สัมภาษณ์พิเศษ : ‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ ชู สูตรห่วงยาง นวัตกรรมศก.-แก้ปริ่มน้ำ

หมายเหตุ – นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสถานการณ์ของรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำ ก่อนเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณางบประมาณประจำปีงบประมาณ 2563 และการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

———-

“ประชาชนจะเป็นเสียงนอกสภาที่จะพยุงสภาวะเสียงปริ่มน้ำในสภาให้ลอยขึ้นมา เหมือนกับมีห่วงยางชูชีพทำให้เราลอยตัวอยู่ในน้ำที่ปริ่มต่อไปได้”

⦁ มองสถานการณ์ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา และทิศทางของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำต่อไปอย่างไร ?

Advertisement

ในระหว่างเลือกตั้งผมเคยให้ความเห็นโดยพูดจากประสบการณ์ไว้ว่า รัฐบาลจะมีเสถียรภาพ และเพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน จำเป็นต้องมี 300 เสียงขึ้นไป แต่ด้วยจังหวะทางการเมืองที่เป็นการเลือกตั้งภายใต้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ก่อให้เกิดพรรคการเมืองใหญ่จำนวนมาก ขณะเดียวกันยังมีเสียงเล็กเสียงน้อยจากพรรคขนาดเล็กกับพรรคเกิดใหม่ บวกกับองค์ประกอบที่เป็นเรื่องพื้นฐานของการจัดขั้วทางการเมืองที่ค่อนข้างชัดเจนระหว่างมุมแดงกับมุมน้ำเงิน ทั้งหมดจึงทำให้การจัดตั้งรัฐบาลนี้มีความยากลำบาก จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ โดยมีเสียงในสภาเกินครึ่งมานิดหน่อย นี่จึงก่อให้มีคำถามเกิดขึ้นว่า การเมืองจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร แล้วอนาคตของรัฐบาลจะอยู่สั้น หรืออยู่ยาวกันแน่

⦁ ประเมินช่วงเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญครั้งแรกที่เพิ่งจบไปอย่างไร ?

แน่นอนว่า ในสภาถือเป็นบทบาทของฝ่ายค้านเป็นผู้ทำเกม ตั้งคำถามให้รัฐบาลตอบ ผมคิดว่าในสมัยประชุมที่ผ่านมา ด้วยความที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ บทบาทในการครอบครองพื้นที่จึงมีอยู่อย่างจำกัด หากเปรียบเป็นเกมฟุตบอล ยังถือว่าจบครึ่งแรก ไม่มีใครยิงประตูใครได้ เสมอกันอยู่ 0-0 เพราะยังไม่มีเรื่องสำคัญเข้าสู่การพิจารณา และแม้ขณะนี้จะยังอยู่ในระหว่างปิดสมัยประชุม แต่รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ดี เพราะจากนี้ไปจะเป็นเกมที่จะต้องมีการยิงประตูกันแล้ว โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ที่จะเปิดสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายงบประมาณแผ่นดิน มูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท จากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงสมัยสามัญครั้งที่ 2 ในช่วงปลายปี ก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะมีญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีเกมสำคัญรออยู่ ถือเป็นเกมที่ต้องมีการยิงประตูด้วย ที่ผ่านมาญัตติบางเรื่องอาจจะแพ้ชนะกันบ้างก็เป็นธรรมชาติของสภา แต่ในเกมพิจารณากฎหมายงบประมาณ กับเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นเกมสำคัญที่ถูกยิงประตูไม่ได้

Advertisement

ขณะที่ บทบาทนอกสภาของรัฐบาลคือผู้ทำเกมในฐานะฝ่ายบริหาร ซึ่งวันนี้ทุกคนต่างเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจรากหญ้าที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพี่น้องเกษตรกรกำลังรอมาตรการในการแก้ไขอยู่ ท่ามกลางกำลังซื้อของตลาดโลกที่ลดลงด้วย ต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้ขึ้นมาในช่วง Recession ของเศรษฐกิจโลกพอดี เป็นยุคถดถอยของเศรษฐกิจที่สถาบันทางการเงินต่างๆ หรือ IMF ประเมินแล้วว่า ปีนี้หรือปีหน้า แนวโน้มการเจริญเติบโตขอเศรษฐกิจโลกจะโตไม่เกิน 3% โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้ากับประเทศที่ต่างส่งนัยยะสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งนั้น นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจรัฐบาล เพราะนอกจากต้องเหนื่อยกับองค์ประกอบอันเนื่องมาจากผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการรักษาเสียงจากขั้วทางการเมืองของการเป็นรัฐบาลผสมในสภาเพื่อชนะโหวตในกฏหมายสำคัญๆ แล้ว ยังต้องเหนื่อยที่สองกับการทำงานแก้ไขเศรษฐกิจท่ามกลางความถดถอยของเศรษฐกิจโลก และความถดถอยของเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าสำคัญกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีก

ถามว่า ไทยติดต่อการค้ากับใครบ้าง ก็ต้องบอกว่า จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) อาเซียน อย่างเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาใหม่ๆ จะใช้มาตรการในการลดภาษี แล้วผลพวงของการลดภาษี เงินที่เหลือจากการลดภาษีจะเข้ามาสู่ระบบ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐไม่ได้ดีเหมือนเดิมแล้ว เพราะผลกระทบจากสงครามทางการค้ากับจีน และผลกระทบของเศรษฐกิจโลก ทำให้แนวโน้มการขยายตัวที่ลดลง อาจโตจะไม่ถึง 2% ด้วยซ้ำ ส่วนเศรษฐกิจจีน ปีนี้ถือว่าเศรษฐกิจถดถอยที่สุดในรอบ 27 ปี ขยายประมาณ 6.4% ปีหน้าอาจเหลือแค่ 6% เพราะผลกระทบจากสงครามทางการค้าเช่นกัน นอกจากนั้น จีนยังมีปัญหาเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอีก หนี้ต่อ GDP ค่อนข้างสูง สหรัฐ จีน พอไปดูอียู ก็กำลังวุ่นอยู่กับเบร็กซิท การจะออกหรือไม่ออกจากอียูของอังกฤษ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ และจะมีผลในเรื่องการค้าขายเป็นอย่างมาก เพราะมันไปเกี่ยวข้องกับมาตรการทางด้านภาษี ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ไม่ดี จากปัญหาภายในทำให้แนวโน้มอาจโตไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ เราก็เหลือแต่อาเซียนเท่านั้น

⦁ เมื่อประเทศคู่ค้ากับเศรษฐกิจโลกถดถอย เราก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ?

ฝนตกบ้านน้อง ฟ้าร้องบ้านพี่ไง อะไรเกิดที่ประเทศหนึ่งมันเชื่อมโยงไปอีกประเทศหนึ่งเสมอ ดังนั้น วันนี้ทั้งปัญหาจากรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเป็นเช่นนี้ ทำให้เราต้องคุยกันให้เข้าใจ โดยเฉพาะในพรรคร่วมรัฐบาล จะมี 251 หรือ 254 เสียงอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องทำให้มั่นใจว่า ต้องมีความเป็นปึกแผ่น เข้าใจกันในทุกสถานการณ์ มีการบริหารจัดการเสียงปริ่มน้ำให้เป็นเสียงที่เป็นมาตรฐาน ทุกคนต้องเป๊ะในการโหวต ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า ปัญหาพื้นฐานที่ได้รับกระทบทางเศรษฐกิจจากภายนอกเข้ามา ทำให้จากนี้ไปเราต้องลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศ และหันมายืนด้วยพื้นฐานของความเข้มแข็งของเราเอง กลับมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งเสริมให้มีการลงทุนจากนักลงทุนภายในประเทศ มีการท่องเที่ยวภายในประเทศ ไทยเที่ยวไทย ขณะที่การส่งออก เมื่อตลาดภายนอกที่เราเคยมีมันถดถอย ก็ต้องไปหาตลาดใหม่ๆ จากประเทศอื่น แล้วก็กลับมาพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น หากนึกถึงอดีต ก็จะมีคำว่า ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ หรือไทยแลนด์เฟิร์ส เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จึงทำให้งบประมาณประจำปี 2563 มูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท จะต้องผ่านให้ได้ เพราะมีความจำเป็นสำคัญมาก แม้จะเลทจากรอบปกติ ไม่ทันใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพราะปัจจัยต่างๆ ในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลทำให้ไม่สามารถผลักดันงบประมาณให้เป็นไปตามรอบปฏิทินได้ แต่ด้วยพลานุภาพของกำลังเงินงบประมาณมหาศาลขนาดนี้ จะมีผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเงินจำนวนนี้เกี่ยวข้องกับความต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไว้ ความต่อเนื่องของมาตรการต่างๆ ที่จะไปช่วยเหลือภาคเกษตรกร เศรษฐกิจรากหญ้า ดังนั้น หากเราสามารถผลักดันงบประมาณต่างๆ ให้ผ่าน นอกจากเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลแล้ว เศรษฐกิจของประเทศจะแก้ปัญหาได้ แม้ในสภาตนจะเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่กฎหมายงบประมาณ กับพรรคฝ่ายค้านถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลก็ต้องทำความเข้าใจ หากทำให้สร้างความเข้าใจได้ก็อาจได้เสียงสนับสนุนเพิ่มก็ได้ ผ่านมา 20 ปี คำพูด ของท่าน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ยังเป็นอมตะ กับสภาวะเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ ท่านพูดเสมอว่า ประชาธิปไตยชนะเสียงเดียวก็พอ เพราะการไม่ชนะมากของท่าน หมายความถึงการสร้างความสมดุล และชอบธรรมในการตัดสินใจนั่นเอง ฉะนั้นแม้เสียงปริ่มน้ำแต่หากเป๊ะทุกครั้ง 254 ก็ 254 ทุกครั้ง หรือหาก 251 ก็ต้อง 251 ทุกครั้ง เป๊ะทุกครั้งก็ไม่มีปัญหา

⦁ ที่ผ่านมาดูก็มีข่าวความพยายามในการดึงเสียงจากฝ่ายค้านมาเพิ่มแก้ไขปัญหาเสียงปริ่มน้ำในสภา ?

หลายครั้งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว บอกชัดเจนว่าเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ได้อยู่แค่ในสภาเท่านั้น เพราะแม้จะมีเสียงข้างมากในสภามหาศาล แต่เสียงข้างมากนอกสภาไม่เอาด้วย ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน วันนี้การจะไปแสวงหาเสียงในสภาให้มากขึ้น ผมก็ว่าลำบาก เพราะกระแสการเมืองกับจุดยืนทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และในช่วงเลือกตั้ง ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะจัดรัฐบาลเสียงข้างมากให้มีเสียงมากกว่านี้นั้น ถือว่าได้มีความพยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว โอกาสที่จะไปหาเสียงเพิ่มเติมเพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลคงจะหายาก แต่เสถียรภาพของรัฐบาลยังขึ้นอยู่กับเสียงนอกสภาก็คือประชาชนด้วย หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้ เศรษฐกิจรากหญ้าดีขึ้น เพิ่มมูลค่าทางผลผลิตทางการเกษตรให้เข้มแข็งขึ้น นักลงทุนมีความเชื่อมั่น ส่งออกดีขึ้น แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีความสุข ทำให้พี่น้องประชาชนเห็นได้ว่าถึงเสียงจะปริ่มน้ำ แต่ก็ตั้งใจทำงานหามาตรการในการแก้ไขปัญหา ไม่มีเรื่องเสียหายเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้แหละจะเป็นเสียงที่จะพยุงสภาวะเสียงปริ่มน้ำในสภาให้ลอยขึ้นมา เหมือนกับมีห่วงยางชูชีพทำให้เราลอยตัวอยู่ในน้ำที่ปริ่มต่อไปได้ แต่สำคัญอยู่ที่ทุกโหวตในสภาต้องเป๊ะ

⦁ ตั้งแต่เล่นการเมืองมาเคยเจอรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ พร้อมๆ กับเศรษฐกิจโลกถดถอยขนาดนี้หรือไม่ ?

ผมไม่เคยอยู่กับรัฐบาลที่มีเสียงเกินครึ่งมาเสียง 1 เสียงแบบนี้ พร้อมกับเศรษฐกิจโลกถดถอยขนาดนี้มาก่อน สภาวะทางการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน แล้วในประวัติศาสตร์ของพรรคชาติพัฒนาก็ไม่เคยลงเลือกตั้งแล้วได้แค่ 3 เสียงด้วยเช่นกัน (หัวเราะ) ท่านชาติชาย นำพรรคชาติพัฒนาลงเลือกตั้งครั้งแรกเราได้ 60 เสียง มาครั้งที่ 2 ได้ ส.ส. 52 คน ครั้งที่ 3 เหลือ 27 คน ลงเลือกตั้งครั้งที่ 4 เหลือ 9 คน ครั้งที่ 5 ได้ 7 คน มาเที่ยวนี้เหลือ 3 คน ต่ำที่สุด ต่อจากนี้ไปคงไม่มีอะไรที่พรรคชาติพัฒนาต่ำกว่านี้อีกแล้ว เป็นสภาวะที่เราต้องยอมรับว่า ผมไม่เคยเจอจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราเล่นการเมืองแบบเดินสายกลางมาโดยตลอด เป็นมิตรกับทุกคน และจะไม่สร้างปัญหา ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่บุคลากรเรามีพร้อมทำงาน เป็นเพื่อนกับทุกฝ่าย แม้ 3 เสียง แต่ชาติพัฒนาก็ได้รับความกรุณาจากท่านนายกฯให้ร่วมรัฐบาล

วันนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็เหนื่อย เหนื่อยจริงๆ ไหนจะต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพในสภา ไหนต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจ แล้วไม่ใช่จะจบอยู่แค่ 2 เรื่องนี้ เพราะทุกประเทศในโลกก็ประสบปัญหาเดียวกัน เพราะเราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เขาเรียกว่า อยู่ในโลกปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 อยู่ในโลกของยุค Disruptive Technology คือความเจริญทางด้านเทคโนโลยีมาขัดจังหวะ ใครไม่ทันเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทัน โลกไม่ใช่แค่เศรษฐกิจถดถอย จากวันนี้ไปใครไม่ทันเทคโนโลยี คนนั้นเป็นผู้แพ้ทันที ทั้งหมดนี้ ผมต้องการจะบอกว่า เราต้องปรับตัวอีกหลายเรื่องจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้น วันนี้เราต้องบริหาร ทั้งเสถียรภาพทางการเมือง บริหารเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และต้องบริหารเสถียรภาพการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีด้วย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะต่อสู้กับมันได้

ผมเห็นความพยายามของรัฐบาลในการพยายามทำงานให้หนัก ท่านนายกฯพยายามเดินทางไปต่างประเทศ ไปประชุมในทุกระดับ ไปสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทยเพื่อดึงนักลงทุน ดึงชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทย ทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ขณะที่เศรษฐกิจไทยต่อจากนี้เราก็ต้องปรับบทบาท โดยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายในให้มาก และต้องทำอะไรที่อยู่บนจุดแข็งของตัวเอง พัฒนาจากส่วนนี้ได้ ความยั่งยืนจะเกิด แล้วเราจะไม่แพ้ใคร

⦁ อะไรคือจุดแข็งของประเทศในสภาวะแบบนี้?

เรามี 2 เรื่อง การท่องเที่ยวกับภาคเกษตร ถามว่าทำไมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาทำลายจนก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ กลับกันเทคโนโลยีกลับมาเสริมให้การท่องเที่ยวมันบูมขึ้น คนเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้นจากความเจริญทางเทคโนโลยี โทรศัพท์เครื่องเดียวสามารถทำให้คนทำงานที่ไหนก็ได้ อยู่ที่ไหนก็หาข้อมูลได้ ดังนั้น เมื่อทำงานที่ไหนก็ได้ ชีวิตคนก็รีแลกซ์ เที่ยวมากขึ้น จะเห็นได้ว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจะถดถอย แต่มีการท่องเที่ยวนี่แหละที่โตตลอด โตปีละ 15-20% แม้บางครั้งเสถียรภาพทางการเมืองจะมีเหตุการณ์ต่างๆ ก็กระทบความเชื่อมั่นบ้าง ไม่เยอะ เพราะนักท่องเที่ยวไม่เหมือนกับนักลงทุนที่หิ้วเงินมาหมื่นล้าน แต่เขามีเวลาว่า 15 ปีต้องคืนทุน ดังนั้น เขาถึงคาดหวังความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ความเชื่อมั่นต่อนโยบาย รวมไปถึงเสถียรภาพทางการเมืองเป็นตัวตัดสินใจ แต่นักท่องเที่ยวต่างออกไป เพียงแต่มาแล้วปลอดภัย มาเที่ยว มากิน มาสูดอากาศบริสุทธิ์ มาซื้อสินค้าโอท็อป มากินสตรีทฟู้ดแล้วก็กลับช่วงสั้นๆ

ในโลกนี้หาคนแข่งกับไทยเรื่องการท่องเที่ยวยากนะ เรามีโหงวเฮ้งจากจุดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดี อยู่ตรงกลางระหว่างการเดินทางของคน ขณะที่ลักษณะภูมิประเทศ ด้ามขวานของเราแทบจะเป็นประเทศที่มีชายทะเลรวมกัน 2 ฝั่งอ่าวไทย อันดามัน รวมกันยาวที่สุดก็ว่าได้ มีเกาะสวยที่สุด ส่วนทิศเหนือก็มีภูเขา วัฒนธรรมประเพณี อีสานก็ประวัติศาสตร์แห่งโบราณคดี ดังนั้น เราค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติที่หลากหลาย อาหารไทยก็ติด 1 ใน 5 ของโลก ค่าครองชีพก็ไม่แพง ภาคบริการเราเข้มแข็ง การรักษาพยาบาลมีคุณภาพ และราคาย่อมเยาที่สุด นี่คือจุดแข็งที่ไทยสามารถโตได้อีก ประเทศใหญ่ๆ ในโลกล้วนมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีมากกว่าจำนวนประชากร แต่เราเพิ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแค่ 35 ล้านคนต่อปีเท่านั้น เพดานของอุตสาหกรรมนี้ยังโตขึ้นไปได้อีก แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวไม่กระจุกตัว กิน นอน ช้อปปิ้ง ซื้อสินค้า นวดสปา มันเป็นรายได้ที่กระจายไปทุกพื้นที่ ทุกอาชีพ สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในการกระจายรายได้ด้วย

ส่วนภาคเกษตร เรายังเป็นภาคเกษตรที่ผลิตสินค้าเกษตรและส่งออกไปขายในรูปสินค้าเกษตร ผลิตข้าวก็ขายข้าว เป็นต้น ข้าว อ้อย ยาง มันสำปะหลัง ปาล์ม คือบิ๊กไฟว์ของสินค้าเกษตรที่ส่งออกโดยที่ยังไม่ได้ใส่กระบวนการที่เป็นเทคโนโลยี รวมไปถึงมาร์เก็ตติ้ง และสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเข้าไปเลย ยางพาราเป็นตัวอย่างที่ดี เราผลิตได้ทั้งประเทศอยู่ที่ 4 ล้านตัน เชื่อไหม เราส่งออกเป็นรูปยางดิบ โดยยังไม่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมสูงถึง 3.5 ล้านตัน มีเพียง 5 แสนตันเท่านั้นที่เราแปรรูปเป็นยางรถยนต์ และถุงมือ แต่เพียง 5 แสนตันของการแปรรูปกลับมีมูลค่าสูงพอๆ กับการขายยางดิบในจำนวน 3.5 ล้านตัน แล้วราคายางยังไปผูกอยู่กับราคาของพลังงานด้วย ปีไหนน้ำมันถูก ราคาสินค้าเกษตรก็จะตกลงไปด้วย เพราะยางนอกจากจะผลิตจากธรรมชาติแล้วยังได้จากภายหลังการกลั่นน้ำมันดิบอีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุที่ 4-5 ปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตรราคาตกวูบหมด เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกมันตก พ่อค้าจึงเลือกวัตถุดิบที่มาจากน้ำมันไปแปรรูปกัน

ต้องยอมรับว่า เรายังไม่เคยใช้โอกาสในการเป็นผู้นำในภาคการเกษตรของโลกในการหากลไกในการกำหนดราคาตลาดเพื่อยกระดับความได้เปรียบให้กับประเทศเลย ดูโอเปคเป็นตัวอย่าง เขามีน้ำมัน ก็ร่วมกลุ่มเพื่อครอบครองตลาดกำหนดราคากลางได้ ทั้งหมดผมกำลังจะบอกว่า เรายังเหยียบคันเร่งไม่เต็มที่กับพื้นฐานที่เรามีเลย ภาคเกษตรเหมือนอย่างที่เคยทำมา “แดดส่องฟ้าเป็นสัญญาวันใหม่” เหมือนเพลงป่าลั่น ยังอยู่กับแสงแดด ฝนที่เป็นธรรมชาติ นี่คือไลฟ์สไตล์ความสุขของคนไทย บ้านไร่นาเรา แต่ถ้าเราพลิกกลับมาเหยียบคันเร่งเต็มที่ โดยกำหนดเป้าหมายกันให้ชัดเจนเลยว่า ในแต่ละปี วัตถุดิบทางการเกษตรในเรื่องการส่งออกจะต้องเปลี่ยนจากสินค้าเกษตร เป็นสินค้าอุตสาหกรรมภายในกี่ปี เพื่อเพิ่มมูลค่า นี่แค่ยางนะ แล้วบิ๊กสินค้าเกษตรตัวอื่น จะทำอย่างไรเพื่อเหยียบคันเร่งอีก ขณะเดียวกัน เราก็ยังไม่เคยจัดอันดับในเรื่องการวางเมกะโปรเจ็กต์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคการเกษตรไว้ในลำดับต้นๆ เลย โดยเฉพาะการชลประทาน คลองส่งน้ำ เป็นต้น

มันเหนื่อยนะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องถือเป็นความรับผิดชอบทำอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าเรามีหลักในเรื่องอู่ข้าวอู่น้ำของโลก เป็นเมืองเกษตรกับเมืองท่องเที่ยวของโลก 2 เรื่องนี้จะเป็นไม้ค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image