‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’ จับสัญญาณ วิกฤตรัฐธรรมนูญปะทุ นับถอยหลังวิกฤตการเมืองรอบใหม่

หากมองการเมืองไทย จากแง่มุมกฎหมาย ดูเหมือน คสช. น่าจะหมดอำนาจลง หลังประเทศได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560

แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทการปกครองประเทศของ คสช. ที่เป็นผู้กำหนดตัวกรรมการยกร่าง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตัวคณะกรรมการ มีเพียงการลงประชามติที่เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการเมืองที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักเรื่องเสรีภาพ

คำถามที่น่าสนใจคือผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่ออนาคตการเมืองไทยอย่างไร โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศกำลังจะมีรัฐบาลใหม่  มติชนออนไลน์ นำเรื่องนี้มาคุยกับ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้วิเคราะห์อนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงผลกระทบของมันจากโครงสร้างอำนาจใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น

ผศ.ดร.พรสันต์ วิเคราะห์อนาคตอันใกล้ของการเมืองไทย ฟันธงว่า หากมองผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ ภาพที่จะเห็นหลังจากนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองจะชัดเจนมากขึ้น มีการขยายตัวมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น หลายคนอาจจะมองว่าขณะนี้การเมืองเป็นปกติแล้ว มีการเปิดสภา มีการถกเถียงกันไปมาของสองฝ่าย แต่ในความปกตินี้ มีความไม่ปกติซ่อนอยู่ เพราะการเมืองไทยยังอยู่ภายใต้ความขัดแย้งที่สั่งสมมากว่า 20 ปี และเริ่มที่จะสุกงอมมากขึ้น หลังจาก 5ปีที่ผ่านมา ถูกกดไว้ อะไรที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ก็เริ่มที่จะออกมาในช่วงหลังจากนี้

Advertisement

“ภาพที่เราจะเห็นจากนี้ ภายในฝ่ายนิติบัญญัติจะขัดแย้งกันเอง นอกจากเราจะเห็นภาพความขัดแย้งของฝ่ายค้าน กับฝ่ายรัฐบาลในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่จะเป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญ นั่นคือวุฒิสภาในสภาวะ “ปลาสองน้ำ” สภาผู้แทนฯกับวุฒิสภา จะเริ่มขัดแย้งกัน ตอนเลือกนายกฯเราก็เริ่มเห็นภาพแล้ว ” ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าว

ส่วนความขัดแย้งของฝ่ายบริหารนั้น ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุว่า การที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้าไปตรวจสอบรัฐบาลก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีที่น่าจับตาเช่นการผ่านพรบ.งบประมาณ การตั้งกระทู้ถาม หรือกรณีการอภิปรายตอนแถลงนโยบาย ก็น่าจะเข้มข้นดุเดือดแน่นอน รวมถึงกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็น่าจับตา เพราะรัฐบาลมีลักษณะเสียงปริ่มน้ำ แม้จะผ่านไปได้ รัฐบาลก็มีลักษณะสะบักสะบอมพอสมควร รวมถึงอาจจะได้เห็นบทบาททางการเมืองขององค์กรอิสระและศาล เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้องค์กรอิสระและศาลมีบทบาท เรื่องนี้ไม่ได้พูดไปเอง แต่ตัวอารัมภบทของรัฐธรรมนูญเขียนเจตนารมณ์ไว้ชัด ว่าต้องการให้องค์กรอิสระและตุลาการ เข้ามามีส่วนคลี่คลายวิกฤตการเมืองซึ่งจะเป็นประเด็นของความขัดแย้งครั้งใหม่ด้วย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้อันตรายมากต่อตัวองค์กรอิสระ ศาล และกับตัวรัฐธรรมนูญเอง สุดท้ายก็อาจจะได้เห็นการใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโต้แย้งกันเอาคืนกันที่ในทางวิชาการเรียกว่า “Constitutional hardball” มีการยกประเด็นหลายๆประเด็น มีการตีความตอบโต้กัน ท้ายที่สุดหนีไม่พ้นการแก้รัฐธรรมนูญ หรือให้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญในฐานะปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติความขัดแย้ง

ผศ.ดร.พรสันต์ อธิบายต่อว่า ในเรื่องปัญหาของรัฐธรรมนูญนั้น ตนเองเคยวิเคราะห์ไว้ว่าอายุของรัฐธรรมนูญน่าจะมีอายุราวๆไม่เกิน 3 ปี ปัจจุบัน ปี 2562 ก็ต้องยอมรับว่ามีเค้าลางของปัญหาอยู่ ว่าไม่น่าจะถึง3ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันก็ยิ่งถูกโหมให้หนักและรุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งก็มีปัจจัยมาจากรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ความขัดแย้งสุกงอมมากขึ้น

Advertisement

เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลใหม่บ้าง ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ในสภาวะที่ร่อแร่มาก เพราะการที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว แต่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของสถาบันภายใต้รัฐธรรมนุญอย่างมากระหว่างองค์กรอิสระ ศาล และรัฐสภา สุดท้ายกลไกต่างๆทำงานได้ไม่เต็มที่หรือทำไม่ได้ ทำให้ให้การเมืองถึงทางตัน เหล่านี้คือวิกฤตรัฐธรรมนูญ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติม กระทั่งการยกเลิก สภาวะแบบนี้ไม่ใช่การเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันด่วน แต่เกิดจากการสั่งสม หากไปศึกษาระบบรัฐธรรมนูญทั่วโลกจะพบว่า มันเกิดจากการผุกร่อนหรือผุพังของระบอบรัฐธรรมนูญที่เชื่อมโยงไปกัดกร่อนความเป็นประชาธิปไตยของสังคมด้วย หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Constitutional Rot กล่าวคือระบอบรัฐธรรมนูญของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ ปี 2557 มันถูกกัดกร่อนความน่าเชื่อถือลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ลองย้อนดูเจตนารมณ์ผ่านอารัมภบทของรัฐธรรมนูญปี 2557 ก็จะพบโจทย์การพยายามเข้ามาแก้ปัญหาของ คสช. ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การคอร์รัปชั่น ความขัดแย้ง และวิกฤตการเมือง แต่วันนี้สังคมล้วนตั้งคำถามว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำสำเร็จหรือไม่

“ลองดูให้ดี ฝ่ายที่เคยสนับสนุนคสช. หรือคุณประยุทธ์เอง ก็เริ่มจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นด้วยซ้ำ ยิ่งใช้ม.44 ก็ยิ่งถูกวิจารณ์ เรื่องพวกนี้ยิ่งไปลดทอนความน่าเชื่อถือ ทำให้รัฐธรรมนูญผุกร่อน ความน่าเชื่อถือมันหมด” ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าว

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯท่านนี้ ยืนยันว่า สภาวะร่อแร่ที่เกิดขึ้น เกิดจากสภาวะวิกฤตความชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มักอ้างอิงการทำตามกฎหมายอยู่เสมอ ส่วนตัวมองว่าการยิ่งอ้างแบบนี้ยิ่งเป็นการทำลายตัวรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายที่อยู่ภายใต้ระยะเวลาที่คสช.มีอำนาจ สังคมจึงเห็นภาพการอ้างรัฐธรรมนูญ กฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับก่อให้เกิดผลที่สังคมตั้งข้อสงสัย คนก็ยิ่งไม่เห็นค่ารัฐธรรมนูญ ไม่เห็นค่าว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ไม่ได้ช่วยปราบโกงเหมือนที่พูดมา มีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง คนกำลังมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับบนี้เอื้อต่อการใข้อำนาจตามอำเภอใจซึ่งตามหลักวิชาเราเรียกกันว่า Abusive constitution รัฐธรรมนูญประเภทนี้ไม่ได้มุ่งจำกัดอำนาจเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เหล่านี้คือปัจจัยผุกร่อนความน่าเชื่อถือต่อรัฐธรรมนูญไทย

ผศ.ดร.พรสันต์ พาย้อนกลับไปดูในมิติทางทฤษฎีถึงสัญญาณการผุกร่อนของระบอบรัฐธรรมนูญ ว่าสภาวะการณ์ 4 อย่างที่สำคัญ หากเกิดขึ้นแล้วย่อมสะท้อนว่าการผุกร่อนของระบอบรัฐธรรมนูญกำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยในสังคม

1.ประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นระบอบการเมืองของประเทศ ไม่เคารพระบอบการเมือง

2.คนในสังคมเกิดสภาวะการมองบุคคลอื่นๆเป็นศัตรู ขั้วตรงข้าม สร้างการแบ่งแยกแบ่งฝ่ายทางการเมือง มองคนคิดต่างเป็นศัตรู หรือเหยียดหยามว่าไม่มีคุณค่าเท่าตัวเอง พร้อมที่จะทำลายเมื่อไหร่ก็ได้ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยนำสังคมไปสู่ทางตัน

3.สภาวะของสังคมที่สถานะของคนในสังคมไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ช่องว่างระหว่างคนรวยกับจนห่างกันมากขึ้น สิทธิทางการเมืองของคนไม่เท่ากัน เหล่านี้ก็เป็นส่วนที่เกิดมาจากความผุกร่อนของรัฐธรรมนูญ

4.การบริหาร และนโยบาย ที่ไม่ตอบโจทย์ ก่อให้เกิดความสงสัย หรือความไม่เชื่อมั่นในตัวรัฐบาล ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าเสียงของตนเองไม่ได้ถูกรับฟังโดยรัฐ รู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง หรือของสังคม

สภาวะการทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเกิดจากการใช้อำนาจโดยการอ้างอิงรัฐธรรมนูญแต่กลับสร้างความไม่พอใจให้กับสังคม และจะยิ่งสุกงอมมากขึ้น ไม่ใช่วิกฤตแค่ระดับสถาบันทางการเมืองที่ทำให้เกิดวิกฤตทางตันทางการเมือง ปัญหาต่างๆจึงสั่งสมมา 5 ปี ปัจจุบันสภาวะการแตกแยกทางสังคมยิ่งชัดเจน เป็นความน่ากลัวว่าจะนำไปสู่วิกฤตที่รุนแรง

ผศ.ดร.พรสันต์ ยังเปรียบเทียบปรากฎการณ์การผุกร่อนของรัฐธรรมนูญในบริบทการเมืองไทยในแง่การเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญ โดยจะเห็นว่าช่วงเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกลดทอนความน่าเชื่อถืออย่างหนัก เพราะการกำหนด กฎเกณ์ กติกาในระบบเลือกตั้ง โดยเฉพาะระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่มีเป้าหมายนับคะแนนของคนทุกคนให้มีความสำคัญ แต่ผลที่เกิดขึ้นของมันกลับตรงกันข้าม ค้านสายตาประชาชน หรือหลังจากการเลือกตั้ง ช่วงการพยายามจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่ได้จำนวนส.ส.อันดับหนึ่ง กลับไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล พรรคส.ส.อันดับสอง กลับสามารถชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ เหล่านี้ทำให้สังคมตั้งคำถามอย่างหนัก

เมื่อถามว่าส่วนตัวมองว่าตรรกะหรือการตีความประเด็นใดที่รู้สึกผิดปกติมากที่สุดตั้งแต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้เป็นต้นมาก ผศ.ดร.พรสันต์ ใช้เวลาคิดเล็กน้อย ก่อนตอบกลับว่า จริงๆ มีหลายเรื่องมาก แต่หากถามเรื่องเลือกตั้ง ระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบไทยๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลก พร้อมยกตัวอย่างว่า ระบบเลือกตั้งมีเจตนารมณ์นับทุกคะแนนเสียง แต่กลับไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของคนหย่อนบัตรจริงๆ

“ถ้าสมมติมันเกินโควต้าแล้ว ผมเลือกพรรคนี้ แต่คุณเอาตัวคะแนนเสียงที่ผมโหวตพรรคนี้ไปให้พรรคอื่น เรื่องนี้เขาไม่ได้มองเจตนารมณ์ของคนลงคะแนนเสียง แต่เขามองเรื่องโควตาเต็มแล้ว เอาไปให้พรรคอื่น หรือเรื่องที่ตลกมากคือระบบนี้มันทำให้คุณเป็นส.ส.ได้แค่สามวัน” ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าว

ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวต่อโดยยกตัวอย่างเรื่องนี้ว่า สมมติกกต.มีการแจกใบส้มกับพรรคที่มีโควต้าเต็มแล้ว มีการเลือกตั้งใหม่ จนส่งผลทำให้ มีการนำผลการเลือกตั้งไปคำนวณจำนวนส.ส.ใหม่หมด ก็จะทำให้ส.ส. มีการเลื่อนต่อไปอีก ส.ส.ที่เคยเป็นส.ส.มาก่อนก็จะถูกเบียดออกด้วยสภาวะแบบนี้

“คุณลองคิดดูว่า ปฎิญาณตนแล้ว เคยเข้าไปโหวตทำหน้าที่แล้ว อยู่ได้ 2 วัน 3 วัน พอวันรุ่งขึ้นไม่ได้เป็นส.ส.แล้ว เท่าที่ผมเคยศึกษา ผมยังไม่เคยเห็นระบบการเลือกตั้งแบบนี้ในโลก” ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุ

นอกจากแปลกแล้ว ในตัวของมันเองยังอันตราย นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญท่านนี้ อธิบายเรื่องนี้ต่อว่า แม้แต่เรื่องพรรคเล็กที่เข้ามาพรรคละ 1 คนนับสิบพรรคก็มีปัญหาเรื่องคะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเข้ามา อย่างไรก็ตามเมื่อเข้ามามีสถานะเป็นส.ส.แล้ว แต่สมาชิกภาพนี้มันอาจอยู่ได้ 3 วัน ไม่มีความหมายเลย ทั้งที่คนที่จะได้รับการแต่งตั้งรับรองเป็นส.ส.แล้ว ต้องมีความมั่นคงแน่นอน ต้องทำหน้าที่ได้ ตราบเท่าที่ไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่มีการยุบสภา นี่คือหลักการและเป็นสิทธิ์ในฐานะส.ส. การต้องหลุดจากการเป็นส.ส.โดยไม่ได้ทำอะไรผิด เกิดมาจากบุคคลอื่นนี่คือการละเมิดสิทธิ์ของคนที่ถูกเพิกถอน และอนาคตถ้ามีการแจกใบส้มเลือกตั้งใหม่ ก็จะเลื่อนใหม่ เข้าๆออกๆอยู่อย่างนั้น เรื่องนี้ขัดหลักนิติธรรมด้วยซ้ำ เพราะมันไม่มีความชัดเจน และเปลี่ยนได้ตลอด

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อถามว่าในอนาคตจะเกิดอะไรแบบนี้ขึ้นอีกไหม ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุว่า เรื่องนี้อยู่ที่กกต. เป็นอำนาจของกกต. และเราปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า กกต.เองก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกสังคมตั้งคำถามและมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ที่ยึดโยงกับกติกาเลือกตั้งที่ถูกตั้งคำถามนี้เช่นเดียวกัน

ขณะที่เรื่องส.ว.ซึ่งสังคมได้เห็นหน้าตาไปแล้ว และยังทำหน้าที่ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้วด้วยนั้น จะนำการเมืองไทยไปทางไหน มีโอกาสจะเข้ามาเป็นตัวกลางให้วิกฤตรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ผศ.ดร.พรสันต์ ให้ความเห็นเรื่องนี้ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าส.ว.จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ พร้อมยกตัวอย่างหลักการของทั้งสองสภาว่า สภาผู้แทนราษฎร หน้าที่คือเป็นตัวแทนของราษฏร แต่ส.ว.มีหน้าที่อะไร สังคมไทยไม่เคยตั้งคำถามกับเรื่องพื้นฐานแบบนี้ อย่างวุฒิมาชิกในสหรัฐอเมริกา ก็จะทำหน้าที่ตัวแทนของมลรัฐ ขณะที่อังกฤษมีที่มาจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ว่าเป็นตัวเองของนักบุญ นักบวช กลุ่มที่มีฐานันดรศักดิ์ หรือชนชั้นขุนนาง หรือออสเตรเลียก็คล้ายกับสหรัฐฯว่าเป็นตัวแทนของมลรัฐ แต่คำถามคือของไทย ส.ว.ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอะไร เราไม่เคยตั้งคำถามว่ามีหน้าที่อะไร ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญที่บอกว่า ทั้งส.ส.และส.ว.ทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนซึ่งถูกต้อง แต่ถามว่าส.ว.ที่แต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ผู้แทนของปวงชนหรือไม่ มันไม่สามารถเอาอะไรมาตรวจวัดได้ ไม่มีอะไรบ่งชี้เลย ในส่วนที่มาจากการสรรหาวิชาชีพต่างๆ อาจนับได้ว่าเป็นตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่ 250 ส.ว.ไม่ได้มาจากความหลากหลายทางวิชาชีพ เพราะสัดส่วนการคัดเลือกมีแค่ 50 คน ที่เหลือไม่ได้สะท้อนความหลากหลายทางวิชาชีพ อธิบายไม่ได้เลยในเชิงหลักการ จะอธิบายว่าส.ว.ชุดนี้ทำเพื่อประชาชน ในเชิงองค์ประกอบก็อธิบายลำบาก ยังไม่พูดถึงกระบวนการเลือกที่สุดท้ายถูกเคาะโดยคสช.

“ถ้าพูดด้วยความแฟร์ ทุกอย่างคุณทำด้วยความสุจริตใจจริงๆ ผมคิดว่าคุณสลัดภาพการถูกตั้งคำถามแบบนี้ลำบาก เพราะคุณถูกตั้งคำถามตั้งแต่ที่มาและองค์ประกอบอยู่แล้ว แล้วยิ่งมีภาพการโหวตเลือกนายกฯ มันก็สะท้อนภาพชัด 249 เสียง โหวตไปในทางเดียวกัน หลายคนบอกว่าเป็นเอกสิทธิ์ แต่ในเชิงหลักการเอกสิทธิ์มันเกิดขึ้นภายหลังจากการที่คุณมีอิสระตั้งแต่ต้น เอกสิทธิ์จึงไปทำหน้าที่คุ้มครองให้ความเป็นอิสระของคุณ แต่นี่คุณถูกตั้งคำถามเรื่องความอิสระ แล้วมาอ้างเอกสิทธิ์ มันหมายถึงคุณกำลังเอาเอกสิทธิ์ไปคุ้มครองความไม่เป็นอิสระ” ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าว

เมื่อถามถึงหน้าที่ของสว.แล้วควรเป็นเช่นไร ผศ.ดร.พรสันต์อธิบายว่า “เรื่องหน้าที่ของส.ว. เคยมีการตั้งคำถามอยู่เหมือนกันในระกับสากล เคยมีการจัดการประชุมในระดับนานาชาติที่ประเทศฝรั่งเศสด้วยซ้ำไปจนกระทั่งเขามีมติร่วมกันว่า วุฒิสภาพึงมีหน้าที่หลักอย่างน้อย 4 ประการ 1.เสริมสร้างประชาธิปไตย 2.ช่วยกระจายอำนาจ มิให้มีการรวมศูนย์อำนาจ 3.ส่งเสริมหลักนิติธรรม กฎหมาย หลักแบ่งแยกอำนาจ และ 4.ส่งเสริมการอภิปรายสาธารณะในความคิดเห็นที่แตกต่างทางกฎหมายและการเมือง ตรงนี้ผมคิดว่าคือกรอบในระดับสากลที่สอดคล้องกับหลักการทางรัฐธรรมนูญที่ควรนำมาปฏิบัติและสามารถนำไปใช้พิจารณากับส.ว.ในบ้านเราได้ว่ามีการทำหน้าที่เช่นนี้หรือไม่”

เมื่อให้นักวิชาการท่านนี้วิเคราะห์สถานการณ์และโอกาสแก้รัฐธรรมนูญนั้น ผศ.ดร.พรสันต์ ยืนยันหลักแน่น พร้อมระบุว่า หากนำรัฐธรรมนูญไทยไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ถูกจัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากมาก ไม่ใช่แค่แก้ไขยากธรรมดา หากไปดูมาตรา 256 ได้เขียนกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมไว้เยอะมาก ในเชิงกว้างๆอาจมีการแก้ไขทั่วไปซึ่งก็ยากอยู่แล้ว กับการแก้ไขที่ไปกระทบกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญถูกทำให้ยากขึ้นอีกระดับเพราะต้องไปทำประชามติด้วย อย่างไรก็ดี หากมาดูกระบวนการแก้ วาระแรก วาระสองไม่มีปัญหา แต่วาระที่สาม พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องมีความเห็นพ้องที่จะแก้ แถมยังต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย ถ้าไม่ครบองค์ประกอบ การแก้ก็ไม่สำเร็จ

เมื่อถามถึงกรณีพรรคการเมืองหนึ่งจะปลุกกระแสการรณรงค์แก้ไขให้คล้ายกับการแก้รัฐธรรมนูญปี 2540 จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ผศ.ดร.พรสันต์ เห็นว่า มีผลบ้างไม่มากก็น้อย โดยยกตัวอย่างว่า หลายประเทศที่มีการแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ เพราะมีการสนับสนุนจากสังคม ดังนั้นหากจะมีการพยายามสื่อสารกับสังคมถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ ประชาชนได้เห็นภาพว่าหากใช้ต่อไปจะยิ่งเกิดปัญหา ถ้าเป็นอย่างนี้ นักการเมืองแม้ไม่เห็นด้วยก็น่าจะเคารพเสียงประชาชน

เมื่อถามว่ามาถึงวันนี้แล้ว มองเห็นเหตุผลอะไรบ้างที่สังคมไม่ควรแตะต้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกใช้มาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ถ้าดูในเชิงเนื้อหาและการทำงานของตัวรัฐธรรมนูญจริงๆ เพิ่งเริ่มเมื่อตอนเลือกตั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่าการทำงานจริงของรัฐธรรมนูญเพิ่งเริ่มได้เพียง3-4 เดือน แต่กลับมีกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไข โดยเป็นกระแสที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองเดียว หรือกลุ่มคนกลุ่มเดียว แต่มาจากการเห็นพ้องต้องกันของหลายพรรคการเมือง เรื่องนี้สะท้อนว่าตัวของรัฐธรรมนูญเองมีปัญหาจริงๆ อย่างน้อยก็ในแง่การเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญและการตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าว แม้จะยังไม่ทำงานอย่างเต็มรูปแบบ เพราะในความเป็นจริงยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหาภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในช่วงการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ผศ.ดร.พรสันต์ ได้เคยทำนายอายุของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 3- 5 ปี เมื่อถามว่า ถึงวันนี้ ยังยืนยันคำเดิมหรือไม่ ผศ.ดร.พรสันต์ ตอบกลับมาทันทีว่า ยังยืนยันคำเดิม ว่า 3-5 ปี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เข้าไปแก้ปัญหาที่คสช.ตั้งโจทย์ไว้ แถมยังสร้างความขัดแย้งในตัวเอง ภาคการเมืองก็ทะเลาะกัน ส่วนสังคมก็มีประเด็นให้ขัดแย้งกันตลอดเวลา

รัฐธรรมนูญนอกจากทำหน้าที่กำหนดกติกาทางการเมืองแล้ว ผศ.ดร.พรสันต์ ยังย้ำว่า รัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ (Constitutional identity) เมื่อผู้ร่างสร้างอัตลักษณ์ประเทศ โดยการร่างรัฐธรรมนูญที่กลับไปยึดถือโมเดล รัฐธรรมนูญ 2521 + 2534 เสมือนพาสังคมไทยย้อนกลับไป 49 ปี แต่สังคมปัจจุบันมีพลวัตรไปเยอะมาก ไม่ใช่บริบททางการเมืองเมื่อ 49 ปีที่แล้ว สุดท้ายก็เกิดความขัดแย้งกันของคนใน 2 เจเนเรชั่นใหญ่ กลุ่มหนึ่งบอกว่าสังคมประชาธิปไตยไทยควรเป็นเหมือน 49 ปีที่แล้ว ขณะที่อีกกลุ่มบอกว่าไม่ใช่ นี่คือสงครามของการช่วงชิงการให้นิยามอัตลักษณ์ความเป็นไทยและประชาธิปไตยไทย จึงสะท้อนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาสร้างความขัดแย้งด้วยการไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านการร่างของคนกลุ่มเดียว รัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง ต้องเป็นสัญญาประชาคม คือเกิดจากการที่หลายฝ่ายในสังคมร่วมมือกันร่างขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้ว ก็มีนักการเมืองบางคนออกมาระบุว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา” การพูดแบบนี้เท่ากับยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำและตอบโจทย์เพื่อคนกลุ่มเดียว โดยตัวมันเองก็ลดทอนความชอบธรรมอยู่แล้ว การออกมาพูดของนักการเมืองแบบนี้ 2-3 ครั้ง สะท้อนว่ามันมีปัญหาแน่ คนยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เข้าใจธรรมชาติสังคมจริงๆ

“คุณมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเพียวๆ ถ้าคุณเข้าใจธรรมชาติของรัฐธรรมนูญจริงๆ คุณต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นส่วนผสมผสานระหว่างกฎหมายและการเมือง กฎหมายมีหน้าที่เข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าต้องทำ หากมองรัฐธรรมนูญในแง่นี้ มันก็จะอิงแต่ว่าถ้าเป็นกฎหมายแล้วต้องทำแบบนี้ ในขณะนี้ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญโดยธรรมชาติตัวมันเอง มีความเป็นการเมืองอยู่ มันจึงเป็นเรื่องการยอมรับจากสังคมและเป็นเรื่องความชอบธรรมด้วย”

“การดีไซน์รัฐธรรมนูญโดยไม่คำนึงถึงบริบทของประเทศที่มีการพลวัตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากทั้งในแง่การเมืองและสังคมคือปัญหาสำคัญ” ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุ

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อถามว่าจุดจบของวิกฤตนี้จะเป็นอย่างไร นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญท่านนี้ วิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญจะล่มสลายไปเพราะมันขาดความชอบธรรม เกิดวิกฤตความชอบธรรมที่คนไม่ยอมรับ คนไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่เอามาใช้ในการปกครองในรัฐและจะไม่ทำให้สังคมเกิดปัญหาได้ ที่สำคัญคือ คนไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของประชาชน

เมื่อถามว่าในส่วนของรัฐธรรมนูญจะกระทบกับพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลเองอย่างไรได้บ้าง ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวว่า กรณีที่นักการเมืองออกมาระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลนั้น ในทางทฤษฎี ด้วยการกำหนดให้มีกติกาการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม รัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า hung parliament หรือ สภาแขวน เป็นสภาวะที่หลังการเลือกตั้งแล้ว จะมีพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภา จนนำไปสู่การตั้งรัฐบาลผสม หากไปดูจำนวนส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ก็จะพบว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ชนะเลือกตั้งมาเป็นที่หนึ่ง เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าจะอยู่เหนือความคาดหมายของผู้ยกร่าง อีกเรื่องคือ หากฝ่ายประชาธิไตยกลัวเรื่องงูเห่า ฝ่ายพลังประชารัฐจะต้องเจอกับงูเห่าตัวใหญ่กว่า นั่นคือรัฐธรรมนูญปี 2560

“คือกฎเกณฑ์กติกาที่ร่างมาแล้ว คิดว่าจะเอื้อกับพรรคพลังประชารัฐ สุดท้ายแล้วจะมาพันขาตัวเอง”

ผศ.ดร.พรสันต์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญนี้มีเป้าหมายเข้าไปสลาย ทำให้พรรคการเมืองพรรคใหญ่ ระบบพรรคการเมืองสองขั้วแบบเดิมมันหายไป เกิดเป็นสภาวะพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามา ลักษณะเช่นนี้เอื้อให้เกิดการตั้งตัวของพรรคพลังประชารัฐก็จริง แต่ด้วยระยะเวลาอันสั้นแบบนี้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ต้องมีการชักชวนหรือดูดส.ส.กลุ่มต่างๆเข้ามาด้วยกลไกทางกฎหมายและการเมือง ในทางหลักวิชา พรรคพลังประชารัฐจึงอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า พรรคการเมืองที่เต็มไปด้วยกลุ่มก้อนการเมือง (Fractionated party) จะมีปัญหาคือ 1.เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลจึงใช้เวลาค่อนข้างยาวนานเพราะต้องคุยกับคนหลายกลุ่มหลายก้อนหลายมุ้ง 2.เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็จะต้องประสานประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มก้อน มุ้งต่างๆในพรรคตัวเองด้วย 3.จะส่งผลต่ออายุการทำงานของรัฐบาลที่อาจจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะมันเกิดมาจากการต้องประสานประโยชน์ต่างๆ อันเนื่องมาจากความขัดแย้ง

“รัฐบาลชุดนี้ที่จะมีปัญหาจริงๆหลังจากที่มีการฟอร์มทีมรัฐบาลขึ้นมาและทำหน้าที่แล้ว ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีอายุไม่เกิน 8 เดือน ถึง 1 ปี อันนี้คือให้สุดๆแล้วนะ คุณไม่ได้โดนแค่ฝ่ายค้านเล่นงาน โครงสร้างรัฐธรรมนูญก็เล่นงานคุณด้วย” ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าว

ผศ.ดร.พรสันต์ ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ในเชิงหลักการการเป็นรัฐบาลผสมโดยมีลักษณะพรรคการเมืองที่เต็มไปด้วยกลุ่มก้อน มันน่าจะมีปัญหาอายุของรัฐบาล มี 3 ปัจจัยสำคัญทำให้รัฐบาลมีอายุไม่เกิน 8 เดือน ถึง 1 ปี คือ

1.ข้อตกลงที่มีการคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงแรกๆ ทั้งเรื่องการให้ตำแหน่งรัฐมนตรี การปฎิบัติตามนโยบายต่างๆ ที่ตกลงกัน จะค่อยๆหายไป งานวิจัยของรัฐธรรมนูญทั่วโลกเห็นตรงกันว่า สภาวการณ์แบบนี้จะอยู่ราวๆ 6 เดือน ซึ่ง 6 เดือนนี้เรียกว่า honeymoon period พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะพยายามประคับประคองไม่ให้มีการโต้แย้ง ไม่ให้มีการขัดแย้งกัน เป็นอาการลักษณะของการเพิ่งแต่งงาน หลังจากนั้นจะเจอสภาพความเป็นจริง เมื่อเข้าไปบริหารราชการ ต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเอง นโยบายของตัวเองจะเริ่มงอกขึ้นมาเรื่อยๆ การบริหารตรงนี้จะเริ่มขัดแย้งกัน ด้วยนโยบายการทำงานที่แตกต่างกัน ตรงนี้คือปรากฎการณ์ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเอง นี่คือเหตุผลที่ตนคาดการณ์อายุของรัฐบาลว่าไม่น่าจะเกิน 8 เดือนถึง 1 ปี ว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องมีปัญหายุบสภา

2.เป็นเรื่องความขัดแย้งภายในตัวพรรคเอง กลุ่มก๊วนต่างๆ เพราะพรรคการเมืองที่เต็มไปด้วยกลุ่มก้อน มันชัดเจนว่า คุณควบคุมมันลำบาก และหากพิจารณาตามความเป็นจริงจะพบว่าวันนี้มันเกิดขึ้นแล้ว กลุ่มต่างๆก็โวยวายว่าไม่ได้โควต้ารัฐมนตรี เหล่านี้ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐมีปัญหาอย่างยิ่ง และจากงานวิจัยทั่วโลกชี้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลผสมอยู่ไม่ได้ คือความขัดแย้งภายในพรรคเอง ไม่ใช่เรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ

3.ประเด็นสุดท้าย คือลักษณะการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ภายในของพรรคพลังประชารัฐเอง เช่นการเปลี่ยนทิศทางของพรรค หรือพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนทิศทางการเดินหมากทางการเมือง ก็จะส่งผลให้เกิดการแตกขั้ว หรือถอนการสนับสนุน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานั้นจากนี้

“อันนี้ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันในหลายๆ เรื่อง ผมคิดว่าตัวผู้ยกร่างฯก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น” ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง

‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’ ถอดรหัสวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิเคราะห์ ‘ฉบับนี้อาจอยู่ไม่เกิน3ปี’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image