พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เดินเครื่อง‘ระบบนิเวศ 5G’

หมายเหตุนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งจะเป็นประธานในพิธีเปิดงาน รวมถึงจะปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” เพื่อฉายภาพนโยบาย 5G ของรัฐ จัดที่ห้องประชุมอาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 3 เมษายน ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงความคืบหน้าการทดสอบระบบ 5G

การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ยุค 5G ของประเทศไทย ในปัจจุบันกระทรวงดีอีได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G หรือ 5G Testbed ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา หรือในพื้นที่อีอีซี โดยมีการติดตั้งโครงข่าย 5G ทั้งระบบในประเทศไทย พร้อมแสดงตัวอย่างรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ในหลายด้าน เช่น

การจำลองการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม, โดรนส่งของ, หุ่นยนต์ทำงานบนระบบคลาวด์, อุปกรณ์ตรวจวัดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (ไอโอที เซ็นเซอร์) จะทำให้เห็นถึงนวัตกรรมใหม่ๆ เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเพื่อสนับสนุนให้สตาร์ตอัพของไทยมีโอกาสเข้าร่วมในการสร้างนวัตกรรม เพื่อรองรับเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G จะพร้อมใช้งานในทางการค้าในอนาคตอันใกล้

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อทำการทดลองทดสอบ 5G ฉะนั้น จึงได้มีการหารือถึงโรดแมปในการดำเนินการทดสอบโดยการพัฒนายูสเคส และหารือร่วมกันในการติดตั้งเสาสัญญาณการดำเนินงานต่อไป

Advertisement

กระทรวงดีอีได้นำบริษัทที่แสดงเจตจำนงในการทำยูสเคส เช่น เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ คอร์ปอเรชั่น, สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล, กระทรวงสาธารณสุข, บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด, ซูมิโตโม และซัมซุง เป็นต้น

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลจะนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ (เฮลธ์แคร์) และบริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรถพยาบาลฉุกเฉินเคลื่อนที่ รักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด เพราะจะมีความหน่วงที่ต่ำ และภาพจะคมชัดเพียงพอที่อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ห่างไกลออกไปนับร้อยกิโลเมตร สามารถมองเห็นอาการผู้ป่วยจากภาพถ่าย/ฟิล์มเอกซเรย์ เพื่อวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะมีการทดสอบเรื่องเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยคาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งเกิดการผลักดัน และส่งเสริมภาคธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ

พร้อมกันนี้ มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมทดสอบการใช้งาน ทั้ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท

Advertisement

โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ 5G เพื่อทดสอบการใช้งานในพื้นที่ทดสอบ ขณะที่ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) เช่น หัวเว่ย เป็นรายแรกได้นำเข้าอุปกรณ์ 5G ทั้งระบบมาถึงประเทศไทย และติดตั้งพร้อมใช้งาน เพื่อโชว์ศักยภาพ อาทิ 360 องศา ออกเมนเต็ดเรียลิตี้ (เออาร์) และเวอชวลเรียลิตี้ (วีอาร์), การควบคุมรถยนต์ในระยะไกล, วิดีโอระบบความคมชัดสูง และรถโดยสารอัจฉริยะ ได้ในทันที และต่อยอดการพัฒนาบนระบบนิเวศ 5G เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เข้าใจถึงศักยภาพและการปรับใช้ 5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมด้วย โนเกียและอีริคสัน ได้ขออนุญาตนำอุปกรณ์เข้ามาใช้ในการทดสอบแล้ว

การจัดตั้งศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ในพื้นที่อีอีซี จะทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ทันสมัยได้ในระยะเวลาไม่นานนัก โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 5G เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) ที่มีความพร้อม และมีความต้องการใช้ 5G ให้เริ่มใช้ได้ก่อน

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดสอบและลงทุนในพื้นที่อีอีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งออกมาตรการส่งเสริมสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับพื้นที่อีอีซี

สำหรับทำเลที่ตั้งของศรีราชา เป็นศูนย์กลางของอีอีซี คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้งาน 5G จำนวนมาก ดังนั้น ผู้ที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการติดตั้งอุปกรณ์ และทดสอบการใช้งานที่ศูนย์ทดสอบนี้ ก็จะยิ่งมีโอกาสได้ลูกค้าเป้าหมายแต่เนิ่นๆ เพราะอีอีซีเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ขนาดใหญ่ อีกทั้งกระทรวงดีอียังมีแผนเชิญชวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านสื่อและความบันเทิง โลจิสติกส์ และโรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการผลิต เข้ามาร่วมเพิ่มเติม

แนวคิดหลักในการทดสอบการใช้งานในศูนย์ 5G Testbed มุ่งเน้นการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน, ใช้ทรัพยากรลดลง แต่มีการใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมตามความต้องการอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การมีสมาชิกเข้าร่วมทดสอบเพิ่มขึ้น จึงขอให้มีการนำประสบการณ์ความรู้ มาถ่ายทอดที่ศูนย์ 5G Testbed ด้วย จะทำให้ประเทศไทยเกิดการเรียนรู้ในช่องทางลัด ก็จะได้รู้ว่าในจุดที่เคยทดสอบกันมาแล้ว มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร

เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งในการเดินหน้าประเทศไทยในรัฐบาลนี้ เพราะไทยถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มอาเซียน ที่เริ่มเดินหน้าการทดสอบ 5G ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ให้บริการในอนาคตเข้ามาร่วมทั้งหมด ทั้งที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม/อินเตอร์เน็ต เจ้าของเทคโนโลยีผู้ผลิตอุปกรณ์ จะเป็นตัวกำหนดว่าจะใช้ช่องสัญญาณความถี่ย่านใด คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช.จัดสรรคลื่นสำหรับการทดสอบ เป็นคลื่นสากลที่นิยมใช้กัน

คาดว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า จะเป็นการต่อยอดจากการเตรียมพร้อมเรื่องระบบนิเวศ เพื่อรองรับพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมทดสอบการใช้งาน 5G ใน 5G Testbed แห่งนี้ ไปสู่การลงมือดำเนินการอย่างเต็มตัว

โดยใช้จุดเด่นในการเป็นพื้นที่สำหรับการทดสอบที่เปิดกว้างการทดลองพัฒนาบริการ และการใช้งานใหม่ๆ ที่สำคัญเป็นการทดสอบกับอุปกรณ์ของจริงจากความร่วมมือของเวนเดอร์ 5G รายหลักๆ ตอบรับเป็นพันธมิตรกับกระทรวงดีอี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีความต้องการเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นก่อน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (เอ็มโอยู) เรื่องการทดสอบเทคโนโลยี 5G ระหว่างกระทรวงดีอีกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินการทดสอบเทคโนโลยี 5G 2.สนับสนุนความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G และ 3.สนับสนุนการพัฒนาศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่อีอีซี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา และปี 2562 จะเป็นปีแห่งการทดสอบตลอดทั้งปี

บทบาทความร่วมมือของกระทรวงดีอี จะเป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนให้หน่วยงานของกระทรวง, กสทช., ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม, ผู้ผลิตอุปกรณ์และโครงข่าย และผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการทดสอบ ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนการอำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่วิทยาเขตศรีราชา ในการติดตั้งและทดสอบอุปกรณ์และระบบ 5G

หากประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ได้ ก็จะสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างมาก

ทั้งนี้ จากผลงานวิจัยของสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาเมือง (ไอเอชเอส) ได้คำนวณผลกระทบเชิงปริมาณในปี 2563-2578 สำนักงาน กสทช.จึงคาดการณ์ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก 5G ในประเทศไทยปี 2578 จะอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิต การค้าและการเงิน รวมถึงภาคโทรคมนาคมจะได้รับมูลค่าเพิ่มสูงสุด

คาดว่าปีแรกๆ จะเป็นช่วงอุตสาหกรรมเน้นไปที่การลงทุนโครงข่ายและมูลค่าเพิ่มต่ำ เพราะอัตราการตอบรับและการใช้งานจริงยังต่ำอยู่ และปีหลังๆ จะลดการลงทุนเพื่อจ่ายค่าบำรุงรักษาโครงข่าย

ขณะที่มูลค่าเพิ่มจะสูงขึ้น คาดว่าเม็ดเงินลงทุนอาจสูงถึง 1.1 แสนล้านบาทในปี 2563 และลดต่ำลงเหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาทในปี 2578 ส่วนมูลค่าเพิ่มนั้น มีทิศทางสวนการลงทุน โดยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2 พันล้านบาท จนถึง 2.3 ล้านล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image