสิ่งนี้เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยดีอยู่แล้ว ใครจะมาสู้เมืองไทย เกษตร ท่องเที่ยวใครจะมาสู้เมืองไทย ปัจจัยพื้นฐานเราแข็งแกร่งจะตายไป ขณะนี้เรายังไม่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบเลย เราก็ประคับประคองของเรามาได้ ลองเรามีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบใส่สูทผูกไทเมื่อไหร่ มีความเชื่อมั่น มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ มีรัฐบาลประชาธิปไตยเมื่อไหร่ ผมอยากจะพูดว่า ในภูมิภาคนี้ไม่มีใครสู้ไทยได้ ความน่ากลัวของไทย คู่แข่งทางเศรษฐกิจมอง คือ เรื่องการเมืองอย่างเดียว ถ้าวันใดการเมืองไทยเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ แข่งกับเมืองไทยยาก ฉะนั้นผมลุ้นอย่างเดียวให้การเมืองเรียบร้อย ถ้าพรรคการเมืองเราทำหน้าที่นี้ เราอาสาตัวมาเราก็ต้องเดินไปสู่จุดนั้น เพราะเราเชื่อมั่นว่าถ้าการเมืองนิ่งแล้วเศรษฐกิจของไทยจะไปโลด ขอให้นึกถึงคำพูดของน้าชาติว่า หันหน้าเข้าหากัน สร้างสรรค์
เศรษฐกิจไทย

⦁การพูดคุยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องจบในรัฐสภา
ผมว่าก็ต้องเป็นแบบนั้น เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพอเห็นตัวเลขเราก็รู้แล้ว เพราะตัวเลขมาจากฐานความคิดของประชาชน ฉะนั้นทุกคนจะรู้ว่าชาวบ้านเลือกอย่างนี้ ประชาชนเลือกอย่างนี้ ผมว่าไม่ต้องคิดมากมันจะออกมาเอง

⦁หลายฝ่ายกังวลว่า ส.ว.อาจจะไปขัดเจตนารมณ์ไม่ฟังเสียงของประชาชน
ก็อาจจะเป็นความกังวล แต่ก็คิดได้กังวลได้ แต่กังวลแบบไหน แต่พรรคชาติพัฒนาเราไม่กังวลเพราะเรา No problem แต่เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ และพร้อมที่จะเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้การเมืองเดินได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ไม่มีสนิมทางการเมืองที่เกิดจากพรรคชาติพัฒนา เราจะไม่ทำตัวเราให้เป็นสนิมที่ทำให้เครื่องจักรเดินไม่ค่อยได้ เราจะช่วยเสริมถึงแม้เราจะไม่ใช่ฟันเฟืองใหญ่ แต่ไม่ต้องมาห่วงฟันเฟืองเล็กๆ
อย่างเรา

⦁ช่วงโค้งสุดท้ายมีการเปิดแคมเปญอย่างไร
ก็ต้องมีทุกพรรคเรียกว่าทิ้งโค้ง เหมือนมวยยกที่ปี่กลองจะดัง ซึ่งเราก็คิดไว้อยู่ว่าจะมีจุดขายอะไรแข็งๆ ที่ออกมา และต้องมีอะไรที่ฉายภาพให้ชัดเจน เป็น Final touch อย่างในกรุงเทพมหานครก็มีนโยบายเฉพาะ เพราะเป็นเมืองหลวงที่มีประชากรเยอะที่สุด หรือแม้กระทั่งนครราชสีมาก็มีนโยบายประตูสู่อีสานโดยใช้โคราชเป็นฐาน ซึ่งวิธีการทำนโยบายเราไม่ไปเปรียบเทียบกับพรรคอื่น เพราะการเป็นพรรคการเมืองต้องเป็นพรรคการเมืองของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่พรรคของนครราชสีมาที่เป็นฐานเสียงของเราอย่างเดียว อีสานเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ถ้าจะแก้ไขปัญหาความยากจนต้องมาแก้ที่อีสาน ความยากจนจะหมดไปในประเทศไทย แล้วที่เหลือก็เป็นนโยบายภาพใหญ่ในเศรษฐกิจของประเทศ ว่าเรามองประเทศไทยอย่างไร ฉะนั้นวันนี้เรามองเป็นส่วนๆ มองเรื่องเศรษฐกิจใหญ่คือการมองภาพรวม พัฒนาความต่อเนื่อง หยิบจุดแข็งมาพัฒนาประเทศ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การเกษตรต้องเป็นจุดแข็ง เทคโนโลยีใหม่ๆ 5จี ต้องนำมาใช้ ระบบการคมนาคม การสื่อสารต้องทันสมัย การศึกษาต้องทันสมัย เด็กไทยต้องได้ 2 ภาษา ต้องเรียนรู้ หลักสูตรออนไลน์ จีดีพีต้องเสมอภาค การท่องเที่ยวต้องกลายมาเป็นวาระแห่งชาติ นี่คือเศรษฐกิจใหญ่ที่จะรองรับความยั่งยืน วันนี้จะรบกับเขาต้องรบกับเศรษฐกิจความเข้มแข็ง
ขณะเดียวกันต้องมองเศรษฐกิจรากหญ้าด้วย คนยากคนจน สินค้าเกษตรหายไป 40 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเงินในกระเป๋าหายไปด้วย นี่คือเหตุผลว่ารากหญ้าถึงอ่อนแอ ฉะนั้นเราต้องไปช่วยเกษตรกรรากหญ้า ปัญหาคืออะไร จะอัดฉีดอะไร จะเอานักท่องเที่ยวไปเที่ยวในรากหญ้าให้หมดได้หรือไม่ ทั้งในเชิงสังคมวัฒนธรรม การสร้างความเข้มแข็ง สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการโอท็อป มีกองทุนเข้าไป จัดตั้งเป็นนโยบายเหมือนกองทุนเอสเอ็มอีตามรากหญ้า หรือกองทุนไปช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรที่เรียกว่า กองทุนสวัสดิการเกษตรกรงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าเร่งด่วน แต่ขณะเดียวกันการลดความขัดแย้ง การเมืองอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ความขัดแย้งส่วนอื่นก็มี คือการไม่ได้รับความเป็นธรรม มาจากความเหลื่อมล้ำ เราก็ทำนโยบายโดยการกระจายอำนาจ เพื่อให้อยู่ได้ อย่างกำนันผู้ใหญ่บ้านเงินเดือนขั้นต่ำควรจะ 10,000 บาท อสม. หากขยันก็อาจจะเพิ่มค่าตอบแทน ส่วนผู้สูงอายุที่มีจำนวนมาก จะขยายอายุการเกษียณ มีเบี้ยผู้สูงอายุ ขณะที่การออกแบบอารยสถาปัตย์ที่ทุกคนมีสิทธิใช้ถนน ทางเชื่อม ลิฟต์ ห้องน้ำต่างๆ เพื่อให้ไทยเป็นสากลและรองรับนักท่องเที่ยว ผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งบางวันเราก็อาจจะเป็นคนพิการ แขนอาจจะหัก ต้องจับราวบันได ฉะนั้นนี่คือการสร้างความ
เสมอภาค
นอกจากนี้ได้นำกีฬามาสร้างชาติ กีฬาสร้างความรัก สร้างความสุข ลดความขัดแย้ง สร้างวีรบุรุษนักกีฬาเพื่อให้คนไทยปลื้มเป็นความสุข ธงชาติไทยขึ้น ทุกคนน้ำตาปริ่ม มีความสุข ความรักชาติเกิดขึ้น หรือการเล่นการเมืองแบบนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย ทุกอย่างจบในห้อง ไม่มาที่ถนน ทำให้ไม่มีการชุมนุม ไม่มีความขัดแย้ง หรือนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเกิด จริงๆ ความขัดแย้งก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรถ้าทุกคนเล่นตามกติกา ฉะนั้นเราจึงมั่นใจว่าชาติพัฒนามีจุดขาย เรามีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนมีน้ำใจนักกีฬา

⦁ในฐานะแคนดิเดตนายกฯมีความพร้อมหรือไม่
ไม่ได้ซีเรียสทำตามหน้าที่ การเลือกตั้งทำตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ
นายกฯ เราก็เสนอชื่อเพื่อแสดงถึงความพร้อม สมมุติบอกเป็นนักการเมืองก็เสนอนโยบายต่างๆ แต่พอถึงเวลากลับไม่เสนอชื่อนายกฯแล้วยังไงกันแน่ คุณบอกจะทำโน้นทำนี้แต่ไม่เสนอคนทำ ฉะนั้นผมก็คิดว่าแค่เสนอถึงความพร้อมของบุคลากร

⦁หาเสียงมาสักระยะ คิดว่าประชาชนจะเลือกอะไร ระหว่างจุดยืนทางการเมือง นโยบาย ความผูกพัน หรือหลายอย่างรวมกัน
ผมว่าวันนี้คู่คี่กันระหว่างเรื่องเศรษฐกิจกับเรื่องประชาชนอยากเห็นการเมืองยุติ ผมมองว่ามี 2 เรื่อง ที่เป็นปัจจัย คือ พรรคไหนมีนโยบายหรือแคนดิเดตที่ทำให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าเป็นพรรคนี้คนนี้การเมืองจะนิ่ง จะไม่ทะเลาะกันก็มีส่วน หรือถ้าเป็นคนไหนพรรคไหนมาแล้วเศรษฐกิจดี ส่วนเรื่องอื่นคิดว่าไม่ใช่ เป็นความคิดคำนึงของแต่ละท่านที่คิดไปเอง ฉะนั้นถ้าเราทำให้พี่น้องประชาชนเห็นได้ว่าเราจะมาเป็นผู้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เราคือผู้ที่เข้ามาทำให้ปัญหาความขัดแย้งลดลงได้ คนนั้นก็จะอยู่ในความรู้สึกของพี่น้องประชาชนได้มากกว่าคนอื่น เพราะสามารถตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนได้ และอย่าลืมว่าคนในสังคมมีความหลากหลาย เพราะประเทศเราใหญ่ มีทั้งเมืองหลวงและชนบท มีทั้งผู้สูงอายุและวัยรุ่น มีหลายอาชีพ จึงไม่ได้หมายความว่าใครที่สามารถจับจองบางพื้นที่ได้แล้วจะเป็นผู้ชนะ แต่ผมว่า ในระบบการเลือกตั้งใหม่ค่าเฉลี่ยจะเป็นผู้ชนะ คือ คนที่อาจจะไม่ได้ A แต่ได้ C+ อาจจะชนะ เพราะได้ C+ ในทุกพื้นที่ ต่างกับคนที่ได้ A บางพื้นที่ แต่บางพื้นที่ไม่ได้เลยก็จะแพ้คนที่ค่าเฉลี่ยในทุกพื้นที่ เนื่องจากกติกาของ
รัฐธรรมนูญ

⦁พรรคชาติพัฒนายืนยันว่าทำเต็มที่
เราคือนักกีฬาที่ลงสนาม เราก็สู้เต็มที่เพราะทุกคนอยากชนะ ทุกคนอยากจะให้นโยบายตัวเองได้ปฏิบัติ ทุกคนก็อยากเป็นรัฐบาล ซึ่งการเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคุณชนะได้หลายที่นั่ง คุณก็จะมีพลังในการผลักดันนโยบาย จึงเป็นเรื่องปกติในการสร้างความเข้มข้นการตลาด และการดีเบต แต่ขอให้หลังวันที่ 24 มีนาคม ขอให้ลืมในเรื่องที่เราเถียงกันไปมา ขอให้จบๆ กันไป แล้วมานั่งดูว่าควรจะร่วมมือทำงานกันอย่างไร ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้บอกเลยว่า 375 ที่นั่งนั้นหายาก และจะไม่ใช่การเลือกตั้งที่เร็วๆ เหมือนทุกครั้ง แต่จะมีหลายขั้นตอน

⦁อายุของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะอยู่นานหรือไม่
ขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาล ตอนนี้ไม่สามารถประเมินได้ว่ารัฐบาลจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว หากมีขบวนการบางอย่างที่มีเสถียรภาพเกิดขึ้น และตัวเลขเป็นใจ รัฐบาลก็จะสามารถอยู่ได้ยาว ฉะนั้นตอนนี้จึงไม่สามารถไปพูดถึงเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ได้ ต้องดูตัวเลขว่า ใครจับคู่กับใคร และต้องดูองค์ประกอบเป็นอย่างไร มีเสียงในสภาล่างเท่าไหร่ มีการสนับสนุนจากสภาบนไหม จนกว่าจะจัดรัฐบาลเสร็จสิ้นเราถึงจะวิเคราะห์ได้ว่าจะอยู่ 1 ปี 2 ปี หรือว่าอยู่ครบเทอม แต่ก็อยากให้อยู่ครบเทอม เพราะการเมืองเราก็ติดขัดมาหลายปี อยากให้นิ่งๆ แล้วก็อยู่ครบเทอม บ้านเมืองจะได้ดี

⦁ฝากถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้
อยากให้ทุกคนมาใช้สิทธิกันเยอะๆ ใช้ดุลพินิจให้ดีให้รอบคอบ คิดทุกมิติ ทั้งผู้สมัคร นโยบาย เพราะเป็นวันเดียวที่ท่านจะได้ใช้สิทธิในการเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินอนาคตของประเทศไทย

อรวรรณ ธีรพัฒนไพโรจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image