จับเข่า ‘อำนาจ สถาวรฤทธิ์’ กุนซือ ‘พรรคอนาคตใหม่’ (คลิป)

หมายเหตุ – นายอำนาจ สถาวรฤทธิ์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงบทบาทการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับพรรค อนค. รวมทั้งวิเคราะห์เส้นทางทางการเมืองของพรรค อนค.ในอนาคต


ที่มาก่อนเข้ามาสู่เส้นทางการเมือง

ผมเป็นคน จ.ฉะเชิงเทรา และได้เข้ามาเรียนที่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2516 แต่ได้เห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมมากมาย ทั้งปัญหาของชาวนา ปัญหากรรมกร สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร

ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของนักศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้า ได้เข้าร่วมกับเหตุการณ์สมัย 14 ตุลาฯ 2516 โดยรุ่นพี่ให้ทำงานติดโปสเตอร์ เอาดินสอพองไปอุดรูกุญแจ ผมก็รับหน้าที่นั้น ทำให้นักศึกษาไม่ได้เข้าสอบช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปทำงานช่วยชาวนา ชาวไร่ ที่เขามาร้องเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อชาวนากลับบ้านไปที่ จ.พิษณุโลก ผมก็ได้ติดตามชาวนาเหล่านั้นไปด้วย ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาซื้อขายที่ดิน การตกเขียวที่ดิน หนังสือเซ็นโอนลอย การกู้ยืมเงินไม่เป็นธรรม ไปอยู่กับนายใช่ วังตะกู ประธานสหพันธ์ชาวนา ชาวไร่แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2517

Advertisement

ที่มีคนกล่าวหาว่าผมหายในช่วงปี 2517 นั้น ผมว่าคนที่พูดคงลืมไป หรืออาจจะตั้งใจพูดประวัติศาสตร์ให้ไม่ครบถ้วน ในมุมมองของผม มองว่าเขาคนนั้นตั้งใจจะโกงประวัติศาสตร์หรือไม่ ผมไม่ถือสาอะไรเพราะผมรู้นิสัยคนคนนี้ ขนาดเล่นดรัมมี่ยังโกงเพื่อนได้เลย

จนกระทั่งมีเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 หลังจากนั้นผมจึงได้หนีเข้าป่าไปอยู่ที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พร้อมกับนักศึกษาและปัญญาชนหลายคน เพราะสมัยนั้นผู้รักประชาธิปไตยไม่สามารถอยู่ในเมืองได้ เพราะไม่รู้ว่าจะถูกติดคุกหรือถูกเข่นฆ่าหรือเปล่า

ในเวลานั้นผมได้เข้าไปทำงานด้านมวลชนอยู่ในป่า แต่ได้มีเหตุการณ์สำคัญ เหตุการณ์หนึ่ง คือช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2521 ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคมปี 2522 มีบุคคลระดับสูงได้เดินทางมาพบผมเพื่อพูดคุยหาทางออกให้กับสังคมและประเทศ

หัวข้อที่คุยกันคือ รัฐไทยจะต้องทำอย่างไรถึงจะยุติสงครามที่เกิดขึ้นได้ รัฐไทยจะต้องทำอย่างไรให้นักศึกษากลับเข้าไปเรียนได้ ผมได้พูดคุยกับตัวแทนของรัฐบาล 3 ครั้ง

ครั้งแรกเป็นเพียงการรับฟังปัญหาของแต่ละฝ่าย ผมเป็นเพียงตัวแทนนักศึกษาคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้มาพูดคุย โดยพื้นที่พูดคุยเป็นพื้นที่ป่าเขาเรียกว่าเขตจรยุทธ์ก็ได้ ที่ปางควาย บ้านชมพู อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ระหว่างการพูดคุยกัน 3 ครั้ง แต่ละฝ่ายก็มีการตอบจดหมายระหว่างกันไปมาโดยบทสรุปของการพูดคุยถือว่าเป็นไปด้วยดี ผมก็มีหน้าที่นำผลการพูดคุยไปรายงานหน่วยระดับสูงแค่นั้น ผมเข้าใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นช่วงต้นของที่มาของนโยบาย 66/2523 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หลังมีนโยบาย 66/2523 ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานการเมือง

หลังจากมีนโยบาย 66/2523 ออกมา ผมก็กลับมารายตัวตามปกติ เข้าไปรายงานตัวที่ กอ.รมน. ถนนเศรษฐสิริ จากนั้นได้กลับไปศึกษาต่อจนจบคณะนิติศาสตร์ อีก 2 ปี และจบเมื่อปี 2526 จากนั้นก็กลับมาทำงานเลี้ยงครอบครัว กระทั่งช่วงปี 2528 มีการเลือกตั้งซ่อมในเขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยมี พล.อ.หาญ ลีนานนท์ และนายคณิน บุญสุวรรณ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในขณะนั้นลงรับเลือกตั้ง โดยมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรค ปชป. เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมในเวลานั้น เพื่อนๆ จึงได้ชวนเข้าไปช่วยงาน พล.ต.สนั่น ทั้ง พล.อ.หาญ และนายคณิน ได้รับเลือกตั้งทั้งคู่ พอเลือกตั้งเสร็จ พล.ต.สนั่นจึงชวนมาร่วมงานที่พรรค ปชป. เป็นผู้ช่วย ผอ. พรรค ปชป. ก็ทำหน้าที่เป็นมือเป็นไม้ให้ พล.ต.สนั่น นอกจากจะเป็นเลขาธิการพรรค ปชป.แล้ว ยังเป็นผู้จัดการรัฐบาลด้วย สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผมจึงเริ่มต้นในระบอบพรรคการเมืองกับพรรค ปชป.เป็นพรรคแรก ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรค ปชป.ที่อยู่ในสภาในขณะนี้ก็รู้จักผมดี

ช่วยประสานงานจนรัฐบาล พล.อ.เปรม รอดพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นอยู่ในช่วงปี 2529 พล.อ.เปรม นายกฯ ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายค้านต่อสภา พล.ต.สนั่นในฐานะผู้จัดการรัฐบาลสมัยนั้นจึงต้องหาทางประคับประคองให้รัฐบาลอยู่บริหารงานต่อไปได้ จึงได้ปรึกษาหารือกันว่าหาก ส.ส.ประมาณ 15 คน ถอนชื่อออกจากญัตติตามรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจตกไป

ขณะนั้นผมก็มีเพื่อนๆ มาบอกว่ามี ส.ส.อยู่ 6 คน สนใจขอถอนชื่อจากญัตติดังกล่าว ผมจึงไปติดต่อพูดคุยกับ ส.ส.ทั้ง 6 คน ที่โรงแรมมายเฮ้าส์ แถวซอยอารีย์ สมัยนั้น ส.ส.จากต่างจังหวัดจะต้องมาพักที่โรงแรมที่กรุงเทพฯ ระหว่างมาประชุมที่สภา ผมจึงไปนั่งคุยด้วยว่าหากจะถอนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะสามารถทำได้หรือไม่ จนมีข้อตกลงร่วมกันว่าทั้ง 6 ส.ส.ยอมถอนชื่อออกจากญัตติดังกล่าว ผมจึงรายงาน พล.ต.สนั่นไป พล.ต.สนั่นตอบกลับมาว่าให้ผมรออยู่ที่โรงแรมดังกล่าวประมาณ 1 ชั่วโมง เดี๋ยวจะมีคนไปพบ

กระทั่งเกือบหนึ่งชั่วโมงก็มีรถฮัมวี่ทหาร 2 คันมาจอดที่หน้าโรงแรม จากนั้นก็มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ใส่เสื้อคับๆ คนหนึ่งพร้อมกับนายทหารติดตามจำนวนหนึ่ง เดินเข้ามาถามหาชื่อผม ผมจึงแสดงตัว จากนั้นผมจึงพานายทหารคนดังกล่าวไปคุยกับ ส.ส.ทั้ง 6 คน จนมีการเซ็นชื่อขอถอนญัตติดังกล่าวออกไป ส่วน ส.ส.คนที่ 7-15 ที่เหลือเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ไปประสานงาน เรื่องดังกล่าวในส่วนตัวของผมคิดว่าคงไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตยเท่าใดนัก แต่เมื่อระบอบรัฐสภาออกมาเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องปกป้องเพื่อนพ้องก่อน หากมีช่องทางใดบ้างที่พอจะช่วยได้ก็ช่วย เมื่อทำงานของผมเสร็จก็จบ สามารถถอนญัตติไม่ไว้วางใจ พล.อ.เปรมได้ สิ่งที่ได้รับคือ พล.ต.สนั่น ชื่นชมมาก็เท่านั้น

หลังจากนั้นผมก็ออกมาจากพรรค ปชป.ช่วงเหตุการณ์ 10 มกราฯ พรรค ปชป.มีปัญหาภายในกัน ผมอยู่พรรค ปชป.มาตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2531 ก็ออกมาทำงานเลี้ยงดูครอบครัวตามปกติ พล.ต.สนั่นก็เคารพการตัดสินใจของผม

แต่ก็เฝ้ามองติดตามความเป็นไปทางการเมืองอยู่ตลอด พอช่วงปี 2535 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งพรรคความหวังใหม่ และไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่ จ.นนทบุรี เพื่่อนผมเป็น ส.ส.ก็ชักชวนให้ผมเข้าไปช่วยงาน พล.อ.ชวลิต เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรคความหวังใหม่ ก่อน พล.อ.ชวลิตจะย้ายไปสมัครรับเลือกตั้งที่ จ.นครพนม และได้รับการเลือกตั้ง จากนั้นผมได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการพรรคฯ สมัยนั้นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน และผมก็อยู่ช่วยงานพรรคความหวังใหม่จนถึงปี 2538 ช่วงที่ พล.อ.ชวลิตเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้ให้ผมไปพูดคุยกับ พล.ต.สนั่น ที่บ้านพักย่านสนามบินน้ำ การพูดคุยก็เป็นไปด้วยดี

เส้นทางการเมืองหลังออกจากพรรคความหวังใหม่

เมื่อปี 2538 ผมมีความคิดอยากจะเป็น ส.ส. จึงกลับไปหา พล.ต.สนั่น และได้ลงรับสมัครเลือกตั้งในนามพรรค ปชป. ที่ จ.เชียงราย เขต 2 สมัยนั้นนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ได้คะแนนมา 4.5 หมื่นคะแนน หลังจากนั้นผมก็รู้สึกยังค้างคาใจอยู่ จึงขอลงรับเลือกตั้ง ส.ส.อีกในปี 2539 ตอนนั้นเจ้าของพื้นที่เป็นคนของพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ผมเป็นเพื่อนรุ่นน้องของพี่โต้ง (นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ) จึงไปพูดคุยกับพี่โต้งว่าจะขอลงรับเลือกตั้งในนามพรรค ชพน. เพราะมีคะแนนพื้นฐานติดตัวอยู่เมื่อการเลือกตั้งในปี 2538 พี่โต้งจึงส่งผมลงรับเลือกตั้งในนามพรรค ชพน. พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ลงไปช่วยผมหาเสียงด้วย แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.อีกเลย

จากนั้นก็ไม่ได้ช่วยงานพรรคการเมืองใดเป็นหลัก กระทั่งนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากพรรคพลังธรรม มาตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ในพรรค ทรท. ผมก็มีเพื่อนอยู่หลายคน ก็ไปคลุกคลีกับเพื่อนๆ ที่สนิทสนมกันมากกว่า อย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง แต่ไม่ได้รับ
ตำแหน่งใดๆ ในพรรค ทรท.

เข้ามาช่วยงานที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้อย่างไร

ความจริงพรรค อนค. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมกับเพื่อนๆ ของเขาก็ได้พูดคุยและมีการตั้งพรรค อนค.ขึ้นมา แต่พวกเขาไม่เคยผ่านสนามการเลือกตั้งมา จนกระทั่งเขาได้พูดคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เขานับถือ และผู้ใหญ่คนนั้นก็รู้จักกับผมด้วย จึงได้แนะนำให้พวกเขามาคุยกับผม คุยกันประมาณ 3 ครั้ง ก็ได้ให้มุมมองไปว่า ในความเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ น่าจะได้รับกระแสจากคนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนมากมาสนับสนุน พรรค อนค. ทั้งเรื่องนโยบายพรรค แต่เขายังขาดคนมาดูแลเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรค

ได้พูดคุยกันตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 มีการตั้งพรรคเรียบร้อยแล้ว กระทั่งปลายเดือนตุลาคม 2561 ขอคำตอบที่ชัดเจนจากผม ผมจึงคิดว่าหลังจากพูดคุยกันมา 3 ครั้ง ได้รู้ถึงแนวทาง เจตนา ความหวังดีของพรรค อนค.จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ในฐานะเคยมีประสบการณ์เรื่องการเลือกตั้งมาก่อน จึงตอบตกลงเข้าไปช่วยงานที่พรรค อนค. ตำแหน่งที่หัวหน้าพรรค อนค. แต่งตั้งให้ผมเป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรค และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค อนค. ฝ่ายการเมือง

ผมวางระบบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เอาประสบการณ์ของผมสรุปเป็นบทเรียนให้ เขียนเป็นตำราให้ทุกคนอ่าน จนกระทั่งเข้าสู่สนามเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรค อนค.ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาต้องถือว่าเกินคาด

เพราะช่วงแรกที่ผมเข้าไปช่วยงานในพรรค อนค. ก็ได้สอบถามแกนนำพรรคว่า ประเมินว่าจะได้ ส.ส.สักเท่าใด เขาก็ตอบมาว่าน่าจะได้ ส.ส.ประมาณ 20-30 คน เพราะจะสามารถเสนอต่างกฎหมายต่างๆ ได้ และแกนนำพรรคก็คาดหวังจำนวน ส.ส.ประมาณเท่านี้ คนที่ตอบผมและประเมินว่าจะได้ ส.ส.มากหน่อยก็ประมาณ 50 ที่นั่ง เป็นการประเมินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่พอช่วงการรับสมัครรับเลือกตั้งเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2562 ผมดูแล้วกระแสของพรรค อนค.ดีเกินคาด แต่ก็คิดอยู่คนเดียวว่าพรรค อนค.จะได้ ส.ส.มากกว่าที่ประเมินไว้ จนผมมีความมั่นใจจึงบอกไปกับแกนนำพรรคว่า พรรค อนค.จะได้ ส.ส.เขตเข้ามาด้วย ทุกคนก็แปลกใจ เพราะทุกคนคาดกันว่าจะได้แค่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น แต่จากประสบการณ์ของผมมองว่าจากกระแสของพรรค อนค. บวกกับ ส.ส.เก่าที่ไม่มีผลงาน ทำให้ประชาชนจะเปลี่ยนใจมาเลือกพรรค อนค.มากขึ้น ทั้งเรื่องแนวนโยบายที่ก้าวหน้า อย่างการต่อสู้กับทุนผูกขาด การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การล้มล้างผลพวงของการสืบทอดอำนาจ

ยิ่งมีกระแสฟ้ารักพ่อ ช่วงที่นายธนาธรไปร่วมงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในวันนั้นผมได้บอกแกนนำพรรคทันทีว่ากระแสของพรรค อนค.มาแล้ว

ผลการเลือกตั้งที่ได้ ส.ส.เข้ามาถึง 87 ที่นั่ง หากไม่โดนเรื่องระบบคำนวณคะแนน ส.ส.จนทำให้เหลือ ส.ส. 81 ที่นั่ง

โดยคู่ต่อสู้ต่างพากันสงสัยว่าพรรค อนค.ใช้ระบบหัวคะแนนอย่างไร ถึงได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจำนวนมาก แต่พรรค อนค.ไม่ได้ใช้ระบบหัวคะแนนแบบเดิม แต่ใช้หัวคะแนนที่เป็นมวลชนที่สนับสนุนพรรค อนค.ตามธรรมชาติ ทำให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถจะมาบล็อกหัวคะแนนของพรรค อนค.ได้ ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เหลือเชื่อ เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจตามกระแสของพรรค อนค. เข้ามาเลือกพรรค อนค.จำนวนมาก คะแนนที่เลือกพรรค อนค.เข้ามา 6.3 ล้านเสียง ต้องถือว่าเป็นเสียงของคนรุ่นใหม่ที่เลือกเข้ามา และยังฝากบอกให้พ่อแม่ที่บ้านเลือกพรรค อนค.เข้ามาด้วย ผมคิดว่า กกต.น่าจะให้เครดิตพรรค อนค.ด้วยซ้ำที่ช่วยรณรงค์ให้การเลือกตั้งมีความตื่นตัว ไม่ควรจะมายุบพรรค อนค.ทั้งที่เพิ่งได้ก่อตั้งมาเพียงปีกว่าๆ

คดีความถาโถมเข้ามาที่พรรค อนค.มากกว่าพรรคอื่นๆ หลังการเลือกตั้ง

ผมคิดว่า เมื่อคนเห็นว่าพรรค อนค.ได้ ส.ส.เข้ามาจำนวนมากก็รู้สึกตกใจกลัว ไปตีความและเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้จะมาทำร้ายประเทศไทย มีแนวคิดจะไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ระเบียบของประเทศ ทั้งที่เกือบจะทุกเรื่องเป็นคดีความ ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เป็นการหาเหตุขึ้นมากล่าวหา บางเรื่องก็เป็นเรื่องของนักร้องเรียนตั้งเรื่องขึ้นมา แล้วส่งต่อให้องค์กรอิสระซึ่งก็รับเรื่องต่างๆ มาหมด ผมไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องทำกันได้ถึงขนาดนั้น ขณะที่ผมไปสัมผัสกับพรรค อนค.ก็รับรู้ได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความหวังดีอยากจะเปลี่ยนให้ประเทศมีความก้าวหน้า ไม่อยากให้สังคมอยู่ในสภาพตามหลังประเทศอื่น

ความตั้งใจจริงของพวกเขาคือ ต้องการเข้ามาสู้ในระบอบของรัฐสภา ทั้งที่ในความเป็นจริงก็รู้อยู่กันว่าในระบอบรัฐสภามีข้อจำกัดพอสมควร แต่ยังมีกลุ่มคนอีกฝ่ายมองว่าเขามีเจตนาไม่ดีต่อประเทศ หากพวกเขามีเจตนาไม่ดีจริงคงไม่มาตั้งพรรคการเมืองมาสู้ในระบอบรัฐสภา

ผมจึงอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ฉุกคิดดูว่าทางการเมืองนั้น ไม่มีใครเขาไล่ตีกันให้จนตรอก ทางการเมืองนั้นตราบใดทำให้อีกฝ่ายจนตรอกนั้น มนุษย์ก็จะต้องลุกขึ้นมาสู้

อีกทั้งประเทศไทยก็มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองมามากมาย ผมจึงเห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไรต่อประเทศ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรจะต้องกลับไปคิดกันใหม่ให้ดี ถ้ามีไม่เหตุผลที่ดีพอจะไปบอกให้คนรุ่นใหม่เชื่อฟังได้อย่างไร

ผมคิดว่าอย่าไปกลัวคนฉลาด ประเทศไทยยังต้องการคนฉลาด เพียงแต่ต้องหากลไกและวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร อย่าไปมองว่าคนรุ่นใหม่ไร้ประสบการณ์ แต่ผมก็อยากให้มองอีกมุมว่าแล้วทำไมถึงมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นอายุน้อยร้อยล้าน ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากมาย เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องคิดให้ดี อย่าไปทำลายพวกเขาเลย ควรจะให้พื้นที่เขาคิดและบอกกับสังคมจะดีกว่า เพราะกฎกติกาของสังคมก็ได้ตีกรอบไว้หมดแล้ว ไม่ต้องไปกลัวพวกเขา ยิ่่งกลัวแล้วไปรุกไล่จนเขาอยู่ในสภาไม่ได้ พอจะออกลงมาท้องถนนก็ตกใจกลัวอีก จะเอาให้ถึงขั้นติดคุกเลยหรือไม่ หากเขายอมติดคุกแล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร

ทางออกของสังคมและประเทศต่ออนาคตของพรรค อนค.

ผมว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรอิสระทั้งหลายต้องคิดให้รอบคอบ รอบด้าน หลายคนก็เป็นรุ่นพี่ของผม ผมอยากจะสื่อสารไปถึงหลายๆ คนว่า เมื่อผมอยู่กับพรรค อนค.แล้ว เมื่อพรรคมีมรสุมโหมกระหน่ำเข้ามาแบบนี้ ก็ต้องออกมาสื่อสารบ้าง ผมออกมาพูดก็เพื่อให้สังคมฉุกคิดบ้าง ว่าผมก็เป็นบุคคลธรรมดาเคยผ่านประสบการณ์การเมืองในรูปแบบต่างๆ มา เคยทำบางเรื่องอาจผิดกับหลักการประชาธิปไตยมาบ้าง แต่เมื่อได้เข้ามาช่วยงานพรรค อนค.ก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหาทางออกให้กับบ้านเมือง

อยากจะฝากถึงฝ่ายที่ไม่อยากให้พรรค อนค.มีอยู่ในสังคมว่า จะไม่ยอมให้พรรค อนค.ได้มีที่อยู่ในสังคมนี้เลยหรือ แม้ไม่มีนายธนาธร นายปิยบุตร แต่คนหนุ่มสาวที่เลือกพรรค อนค.มา 6.3 ล้านคน จะทำให้พวกเขาไม่มีที่ยืนและรู้สึกเคียดแค้นชิงชังต่อไปอีกหรือ เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์แฟลชม็อบที่สกายวอล์ก เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ออกมาเคลื่อนไหวหลังนายธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส.

ส่วนตัวผมยังเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาที่ยังเป็นทางออกทางการเมืองให้กับประเทศได้ ผมผ่านการเมืองมาตั้งแต่ปี 2528 ก็เรียนรู้ทางการเมืองมาตลอด และตั้งแต่อยู่กับพรรค อนค.มาก็ไม่เคยได้ยินแกนนำพรรคและ ส.ส.ของพรรค อนค.ว่าจะไม่ยึดมั่นและไม่ยอมรับระบอบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผมยังเห็นว่า แกนนำพรรค อนค.มีความตั้งใจดีต่อบ้านเมือง เพียงอาจคิดไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่า หรือฝ่ายอนุรักษนิยม หลายเรื่องของพรรค อนค.จะดำเนินการก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว หากผู้เกี่ยวข้องยังคิดจะกระทำต่อพรรค อนค.จนไม่มีทางออก แล้วจนเกิดปรากฏการณ์ที่ไร้กฎเกณฑ์ขึ้นมาตรงนี้จะลำบาก และเป็นสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้น

สังคมจึงจะต้องมีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้อยู่ ได้แสดงออก ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า

แต่จุดจบของเรื่องนี้ ผมคิดว่าหนังสามารถจบได้หลายแบบ ภาคประชาชนก็มีบทเรียนหากจะมีการนำคนลงถนนแล้วเกิดการสูญเสียเปิดทางให้ทหารเข้ามาปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า และผู้บริหารประเทศจะปฏิเสธความรับผิดชอบจากการกระทำดังกล่าวไม่ได้

ผมยังเชื่อว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะไม่จบแบบเดิม ยังมีเวลาและเงื่อนไขที่ผู้ใหญ่จะต้องกลับมาคิดหาทางออกร่วมกันให้กับประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image